หลับตาลงทีไรก็นึกถึงความผิดพลาดในอดีต นึกอยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ ก็กลัวความล้มเหลว จะแสดงความเห็นต่อหน้าคนเยอะๆ ก็กลัวจะเผลอพูดอะไรไม่ดีออกไป
ถ้ากำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ เราอยากบอกว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว …เพราะการกลัวความล้มเหลว (Fear of Failure) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในหลายช่วงวัย อย่างงาน วิจัยหนึ่งที่พบว่า ‘การพูดในที่สาธารณะ’ เป็นความกลัวที่พบบ่อยที่สุดของนักศึกษา ส่วนการสำรวจเมื่อปี ค.ศ.2018 พบว่า 90% ของซีอีโอในการสำรวจครั้งนี้ยอมรับว่า ‘ความกลัวการล้มเหลว’ คือความกังวลที่ทำให้พวกเขานอนไม่หลับได้มากที่สุด แถมข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ยังพบว่าสัดส่วนของชาวอเมริกันที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ตัดสินใจไม่ลงมือทำเพราะ ‘กลัวความล้มเหลว’ มีจำนวนมากขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
แต่เคยสงสัยไหมว่า อะไรทำให้คนเรา ‘ความล้มเหลว’ ได้มากขนาดนี้ ?
เมื่อลองค้นหาคำตอบ เราพบว่าต้นตอของความกลัวรูปแบบดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูในครอบครัว เช่น ครอบครัวที่มักตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าการสนับสนุน ทำให้เด็กคนหนึ่งรู้สึกกดดันจากความคาดหวังของครอบครัวและกลัวที่จะทำผิดพลาดในวัยผู้ใหญ่ หรือแม้แต่บาดแผลฝังใจ (trauma) อย่างการถูกหัวเราะเยาะหรือสร้างความอับอายเมื่อทำอะไรผิดพลาด
นอกจากนี้ในเว็บไซต์ The atlantic ยังระบุว่า โซเชียลมีเดียอาจมีส่วนทำให้คนเรากลัวความล้มเหลวมากขึ้นเพราะคิดว่าความผิดพลาดเพียงก้าวเดียวอาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นเป็น ‘จุดจบ’ (extinction-level event) ทั้งด้านสังคมและการทำงานของตนเองเลยทีเดียว
จากข้อมูลเหล่านี้เราจะเห็นว่า ‘ผู้คน’ และ ‘สังคม’ รอบข้างค่อนข้างส่งผลต่อการกลัวความล้มเหลวของมนุษย์ ซึ่งเว็บไซต์ psychology today อธิบายว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่วิ่งเร็วไม่เท่าชีต้า ไม่มีพิษแบบงู ไม่มีเขี้ยวแบบน้องหมา ทำให้ต้องเอาตัวรอดด้วยการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น หากวันหนึ่งเราถูกตัดสิน ถูกทำให้อับอาย หรือไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เลยมักจะตามมาด้วยความรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ เพราะต้องใช้ชีวิตแปลกแยกอยู่คนเดียว
แม้ข้อดีของการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้นในชีวิตจะช่วยให้เรารอบคอบมากขึ้น แต่หากเราสะสมความกลัวนี้ไว้มากจนเกินไป ก็อาจกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยล้า ความรู้สึกหมดไฟ ไม่พอใจกับชีวิต นอนไม่หลับ มีความกังวลเรื้อรัง หรืออาจเสี่ยงต่อโรค Atychiphobia (โรคกลัวความล้มเหลว) ที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย
และสิ่งที่ทำให้โรค Atychiphobia แตกต่างจากความกลัวการล้มเหลวทั่วๆ ไป คือการที่มีความรู้สึกกลัวการทำงานทั่วไปที่ไม่ได้ซับซ้อนมากทั้งในบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน มีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งและเลี่ยงกิจกรรมใหม่ๆ ที่ดูท้าทาย ไม่เต็มใจที่จะฟังคำวิจารณ์ แม้จะเป็นการวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ และรู้สึกกลัวมากๆ โดยไม่มีเหตุผลหรือที่มาชัดเจน ยาวนานกว่า 6 เดือนและเริ่มส่งผลกระทบให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า คนที่กลัวความล้มเหลวมากเป็นพิเศษ มักจะมีบุคลิกภาพสองอย่างรวมกัน คือคนที่ ‘ไม่มีแรงจูงใจ’ อยากจะประสบความสำเร็จ และมีความ ‘วิตกกังวล’ ในตัวเองสูง ทำให้การทำตามเป้าหมายหรือการใช้ชีวิตในแต่ละวันกลายเป็นภาพของ ‘ความกังวล’ มากกว่า ‘ความตื่นเต้น’ ที่จะได้ทำสิ่งใหม่ๆ แถมบางคนอาจเลือกปฏิเสธโอกาสสำคัญๆ ในชีวิต เพราะเหนื่อยจะคิดว่า “ฉันจะทำพลาดไหม” “จะล้มเหลวอีกหรือเปล่า” รวมทั้งมองศักยภาพของตัวเองด้อยกว่าความเป็นจริง
แม้รู้ดีว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เรา ‘เรียนรู้’ ได้ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนของการเรียนรู้ เราเชื่อว่าเรื่องที่ยากที่สุดคงจะเป็นการ ‘หยุดมูฟออนเป็นวงกลม’ ไปจากความล้มเหลวในอดีต หรือแม้แต่ความกลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาดอนาคต (จนนึกอยากจะให้มีหนังสือ ‘How to รับมือกับความล้มเหลวแบบมืออาชีพ’ ขึ้นมาบ้าง) เราเลยอยากชวนมาโอบกอดตัวเองในวันที่ชีวิตไม่เป็นอย่างใจด้วย 2 วิธีต่อไปนี้
1. นึกภาพผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่เกิดขึ้นได้
การปลอบตัวเองว่า ‘ทุกอย่างจะโอเค’ อาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เราใจเย็นกับสถานการณ์ตรงหน้ามากยิ่งขึ้น แต่สำหรับ ‘เรเชล ซิมมอนส์’ (Rachel Simmons) ผู้เขียนบทความ ‘Everyone Fails. Here’s How to Pick Yourself Back Up.’ แนะนำว่าให้ลองถามตัวเองด้วย 3 คำถามต่อไปนี้
- ผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นได้คืออะไร ?
- เราจะรับมือกับผลลัพธ์นั้นได้ยังไงบ้าง ? มีอะไรที่ช่วยให้รับมือกับผลลัพธ์นั้นได้บ้าง ?
- เป็นไปได้ไหมที่ผลลัพธ์นี้จะมีข้อดีบางอย่าง ?
ซิมมอนส์เล่าถึงตอนที่เธอรู้สึกกลัวการพูดอะไรผิด ขณะเป็นวิทยากรบนเวที ซึ่งเธอมองว่าผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด อาจเป็นการที่เธอไม่ถูกเชิญให้กลับมาพูดอีก แม้ว่าผลลัพธ์นี้ทำให้เธอรู้สึกแย่มากๆ แต่ก็ยังสามารถรับมือได้เพราะยังไม่ถึงขั้นตกงาน ส่วนข้อดีของผลลัพธ์นี้ คือการทำให้เธอเห็นอกเห็นใจและยืดหยุ่นกับความผิดพลาดของคนอื่นๆ มากกว่าเดิม
การคิดแบบนี้ช่วยให้ซิมมอนส์รู้สึกว่าต่อให้เจอผลลัพธ์ที่แย่ที่สุด เธอก็ยังพอจะรับมือกับสถานการณ์นั้นและผ่านมันไปได้ เพราะสุดท้ายแล้วความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่ ‘ผลลัพธ์’ แต่อยู่ที่การ ‘ไม่รู้’ ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นแบบไหน ถ้าเราได้ลองนึกถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและให้ความมั่นใจกับตัวเองได้ว่าเราจะรับมือไหว แถมยังได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง ก็อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อความกลัวได้เช่นกัน
2. ยืดหยุ่นกับผลลัพธ์
ส่วนอีกวิธีที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ psychology today คือเฝ้ารอผลลัพธ์แบบยืดหยุ่น เพราะแน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะทำตามเป้าหมายได้แบบเป๊ะๆ ทุกครั้ง ซึ่งถ้าเรายึดติดกับผลลัพธ์นั้นมากเกินไป ก็อาจทำให้ ‘ความคลาดเคลื่อน’ เพียงเล็กน้อย ถูกนิยามว่าเป็นความล้มเหลวไปโดยปริยาย เช่น การตั้งเป้าว่าอ่านหนังสือให้จบบทนี้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง แต่ระหว่างทางอาจมีปัจจัยหลายอย่างทำให้เราอ่านไปจน ‘เกือบ’ จบบทนั้น ความรู้สึกแวบแรกของเรา อาจเป็นประโยคเศร้าๆ ที่โผล่ขึ้นมาในหัวว่า “แพลนนี้ล้มเหลวแล้วล่ะ แย่จัง ไม่อยากทำอีกแล้ว”
แต่ถ้าลองยืนหยุ่นกับผลลัพธ์ขึ้นอีกนิด บางทีสิ่งที่เราบอกกับตัวเองอาจจะเปลี่ยนไปเป็น “อีกนิดเดียวเอง เก่งมากๆ เลย ครั้งหน้าลองใหม่ดีกว่า” ซึ่งก็เคยมีงานการวิจัยมายืนยันว่าวิธีนี้ทำงานกับหัวใจเราได้จริงๆ เพราะผลการวิจัยพบว่าคนที่สามารถประเมินเป้าหมายของตัวเองใหม่และปรับวิธีการหรือความคาดหวังของพวกเขาได้จะมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดียิ่งขึ้น
เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าชีวิตจะอยู่ในช่วงที่ ‘ลองผิด’ หรือ ‘ลองถูก’ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มานิยามว่าเราเป็นคนที่ดีหรือแย่ เก่งหรือไม่เก่ง เพียงแต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ดำเนินต่อไประหว่างการใช้ชีวิตของเรา ดังนั้นไม่เป็นไรเลย หากจะมีวันที่บางอย่างไม่เป็นไปอย่างที่ใจหวัง และหากวันนั้นมาถึง โปรดอย่าลืมโอบกอดตัวเองเอาไว้ แล้วบอกว่า ‘ไม่เป็นไร’ ด้วยล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก