การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเองได้ดีและเห็นชัดที่สุดนั่นก็คือ ‘การแต่งกาย’ ที่ไม่ว่าคุณจะชอบอะไรหรือเป็นคนแบบไหน มักจะสะท้อนออกมาได้ผ่านการแต่งตัวหรือเสื้อผ้า และเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์นี้ จึงทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ากลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ระดับโลกอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง
การเลือกซื้อเสื้อผ้านั้นดูเผินๆ ก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะพอใจกับเนื้อผ้า สี หรือดีไซน์แบบไหน แต่ลึกๆ แล้วมีปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้คนเราอยากช้อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่ๆ นั่นก็คือ “เสื้อตัวนี้เห็นใส่บ่อยจัง” “ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่แล้ว” และ “ของมันต้องมี” ประโยคยอดฮิตจากสังคมบริโภคนิยมในยุคนี้ที่ได้ยินบ่อยๆ จึงทำให้เรามีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนหรือซื้อเสื้อผ้าใหม่อยู่เรื่อยๆ
และโลกที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แฟชั่นก็เป็นเรื่องต้องรวดเร็วตามเช่นกัน
Fast Fashion อุตสาหกรรมที่เล่นกับความเบื่อง่าย หน่ายเร็ว
ความต้องการด้านแฟชั่นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างไร? ในสมัยก่อนมีแต่คนรวยหรือชนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าถึงเสื้อผ้าแฟชั่น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประชากรกลุ่มชนชั้นกลางมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอแฟชั่นเสื้อผ้าบนรันเวย์หรือโฆษณาก็ทำให้ผู้คนอยากตามเทรนด์ ทำให้ฟาสต์แฟชั่นเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางได้ทันเวลา โดยต้องเป็นราคาที่พวกเขาจับต้องได้เช่นกัน และด้วยความที่แฟชั่นเริ่มดูเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีหรือที่เราจะไม่บริโภค
ในแต่ละปีมีการผลิตเสื้อผ้าราวๆ 150,000 ล้านชิ้น
ซึ่งตัวเลขนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
เมื่อความต้องการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การผลิตจำเป็นต้องใช้ความรวดเร็วและได้จำนวนที่มาก (mass product) ตามไปด้วย แน่นอนว่าการจะทำทั้งสองสิ่งให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องกดต้นทุนให้ต่ำลง ทั้งคุณภาพของวัสดุและแรงงาน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนต่อต้านฟาสต์แฟชั่น เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสินค้าที่ไร้คุณภาพ เน้นใส่ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งไป นอกจากนี้ยังใช้เวลาในการออกแบบเพียงแค่สั้นๆ หรือถอดแบบมาจากเสื้อผ้าที่กำลังเป็นเทรนด์ในขณะนั้น ทำให้เพียงไม่กี่วัน คนทั่วไปก็สามารถเป็นเจ้าของแบรนด์หรูหราในราคาที่ถูกได้ และการออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ อยู่ประจำ ก็ทำให้คนอยากซื้อใหม่เรื่อยๆ เพื่อตามเทรนด์ให้ทัน
ฮาซัน มินฮาจญ์ (Hasan Minhaj) นักเดี่ยวไมโครโฟนแนวเสียดสีชื่อดัง อธิบายในรายการ ‘Priot Act’ ตอน The Ugly Truth of Fast Fashion ว่า โดยปกติแล้วแบรนด์เสื้อผ้าเก่าๆ จะออกเสื้อผ้าจำนวนมากๆ ในการเปิดตัวซีซั่นแค่ไม่กี่ครั้ง โดยใช้เวลาหลายเดือนหลายปีในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่าย แต่เมื่อถึงยุค 80s แบรนด์ Zara ได้ปฏิวัติโมเดลธุรกิจเสื้อผ้าใหม่ โดยการผสมผสานเทคนิค 2 อย่างเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ การผลิตที่สนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว (Quick Response Manufacturing) ทั้งขั้นตอนการออกแบบ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการวางจำหน่าย ทำให้พอเวลามีเทรนด์ใหม่ๆ เข้ามา บริษัทเหล่านี้ก็มักจะเกาะกระแสอย่างรวดเร็วด้วยการถอดแบบดีไซน์นั้น
หากถามว่าสินค้าเหล่านี้ถูกกฎหมายได้อย่างไร คำตอบก็คือ ของถอดแบบส่วนใหญ่ไม่ใช่ของปลอม เพราะของที่ถอดแบบออกมาเป็นเพียงแค่การดีไซน์ที่คล้ายกับต้นฉบับเท่านั้น ไม่ได้มีการอ้างถึงชื่อของแบรนด์ต้นฉบับหรือเคลมว่าตัวเองเป็นต้นฉบับแต่อย่างใด
จากเทคนิคข้อแรก จึงทำให้เกิดข้อที่สองตามมา นั่นก็คือการจัดสรรแบบพลวัติ (dynamic assortment) หรือที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือการวางขายเป็นประจำทุกวันนั่นเอง เพราะเมื่อจับกระแสสังคมและผลิตออกมาได้ไว มีหรือที่จะไม่ปล่อยออกมาขายเพื่อดูว่าอะไรที่จะทำรายได้ได้บ้าง ซึ่งแบรนด์ Zara เองก็เผยว่า มีการออกเสื้อผ้าใหม่ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และเสาร์ โดยแทนที่จะออกเสื้อผ้าใหม่ๆ ปีละ 2-4 ครั้งเหมือนแบรนด์อื่นๆ พวกเขาเลือกที่จะออกถึงปีละ 52 ครั้ง (ข้อมูลจากรายการ The True Cost ปี ค.ศ.2015)
“เราอยากสัมผัสกับความหรูหราโดยไม่ต้องจ่ายราคาเต็ม จึงทำให้ Inditex บริษัทแม่ของแบรนด์ Zara กลายเป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทำให้อะมันซิโอ ออร์เทกา (Amancio Ortega) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Zara รวยเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ด้วยรายได้เกือบ 70 พันล้านดอลลาร์” ฮาซัน กล่าว
นอกจาก Zara ที่เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดของฟาสต์แฟชั่น ก็ยังมีแบรนด์อื่นๆ อาทิ H&M Topshop Fashion Nova ที่ถูกเคลมเช่นกัน แม้บางแบรนด์จะไม่ได้ดูเหมือนเป็นฟาสต์แฟชั่นเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีดีไซน์ที่เรียบง่าย เหมาะกับการใช้ในระยะยาว และยากต่อการตกเทรนด์ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าแบรนด์นั้นจะไม่เข้าข่าย เพราะกระบวนการผลิตต่างหาก ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าแบรนด์ไหนเป็นฟาสต์แฟชั่นที่แท้จริง หรือเรียกได้ว่าเป็นการออกคอลเลกชั่นใหม่เรื่อยๆ แต่เป็นคอลเลกชั่นที่ดูเรียบง่ายเท่านั้นเอง
แน่นอนว่าพอโมเดลธุรกิจนี้เกิดขึ้น ก็จะต้องมีพฤติกรรมที่สอดคล้องไปด้วยกัน อะไรที่ทำให้ฟาสต์แฟชั่นอยู่ได้ในอุตสาหกรรมนี้ อนิกา คอสโลสกี (Anika Kozlowski) ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นเชิงอนุรักษ์ และศาสตร์จารย์ด้าน Fashion Design, Ethics and Sustainability มหาวิทยาลัยไรเยอร์สัน กล่าวว่า ที่จริงแล้ว ฟาสต์แฟชั่นเริ่มจากโครงสร้างธุรกิจหรือระบบทุนนิยมที่ทำงานอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด จนทำให้หลายคนลืมตระหนักไปว่า การนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้เรื่อยๆ และทิ้งไป วันหนึ่งมันจะไม่มีเหลืออยู่อีกเลย อนิกายังเสริมอีกว่า ที่จริงมนุษย์เราสามารถเดินหน้าต่อกับแฟชั่นที่ยั่งยืนได้ โดยไม่ลืมความสนุกของการได้สร้างสรรค์
“เราอาจจะอยู่ในโลกพาณิชย์ก็จริง
แต่ไม่ได้หมายความเราจะต้องซื้อเสมอไป เพราะยังมีการการพาณิชย์อื่นๆ
อย่างบริการนำเสื้อผ้าเก่ามาดัดแปลงใหม่
ที่จะเป็นอีกทางเลือกให้กับเราเช่นกัน” – อนิกา
ด้วยระบบทุนนิยมที่นำไปสู่การบริโภคนิยมในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้คนรู้สึกว่า การซื้อของเยอะๆ เปรียบเสมือนการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง การมีเสื้อผ้าเยอะๆ ใหม่ๆ และทันกระแส จึงกลายเป็นสิ่งที่ช่วยชุบชูจิตใจให้กับหลายคน จนต้องการที่จะบริโภคฟาสต์แฟชั่นอยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
มาไว ไปไว แต่ส่งผลกระทบมากมาย
หลายคนอาจจะรู้ว่าแต่ละกระบวนการผลิตเสื้อผ้าทั้งก่อน ระหว่าง และหลังได้ส่งผลกระทบยังไงต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกบ้าง แต่อาจจะยังไม่รู้ว่านอกจากนี้ ยังมีด้านอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายจากอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน
ข้อมูลจากสำนักข่าว The Guardian พบว่า ในปี ค.ศ.2015 โรงงานสิ่งทอได้สร้างภาวะเรือนกระจกมากกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศและขนส่งทางทะเลรวมกัน หรือเรียกได้ว่าเสื้อผ้าที่อยู่ในกระเป๋าเดินทางของเรานั้น สร้างความเสียหายได้มากกว่าเที่ยวบินที่เราเดินทางไปต่างประเทศเสียอีก
พอเห็นถึงระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็น่าวกกลับมาดูพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการเกิดปรากฏการณ์นี้ มีการวิจัยล่าสุดของ YouGov Omnibus เผยให้เห็นถึงปริมาณขยะในประเทศไทย ซึ่งผู้ใหญ่ 8 ใน 10 คน หรือ 77% ทิ้งเสื้อผ้าไปบางส่วนในปีที่แล้ว และ 4 ใน 10 หรือ 40% ทิ้งเสื้อผ้ามากกว่าสิบรายการในปีที่ผ่านมา และในปี ค.ศ.2017 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด หรือ 25% ได้ทิ้งเสื้อผ้าอย่างน้อยสามชิ้นที่พวกเขาสวมใส่เพียงครั้งเดียว
อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ยังถูกมองว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดมลพิษทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง เนื่องจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเหมือนกับโรงงานอื่นๆ ที่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ชุมชน จนเกิดเป็นมลพิษทางน้ำและอากาศ สร้างความเสียหายต่อสุขภาพ จนถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้
ในด้านของทรัพยากร การปลูกฝ้ายเพื่อทำเสื้อผ้าจำเป็นจะต้องใช้น้ำปริมาณมากในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ใยสังเคราะห์ยังส่งผลกระทบที่หนักกว่ามาก เช่น โพลีเอสเตอร์ ไนลอน สแปนเด็กซ์ ที่ต้องใช้น้ำมันเกือบ 342 ล้านบาร์เรลต่อปีในการผลิต ไม่เพียงเท่านี้ เรยอนหรือวิสโคส เส้นใยที่นิยมนำมาใช้ผลิตฟาสต์แฟชั่น กว่า 33% นั้นทำมาจากป่าโบราณหรือป่าที่ถูกคุกคาม โดยโรงงานต้องทำลายป่าเพื่อนำไม้มาสกัดเอาเยื่อ แล้วจากนั้นก็นำมาเข้ากระบวนการทำเป็นผ้าที่เรียกว่าวิสโคส ซึ่ง 70% ของไม้ที่นำมาใช้ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน เนื่องจากส่วนที่นำไปใช้ได้มีเพียงแค่ 30% เท่านั้น
ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมที่ถูกกระทบจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น แต่กระบวนการผลิตสินค้าจำนวนมาก ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปทานของแรงงานที่เกิดจากการขยายของห่วงโซ่อุปทาน เกิดแรงงานผิดกฎหมายและการกดขี่ค่าแรง ทำให้การผลิตหรือจำหน่ายแบบเดิมถูกเปลี่ยนอย่างกระทันหันเนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ และการขาดแคลนพลังงานที่จะส่งผลต่อการบริโภคของสิ่งมีชีวิตบนโลก
และถ้าคุณคิดว่าการทิ้งเสื้อผ้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเป็นการนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพียงแต่ผ่านการใช้งานของ ‘คนอื่น’ งั้นลองดูข้อมูลชุดนี้ก่อน ศูนย์รับบริจาคสิ่งของ ซัลเวชั่นอาร์มี (Salvation Army) ในนิวยอร์ก พบว่า ทุกๆ 3 วันจะมีเสื้อผ้าถึง 18 ตันที่ผู้รับบริจาคไม่ต้องการ เนื่องจากมีสภาพที่แย่จนเกินไป ทำให้สุดท้ายแล้ว เสื้อผ้าเหล่านั้นก็ถูกนำไปทิ้งที่แอฟริกาหรือเคนย่า ไม่ก็ลงหลุมฝังหรือถูกเผาอยู่ดี
สรุปแล้ว วิธีแบบไหนกันที่จะช่วยลดปริมาณเสื้อผ้าในตู้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ นอกจากการบริโภคเสื้อผ้าอย่างระมัดระวังและมีสติตั้งแต่ต้น
Greenwashing การผลิตแบบยั่งยืนที่ไม่ยั่งยืน
เพื่อให้มีที่ยืนในโลกทุนนิยมและอุตสาหกรรมแฟชั่นแบบเป็นมิตรต่อโลก หลายแบรนด์จึงเลือกที่จะใช้วิธีการผลิตที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ดูเป็นมิตรกับระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงแรงงานและวิถีชีวิตของมนุษย์มากขึ้น
‘แฟชั่นยั่งยืน’ หรือ sustainable fashion เป็นแนวคิดที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าในช่วงศตวรรษที่ 21 เนื่องจากการผลิตแบบเก่าก่อเกิดปัญหามากมายในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการละเมิดแรงงานจากสารเคมีที่เป็นพิษ การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง การทำลายสิ่งแวดล้อมและการเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต ทำให้มีการคิดค้นวิธีที่จะทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้า (ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อุตสาหกรรมหนึ่งในโลก) สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้โดยไม่ส่งผลกระทบด้านลบมากเกินไป
แบรนด์แฟชั่นหรูอย่าง Gucci ถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่มีการนำเอาระบบ EP&L มาใช้ เพื่อเป็นมาตรฐานในการวัดความก้าวหน้าของการผลิตแบบยั่งยื่น ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลง 50% หรือที่เรียกว่าโครงการ REDD+ ทั้งหมด 4 โครงการ และยังมีข้อสรุปจากเวทีประชุม G7 ในปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้จะมีสัญญาที่เรียกว่า ‘G7 The Fashion Pact’ หรือโครงการที่มุ่งเน้นให้บริษัทด้านแฟชั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเครือชื่อดังอย่าง Inditex, H&M, Kering, Adidas, Nike และอื่นๆ อีกหลายเครือเข้าร่วมในการกำหนดแนวทางความยั่งยืนนี้
เสื้อผ้ารักษ์โลกจึงกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในวงการแฟชั่นหรูหราตลอดสองปีที่ผ่านมา แบรนด์เสื้อผ้าราคาแพงทั้งหลายได้มีการประกาศยกเลิกใช้ขนและหนังสัตว์ และมุ่งหน้าสู่การมองหาแหล่งซัพพลายเออร์ที่มีจริยธรรมมากขึ้น เนื่องจากภายในปี ค.ศ.2025 มีการคาดการณ์ไว้ว่าคนยุค generation Y และ Z จะครองตลาดถึง 55% ทั่วโลก
เทรนด์การผลิตที่ยั่งยืนนี้ยังเห็นได้จากข้อมูลของบริษัท Influencer DB ในปี ค.ศ.2019 ที่พบว่า วงการแฟชั่นคือวงการที่ เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ให้ความสนใจมากที่สุด โดยมีพื้นที่กว่า 25% ของโพสต์ทั้งหมดที่ถูกบูสต์ ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เริ่มใช้เสื้อผ้าจากแบรนด์ที่ดูมีจริยธรรมในการผลิต รวมถึงมีการนำเสื้อผ้าที่มีอยู่แล้วมาใส่ใหม่มากขึ้น และสนับสนุนการบริโภคเสื้อผ้ามือสองหรือเสื้อผ้าวินเทจ ซึ่งคาดการไว้ว่าตลาดเสื้อผ้ามือสองอาจมีมูลค่าถึง 64 พันล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ.2030
แต่แนวคิดหรือเทรนด์แฟชั่นยั่งยืนที่ห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมนั้น มีประสิทธิภาพพอจะเป็นทางออกให้กับปัญหานี้จริงๆ หรือเปล่า? ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างคลุมเครือ มีบทความหนึ่งจากนิตยสาร I-D ตั้งคำถามกับประเด็นนี้ นั่นก็คือบทความที่ชื่อว่า ‘It’s too late for ethical fashion’ เขียนโดย ซาร่า เจน สตริคแลนด์ (Sarah Jane Strickland) ซึ่งกล่าวถึงจรรยาบรรณการผลิตเสื้อผ้าในยุคนี้ ที่แม้จะคำนึงถึงผลกระทบต่อโลกและมนุษย์มากแค่ไหน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ หากฟาสต์แฟชั่นยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากปัจจัยอื่นๆ อย่างการจัดส่งสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมากในแต่ละกระบวนการก็ยังคงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
“เป็นเรื่องดีที่เราเริ่มสนใจเรื่องการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น
แต่ถ้าสุดท้ายเรายังคงผลิตอยู่เรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด
และไม่นำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล
ก็ถือว่าเราไม่ได้ทำประโยชน์กับโลกเท่าไหร่” อนิกา
แต่แนวคิดนี้อาจจะยิ่งแย่ไปมากกว่าเดิม หากบางแบรนด์ได้กระทำการ ‘ฟอกเขียว’ (greenwashing) หรือที่บางบริษัทอ้างว่าตนมีการผลิตที่ยั่งยืน รักษ์โลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น และเป็นเพียงแค่โครงการที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตัวเองมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยก็เท่านั้นเอง
ยกตัวอย่าง รายงานประจำปี ค.ศ.2018 ของบริษัท Inditex ที่อ้างว่า ของเสียกว่า 88% ที่ได้หลังจากการผลิตถูกนำกลับมารีไซเคิล แต่เมื่อเปิดไปหน้าหลังๆ ก็พบกับความจริงที่ว่า สินค้าที่ถูกนำจัดจำหน่ายในร้านค้าไม่รวมขยะของทางบริษัทเอง หรือบางแบรนด์ที่มีโครงการรับผิดชอบสังคม (CSR) ที่สนับสนุนให้นำเสื้อผ้าเก่ามาหย่อนใส่กล่องบริจาคเพื่อได้ส่วนลดในการช็อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กว่า 90% ที่อยู่ในกล่องนั้น ก็มาจบที่หลุมฝังหรือหลุมกลบอยู่ดี
นอกจากนี้ การบริโภคเสื้อผ้ารักษ์โลก ยังพ่วงมาพร้อมกับอภิสิทธิ์บางอย่างเช่น ‘ฐานะ’ หรือ ‘รายได้’ เนื่องจากแบรนด์เสื้อผ้าเหล่านี้มักจะคุณภาพดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีราคาที่แพงมากๆ จึงทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเอื้อมถึงความยั่งยืนที่ว่านี้ได้ และกลับไปสู่การบริโภคฟาสต์แฟชั่นที่ดีไซน์ไม่ต่างกัน แต่มีราคาที่ต่ำกว่ามาก
“การรีไซเคิลผ้าที่แท้จริง เราจะต้องฉีกเยื่อของผ้าออกมาเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำมาย่อยใหม่อีกครั้ง หรือที่เรียกว่ากระบวนการ re-extrude เพื่อให้กลายเป็นเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเป็นกระบวนที่เพิ่งเริ่มต้นและไม่รู้ว่าจะขยายตัวได้มากแค่ไหน แต่หากทำได้ในอนาคต ก็อาจจะยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่รออยู่” อนิกา กล่าว เพราะแม้กระบวนการ เช่น การย้อมสีผ้า หรือการผสมสีผ้าจะเป็นกระบวนการที่ดี แต่ปริมาณการผลิตเสื้อผ้าบนโลกก็ยังคงมีมากเกินไปอยู่ดี
จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า แม้แบรนด์ต่างๆ จะมีโครงการรับผิดชอบต่อสังคมหรือกระบวนการผลิตที่ดูรักษ์โลกมากขึ้น แต่การผลิตที่รีบจนทำให้ที่ผู้บริโภคต้องเร่งซื้อตาม ก็อาจไม่ได้ช่วยให้โครงการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพตามที่หวังไว้เท่าที่ควรหรือเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก