จะเชื่อไหม ถ้ามีคนบอกคุณว่าควายที่เขาขี่ท่องนา แพงกว่ารถสปอร์ตแบรนด์ยุโรปบางคันเสียอีก..
และใช่ครับมันเป็นเรื่องจริง ตลาดควายไทยในปัจจุบันกำลังบูมอย่างมาก และมีผู้เลี้ยงหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง โพสต์ที่มีการแชร์กันจากกรุปเฟซบุ๊ก ‘ควายงามไทยแลนด์’ ซึ่งมีการปักป้ายขาย ‘เจ้าเงินดี’ ควายวัย 4 ปี สูงถึง 4 ล้านบาท แถมยังมีขายน้ำเชื้อในราคา 5,000 บาท/ หลอด สำหรับให้พี่น้องคนรักควายไปผสมพันธุ์ต่อไป
เมื่อราคาสินสอดควายถึงหลักล้านขนาดนี้ The MATTER จึงได้ลองค้นคว้าข้อมูล และติดต่อพูดคุยกับ ทศพร ศรีศักดิ์ นายกฯ สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย และ ผึ้ง – จิราภัค ขำเอนก เจ้าของรวินันท์ฟาร์ม จ.บุรีรัมย์ เพื่อพูดคุยถึงภาพรวมตลาดควายไทย ทั้งในแง่ควายเนื้อและควายสวยงาม และหาคำตอบให้ได้ว่า “WHY ควาย แพง?”
ราคาควายไทย
รู้หมือไร่.. ควายไทยในปัจจุบันมีการซื้อขายกันในราคาแพงมาก จนมีคำที่คนในวงการควายเปรียบเทียบว่า “เมื่อก่อนเงิน 100,000 ซื้อควายได้หนึ่งคันรถ แต่เดี๋ยวนี้เงิน 100,000 ซื้อควายได้ 2 ตัว” แต่ที่แพงที่สุดคือกลุ่มที่เรียกว่า ‘ควายพันธุ์’ หรือควายที่เลี้ยงเพื่อความสวยงาม แล้วถามว่าที่ว่าแพงนี่แพงขนาดไหนกันนะ? The MATTER ขอยกค่าสินสอดน้องบางตัวมาให้ดูกัน
- เก้าเจริญ เคยมีคนยื่นค่าสินสอด 20 ล้านบาท แต่ก็ไม่ขาย
เริ่มต้นกันด้วยระดับดาราของวงการควายพันธุ์ไทย ‘เก้าเจริญ’ เจ้าของฉายา ‘ควายหล่อที่สุดในประเทศไทย’ จากบิ๊กไอซ์ ฟาร์มควายไทย ในจังหวัดพิษณุโลก ดีกรีแชมป์งานกระบือแห่งชาติปี 2560 และงานอื่นๆ รวมกว่า 30 รางวัล
สมบัติ ธรรมละเอียด เจ้าของบิ๊กไอซ์ฟาร์ม ระบุไว้เมื่อปี 2019 ว่า พิกัดน้ำหนักของเก้าเจริญอยู่ที่ 1,300 กก. ส่วนสูงเกือบ 170 ซม. อายุ 8 ปี ทั้งนี้ สมบัติ เคยระบุไว้ว่าเคยมีคนยื่นซื้อเก้าเจริญในราคา 20 ล้านบาท แต่ก็ไม่ขาย เพราะต้องการต่อยอดสายพันธุ์ควายยักษ์ และพร้อมแบ่งปันน้ำเชื้อของควายหล่อตัวนี้ในราคา 500 บาทเท่านั้น
- แม่หงษ์มหา ค่าตัว 8.5 ล้านบาท
กลายเป็นข่าวฮือฮาเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อหนุ่มวัย 29 ปี หอบเงิน 8.5 ล้านบาทพร้อมขันหมากไปสู่ขอ ‘แม่หงษ์มหา’ ควายยักษ์เพศเมียวัย 7 ปี ที่ ส.มีสุวรรณฟาร์ม จ.พระนครศรีอยุธยา ท่ามกลางสักขีพยานทั้งเซียนไก่ชน เซียนควายสวยงาม และประชาชนที่รอรับด้วยความชื่นมื่น
พิษณุ หลักกรด เจ้าของฟาร์ม ส.สุวรรณ ระบุว่า แม่หงษ์มหาลักษณะสวยงามตรงตามตำราควายงาม จ.อุทัยธานี และเคยได้รับถ้วยพระราชทานมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งขณะที่มีการซื้อขายแม่หงษ์มหาท้องอยู่ 11 เดือน ถ้าลูกออกมาเป็นตัวผู้จะมีราคา 1-2 ล้านบาท ถ้าเป็นตัวเมียจะมีราคา 3 ล้านบาท ซึ่งที่ตัดสินใจซื้อขายครั้งนี้เป็นเพราะความชอบพอกันทั้งสองฝ่าย โดยเขาระบุเพิ่มเติมว่า การซื้อขายครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่แพงที่สุดในประเทศไทย
- เจ้าลำโขง ค่าตัว 6.99 ล้านบาท
ตอกย้ำความบูมของตลาดควายไทยในปีนี้ ถัดจากการสู่ขอแม่หงษ์มหาเพียงหนึ่งเดือนก็มีรายงานการซื้อควายค่าตัวหลักล้านอีกครั้ง 6.99 ล้านบาท โดยเป็นสินสอดที่มอบให้แก่ ‘เจ้าลำโขง’ ควายไทยจากลังกาฟาร์ม จ.บึงกาฬ ที่ตัดสินใจขายให้แก่บิ๊กไอซ์ฟาร์ม
เจ้าของลังกาฟาร์มระบุไว้เมื่อเดือน พ.ค. ว่า เจ้าลำโขงมีอายุ 2 ปี 5 เดือน แต่มีรูปร่างใหญ่ สูงถึง 167 ซม. และเคยคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในงานประกวดควายงาม จ.กาฬสินธุ์ รุ่นฟันน้ำนมมาแล้ว ทั้งนี้ การส่งมอบเจ้าลำโขงจะมีขึ้นในวันที่ 19 มิ.ย. ที่จะถึงนี้
- เจ้าเพลิน ควายของ น้ำ รพีภัทร ค่าตัว 2 ล้านบาท
หลายคนที่ติดตามข่าววงการบันเทิง น่าจะเคยได้ยินมาบ้างว่า น้ำ – รพีภัทร เอกพันธุ์กุล นักแสดงไทย เป็นคนที่รักควายมาก และพูดได้เลยว่าควายแต่ละตัวของเขาไม่ธรรมดาเลย
เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2564 ปิยะวัฒน์ เพิ่มทอง ผู้จัดการฟาร์ม TJ9 ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ตระเวนตามหาควายสวยงามไปทั่ว จนมาต้องตากับ ‘เจ้าเพลิน’ ควายของนักแสดงหนุ่ม ก่อนที่สุดท้ายจะตกลงซื้อขายกันไปในราคา 2 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายทำเอารพีภัทรน้ำตาแตกเพราะผูกพันธุ์กันมานาน
- น้องแก้วฟ้า พญาควายเผือก ค่าตัว 60 ล้านบาท
ลำตัวกว้างดุจต้นไทร ผิวขาวนวลเช่นสีมุก และเขาที่คอโค้งน่าเกรงขาม.. สำหรับหนึ่งในควายที่ถูกตั้งราคาตัวแพงที่สุดคือ ‘แก้วฟ้า’ ควายเผือกวัย 10 ปี จากฟาร์มสอนศิริ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งสัดส่วนของเขาก็เรียกว่าเชพบ๊ะด้วยความสูง 167 ซม. น้ำหนักตัว 1,400 กก. โดยฟาร์มปักป้ายราคาของแก้วฟ้าไว้ที่ 2 ล้านเหรียญ (ประมาณ 60 ล้านบาท) โดยคิดจากรายได้ที่ได้รับจากน้ำเชื้อของแก้วฟ้านั่นเอง
โดยมีการเปิดเผยว่า แก้วฟ้าเป็นพ่อพันธุ์ของฟาร์มสอนศิริ ซึ่งน้ำเชื้อของเจ้าแก้วฟ้าจะถูกนำไปฉีดให้แก่แม่พันธุ์ในฟาร์มทั้ง 200 ตัว และถ้าลูกที่ออกมาเป็นเพศเมียจะขายได้ในราคา 300,000 บาท ขณะที่เพศผู้ขายได้ในราคา 200,000 บาท
อย่างไรก็ตาม พรหมพิริยะ สอนศิริ เจ้าของฟาร์มสอนศิริทิ้งท้ายว่า ถ้ามีคนมาขอซื้อจริงๆ ในราคา 60 ล้านบาท ก็ไม่ขายอยู่ดี เพราะแก้วฟ้าเป็นควายตัวเดียวในประเทศไทยและในโลกที่มีพันธุกรรมโดดเด่นที่สุด
ภาพรวมตลาดควายไทย
เว็บไซต์ศูนย์สารสนเทศกระบือนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2563 ระบุว่า ปัจจุบันมีควายไทยทั่วประเทศราว 1.2 ล้านตัว พบมากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์, อุบลราชธานี, สุรินทร์ ตามลำดับ ขณะที่พบน้อยที่สุดในจังหวัดสมุทรสงคราม, สมุทรสาคร และสมุทรปราการตามลำดับ
ทศพร นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทยให้ข้อมูลแก่ The MATTER ว่า ควายในไทยแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ควายปลัก (Swamp Buffalo) และควายแม่น้ำ (River Buffalo) ซึ่งสายพันธุ์ที่เลี้ยงกันในไทยส่วนมากเป็นควายปลัก ส่วนควายแม่น้ำนั้นเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ
เขาระบุว่าต่อว่า รายได้จากควายถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มเลี้ยงควายพันธุ์ หรือควายสวยงาม และกลุ่มควายเนื้อ หรือเลี้ยงเพื่อขายเนื้อหนังของควาย โดยเขาให้ข้อมูลราคาของควายเนื้อ ดังนี้
- เพศผู้น้ำหนัก 600 กก. ราคาอยู่ที่ 85-88 บาท/ กก. หรือประมาณ 50,000 – 52,000 บาท
- เพศผู้น้ำหนัก 500 กก. ราคาอยู่ที่ 83-85 บาท/ กก. หรือประมาณ 41,500 – 42,500 บาท
- สามารถรีดน้ำเชื้อและฝากทับได้เช่นกัน
สำหรับทางด้านควายพันธุ์ เจ้าของรวินันท์ฟาร์มให้ข้อมูลกับ The MATTER ว่า
- ในแง่ของการซื้อ-ขายราคาขึ้นอยู่กับการตกลงของสองฝ่าย บางตัวอาจหลักแสน และบางตัวอาจพุ่งไปถึงหลักล้าน
- สำหรับราคาน้ำเชื้อชุดนึงอยู่ที่ 5,000 – 30,000 บาท/ ชุด (ชุดนึงมี 10 โดส) โดยการรีดน้ำเชื้อขึ้นอยู่กับพ่อพันธุ์บางตัวรีดได้ทุก 2-3 อาทิตย์ บางตัว 2-3 เดือน และอายุของพ่อพันธุ์ที่รีดน้ำเชื้อได้อยู่ที่ 2.5 – 3 ปี
- สำหรับราคาฝากทับ หรือฝากผสมอยู่ที่ 5,000 บาท/ ครั้ง
- ถ้าต้องการฝากทางฟาร์มเลี้ยงดูต่อราคาอยู่ที่ 100 – 150 บาท/ วัน
แน่นอนว่าคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมควายไทยมันสร้างรายได้มากขนาดนี้ ? เดี๋ยวเราไปดูกันในภาพต่อไป
พันธุ์ควายปลักไทยโดดเด่น
นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายให้ข้อมูลกับ The MATTER ว่า อันที่จริงควายไทยนั้นโดดเด่นในตัวมันเองอยู่แล้ว เขากล่าวว่า “ควายปลักไทยดีที่สุดในโลก”
“บ้านเราถือว่าเป็นควายปลักของเราดีที่สุดในโลก และเราสามารถเพิ่มจำนวนให้ขึ้นมาได้เยอะ จนเราสามารถกำหนดราคาขึ้นมาเองได้” นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทยกล่าว
“พ่อและแม่พันธุ์ควายปลักที่ดีที่สุดอยู่ในบ้านเรา และถ้าในประเทศเรามีพ่อพันธุ์ชั้นเยี่ยมมากมายที่พร้อมขายได้ มันก็ไม่เสียหายที่จะขาย อย่างในเวียดนามเขาก็ต้องการพ่อพันธุ์ของเรา” เขาเสริมต่อ
สำหรับลักษณะของควายไทยที่สวยงาม The MATTER ได้สอบถามจากเจ้าของรวินันท์ฟาร์ม บวกกับอ้างอิงจากเว็บไซต์องค์ความรู้ควายไทย และคลิป “ควายงามตามอุดมทัศนีย์ 5 ลักษณะควาย ขายแล้วราคาแพง!” จากช่อง รักบ้านเกิด rakbankerd ในยูทูปพบว่า ลักษณะหลักที่ทำให้ควายไทยมีการซื้อขายในราคาแพงคือ บั้งคอสีขาว, ตาแต้ม แก้มจ้ำ, ข้อเท้าขาว, ขั้วอัณฑะห์และปลายลึงค์ในเพศผู้ ร่วมกับลักษณะทางร่างกายอื่นๆ เช่น ตัวใหญ่, รูปร่างดี, ยืนหลังตรง
บั้งคอสีขาว – ลักษณะขนใต้คอสีขาวเป็นรูปตัว V ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นลักษณะที่เป็นสิริมงคล โดยถ้ามีครบ 3 บั้งจะถือว่าเป็นควายที่มีลักษณะงามมาก ถ้ามี 2 บั้งก็ยังถือว่าเป็นควายงามอยู่ ทั้งนี้ ควายที่พบได้ทั่วไปมักมีเพียงบั้งเดียว และมองไม่ชัดนัก
ตาแต้ม แก้มจ้ำ – สำหรับลักษณะของตาแต้มคือ ขนจุดสีขาวบริเวณใบหน้าซึ่งคล้ายเมคอัพถาวรเสริมให้ใบหน้าควายดูโดดเด่น โดยสามารถพบได้ 7 จุดแบ่งเป็น เหนือหัวตา 2 จุด, แก้มซ้ายและขวา 2 จุด, กรามซ้ายและขวา 2 จุด และใต้คาง 1 จุด ซึ่งถ้าควายตัวไหนมีจุดสีขาวที่ชัดเจนและเรียงตัวสวยงามจะถือว่ามีลักษณะงามมาก
ข้อเท้าขาว – ลองนึกภาพหมาที่สวมถุงเท้า ควายนั้นก็เช่นกัน โดยลักษณะควายงามจะปรากฏขาทั้ง 4 ของควายมีสีขาวตั้งแต่เหนือเล็บขึ้นมาถึงหัวเข่าทั้งสองข้าง และมีขีดสีดำขวางตรงช่วงกีบ ซึ่งควายที่ได้รับความนิยมจะปรากฏลักษณะนี้ชัดเจน
ขั้วอัณฑะและปลายลึงค์ของควายเพศผู้ – ลักษณะของควายไทยเพศผู้ที่ดีจะต้องมีขั้วอัณฑะสั้น เกือบติดท้อง และปลายลึงค์หย่อนลงมาเล็กน้อย ซึ่งถ้าลักษณะตรงข้ามกับนี้ เช่น ขั้วอัณฑะหย่อนหยาน อาจไม่ใช่ควายไทยพันธุ์แท้ แต่เป็นพันธุ์ผสม หรือชนิดควายอื่นเลย
ยังมีลักษณะอื่นๆ ที่สำคัญอีก เช่น โครงสร้างใหญ่, ท่าทางการยืน, ผิวหนังขนต้องดำงาม, ลักษณะใบหน้า, ลักษณะปาก ตลอดจนนิสัยและอารมณ์ ซึ่งเซียนควายทั้งหลายจะดูประกอบการตัดสินใจเพื่อซื้อ-ขายควาย
เศรษฐศาสตร์ตลาดควาย
จากการพูดคุยกับนายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทย และเจ้าของรวินันท์ฟาร์ม พวกเขาให้ข้อมูลตรงกันว่า ในปัจจุบันจำนวนควายมีลดลง ขณะที่ความต้องการควายนั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือเรียกเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ได้ว่า ภาวะอุปสงค์มากกว่าอุปทาน
- ทำไมควายน้อยลง
ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศกระบือนานาชาติระบุว่าเมื่อปี 2543 ทั่วประเทศไทยเคยมีควายอยู่ที่ 1.7 ล้านตัว ก่อนลดลงเรื่อยๆ จนถึงจุดต่ำสุดในปี 2558 เหลือควายทั่วประเทศเพียง 9.4 แสนตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นับจากปีดังกล่าวจนถึงปี 2563 กราฟจำนวนควายไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้มีสาเหตุที่ทำให้ควายในไทยมีน้อยลง 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนควาย นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทดแทนกำลังคน มนัศ คันศร เกษตรกรเลี้ยงควายให้ข้อมูลกับ สารคดี ‘ความไทย (ไม่) ธรรมดา’ ในรายการความจริงไม่ตาย ช่อง Thai PBS (ตั้งแต่นาทีที่ 35.10 – 36.00) ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510 ได้เริ่มมีการนำรถไถเข้ามาทดแทนควาย ก่อนที่มันจะแทนที่หน้าที่ของควายในท้องนาทั้งหมด และทำให้ควายเหลือตำแหน่งเพียงเป็นเงินออมประจำบ้าน
ประการที่สอง คุณภาพชีวิตเกษตรกรและชาวนา อย่างที่เราทราบกันดีว่าชาวนาและเกษตรกรส่วนมากของไทยถูกความจนเกาะกินชีวิตเสมอมา ซึ่งภาพจำดังกล่าวส่งผลมาถึงปัจจุบัน ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาประกอบอาชีพอื่น และขายควายที่เคยมีอยู่ในคอกเพื่อตั้งตัวมากขึ้น
ซึ่งเหตุผลข้อนี้ได้รับการยืนยันจากทั้งปากของ นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทย, เจ้าของรวินันท์ฟาร์ม รวมถึงมีการพูดถึงในสารคดี ‘ความไทย (ไม่) ธรรมดา’ (ตั้งแต่นาทีที่ 30.45 – 34.26) เช่นกันว่า รายได้จากอาชีพเกษตรกรและชาวนานั้นไม่เพียงพอ
ประการที่สาม อคติต่อคำว่า ‘ควาย’ และ ‘เด็กเลี้ยงควาย’ ทั้งนายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทย และเจ้าของรวินันท์ฟาร์มระบุตรงกันว่า ในปัจจุบันสังคมยังมีภาพจำต่อ ‘ควาย’ และ ‘คนเลี้ยงควาย’ ว่าเป็นอาชีพที่ไม่ร่ำรวย และควรหันเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเพื่อประกอบอาชีพอื่น เช่น แรงงานในโรงงาน
“เราเอาคำว่าควายมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง ขนาดในเอกสารเรายังต้องใช้คำว่า ‘กระบือ’ แทน ‘ควาย’ เลย ซึ่งกระบือไม่ใช่ภาษาไทยแทนเลย และถ้าใครเลี้ยงควายจะกลายเป็นที่ไม่ฉลาด ซึ่งมันไม่ใช่ ควายเป็นสัญลักษณ์ของความอดทน เชื่อง และอยู่กับคนมายาวนาน” นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทยกล่าว
- ทำไมความต้องการควายเพิ่มขึ้น
แต่ท่ามกลางจำนวนควายทั่วประเทศที่ยังไม่สูงนัก ความต้องการควายกลับพุ่งแรงจนน่าตกใจ โดยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ
ประการแรก ความต้องการจากต่างประเทศ นายกฯ สมาคมควายระบุว่า ในปัจจุบันคู่ค้าควายที่สำคัญของไทยคือ เวียดนามและจีน โดยเขาให้เหตุผลว่าควายในทั้งสองประเทศมีขนาดตัวที่เล็กและให้เนื้อน้อย ผิดกับพันธุ์ควายในไทย จึงมีการซื้อเหมาควายเพื่อนำไปรับประทาน เอาหนังไปใช้ และใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์
ในแผนยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์ปี 2560 – 2565 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2550 – 2559 มูลค่าการส่งออกควายไทยค่อนข้างผันผวน โดยมีการส่งออกมากที่สุดในปี 2557 มูลค่าที่ 491 ล้านบาท ขณะที่น้อยที่สุดในปี 2550 ที่ 4.76 แสนบาท ทั้งนี้ ปีที่มูลค่าการค้าดีที่สุดหรือเกินดุลคือในปี 2552 หรือเกินดุลทั้งหมด 147 ล้านบาท
ประการที่สอง COVID-19 ประเด็นนี้ ผึ้ง เจ้าของรวินันท์ฟาร์มระบุกับ The MATTER ว่า ความต้องการควายมาบูมขึ้นในช่วงโรคระบาด เนื่องจากมีคนตกงานจำนวนมาก ทำให้พวกเขากลับมาที่บ้านเกิดแล้วพบว่าตลาดควายคึกคัก จึงเริ่มหันมาจับธุรกิจควาย
“ช่วง COVID-19 ทำให้คนตกงาน โดนไล่ออกบ้าง ซึ่งเขาก็มีเงินในมือกันก้อนหนึ่ง เขาก็กลับบ้าน แล้วมองว่าอยากทำอะไรเกี่ยวกับปศุสัตว์ และเท่าที่หลายๆ คนเข้ามาหา เขาก็สนใจมาเลี้ยงควายเยอะขึ้น เพราะมันขายได้และได้เป็นเงินก้อนด้วย” เจ้าของฟาร์มรวินันท์ระบุ
นอกจากนี้ มาตรการป้องกันโรคระบาดที่ทำให้สนามไก่ชนห้ามเปิดให้บริการ ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนหันมาเลี้ยงควายสวยงามแทน
“พอสนามไก่ชนมันปิดเนอะ เขาก็คิดกันว่าควายไทยกับไก่ชนเป็นสิ่งคู่กัน เขาเลยหันมาชอบ หันมาเล่นด้วย ทำให้คนสนใจมากขึ้น และซื้อขายกันแพงขึ้น” ผึ้งเสริม
แรงสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน
ในปัจจุบันมีแรงสนับสนุนมากมายจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงควายมากขึ้น หนึ่งในแรงสนับสนุนเหล่านั้น อาทิ
โครงการธนาคารโค-กระบือ – โครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นโครงการในพระราชดำริของ ร.9 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2522 มุ่งหวังให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงโค-กระบือ และลดต้นทุนในการเช่าโค-กระบือ โดยมีทั้งระบบให้ยืมเพื่อการผลิต, ให้เช่าซื้อ, ให้ยืมพ่อพันธุ์ และให้เช่าเพื่อใช้แรงงาน
วันอนุรักษ์ควายไทย – ในปี 2560 สมัยรัฐบาลรัฐประหารของ คสช. คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ทุกวันที่ 14 พ.ค. เป็นวันอนุรักษ์ควายไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
กรมปศุสัตว์แจกน้ำเชื้อควายพันธุ์ดี – ทางด้านกรมปศุสัตว์ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์ควายอยู่ตลอดอยู่แล้ว ได้มีการแบ่งน้ำเชื้อให้ประชาชนสามารถเข้ามารับเพื่อนำไปผสมพันธุ์ที่กรมได้ฟรี
ภาครัฐนำเทคโนโลยีมาใช้ – กระทรวงเกษตรของไทยได้มีความพยายามปรับปรุงพันธุ์ของควายไทยตลอดมา โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อาทิ พัฒนาพันธุกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐาน, พัฒนาอาหารสัตว์, พัฒนาวัคซีน และขณะนี้ยังมีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนในควายอยู่ด้วย
สนามประกวดควายงาม – หนึ่งในโครงการที่กระตุ้นกระแสนิยมควายงามคือ สนามประกวดทั้งหลายที่เริ่มเกิดขึ้นมา อาทิ มหกรรมควายยักษ์เมืองสองแคว ที่ อปท. กับภาคเอกชนร่วมกันจัด ซึ่งเพิ่งผ่านครั้งที่ 5 ไปเมื่อเดือน พ.ค. และยังมีงานประกวดควายงามถ้วยพระราชทานอีกด้วยเช่นกัน
ขาดระบบรับรองคุณภาพที่ดี
ในประเด็นนี้นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทยอธิบายว่า ในปัจจุบัน ไทยยังไม่มีมาตรการขึ้นทะเบียนและออกใบรับรองควายที่ดีพอ ทำให้ราคาของควาย โดยเฉพาะควายพันธุ์เกิดความผันผวนอยู่สูง และทำให้มาตรฐานการส่งออกน้ำเชื้อควายยังไม่ได้รับการรับรองเท่าที่ควร
“ตอนนี้เรากำลังดำเนินการจดทะเบียนควายพันธุ์ชั้นเยี่ยมที่ดี โดยให้กรมปศุสัตว์เป็นคนรับรองว่าตัวนี้คือพ่อพันธุ์ชั้นเยี่ยม ตัวไหนได้คะแนนสูง เราจะสามารถมีมาตรฐานมากขึ้นทั้งในเชิงราคาและการขายน้ำเชื้อ” นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายกล่าว
นอกจากนี้ นายกฯ สมาคมอนุรักษ์ควายไทย และเจ้าของรวินันท์ฟาร์มระบุตรงกันว่า ผู้ขายบางคนได้ตั้งราคาควายของตัวเองไว้สูงเกินกว่าราคาตลาด เพื่อจงใจไม่ให้มีคนซื้อ แต่กลับมีการต่อกันไปมา ทำให้ราคาตลาดเพิ่มขึ้น
“เขาก็บอกราคาแบบไม่ขาย แต่ปรากฏอีกฝั่งอยากได้ เขาสู้ราคา มันก็เลยแพงขึ้นหมด” ผึ้งกล่าว
“ควายงามมีความจริงและความกระแสโปรโมต ผึ้งพูดได้เลยว่าทุกวันนี้มีไม่กี่เจ้าที่ซื้อ-ขายด้วยราคาจริง ที่เหลือเป็นราคาโปรโมต สมมติ เขาตั้งราคา 1.5 ล้านบาท เขาอยากให้เลขสวยๆ ก็บวกเพิ่มไปเป็น 1.9 ล้านบ้าง 2.4 ล้านบ้าง แล้วทีนี้กลุ่มมือใหม่ก็จะมองว่าเขาทำได้จริง ขายได้จริง แล้วไปทุ่มเงินมาทำ สุดท้ายเจ็บก็หลายคน แต่คนที่ทำได้ดีก็มี” เจ้าของรวินันท์ฟาร์มกล่าวต่อว่า ราคาที่ซื้อขายกันง่ายที่สุดของควายพันธุ์อยู่ระหว่าง 80,000 – 100,000 บาท
เธอทิ้งท้ายถึงราคาควายในปัจจุบันว่า ยังคงมีแนวโน้มดีขึ้น และยังมองเห็นอนาคตอยู่ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เธอกังวลคือ “การปั่นราคา”
“ผึ้งกลัวการปั่นราคาเนี่ยแหละ เพราะมันทำให้คนที่อยากเลี้ยงใหม่ฝันหวานเกินไป และกลายเป็นเขาถูกย้อมแมวขาย ผึ้งกังวลว่านี่มันจะทำให้วงการเสีย” ผึ้งทิ้งท้าย
อ้างอิง:
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงของกระบือไทย
ยุทธศาสตร์กรมปศุสัตว์ 2561 – 2565
ลักษณะควายงาม (1)
ลักษณะควายงาม (2)
ควายไทย(ไม่)ธรรมดา : ความจริงไม่ตาย