สงสัย แต่ไม่กล้าถาม…
อยากบอก แต่ก็กลัว…
จู่ๆ เราก็กลายเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไรเลยเพราะระแวงตลอดเวลาว่าทำไปแล้วเธอจะไม่ชอบ ตอบแล้วเขาจะไม่ถูกใจ แค่จะยิ้มให้ยังกลัวโดนเพื่อนเกลียด นี่เราเป็นอะไร เครียดไปมั้ย แล้วควรรับมือกับอาการเหล่านี้อย่างไรดี!
จริงๆ ก็ไม่ใช่คนขี้อายนะ แต่ไม่รู้ทำไม อยู่ดีๆ เราก็กลายเป็นคนที่กลัวจะพูดหรือทำอะไรออกไป แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังไม่กล้า ขนาดอีกฝ่ายเป็นแฟน เพื่อนสนิท หรือญาติมิตรที่เราระบายได้แทบทุกเรื่อง แต่ทำไมพอเป็นบางเรื่องถึงเอ่ยยากขนาดนี้
“ใจเย็นๆ แค่พูดออกไป มันจะไปยากอะไร” คุณกึ่งถามกึ่งปลอบตัวเอง
“จริงด้วย ไม่เห็นจะยากเลย” เราตอบตัวเองได้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่กล้าอยู่ดี
หากต้องเผชิญสถานการณ์เหล่านี้ บางทีเราอาจกำลังประสบกับภาวะ ‘Fear of Rejection’ หรือการกลัวที่จะถูกปฏิเสธอยู่ก็ได้
ฉันไม่ได้กลัวการถูกปฏิเสธซะหน่อย แค่กลัวทำให้เขาไม่พอใจเท่านั้นเอง…จริงเหรอ?
แล้วถ้าเขาไม่พอใจจะเป็นยังไงต่อล่ะ มันก็อาจเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่การเลี่ยงที่จะพูดคุย ตีตัวออกห่าง และปฏิเสธที่จะคบหา เท่ากับว่าลึกๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เราว้าวุ่นใจ ไม่ใช่แค่การกลัวว่าอีกฝ่ายจะโกรธหรือรู้สึกแย่ แต่เป็นความรู้สึกกลัวการถูกปฏิเสธต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ กระทั่งเรื่องสามัญธรรมดาอย่างการบอกเพื่อนว่า ‘พรุ่งนี้ไม่สะดวกไปเที่ยวด้วย’ จึงยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก ทั้งที่เป็นฝ่ายปฏิเสธก็จริง แต่เราก็หวั่นใจว่าการบอกไม่ไปจะทำให้เพื่อนเศร้า งอน ไปจนถึง ‘ปฏิเสธ (Reject)’ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เคยมี แน่ล่ะ เพื่อนคงไม่เลิกคบเราในทันที แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าถ้าเขาหรือเธอตะขิดตะขวงใจ พันธะที่เคยลึกซึ้งก็อาจจืดจางลงได้ไม่มากก็น้อย
บทความโดย อเลฮันโดร เบทานคูรต์ (Alejandro Betancourt) ในเว็บไซต์ Medium ระบุว่า Fear of Rejection แบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- การถูกปฏิเสธจากสังคม เกิดขึ้นโดยคนรอบข้าง กลุ่มแก๊ง และเพื่อนร่วมงาน มักกระทำผ่านการเพิกเฉย ไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วย หรือแปะป้ายตีตรา ตลอดจนนินทาลับหลัง…เนี่ย แค่คิดก็เศร้าแล้ว จะกลัวก็คงไม่แปลกหรอก การถูกคนสนิทหันหลังเป็นสิ่งที่เจ็บปวดกว่าอะไรทั้งปวง
- การถูกปฏิเสธจากหน้าที่การงาน เพราะการแสดงออกของเราอาจส่งผลต่อการไม่ถูกรับเข้าองค์กร ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ตลอดจนไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนหรือโบนัส จึงไม่แปลกหากสมองของเราจะครุกรุ่นไม่จบสิ้น
- การถูกปฏิเสธจากความสัมพันธ์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเวลาที่เราโดนเทหรืออกหักนั่นแหละ
4. การถูกปฏิเสธจากผู้ปกครอง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับเด็กที่ถูกพ่อแม่ทิ้ง แต่รวมถึงการที่ผู้ปกครองไม่ยอมรับซึ่งตัวตนที่แท้จริงของลูกด้วย
5. การปฏิเสธตนเอง ที่อาจอยู่ในรูปแบบของการคุยกับตัวเองในแง่ลบ ไม่ยอมรับข้อบกพร้อมหรือสิ่งที่ตัวเองเป็น ส่วนมากเป็นผลมากจากการขาดความมั่นใจในตัวเอง
เชื่อว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ทุกคนต้องเคยพบเจอกับการปฏิเสธทั้งห้าไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง หรือบางคนก็ผ่านมาหลายข้อ ใกล้ตัวที่สุดคือเราอาจต้องปิดบังตัวตนบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับพ่อแม่ ขยับออกไป เราอาจเคยมีความทรงจำเลวร้ายร่วมกับเพื่อนสนิทตอนมัธยม แล้วก็มามีปมตอนเป็นเฟิร์สทจ็อบเบอร์ ทั้งหมดทั้งมวลค่อยๆ หล่อหลอมให้เราปฏิเสธตัวเองและหวั่นเกรงว่า ถ้าพูดหรือทำอะไรไปมากกว่านี้ คนอื่นที่ตอนนี้ยังโอเคกับเรา จะเปลี่ยนเป็นไม่โอเคเหมือนคนก่อนๆ เขาจะเป็น ‘อีกคน’ ที่ปฏิเสธเรามั้ย นำมาสู่ความคับแค้นใจ ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวจะเจอเหตุการณ์แบบเดิม
แล้วเราจะก้าวข้ามความอึดอัดนี้ได้อย่างไร?
1. ปล่อยวางอดีต
เพราะความเชื่อและวิธีคิดมักถูกผูกติดไว้กับประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงนี้แล้ว เราจะปล่อยให้ความทรงจำอันไม่พึงประสงค์มีผลกับอนาคตอันสดใสของเราเพื่ออะไร แน่นอน การถูกทำร้ายในอดีตย่อมสร้างบาดแผลให้เราไม่น้อย แต่ถ้าเรายังมัวเหนี่ยวรั้งอุบัติเหตุครั้งเดิม จะไม่มีทางเลยที่แผลนั้นจะสมาน ซ้ำร้ายยังอาจเป็นแผลใหม่เพิ่มด้วย
อาจจะยาก แต่เราต้องปล่อยวางให้ได้ เจ็บแล้ว เจ็บไป เผลอพูดแล้วเขาไม่พอใจก็ช่างมัน นั่นมันอดีต อนาคตจะเป็นไงก็ค่อยว่ากัน ตอนนี้ต้องพยายามควบคุมสติของเราให้ได้ก่อน
2. ความกังวลไม่ได้เกิดแค่กับเราเพียงคนเดียว
ทุกคนต่างก็เคยถูกปฏิเสธทั้งนั้น และถ้าเรามานั่งคิดจริงๆ คนส่วนใหญ่ก็ประหม่าและไม่ได้สะดวกใจขนาดนั้นเวลาต้องตัดสินใจในเรื่องบางเรื่อง ความกลัวที่จะแสดงออกเป็นเรื่องปกติอย่างที่ไบรอัน โจนส์ (Brian Jones) นักบำบัดประจำรัฐซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า
“คนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการถูกปฏิเสธทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็กอย่างน้อย 2-3 ครั้งในชีวิต เช่น เพื่อนไม่สนใจข้อความชวนไปเที่ยว ถูกปฏิเสธการออกเดต ไม่ถูกคำเชิญไปงานปาร์ตี้ของเพื่อนร่วมห้อง ตลอดจนเพื่อนสนิทไปมีเพื่อนสนิทคนใหม่”
มันไม่เคยรู้สึกดีหรอก เมื่อสิ่งที่เกิดไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ แต่ก็ไม่ใช่ทุกประสบการณ์ในชีวิตที่จะเป็นไปในแบบที่เราคาดหวัง การเตือนตัวเองอีกครั้งว่าการถูกปฏิเสธเป็นแค่สัจธรรมหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอไม่บ่อยก็บ้าง อาจช่วยให้เรากลัวมันน้อยลง ไม่เชื่อก็ลองถามเพื่อนดูสิว่าเคยกังวลออะไรแบบนี้เหมือนกันบ้างมั้ย
3. กลัวได้ แต่อย่าลืมว่ามันเป็นเพียงมุมมอง
มีอยู่แล้วกับครั้งที่เราคิดแล้วนึกอีก มุ่งมั่นสรรหาการเจรจาที่ดีสุด แต่พอพูดออกไปก็พบใบหน้าอันไม่พอใจของเพื่อน หลายครั้งทั้งที่ไม่ได้เจตนา ทำไปแล้วกลายเป็นว่าแฟนเราโกรธ เหมือนกับว่าจะทำอะไรก็ผิดไปหมดจนกลัวที่จะทำ
สิ่งที่เกิดอาจทำให้เราเริ่มมองบางเรื่องในง่ายร้าย เพราะถ้ามองแง่ดี แล้วมีปัญหา เราก็จะกลับมาร้องไห้กับตัวเองอีก มองความเป็นไปได้ที่แย่ที่สุดไว้ก่อน ยังไงก็ปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ดี เราต้องห้ามลืมว่าสิ่งที่อยู่ในหัวเป็นแค่มุมมอง เป็นเพียงหนึ่งในหลายล้านความเป็นไปได้ เราไม่มีทางบอกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบไหน เขาอาจโกรธเป็นฟืนไฟหรือเธออาจยิ้มจนแก้มปริก็ได้เหมือนกัน
สรุปง่ายๆ คิด ‘Worst Case’ ได้ แต่อย่าลืมว่านั่นยังไม่ใช่ความจริง เป็นเพียงสิ่งที่เราจินตนาการไปล่วงหน้าเท่านั้น
4. เผชิญหน้าความกลัว
จริงอยู่ที่ว่า ถ้าอยู่เงียบๆ เก็บสิ่งที่อยากทำอยากถามเอาไว้ เราอาจจะอึดอัดหน่อย แต่อย่างน้อยคนอื่นคงไม่โกรธ เกลียด หรือปฏิเสธเราแน่นอน แต่สุดท้ายเราก็จะไม่มีทางได้ในสิ่งที่เราต้องการเช่นกัน
การที่เรามีสิ่งที่อัดอั้นตันใจเป็นเพราะเรามีบางอย่างที่อยากแสดงออก แล้วเราจะปล่อยให้ความกลัวมาขัดขวางเป้าหมายหรือจะทลายภูเขาที่ขวางกั้นเพื่อลองเผชิญหน้าความกลัวกันดูสักที เพราะดีไม่ดี หลังจากได้ปลดปล่อย นอกจากเขาจะไม่โกรธแล้ว ยังอาจมีมุมมองต่อเราในทางที่ดีขึ้นก็ได้ และอันที่จริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การที่เราปิดปากนิ่งเฉยไว้จะช่วยให้เขาพอใจ หลายคนก็ชื่นชอบมนุษย์ที่กล้าพูด กล้าลงมือทำมากกว่า
ในเมื่อเงียบไปก็อาจโดนว่า เอ่ยวาจาก็อาจโดนตำหนิ งั้นก็ทำไปเถอะ อย่างน้อยก็ได้หายคาใจ
อย่างไรก็ดี หากกังวลจนทนไม่ไหว ทำยังไงก็ไม่อยากพูด อีกหนึ่งวิธีที่ทำได้คือค่อยๆ ไต่ระดับการกระทำไปทีละนิด เช่น ถ้าอยากขอลาหยุด แต่กลัวจะถูกเจ้านายมองไม่ดี อาจจะเริ่มที่การเปรยๆ ก่อนว่าเจ้านายมีแผนไปเที่ยวไหนบ้างมั้ย ไปแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้าเขาบอกว่าไปแล้วเหมือนได้ฟื้นฟูจิตใจ เราก็คงมั่นใจที่จะร้องขอมากขึ้น เพราะได้ฟังจากปากเจ้านายแล้วว่าเขาเองก็เห็นข้อดีของการพักผ่อนเช่นเดียวกัน
5. โดนเกลียดก็ไม่เป็นไร
จนแล้วจนรอด หากผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นเหมือนที่เรากลัวก่อนหน้านี้ ถามไปแล้วอีกฝ่ายไม่มีสีหน้ายินดีตรงตามความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดซึ่งเราคาดเดาไว้
เราตำหนิตัวเองว่าไม่น่าพูดแบบนั้นออกไปเลย สงบปากสงบคำไว้แต่แรกก็หมดเรื่อง เนี่ย สุดท้ายก็เลวร้ายไปกันใหญ่…
ไม่หรอก การได้บอกให้สิ่งที่ใจปรารถนานั้นถูกต้องแล้ว และแทนที่จะโทษว่าเราทำให้เขาโกรธ เคือง ไม่พอใจ เราควรคิดว่าไม่เป็นไรเลยที่จะโดนเกลียด โอเค ถ้าสิ่งที่ทำไม่ถูกต้องจริงๆ เราก็ควรจะขอโทษและระวังในครั้งหน้า แต่หากเราทำถูกทุกกระบวนท่า แต่เขาก็ยังโกรธหรือผิดหวัง นั่นย่อมเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ทำได้แค่พูดคุย ปรับความเข้าใจ และหากสุดท้ายเขายังไม่พึงใจอยู่ดีก็คงไม่มีอะไรที่เราควรรู้สึกผิดกับตัวเอง เราได้ทำในสิ่งที่สมควรแล้ว และอยากให้เราบอกตัวเองว่า ไม่มีใครในโลกสามารถทำให้ทุกคนรักได้ ไม่มีใครไม่เคยถูกปฏิเสธ มีคนรักก็ต้องมีคนเกลียดเป็นเรื่องธรรมดา
พร้อมกันกันนั้น เราก็ต้องระลึกไว้บ่อย ๆ ว่าการถูกปฏิเสธไม่ใช่เครื่องวัดคุณค่าของคน ถ้าใครสักคนที่เคยอยู่เคียงข้างไปจากเราด้วยข้ออ้างที่ว่า “เธอน่าเบื่อเกินไป” ใช่ เขาคงเบื่อ คงระอาที่จะเจอหน้าเรา ความมั่นใจในตัวเองของเราอาจลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ใช่ฝ่ายผิด และเรายังคงมีคุณค่าไม่ต่างจากที่เคยมี
เมื่อถูกปฏิเสธ เป็นเรื่องดีที่เราจะทบทวนข้อผิดพลาดของตัวเอง อะไรที่อยากปรับแก้ก็แก้กันไป แต่สุดท้าย มันไม่มีทางเลยที่เราจะผิดไปซะทุกอย่างที่ทำ จงย้ำกับตัวเองดังๆ ว่า
“โดนเกลียดก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยฉันก็ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจแล้ว และสิ่งที่ฉันทำก็เป็นสิ่งที่ควรทำแล้ว”
จบบทความนี้ไป เชื่อเหลือเกินว่าเราทุกคน (ทั้งคนอ่านและคนเขียน) ก็คงกังวลอีกไม่รู้จบเวลาจะบอกกล่าว ตั้งคำถาม ร้องขอ หรือกระทั่งกดส่งสติกเกอร์ไลน์ เราคงหยุดความอึดอัดนี้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อเรารู้แล้วว่ามันพอจะมีหนทางในการเอาชนะสิ่งที่เรียกว่า Fear of Rejection ฉะนั้นก็จงหาแนวทางที่เหมาะกับตัวเรา ตั้งสติ แล้วก้าวข้ามความกลัวให้จงได้
เพราะท้ายที่สุด ทุกคนก็สมควรได้เลือก พูด และลงมือทำอย่างที่ตัวเองต้องการ และไม่ควรมีใครต้องรู้สึกทรมานโดยลำพัง เพียงเพราะกลัวว่าอีกฝั่งจะไม่พอใจในสิ่งที่เรากำลังจะพูด…เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ยังกลัวนะ
อ้างอิงจาก