ปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นอีกช่วงเวลาที่สังคมไทยของเรามีการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม ศาสนา หรือแม้แต่เรื่องการแต่งกาย ที่มีหลายคนตัดสินใจฉีกกรอบการแต่งตัวแบบเดิมๆ ที่ต้องคอยเอาใจกรอบสังคมที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความแบ่งแยก และแตกต่างระหว่างชาย-หญิง แล้วหันมาลองอะไรใหม่ๆ ที่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของการ ‘ปลดแอกแฟชั่น’ ของประเทศเราเลยก็ว่าได้
เคยตั้งคำถามไหม ว่าใครกันที่เป็นคนกำหนดว่า เป็นผู้ชายต้องใส่กางเกง หรือเป็นผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ทำไมการที่ผู้หญิงใส่กางเกงถึงถูกมองว่าเป็นชุดไม่สุภาพ ทำไมผู้ชายใส่กระโปรง ใส่เสื้อครอป ถึงถูกตัดสินว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนหลากหลายทางเพศ ทั้งที่ความจริงแล้วเขาอาจจะเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีรสนิยมแต่งตัวแบบ Cross Dresser หรือชอบแต่งกายตรงกันข้ามกับเพศสภาพก็เท่านั้น และทำไมอยู่ดีๆ สไตล์ส่วนตัวเหล่านี้ถึงกลายมาเป็นเครื่องมือตัดสินคุณค่าของมนุษย์ไปได้ ทั้งที่ทุกคนต่างมีบทบาทอื่นให้ชั่งคุณค่ามากมาย ซึ่งค่านิยมเหล่านี้แหล่ะ ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนออกซิเจน ลอยอยู่รอบตัวเราไปมา ถึงมองไม่เห็น แต่สำคัญ… สำคัญถึงขนาดที่สามารถบีบบังคับให้เรา คุณ เธอ และเขา ต้องยอมทิ้งความชอบส่วนตัว เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ในสังคมต่อไปได้โดยไม่กลายเป็นคนนอกคอก
The MATTER ตัดสินใจชวนศิลปินวัยรุ่นชื่อดัง ที่มีสไตล์การแต่งตัวที่ชัดเจน อย่าง ‘ต้นหน ตันติเวชกุล’ มาร่วมพูดคุย และถ่ายทอดมุมมองแฟชั่น การแต่งกาย รวมถึงความยากลำบากในการหลุดออกจากกรอบเดิมๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสังคมที่ยังห้อมล้อมไปด้วยค่านิยมที่พยายามบิดเบือนตัวตนอยู่ทุกวัน ว่าเขาต้องใช้ความกล้าหาญมากแค่ไหนว่าจะมายืนในจุดที่เรียกว่า ‘ผมชอบตัวเองตอนนี้ที่สุด’ ได้อย่างทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นที่เริ่มทำให้หันมาแต่งตัว ‘จัดจ้านสไตล์ต้นหน’
ขอเกริ่นก่อนว่าช่วงมัธยมเราไม่ชอบเรื่องแฟชั่นเลย ตอนนั้นเราชอบวงแบบ Heavy Metal อย่าง Avenged Sevenfold หรือ Slipknot มาก่อน แล้วดนตรีสายนั้นจะมีความเป็นผู้ชายมาก แบบแต่งตัวใส่เสื้อวงลายหัวกระโหลก ลายไฟ กางเกงยีนส์ขาเดฟ เราเลยคิดว่าผู้ชายต้องแต่งตัวแบบนี้ อีกหนึ่งกระแสในตอนนั้นคือชาวร็อคจะไม่ชอบพวกดนตรีป็อป อย่างจัสติน บีเบอร์ ช่วงนั้นเราก็จะแบบอะไรวะ ทำเพลงป็อปมันไม่เท่ ไม่แมนเลย แต่สุดท้ายเราก็ทำตรงข้ามกับที่เราเคยว่าไว้ทั้งหมด
ยอมรับเลยว่าตอนนั้นเราโลกแคบมากๆ และความคิดหลายอย่างในช่วงที่เรายังเด็กมันก็เป็นความคิดที่ใจร้ายไปหน่อย เช่นผู้ชายต้องแต่งตัวแบบนี้ ผู้หญิงแบบนี้ ชาวร็อคต้องแมน ต้องไม่เอาป็อป แต่พอเราเริ่มโตขึ้น เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก กระแสสังคมก็เปลี่ยน โซเชียลมีเดียมันยิ่งแพร่หลาย เรามีโอกาสได้ติดตามศิลปินต่างประเทศมากขึ้น อย่าง Harry Styles หรือ Matthew Healy จากวง The 1975 ซึ่งเป็นวงโปรดของผมเลย ตอนนั้นผมถึงรู้ว่า จริงๆ แล้วการแต่งตัวมันไม่ได้มีแค่แบบที่เราคิด พอได้ฟังเพลงมากขึ้น ได้เห็นศิลปินต่างประเทศมากขึ้น เราก็เลยรู้ว่าศิลปินต่างประเทศเขาเขาฉีกกรอบการแต่งตัวแบบเดิมๆ มานานแล้ว อย่าง Kurt Cobain นักร้องนำวง Nirvana หรือ David Bowie ก็แต่งตัวแหวกค่านิยมมาตลอด เพียงแต่เราเพิ่งมารู้
สไตล์การแต่งตัวของต้นหนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่เกิดจากการค่อยๆ พัฒนา
ใช่ครับ จริงๆ ผมไม่ได้เป็นคนที่มีความโดดเด่นเรื่องสไตล์การแต่งตัวมาตั้งแต่แรก หลายคนอาจจะเห็นผมจากซีรีส์เรื่องฮอร์โมนส์ ช่วงนั้นผมเรียนมัธยมอยู่ ก็ใส่ชุดแบบชิวๆ ไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ผมมองว่าสไตล์ของตัวเองค่อยๆ เปลี่ยนตามอายุที่โตขึ้น และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ช่วงที่มาทำวง Mints กับ พี่อัด อวัช รัตนปิณฑะ เราก็ได้ซึบซับการแต่งตัวจากพี่เขา เพราะพี่อัดเป็นคนแต่งตัวเก่งอยู่แล้ว เราก็อยากเท่เหมือนเขา ตรงนี้มันก็มีส่วนที่ทำให้สไตล์เราเริ่มชัดเจนขึ้น อีกคนที่ต้องขอบคุณคือคุณพ่อของผม คุณพ่อเป็นคนชอบแต่งตัวมาก เดินตลาดนัดจตุจักรทุกสัปดาห์ เมื่อก่อนคุณพ่อก็จะชวนเราไป แต่ตอนนั้นเราเด็กๆ ก็ชอบอยู่บ้านเล่นเกมมากกว่า
แม้ว่าจะเริ่มหันมาสนใจเรื่องแฟชั่นจริงจัง แต่ช่วงแรกผมเองก็ยังแมชเสื้อผ้าไม่เก่งนะ ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสี หรือสไตล์ต่างๆ แต่มันก็พัฒนาขึ้นตามเวลา ไม่ใช่ว่าพอผมอยู่ดีๆ ผมตัดสินใจใส่กระโปรงเลย มันใช้เวลานาน 3-4 ปี เลย ตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย
ตอนนี้การแต่งตัวของต้นหนเป็นสไตล์ไหน
จริงๆ ผมไม่รู้เลย คือผมเรียนคณะดุริยางค์ฯ ที่มหาวิทยาศิลปากร แล้วมีเพื่อคณะมัณฑนศิลป์หลายคนที่เขาเก่งเรื่องการแมชเสื้อผ้า การจับคู่สี หรือสไตล์ต่างๆ แต่ผมจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ จริงๆ ก็อยากศึกษา แต่ยังไม่มีโอกาสมากเท่าไหร่ เราเลยอาศัยจากการเสพสื่อแล้วค่อยๆ ซึมซับไป ชอบแบบไหนก็เอามาเป็น Reference เพราะฉะนั้นผมมองว่าตัวเองไม่ได้แต่งตัวแบบบูติกทุกวัน หรือแบบอื่นๆ แล้วก็ไม่ได้มองว่าที่เราเป็นทุกวันนี้คือสไตล์อะไร ไม่อยากไปกำหนดให้มัน เหมือนเราแค่มองว่าแบบนี้เหมาะกับเรานะแค่นั้นเลย
แต่ช่วงหลังๆ ก็มี Option ที่ทำให้การแต่งตัวของเราเปลี่ยนไป คือสีมงคล ที่จะมีบอกว่าวันนี้ใส่สีนี้ดีนะ สีนี้เป็นกาลกินี เรามองว่ามันสนุกดี ถามว่าเชื่อไหม ก็ส่วนหนึ่ง เรียกว่าเอาไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวอาจจะถูกกว่า หากวันไหนเราเจอเรื่องร้ายๆ แต่เราใส่สีมงคลแล้ว เราก็จะได้มั่นใจว่าวันนี้มันไม่ได้แย่เพราะใส่สีกาลกิณีนะ จะได้โทษตัวเองได้เต็มที่มันวันพังเพราะตัวเราเอง
เจอผลตอบรับจากคนรอบข้างอย่างไรบ้าง หลังจากสไตล์การแต่งตัวเราเริ่มชัดเจนมากขึ้น
ผลตอบรับส่วนใหญ่ออกมาในแง่ดีนะ เพื่อนเรา คนที่ติดตามเราที่เป็นคนรุ่นเดียวกันก็บอกว่าเท่ บางคนก็มีไปทาเล็บตาม มีใส่กระโปรงบ้าง แต่ก็จะมีฟีดแบคจากผู้ใหญ่มาบ้าง แต่ผู้ใหญ่ในที่นี้ไม่ใช่จากทางค่ายนะ เป็นฝั่งญาติ หรือเพื่อนแม่ ที่เขาจะมีคำถามมาทางแม่เราว่าลูกเป็นแบบนี้แล้วหรอ ซึ่งคำว่า ‘เป็น’ ในที่นี้เราก็รู้ว่าคืออะไร ทำไมแต่งตัวแบบนี้ มันไม่ดีนะ แต่บอกตามตรง ผมรู้สึกว่าการแต่งตัวแบบนี้มันทำให้ผมมั่นใจ และมีความสุข ผมเลยไม่ค่อยได้เก็บมาให้ตัวเองรู้สึกแย่ เพราะผมรู้สึกแฮปปี้มากกว่ากับการได้เป็นตัวของตัวเอง ได้แต่งตัวแบบที่ผมชอบและมั่นใจ ซึ่งผมก็ไม่ได้แต่งตัวจัดเต็มทุกวันหรอก จริง ๆ แล้วก็มีมุมขี้เกียจอยู่เหมือนกัน และบ่อยด้วยครับ
คิดอย่างไรกับคนที่มองว่าเราเป็น LGBTQ
ช่างแรกๆ ก็ยอมรับว่าไม่ได้สบายใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายแล้วก็ช่างมัน คนอื่นจะคิดแบบไหนก็ปล่อยเขาไป ผมรู้ว่าผมเป็นแบบไหนก็พอแล้วครับ และจริง ๆ ผมเชื่อว่า LGBTQ หรือ Bisexual ไม่ใช่อะไรที่ไม่ดีเลยด้วยซ้ำ พอคิดแบบนี้เราก็โอเค ผมใช้ชีวิตของ ‘ตัวเอง’ โดยใช้ความรู้สึกของ ‘ตัวเอง’ เพราะฉะนั้นผมรู้ว่าตัวเองเป็นยังไงดีที่สุด
แต่ต้องสารภาพตรงๆ ว่าเมื่อก่อนสมัยมัธยมต้น ช่วงนั้นผมยังไม่เข้าใจกับเรื่อง LGBTQ เลย จนทำให้เราออกห่างจากเพื่อนสนิทที่เป็นเกย์ เพราะความไม่เข้าใจในตัวเขา ซึ่งมันเป็นอะไรที่แย่มากครับ
ตอนนั้นเรายังเด็ก แต่เราก็ยอมรับความผิดพลาด ณ ตอนนั้น แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปแบบที่ผมบอก ตอนนี้เราก็ไม่สนใจแล้ว อันนี้ผมพูดได้ เพราะผมเคยเป็นคนที่เคยคิดแบบนั้น ‘เห้ย มึงใส่กระโปรง มึงตุ๊ดว่ะ มึงเกย์’ ผมเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน พอมองกลับไป กลายเป็นว่าเราไม่ชอบตัวเองตอนนั้นมากๆเลย เพราะเราได้รับการ Educate มากขึ้น เปลี่ยนตัวเองและมุมมองมากขึ้น และกลายเป็นเราในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้ผมจะโอเคกับการที่คนมองว่าเราเป็น LGBTQ แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมไม่ชอบ และไม่เห็นด้วยมากๆ คือ พวกมุกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพต่างๆ คือไม่ว่าคนเพศไหนก็ไม่ควรต้องเจอการล้อเลียนด้วยคำพูดแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกันผมก็เข้าใจว่าหลายคนเขาโตมาในบริบทที่แตกต่างกัน แต่ต้องบอกจริงๆ ว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยตลกสำหรับคนที่โดน ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหน หรือสถานะใดก็ไม่ควรต้องมาหัวเสียกับคำพูดแบบนี้
แล้วสำหรับเรื่องคนที่เล่นมุกล้อเลียนทางเพศ หรือล้อเลียนการแต่งตัวล่ะ
ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือเรามีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการและไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร อย่างเช่นเรื่องดนตรี แม้ว่าผมจะโชคดีมากที่ทางบ้านสนับสนุนให้ผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ต้องเจอคำพูดทำนองว่า ‘เต้นกินรำกิน’ ผมเลยมองว่า สิ่งที่จะทำให้เขาเข้าใจ คือการกระทำ เราต้องแสดงให้เห็นว่า การที่เราเล่นดนตรีมันก็ประสบความสำเร็จได้นะ
เรื่องการแต่งตัวก็เหมือนกัน ถ้าเราชอบแบบนี้เราก็ทำเลย ลุยเลย พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราทำไม่ได้เดือดร้อนใคร แต่ผมก็มองว่าทุกวันนี้มันมาไกลมากแล้วนะหมายถึงว่าเรื่อง Fashion has no gender แม้ว่ายังมีคนที่ยังตีกรอบอยู่ แต่มันก็มาไกลมาเลย ลองคิดว่าถ้าผมใส่กระโปรงขึ้นคอนเสิร์ต 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว มันอาจจะโดนหนักว่านี้ก็ได้ แต่ตอนนี้กระแสที่ได้รับมันเริ่มเป็นบวกมากกว่า ผมคิดเลยคิดว่าบางทีคำพูดมันอาจจะไม่ได้ผลขนาดนั้น ก็แค่ต้องทำให้เห็น
ช่วงที่ผ่านมา มีการเอาเครื่องแต่งกายของผู้หญิงอย่าง ‘กระโปรง’ มาเป็นคำเสียดสี
ถ้าเป็นเมื่อก่อนช่วงมัธยมที่ผมบอกว่าผมเป็นอีกแบบ ผมมองคำเสียดสีจำพวก ‘ผู้ชายหน้าตัวเมีย’ หรือ ‘เอากระโปรงแม่มาใส่’ เป็นคำที่เจ็บนะ เพราะอย่างที่บอก เรายังไม่เข้าใจเรื่องนี้มากพอ แต่พอมาฟังตอนนี้ พอมุมมองความคิดมันเปลี่ยนไป กลายเป็นไม่เห็นรู้สึกอะไรเลย ตอนนี้ผมรู้สึกว่าสังคมมันมาไกลมากแล้ว แน่นอนมันก็ยังมีเหลืออยู่บ้างแหล่ะ การไล่คนนู้นคนนี้ไปใส่กระโปรง แต่ผมมองว่าอีกหน่อยคำพวกนี้มันจะหมดไป อาจจะอีกสักสิบปี หรือยี่สิบปี มันต้องใช้เวลา
อยากผลักดันอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้ไหม
จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้คิดจะผลักดัน หรือไม่ได้ตั้งใจจะ Movement ว่าคุณต้องเปลี่ยนความคิด คือผมคิดว่าผมชอบแบบนี้ ชอบสไตล์นี้เราก็จะทำ แต่ถ้าใครรู้สึกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากเรา เราก็ดีใจ จนมันมีช่วงที่หลังๆ เราเริ่มอยากที่จะผลักดันประเด็นนี้จริงจัง แต่ก็ไม่อยากไปบังคับจนมันมาเป็นกรอบขนาดนั้น คือ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องลงรูปใส่กระโปรงทุกเดือน หรือทุกสัปดาห์ เพื่อให้คนมาทำตาม แน่นอนว่าเราสนับสนุน แต่ไม่อยากจะไปกำหนดคุณค่าว่าทุกคนต้องหันมาแต่งตัวแบบนี้นะ เรายังเคารพให้ความคิดเห็นหรือไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของทุกคนเสมอ แต่ถ้าคุณอยากแต่งแบบนี้ ก็ทำเลย
ความยากในการเป็นตัวของตัวเองในขณะที่ต้องยืนอยู่บนความคาดหวังของสังคม
ด้วยความที่ผมอยู่ในจุดที่สังเกตเห็นได้ง่าย เพราะฉะนั้นมันทุก Movement มันผ่านการคิดเยอะมาก ครั้งแรกที่ผมตัดสินใจใส่กระโปรงในที่สาธารณะคืองาน Cat Radio ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราเองก็กังวล โทรปรึกษาผู้ใหญ่ว่ามันจะเป็นปัญหาอะไรไหม คือเรามองว่าการได้รับความสนใจจากสังคมมันทำให้ทุกการขยับของเราต้องคิดให้ดี เพราะมันส่งผลทางใดทางหนึ่งแน่นอน ไม่ว่าผลเหล่านั้นจะเล็กน้อยหรือใหญ่ก็ตาม
ในขณะเดียวกันเราก็เข้าใจหลายๆ คนที่ไม่ได้ทำอาชีพที่อยู่ในสปอร์ตไลท์ของสังคมว่าที่บ้าน หรือคนรอบข้างอาจจะไม่เข้าใจ ว่าทำไมเป็นเพศนี้แต่งตัวแบบนี้ ก็อยากให้กำลังใจจริงๆ มันอาจจะเป็นประโยคที่ดูโง่ๆ นะ แต่ ‘มึงยังมีกูที่เข้าใจ’ แล้วก็ยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนเลยที่พร้อมจะเข้าใจปัญหาเหล่านี้ อย่างที่บอกไป ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องตอบคำถามที่มาจากการตัดสินของคนอื่น สุดท้ายคืออยากให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และทำมัน แต่เวลาก็มีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปกติของสังคม เวลามันจะเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่า สิ่งที่เราทำ การใส่กระโปรงต่างๆ มันไม่เดือดร้อนใคร ถ้าเราพยายามกันต่อไป บวกกับให้เวลาเป็นตัวตัดสิน ผมเชื่อว่า สักวันหนึ่งคนอื่นจะต้องเข้าใจ
แต่สุดท้ายถ้าเขาไม่เข้าใจก็อย่าคิดว่าที่ทำมามันสูญเปล่า ผมรู้สึกว่าชีวิตหนึ่งเกิดมาก็ต้องใช้ พี่ตูนก็บอกว่าชีวิตมันเป็นของเรา ดังนั้นถ้าเขาไม่อิน แต่เราได้เป็นตัวของตัวเองมันก็คุ้มแล้ว ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ ตราบใดที่มันไม่ผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม การแต่งตัวมันก็แค่แฟชั่น อย่าให้มันเป็นเครื่องตัดสินชีวิตเรา
คิดว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาใช่ไหม
ใช่ครับ ทุกเรื่องในสังคมเลย แม้กระทั่งประเด็นที่เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) อย่างทัศนคติระหว่าง ผู้ใหญ่-เด็ก หรือ ครู-นักเรียน สุดท้ายผมเชื่อว่าเราจะหาจุดที่ลงตัวได้อย่างแน่นอน ที่ผ่านมาสังคมถูกตีกรอบแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่ฝังรากอยู่มานานมากๆ ว่าผู้ชายต้องไม่ใส่กระโปรง กระโปรงเป็นของผู้หญิงเท่านั้น คนที่ใส่กระโปรงคือมึงมันน่าอายต่างๆ เราอยู่กับมันมา 10 ปี 20 ปี หรือเป็นเป็น 100 ปีเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องปกติมากของสิ่งที่อยู่มานาน คือมันต้องมีคนที่ไม่เข้าใจอยู่แล้ว มันปกติมากที่คนจะยังไม่ยอมรับ 100 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ อยากฝากถึงเพื่อนๆ เจนเดียวกันด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงมันเริ่มต้นจากพวกเรานี่แหล่ะ Movement อะไรก็ตาม เราทำได้ เรามีสิทธิ์ที่จะทำ มันจะไม่เปลี่ยนแปลงในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้เลย มันต้องใช้การต่อสู้ที่ยาวนานมากๆ แต่ถ้าตอนนี้เรายึดมั่นใจอุดมการณ์ หรือการปฏิบัติอะไร ก็ทำมัน ลุยเลย เพราะมันจะคุ้มค่าแน่นอน เพียงแต่มันต้องใช้เวลาเท่านั้นเอง
อยากฝากอะไรคนที่ยังไม่เข้าใจประเด็นนี้บ้าง
เอาจริงๆ มันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล และละเอียดอ่อนมากๆ คงต้องย้อนกลับมาเรื่องเดิม คือให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าคนที่พร้อมจะทำความเข้าใจ เขาจะพยายามเข้าใจมันด้วยตัวเอง แต่ถ้าคนไม่เปิดใจ ต่อให้เราพูดอะไรมันก็เปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ความผิดเขานะ อย่างที่บอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดอย่างไรก็ตาม ตราบใดที่มันไม่ละเมิดคนอื่น ผมว่าแค่นั้นก็โอเคแล้ว
ที่ผ่านมา เราทุกคนล้วนตกเป็นเหยื่อของค่านิยมที่ว่าด้วยเรื่องเครื่องแต่งกายสามารถบ่งบอกเพศสภาพได้ เคยลองคิดกับตัวเองไหม ถ้าหากไม่มีใครมองมาที่เรา ชุดที่เราอยากใส่ออกจากบ้าน จะเป็นชุดแบบไหน กางเกงขาสั้นแสนสบาย ชุดเดรสจัดเต็ม หรือชุดสีสันฉูดฉาดในวันแดดจ้า หากคำตอบของเรายังแตกต่างกับความเป็นจริง นั่นเท่ากับว่าเรายังตกเป็นเหยื่อ เป็นทาสที่ต้องคอยหลบอยู่ภายใต้คำนิยามปลอมๆ ที่เรียกว่า ‘ความเหมาะสม’
ไม่มีใครเรียกร้องให้ใครแต่งตัวเหมือนผู้หญิง หรือเรียกร้องให้แต่งตัวแบบผู้ชาย แต่เราสนับสนุนให้ทุกคนแต่งตัวแบบที่อยากแต่ง ทำผมอะไรก็ได้ที่อยากทำ ลองออกจาก Comfort Zone สักครั้ง คุณอาจจะพบสีสันใหม่ๆ ที่แอบซ่อนเพื่อรอวันได้เฉิดฉาย ในเวลาที่คุณกล้าหาญมากพอที่จะฉีกกฎเดิมๆ