ดูเหมือนช่วง 3–4 ปีให้หลังมานี้ Facebook โซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกกว่า 2 พันล้านคน จะเจอแต่คร่าวขาวที่กระทบความน่าเชื่อถือ และผู้ก่อตั้งต้องปรากฏตัวต่อหน้าบัลลังก์เป็นว่าเล่น
ก็คงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคำว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาว เพราะอย่างปีนี้ปีเดียวก็โดนสาธารณะชนตั้งคำถามต่อหลายประเด็น ทั้งการผูกขาดตลาดโซเชียลมีเดีย ทั้งการปล่อยให้เกิดเฟคนิวส์ COVID-19
ล่าสุดกับการ ‘ล่ม’ ของโซเชียลมีเดียในเครือทั้ง Facebook, Instagram, WhatsApp, และ Messenger กว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งกระทบผู้ใช้งานและธุรกิจทั่วโลก และ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง ก็ถูกประเมินว่าเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท
ถือเป็นการล่มของสังคมโซเชียลครั้งใหญ่ในรอบสิบกว่าปี (ครั้งแรก Facebook เคยล่มใหญ่ไปตอน ค.ศ.2008 ระยะเวลาเป็นวัน) และเป็นการย้ำเตือนให้มนุษย์โลกเห็นว่า โซเชียลมีเดียแม้จะเป็นโลกเสมือน แต่มันมีผลกระทบจริงต่อชีวิตเรา
ไม่ว่าจะดีหรือร้าย โซเชียลมีเดียก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเราไปแล้ว วันนี้ The MATTER ขออาสารวมวิกฤติที่เครือเฟซบุ๊กเคยเผชิญ โดยเฉพาะในช่วง 2–3 ปีให้หลังมานี้
ปี ค.ศ.2008
ก่อนจะเกิดการล่มของเครือข่ายครั้งใหญ่ในปีนี้ Facebook เคยล่มครั้งใหญ่ราว 1 วัน ย้อนกลับไปราว 13 ปีก่อน แต่จะว่าโชคนี้กว่านี้ก็อาจจะได้ เพราะแม้ช่วงเวลาจะยาวนานกว่า แต่มีผู้ใช้งานเพียง 150 ล้านคน ดังนั้นความเสียหายจึงน้อยกว่ารอบล่าสุดนี้
ปี ค.ศ.2018
ระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ Facebook ค่อยๆ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พวกเขาแทบไม่มีข่าวใหญ่อะไรเท่าไหร่นัก ทว่า ค.ศ.2018 เหมือนปีเริ่มฤดูกาลวิกฤติ เพราะเป็นปีแรกที่เจอกับเคสใหญ่ การทำข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้งานรั่วไหลเกือบร้อยล้านคน (และหลังจากเคสนี้ ชีวิต มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ก็ไม่สงบสุขอีกเลย)
โดยเป็นข่าวสนั่นโลกว่า Facebook ทำข้อมูลของผู้ใช้ 87 ล้านคนรั่วไหล หลุดสู่มือของบริษัทเอกชน Cambridge Analytica ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในแคมเปญหาเสียง โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี ค.ศ.201 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่ากันว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลชุดสำคัญที่อาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ทรัมป์ได้ตำแหน่งผู้นำประเทศเลยก็ว่าได้ และเคสนี้ถือเป็นประเด็นที่จุดกระแสสิทธิส่วนบุคคลผู้ใช้งานให้กลายเป็นระดับโลก
ตุลาคม ค.ศ.2019
มาสู่กระบวนการศาล ในช่วงเวลานี้ภาพข่าวที่ว่อนเน็ตคือการที่ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ขึ้นศาล และต้องชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนด้านบริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา โดยประเด็นสอบสวน รวบยอดหลายหัวข้อทั้ง เรื่องการจัดการกับข่าวปลอม โฆษณาทางการเมือง และกรณี Cambridge Analytica
เคสนี้ทำให้ Facebook ถึงกับต้องรีแบรนด์ภาพลักษณ์บริษัทใหม่ โดยพยายามแยกความเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ก ออกจาก Facebook ที่เป็นบริษัทด้วยการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ทั้งหมด
มีนาคม ค.ศ.2020
ดูเหมือนว่าประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นเรื่องที่ทั่วโลกยกระดับกันจริงจัง อย่างทางยุโรปเองก็มีการออกกฎเข้มขึ้นเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลบนอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน ขณะเดียวกัน Facebook ก็โดนองค์กรพิทักษ์ข้อมูลส่วนบุคคลของออสเตรีย ยื่นคำร้องต่อสหภาพยุโรป พร้อมบริษัทด้านเทคโนโลยีรายอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา ข้อหาละเมิดกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
กรกฎาคม ค.ศ.2020
ปี ค.ศ.2020 Facebook เข้ามาร่วมเกี่ยวข้องกับประเด็นยอดฮิตของยุคอย่างเรื่อง Black Lives Matter และ hate speech ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเป็นโซเชียลมีเดียที่สร้างบทสนทนาของผู้คนนับพันล้านคนทุกวัน
ในครั้งนี้ ส.ว. อเมริกายกประเด็นว่า Facebook กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่เหยียดสีผิว และเป็นพื้นที่จุดชนวน hate speech หลังกรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ถูกจับกุมจนนำไปสู่การเสียชีวิต โดยมีการเรียกร้องให้ Facebook กำจัดข้อความที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงบนแพลตฟอร์มออกไปให้หมดให้ได้ ซึ่งบรรดาแบรนด์ดังกว่า 900 แบรนด์ (อาทิ Unilever, Adidas, Ford, Lego) ออกมาประกาศงดการลงโฆษณาบน Facebook กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหญ่ที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์
ภายหลัง Facebook จึงออกมาสร้างใบปิดเตือนติดไว้ในคอนเทนต์ที่มีแนวโน้มสร้างความรุนแรงหรือความเกลียดชัง
ธันวาคม ค.ศ.2020
คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐ (FTC) สั่งฟ้องการผูกขาดโซเชียลมีเดีย (monopoly) ด้วยการเข้าซื้อกิจการของคู่แข่ง เช่น Instagram และ WhatsApp ซึ่งแม้สุดท้ายศาลจะตัดสินยกฟ้อง Facebook ในเวลาถัดมา (ส่งผลให้หุ้นบริษัทมูลค่าทะลุล้านล้านบาท) แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น
กรกฎาคม ค.ศ.2021
เข้าสู่ยุคการระบาดร่วมสมัยที่เราก็ยังเผชิญกับมันอยู่ทุกวัน Facebook ถูกทางการร้องเรียนว่าปล่อยให้เกิดการสร้างเนื้อหาเฟคนิวส์เกี่ยวกับ COVID-19 มหาศาล และไม่กระตือรือร้นในการกำจัดมันออกไป ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการรับมือกับข่าวปลอมของแพลตฟอร์ม ซึ่งก่อนหน้านั้น Facebook ได้เผยถึงนโยบายต่อสู้กับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
สิงหาคม ค.ศ.2021
Facebook โดนกัดไม่ปล่อย เมื่อ FTC สหรัฐอเมริกา ฟ้องร้องอีกรอบว่าทำธุรกิจผูกขาด ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรมอีกครั้ง หลังจากครั้งแรก Facebook ชนะคดีไปได้ ซึ่งนี่ก็ยังเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
ตุลาคม ค.ศ.2021
เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ข่าวก็จัดหนักอีกระลอก เมื่อ ฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตผู้จัดการฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ของ Facebook ออกมาเปิดเผยเอกสารภายในให้กับสำนักข่าว The Wall Street Journal ว่า นโยบายในการบริหารของ Facebook ยังคงสนับสนุนเฟ8นิวส์ เพราะต้องการยอดการเข้าร่วมของผู้ใช้ (engagement) และกำไร แม้ว่าบริษัทจะออกตัวมาตลอดว่ากำลังปราบปรามข้อมูลที่สร้างความเกลียดชัง การใช้ความรุนแรง และการจัดการเฟคนิวส์ บนแพลตฟอร์มอย่างจริงจังมาโดยตลอด
ตุลาคม ค.ศ.2021
แน่นอนว่าหลังจากโดนอดีตพนักงานออกมาแฉ ก็มาถึงการ ‘ล่ม’ ของระบบครั้งใหญ่ โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โซเชียลมีเดีย Facebook, Instagram, WhatsApp, และ Messenger ล่มนานกว่า 6 ชั่วโมงทั่วโลก โดยมีผู้ใช้งานกว่า 2,300 ล้านคน ทำให้บริษัทเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท ภายหลังได้ออกมาบอกว่า สาเหตุเกิดจากการที่เราท์เตอร์หลักเสียหาย ไม่ได้ถูกแฮ็กเกอร์โจมตี แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กระทบหุ้นบริษัทหนักหน่วงอยู่เหมือนกัน
และนี่คือสรุปสิ่งที่ Facebook โซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลก ที่จะอายุครบ 20 ปี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เผชิญในช่วงเวลาที่ผ่านมา
น่าสนใจว่าระยะหลัง หลายเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคงของบริษัท โดยเฉพาะในเรื่องความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย จากกรณีข้อมูลหลุดและระบบล่ม ท่ามกลางผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
อ้างอิงข้อมูลจาก