สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 กลับมารุนแรงจนน่าวิตกกังวลอีกครั้ง โดยรายงานจากศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ระบุว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ทั่วประเทศ ยกเว้นในภาคใต้ เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับเริ่มส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว
สำหรับคนทำงานในออฟฟิศ ปัญหานี้ยังพอแก้ไขได้ด้วยการติดตั้งเครื่องกรองอากาศ หรือถ้าบริษัทให้เวิร์คฟอร์มโฮม ยังสามารถหนีภัยไปทำงานในพื้นที่ที่อากาศดีได้ แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่อาชีพการงานผูกติดอยู่ในที่โล่งแจ้ง หันจมูกไปทางสูดไหนก็เจอแต่ฝุ่น ยากที่จะหลบหนีภัยของฝุ่น PM 2.5 ได้พ้น
The MATTER ลงไปคุยกับกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานกลางฝุ่น PM 2.5 อาทิ วินมอเตอร์ไซค์, พนักงานทำความสะอาดถนน, พ่อค้าแม่ค้า พวกเขามีความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นในปัจจุบันอย่างไร พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง มีวิธีรับมืออย่างไร และอยากเรียกร้องอะไรถึงภาครัฐ
รุ่ง – นักดนตรีอิสระ
รุ่งเป็นอดีตนักกีฬาที่รีไทร์ตัวเองมาเป็นนักดนตรีอิสระตั้งแต่ปี 2560 และถึงแม้ตัวเขาจะยืนยันว่าไม่เคยชอบฟังเพลง และที่มาร้องเพลงเพราะไม่มีทางเลือก แต่เสียงร้องของเขาก็ทุ้มเสน่ห์ดึงดูดคนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ไม่น้อย รุ่งจะเริ่มร้องเพลงตั้งแต่ 6.00 น. – 14.00 น. ของทุกวัน หรือประมาณ 8 ชั่วโมง/ วัน ที่เขานั่งอยู่ริมถนนบนเกาะราชวิถี อนุสาวรีชัยสมรภูมิ
“ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนคนแพ้ฝุ่นแล้ว บางทีหายใจเข้าไปนี่เจ็บหน้าอกนะ แล้วมันจะจามบ่อยๆ มีน้ำมูกไหลอยู่เรื่อยๆ” รุ่งเล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่ตัวเขาเองรู้สึกตั้งแต่ฝุ่น PM 2.5 เริ่มรุนแรง และถึงแม้รุ่งจะกังวลถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ข้อจำกัดของอาชีพก็ทำให้เขาไม่สามารถป้องกันตัวเองได้มากนัก
“ปกติ ผมเป็นคนที่ใส่แมสก์ไม่ได้นานอยู่แล้ว เพราะถ้าใส่นานๆ ผมจะแน่นจมูกจนร้องเพลงไม่ได้” รุ่งเล่าให้เราฟัง “บอกตรงๆ ว่า ผมไม่รู้จะป้องกันตัวเองอย่างไร เพราะด้วยอาชีพมันก็ต้องเจอแบบนี้”
“กังวลมากครับ เพราะในระยะยาวถ้าเราเป็นภูมิแพ้ขึ้นมาก็คงร้องเพลงอีกต่อไปไม่ได้ ผมก็คิดอยู่ว่าตัวเองจะทำอาชีพอะไรต่อไป”
รุ่งมองถึงผลกระทบในระยะยาวของฝุ่น PM 2.5 นอกจากปัญหาเรื่องสุขภาพ
“ผมอยากให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด เสียที แต่ตอนนี้มันก็ยังไม่ถูกพิจารณาในสภา และมันก็ใกล้หมดวาระแล้วด้วย” รุ่งตัดพ้อ “ถ้ามีกฎหมายตัวนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใส่ใจปัญหามากขึ้น ผมว่ามันช่วยได้เยอะ”
คม – พนักงานก่อสร้าง
“ตั้งแต่ต้นอาทิตย์นี้ เรารู้สึกเจ็บคอ ไอ มันเจ็บมากขึ้นกว่าปกติ แต่ไม่มีอาการเวียนหัว บางทีก็เหมือนเป็นหวัดด้วย เหมือนน้ำมูกมันจะไหล” คมพูดถึงอาการที่พบหลังเขาสังเกตตัวเอง “ก่อนหน้านี้ยังไม่มีนะ เริ่มมีตั้งแต่ช่วงที่หมอกเริ่มลงนั่นแหละ”
พนักงานก่อสร้าง หรือจะให้เรียกภาษาปากว่า ‘กรรมกร’ เป็นอีกอาชีพที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้งและเผชิญกับมลภาวะอยู่ตลอดเวลา คมเองซึ่งออกจากต่างจังหวัดมุ่งหน้ามากรุงเทพฯ และประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 8 ปีแล้ว เล่าถึงความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นว่า
“ผมก็กังวลนะ แต่อย่างเรามันทำงานอย่างงี้ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ไง” คมกล่าวต่อว่า “บางทีเราก็ใส่แมสก์กัน บางทีก็ใส่หมวกคลุม (โม่ง) แต่บางทีเราทำงานแบบนี้ มันเหนื่อย เราก็ต้องถอดออก”
“ได้ยินข่าวมาเยอะแล้ว ไปสัมภาษณ์ใคร เขาก็พูดหมดแล้วว่าอยากให้รัฐแก้ยังไง แต่ก็ไม่เห็นได้สักที (หัวเราะ) ยังเห็นฝุ่นเต็มเหมือนเดิม” คมพูดถึงความคาดหวังของเขาต่อภาครัฐในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
นก – หาบเร่ขายขนม
“บางทีถ้าเราไม่ใส่หน้ากาก มันจะรู้สึกแสบตรงลำคอ หายใจได้ไม่เต็ม บางวันถ้าไม่ได้ใส่เสื้อแขนยาวมันจะแสบๆ ผิว มันมีหลายอาการ แต่เรารู้สึกแบบนี้”
นก แม่ค้าหาบเร่ขายขนมไทยเล่าถึงอาการของตัวเองในช่วงที่ฝุ่นเริ่มรุนแรงขึ้น เธอขายขนมไทยอยู่แถวอนุสาวรีชัยสมรภูมิมาตั้งแต่ปี 2548 และด้วยธรรมชาติของหาบเร่ นกจะแบกขนมไทยในหาบ อาทิ ขนมตาล, ขนมต้ม, เปียกปูน ไปรอบวงเวียนอนุสาวรีชัยฯ ตั้งแต่ตี 5.00 – 12.00 น. หรือจนกว่าของจะหมด
ทุกวันนี้ นกจะใส่แมสก์อยู่ตลอดเวลา และมีบ้างที่ซื้อยาแก้ตามอาการอื่นๆ เช่น แสบคันผิวก็ซื้อยาแก้แพ้มาทา ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อผิวจริง แสบคัน เกิดสิว หน้าแก่ ล้วนเป็นต้นทุนอีกอย่างที่ต้องรับผิดชอบจากปัญหามลภาวะทางอากาศ
นกไม่มีข้อเสนอส่วนตัวต่อปัญหานี้ แต่เธอพูดขึ้นว่า “วิธีแก้ทุกวันก็มีประมาณนี้ใช่ไหม (จับหน้ากาก) ก็แล้วแต่รัฐบาลละกัน ไม่รู้จะพูดยังไง”
อิ๊งค์ – ขายลอตเตอรี่
“ที่สังเกตได้คือมันมาเกาะตามแผงลอตเตอรี่ หรือตามเสื้อผ้าเรา แต่ถ้าเราอยู่ที่โล่งแจ้งนาน เราจะรู้สึกมึนหัว มันจะออกอาการเบลอๆ คล้ายๆ ง่วงนอน” อิ๊งค์พ่อค้าขายลอตเตอรี่ริมถนนเกาะพหลโยธิน อนุสาวรีชัยฯ กล่าว
พ่อค้าลอตเตอรี่รายนี้เล่าว่า ตัวเขาเองไม่ได้มาขายของที่นี่ทุกวัน เพราะมีสลับไปทำงานบริษัทบ้าง แต่ถ้าวันไหนมาขายจะเริ่มตั้งแต่เวลา 6.00 – 14.00 น. หรืออาจกลับเร็วกว่านั้นในช่วงที่ฝุ่นค่อนข้างรุนแรง
“ผมต้องหาอะไรมาปิดหลายๆ ชั้น ต้องใส่แว่นเพราะบางทีโดนตาเราก็มีอาการระคายระเคือง ถ้าตอนเช้าจะใส่แมสก์หนาๆ หน่อย ส่วนตอนสายจะมีหมวกและมีที่คลุมหน้าเสริมอีก” พ่อค้าลอตเตอรี่กล่าว
“กังวลครับ แต่มันต้องทำงานกลางโล่งแจ้ง มันต้องยอมรับและป้องกันเอา เพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว และถ้ามันฝุ่นเยอะๆ แบบนี้ผมจะขายแค่ครึ่งวัน”
“ผมอยากให้ติดละอองน้ำตามจุด ผมรู้สึกว่ามันช่วยได้ในระดับนึง แต่ในระดับประเทศ ผมอยากให้ลดการก่อสร้างลดนิดนึง” พ่อค้าลอตเตอรี่เสนอวิธีแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้น
เบียร์ – วินมอเตอร์ไซค์
“กลัวเหมือนกันเพราะเราเจอกับมันทุกวัน บางทีเคืองตาก็ต้องซื้อยาหยอดตา และถ้าสะสมไปเยอะๆ กลัวว่ามันจะกระทบเรื่องทางเดินหายใจ แล้วมันจะแย่เอา” เบียร์ วินมอเตอร์ไซค์ใกล้กับห้างวิคตอรี่ ฮับกล่าว
เบียร์เข้างานตั้งแต่เวลา 8.00 – 21.00 หรือเป็นเวลาอย่างน้อย 13 ชั่วโมง/ วัน ที่เขาต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งท่ามกลางมลภาวะสารพัด เรียกได้ว่า อยู่กับฝุ่นมากกว่าอยู่กับบ้านก็ไม่ผิด
“เราก็ได้แต่ป้องกันใส่หมวกกันน็อค ใส่แมสก์ ใส่หมวกไอโม่ง” เบียร์หยิบอุปกรณ์ 3 ชิ้นที่เขาใช้สำหรับป้องกันมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 ขึ้นมาให้เราดู
“ผมอยากให้ภาครัฐช่วยติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำ หรือทำอะไรให้มันดีกว่านี้ แก้ไขหน่อยไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละคนดูแลตัวเอง อยากให้ดูแลพวกเราบ้าง”
โบว์ – พนักงานกวาดถนน กทม.
“เราไม่รู้ว่ามันมาจาก PM 2.5 หรือเปล่า แต่บางทีเราจะเหมือนเหนื่อยๆ หายใจลำบาก บางทีก็หายใจแล้วแน่นหน้าอก และจะมีอาการคล้ายๆ ตามัว ตาเป็นฝ้าเหมือนฝุ่นเข้าตา”
โบว์พนักงานกวาดถนนของ กทม. เล่าขณะนั่งพักเหนื่อย พนักงานกวาดถนนของ กทม. เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับมลภาวะตลอดเวลา สำหรับโบว์ เธอรับหน้าที่เข้ากะเช้า หรือตั้งแต่ 5.00 – 12.00 น. เป็นเวลา 7 ชั่วโมงที่เธอทำความสะอาดถนนอยู่กลางวงล้อมของฝุ่ง PM 2.5 และมลภาวะอื่นๆ รอบตัว
“กังวลนะ เพราะมันส่งผลต่อปอดเรา เราก็ป้องกันด้วยการใส่แมสก์ แต่ถ้ามันมีฝุ่นระยะยาว เราก็ป้องกันไม่ได้ตลอด 24 ชม. เราก็กลัวว่าสุขภาพจะเริ่มแย่โดยที่ไม่รู้ตัว แต่ตอนนี้เรายังโชคดีที่ยังแข็งแรง” สำหรับโบว์ อุปกรณ์ป้องกัน PM 2.5 อย่างเดียวที่เธอมีคือ แมสก์ ซึ่งได้รับการแจกจากสำนักงานเขตหรือซื้อเองบ้างในบางครั้ง
“คาดหวังให้เขาแก้ไข แต่จะได้มากหรือน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะมันค่อนข้างแก้ไขยากเหมือนกัน” โบว์แสดงความเห็นถึงคำถามว่า ภาครัฐควรลงมาแก้ไขปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน
เจ – นายท่ารถเมล์
“บางทีมันมีแน่นหน้าอกเหมือนกัน หรือเวลาเราเช็ดจมูกจะเป็นคราบฝุ่นเลย เรารู้สึกถึงอาการนี้สักพักแล้ว ยิ่งฝุ่นรถฝุ่นอะไรผสมด้วยยิ่งไปกันใหญ่เลย” เจ นายท่ารถเมล์บนเกาะราชวิถีพูดถึงอาการของตัวเอง
นายท่ารถเมล์เป็นอีกอาชีพที่อยู่ท่ามกลางมลภาวะ โดยเบียร์จะเข้ากะเริ่มตั้งแต่ 5.00 – 13.00 น. ของทุกวัน นั่งอยู่ในห้องนายท่าบ้าง ออกมายืนบริเวณป้ายรถเมล์บ้างเพื่อรอรับสายรถเมล์ที่เขารับผิดชอบ
“อยู่แบบนี้นานๆ กลัวจะเป็นโรคเป็นภัยเหมือน แต่ก็ใส่แมสก์อย่างเดียวครับ ทำอะไรได้อีกละ (หัวเราะ)” เขากล่าวถึงวิธีป้องกันตัวเองที่ใช้
“ภาครัฐเขาน่าจะมีวิธีที่ดีกว่าเรา ถ้าเขาทำได้ก็อยากให้ลองทำดู เพราะมันจะได้ไม่เป็นพิษต่อสังคมด้วย” เจกล่าวถึงความคาดหวังในการแก้ปัญหานี้
อากาศดีเป็นสิทธิของทุกคน
หนึ่งในความหวังของประชาชนต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ การร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวถูกดองไว้ในรัฐสภามาตั้งแต่ปี 2563 และจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ ร่างดังกล่าวก็ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงแต่อย่างใด
หาก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายจะทำให้ อากาศที่ดีกลายเป็นสิทธิหนึ่งของประชาชนคนไทย โดยจะทำให้
- ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้สร้างมลภาวะได้
- กระจายอำนาจในการจัดการปัญหามลภาวะ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย
- ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามลภาวะทางอากาศที่ละเอียดมากขึ้น โดยกำหนดให้ภาครัฐต้องตรวจและทำรายงานเกี่ยวกับปัญหามลภาวะ รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการร้องเรียนปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศและการทำงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับมีช่องทางในการตรวจสอบและเยียวยาให้ประชาชน
- สิทธิเข้าถึงความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ภาครัฐมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และให้คำแนะนำในกรณีดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนถึงปัญหาดังกล่าว
- เอาผิดผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้ กล่าวคือเปิดให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องภาคเอกชนที่สร้างมลพิษ และฟ้องร้องภาครัฐที่ไม่ปกป้องคุ้มครองสิทธิในอากาศสะอาดได้
แม้คาดเดาได้ว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะไม่ถูกพิจารณาภายใต้รัฐบาลชุดนี้แล้ว แต่เชื่อว่าข้อเสนอเรื่องสิทธิในอากาศบริสุทธิ์จะวนกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เช่นเดียวกับฝุ่น PM 2.5 ที่จะวนกลับมาอีกครั้ง จึงได้แต่หวังว่ารัฐบาลชุดถัดไปจะมองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา และมอบสิทธิในอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีเสียที
อ้างอิงจาก