ล่าสุด Artemis Fowl กลายมาเป็นหนัง วัยหนุ่มสาวอย่างเราก็ตื่นเต้นว่า เด็กหนุ่มอัจฉริยะกับเหล่าภูตที่เราเคยอ่านตอนวัยรุ่นจะได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
มองย้อนไป วัยรุ่นยุคหนึ่งเติบโตขึ้นมากับการอ่านงานแฟนตาซี ในวงวรรณกรรม การเกิดขึ้นและความเฟื่องฟูของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้งานเขียนแนวแฟนตาซีเกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง—บ้านเราก็เหมือนกัน ช่วงหลังแฮร์รี่บูม ราวๆ ก่อนปี 2000 นักอ่านวัยรุ่นในช่วงนั้นต่างตั้งตารอหนังสือแฟนตาซีใหม่ๆ จากงานหนังสือ
การกลับมาของ Artemis Fowl ชวนให้เรานึกย้อนกลับไปในช่วงปี 2000 สมัยที่เรารอแฮร์รี่เล่มใหม่ๆ ระหว่างนั้นวัยรุ่นช่วงนั้นต่างก็ยินดีก้าวเข้าสู่ดินแดนเหนือจินตนาการนอกเหนือไปจากโรงเรียนพ่อมดแม่มด เราก้าวไปสู่เมืองดับลิน ไปสู่โลกของเด็กอัจฉิรยะที่พยายามเล่นเล่ห์กับเหล่าภูตพื้นเมือง บางเรื่องพาเราไปยังดินแดนแสงเหนือ บางเรื่องพาเราไปยังโลกของสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ บางเรื่องพูดถึงโลกของน้ำหมึก หรือมีความสามารถพิเศษที่พออ่านงานแฟนตาซีแล้วสามารถนำโลกในหนังสือมาสู่ชีวิตจริงได้
The MATTER จึงอยากชวนเหล่าวัยรุ่นยุคปี 2000 กลับมารำลึกความหลังและกลับไปสู่ดินแดนแปลกประหลาดเหนือจริงทั้งหลาย เล่มไหนที่เคยอ่าน เรื่องไหนที่เคยชื่นชอบบ้าง และเมื่อเราโตขึ้น การกลับไปสู่ดินแดนที่เราเคยตื่นตาตื่นใจ เราอาจได้มุมมองความคิดใหม่ๆ จากการอ่านเรื่องเดิมๆ ก็เป็นได้
The Golden Compass (1995)
นึกภาพเด็กไทยในเมืองร้อนๆ เมื่อได้จับหนังสือชุด The Golden Compass หรือฉบับภาษาไทยชื่อเข็มทิศทองคำ หนังสือชุดนี้พาเราไปยังขั้วโลกเหนือ สู่ดินแดนสีขาวโพลน และตัวเรื่องแสนอัจฉริยะเล่นกับ ‘แสงเหนือ’ และ ‘ฝุ่น’ ที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมระหว่างมิติไปยังดินแดนคู่ขนาน โลกของหมีขาว แม่มด และการตามหาบุคคลที่หายไป หนังสือชุดนี้เป็นผลงานของ Philip Pullman ตีพิมพ์เล่มแรกตั้งแต่ปี 1995 เป็นงานเขียนที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในฐานะวรรณกรรมสำหรับเด็ก สำหรับบ้านเราได้รับการแปลเป็นภาษาไทยช่วงปี 2005 ยุคที่วรรณกรรมแฟนตาซีกำลังติดตลาด ความฮิตของงานชุดนี้คือได้รับการแปลกว่า 40 ภาษา และได้รับการดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์
The Edge Chronicles (1998)
ใครที่เป็นแฟนงานเขียนแนวแฟนตาซี The Edge Chronicles เป็นอีกหนึ่งนวนิยายแฟนตาซีที่สร้างโลกไว้ได้อย่างแปลกประหลาด อ่านสนุก และที่สำคัญคือภาพประกอบในเรื่องสวยมาก สำหรับบ้านเราหนังสือชุดนี้เป็นผลงานแปลของสำนักพิมพ์เพิร์ล อีกหนึ่งสำนักพิมพ์ที่โดดเด่นเรื่องงานแนวแฟนตาซี The Edge Chronicles มีแปลออกมาซีรีส์เดียวคือ The Twig Trilogy ฉบับภาษาไทยแปลออกมา 4 เล่ม ดีพวู้ดส์ป่ามหัศจรรย์ นาวาล่าพายุ มหันตภัยเหนือแซ็งตาแฟร๊กซ์ และมีเล่มแถมจาก The Quint Trilogy มาอีกหนึ่งเล่ม ตัวซีรีส์แต่ละชุดก็จะพูดถึงชีวิตตัวละครหลักแต่ละคน เช่น The Twig Trilogy ก็จะเป็นการผจญภัยของทวิก งานแฟนตาซีชุด The Edge Chronicles ปัจจุบันนักเขียนยังคงผลิตงานที่ว่าด้วยจักรวาล The Edge อยู่อีกหลายชุด โลกของ The Edge เป็นดินแดนที่สนุกมาก ผู้เขียนพาเราไปยังป่าประหลาด นกที่มีความฝันร่วมกัน ดินแดนแห่งความรู้ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า
A Series of Unfortunate Events (1999)
เรื่องนี้หลายคนคงรู้จักดี ไม่นานมานี้เพิ่งกลายเป็นทั้งหนังโรงและซีรีส์ดีไซน์เก๋ๆ ลงเน็ตฟลิกซ์ อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย น่าจะถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานเขียนแนวแฟนตาซีที่มีแนวเรื่องโดดเด่น เราได้เห็นโลกของผู้คนที่แปลกประหลาด โทนเรื่องลึกลับและดาร์กบ้าง พร้อมๆ กับการลุ้นว่าเหล่าเด็กกำพร้าจะไปเจอผู้ใหญ่แฟนตาซีแบบไหน
Artemis Fowl (2001)
อีกหนึ่งเรื่องราวในดวงใจหลายคน Artemis Fowl เป็นนวนิยายแฟนตาซีที่ผสมผสานแนวเรื่องแบบแฟนตาซี เช่น แฟรี่ ปกรณัมความเชื่อแถบอังกฤษตอนเหนือ เอาตำนานปรัมปรามาบิดว่าพวกแฟรี่จริงๆ แล้วมีวิทยาการสูง ให้กลิ่นอายแบบงานแนวไซไฟเล็กๆ แถมโครงเรื่องเล่นกับงานแนวอาชญนิยาย โดยสร้างตัวละครหลักเป็นเด็กอัจฉริยะบ้านรวยที่ต้องการตามล่าขุมทรัพย์ของโลกในตำนาน โดยรวมแล้วถือว่าเป็นอีกที่อ่านสนุก ตัวละครเอกมีความร้ายและเจ้าเล่ห์อยู่ในตัว ในเรื่องจึงมีทั้งการปะทะกันระหว่างมนุษย์กับภูตไปจนถึงการร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ
The Spiderwick Chronicles (2003)
The Spiderwick Chronicles เป็นอีกหนึ่งงานเขียนแฟนตาซีที่ว่าเรื่องราวของเหล่าแฟรี่ ตัวเรื่องพูดถึงเหล่าแฟรี่ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เมื่อเหล่าเด็กๆ เจอหนังสือเก่าที่ภายในหนังสือระบุข้อมูลของเหล่าแฟรี่ไว้ สุดท้ายเด็กๆ จึงได้เจอวิธีการที่จะมองเห็นเหล่าแฟรี่นั้นผ่านก้อนหิน งานเขียนชุดนี้เหมือนเป็นการปลุกความเชื่อวัยเยาว์ของเราขึ้นมาใหม่ ว่าโลกรอบๆ ตัวอาจจะมีสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์คอยก่อกวนเราอยู่ The Spiderwick Chronicles ก็เป็นอีกหนึ่งกระแสแฟนตาซี มีการนำมาสร้างเป็นฉบับหนังด้วย
Inkheart (2003)
ชอบอ่านเรื่องแฟนตาซีกันใช่ไหม งั้นเอา ‘การอ่าน’ มาทำให้โลกแฟนตาซีเป็นเรื่องจริงซะเลย Inkheart มาพร้อมกับกฎที่บอกว่า ‘ห้ามอ่านออกเสียง’ ผลงานแฟนตาซีจากเยอรมันเรื่องนี้พูดถึงความสามารถของตัวละครเอกที่เมื่ออ่านเรื่องราวอะไรออกเสียงแล้วเรื่องราวในเรื่องจะหลุดออกมาจากหนังสือ ในเรื่องเล่นกับตำนาน นิทานพื้นบ้าน และการดึงโลกในหนังสือออกมาปะทะกับโลกแห่งความจริง
The Bartimaeus Trilogy (2003)
แฟนตาซีในโลกตะวันตกมานานแล้ว The Bartimaeus คืออีกหนึ่งผลงานของ Jonathan Stroud นักเขียนชาวอังกฤษ ถึงวรรณกรรมแฟนตาซีชุด The Bartimaeus จะมีฉากที่อังกฤษ แต่ตัวเรื่องเล่นกับความแฟนตาซีที่ใช้ตำนานอาหรับราตรีมาผสมผสานกับปกรณัมกรีกโบราณ ในเรื่องจึงมีกลิ่นแบบอาหรับๆ พูดถึงเหล่าจินนี่ เวทมนตร์แบบโลกตะวันออก เป็นอีกเรื่องที่มีแนวแฟนตาซีที่โดดเด่น อ่านสนุก ชวนให้เราคิดถึงอะลาดินและตำนานที่เราคุ้นเคย
Jonathan Strange & Mr Norrell (2004)
Jonathan Strange & Mr. Norrell เล่มนี้อาจจะไม่ใช่แฟนตาซีจ๋าที่อ่านสนุก ลุกนั่งสบายเหมือนเล่มอื่นๆ เล่มนี้อาจจะอ่านยาก และมีประเด็นที่นักเขียนค่อนข้างตั้งใจเขียนในลักษณะงานแนวแฟนตาซีที่เขียนเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ หนังสือพูดเรื่อง Gilbert Norrell และ Jonathan Strange ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์อันเป็นยุคสมัยที่เวทย์มนต์ยังมีอยู่จริง วรรณกรรมชุดนี้ตั้งใจเขียนตามขนบของวรรณกรรมอังกฤษ ในเล่มจะใช้การบรรยาย การเขียนบันทึก แถมยังเต็มไปด้วยเชิงอรรถมากมาย เล่มนี้ค่อนข้างอ่านยาก ไม่หวือหวา แต่ว่าเป็นงาน ‘แนวแฟนตาซี’ ที่โดดเด่นเล่มหนึ่ง