ช่วงนี้มีกระแสความสนใจที่บ้านเราเกิดกลุ่มชายหนุ่มรวมตัวกันเหมือนในหนัง Fight Club คือมารวมตัวกันเพื่อชกกันแบบดิบๆ หน่อย ไม่ได้ใส่นวม ไม่ได้มีเวที และก็ซัดกันเน้นๆ ภายในสามนาที
อะไรทำให้คนอยากจะลุกขึ้นมาสาดกำปั้นใส่กัน?
มนุษย์สมัยใหม่อย่างเราๆ นั่งทำงานออฟฟิศ จิบกาแฟ ตากแอร์เย็นๆ คงนึกไม่ออกว่า อยู่ดีไม่ว่าดี คนเราจะไปหาเรื่องเอากำปั้นมายัดหน้าตัวเองหรือกำปั้นตัวเองไปยัดใส่คนอื่น
แต่ ลึกๆ แล้ว ไอ้วิถีชีวิตแบบ ‘สบายๆ’ แบบสมัยใหม่นี่แหละ ที่ทำให้เราอยากที่จะกลับไปสู่ดินแดนของกำปั้น หยาดเหงื่อและเลือดเนื้อ
‘ร่างกาย’ ที่หายไป
ไอ้วิถีชีวิตปัจจุบันที่เราต้องเจอกันทุกวัน ตื่น กินข้าว ไปทำงาน นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ กลับบ้าน นอน ชีวิตประจำวันแบบนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องซ้ำซากอย่างเดียว แต่มันเป็นวิถีชีวิตแบบที่ทำให้ ‘ร่างกาย’ ของเราหายไป
ร่างกายมันจะหายไปได้ยังไง!? นี่ไง แขนขาของเราก็ยังอยู่ แต่ลองนึกดูว่าชีวิตวันธรรมดาของเรา มันเต็มไปด้วยกิจกรรมที่ใช้ร่างกายน้อยมากๆ เทคโนโลยีมันเป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายของเราถูกใช้งานน้อยไปจนถึงแทบไม่ได้ใช้งานเลย
เวลาเราไปไหนไม่นั่งรถก็ขับรถ ซึ่งก็ใช้กล้ามเนื้อน้อยมาก การทำงานทั้งหมดทำผ่านปลายนิ้วและการนั่งอยู่เฉยๆ กลับบ้านมาความบันเทิงก็เกิดมากจากการนั่งดูหนังหรือนอนฟังเพลง ไปจนถึงไถฟีดในโทรศัพท์มือถือ ถ้าเรามองย้อนไปก่อนที่ยุคทุนนิยมและโลกอุตสาหกรรมจะเข้ามา ก่อนหน้านี้มนุษย์เราใช้ร่างกายกันอย่างหนักหน่วงในการทำงาน เช่นทำนาทำไร่ไถสวน การเกิดขึ้นของเครื่องยนต์กลไก ล้อ เครื่องจักร เรื่อยมาจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการทำงานแบบนั่งโต๊ะในโลกสมัยใหม่ มันทำให้มนุษย์เราถูกเอา ‘ร่างกาย’ ออกไป
ทุนนิยมกับความเป็นชายที่หายไป
บางคนอาจจะรู้สึกว่า ร่างกายหายไปแล้วยังไง ก็ไม่มีปัญหา นั่งๆ นอนๆ สบายจะตาย
แต่ในแง่ของร่างกาย ถ้าเราบอกอย่างกว้างๆ ว่าความเป็นชาย อันหมายถึงคุณสมบัติหรือลักษณะที่ผู้ชายควรจะเป็น เราก็วางได้กว้างๆ ว่าผู้ชายมันถูกโยงเข้ากับร่างกาย หรือมัดกล้าม ในแง่ของความแข็งแรงอยู่เสมอ
ทีนี้ในโลกของทุนนิยม ที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต คือเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือเป็นผู้บริโภค วิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะไอ้การทำงานนั่งโต๊ะและการบริโภคจนอ้วนพี มันไปลดทอนความเป็นชายลง ในระบบทุนนิยมมันเลยมีแนวคิดเรื่องของวิกฤติของความเป็นชายอยู่เสมอ ประมาณว่าพวกเราเองก็มีภาพของความเป็นชายชาตรีบางอย่างแหละ แบบว่ากล้ามๆ ล่ำๆ เท่ๆ มีทักษะแบบแมนๆ ปีนเขา ซ่อมรถได้ ช่วยชีวิตหญิงสาว แต่ภาพตัดมา แต่ละคนก็นั่งอ้วนอยู่หน้าคอม หลังก็ปวด พุงก็ย้อย นั่งเคี้ยวขนมหวาน ดูดชานมไข่มุก
ดังนั้นในระยะหลังจะเห็นว่ามีสินค้าและบริการจำนวนมาก เช่น คลับฟิตเนส เวย์โปรตีน ยิมมวย ปีนเขา เซิร์ฟบอร์ด บีบีกัน รถสปอร์ต ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ระบบทุนนิยมพยายามสร้างสินค้าและบริการเพื่อมาชดเชยและทดแทนความเป็นชายที่หายไปจากการทำงานและการใช้ชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมของเรา
โหยหาความรุนแรง?
เอาจริงๆ ความเป็นชายมันไม่ได้ยึดติดแค่ความรุนแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงมันเกี่ยวข้องกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายด้วยกัน เมื่อก่อนผู้ชายใช้กำลังตัดสินกันเพื่อเอาชนะใจสาวที่หมายปอง หรือสมัยเด็กๆ เรามักเห็นการชกต่อยกันที่ปลายทางทั้งสองฝ่ายกลับกลายเป็นเพื่อนกันซะอย่างนั้น
ความรุนแรงมันไม่ใช่เรื่องที่ถูกแหละ แต่มันก็ไม่ได้ผิดทั้งหมด เช่นในกรณีของความสัมพันธ์ของเหล่าบุรุษเพศที่ความรุนแรงมันถูกระเบิดออกมาตรงๆ แล้วก็จบๆ เรื่องไป ในขณะที่ในบางกรณีความรุนแรงมันออกมาในรูปแบบของคำพูดหรือการจับกลุ่มนินทา ซึ่งมันก็เป็นความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน
เราอาจรู้สึกว่ายิ่งเรามีอารยธรรมเท่าไหร่ ความรุนแรงก็ยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น แต่ถ้าลองดูดีๆ ยิ่งเราศิวิไลซ์กันมากเท่าไหร่ ความรุนแรงมันก็ยังอยู่แหละแต่มาในรูปแบบที่ซับซ้อนและถูกควบคุมมากขึ้น เมื่อก่อนเราฆ่ากันในลาน แต่ตอนหลังเรามีสิ่งที่เรียกว่ากีฬาซึ่งก็เป็นทางหนึ่งที่เราได้ปลดปล่อยความรุนแรงในรูปแบบที่มีกฏกติกาต่างๆ เข้ามากำกับ
การกลับมาของ Fight Club เองก็เหมือนกับการที่หนุ่มๆ ในโลกทุนนิยมที่แสนจะน่าเบื่อได้กลับไปสู่โลกอุดมคติของเหล่าชายหนุ่มที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเอาร่างกายของตัวเองกลับมา อย่างการได้ซัดกำปั้นและรู้สึกมีชีวิตผ่านบาดแผลและความเจ็บปวด แต่ยังหมายถึงการที่ได้สร้างความสัมพันธ์แบบแมนๆ ตรงๆ ซึ่งมันตรงข้ามกับโลกปัจจุบันที่ถูกตราว่าเป็นโลกของการใส่หน้ากาก การกลับมาของกำปั้นและหยดเลือดมันเลยเหมือนการกลับมาของค่านิยมสมัยก่อนที่หายไปพร้อมๆ กับค่านิยมสมัยใหม่