เร็วๆมานี้เราคงได้เห็นภาพผู้หญิงโชว์ขนรักแร้ของพวกเธอหนาตามากขึ้น เพราะเหล่าหญิงคนดังหลายนางต่างเปิดเผยภาพของพวกเธอกับขนจั๊กกะแร้ที่ไม่โกนออกหลายครั้งบนโลกออนไลน์ เซเลบดาราหลายนางอย่าง Madonna และ Miley Cyrus ก็ตั้งอกตั้งใจเปิดเผยขนรักแร้ตัวเองบนอินสตาแกรมอย่างภาคภูมิใจ เพื่อประกาศว่าผู้หญิงมีขนใต้วงแขนคือความงามอย่างหนึ่ง รวมทั้งการออกมาเรียกร้องรื้อสร้างประเด็นสังคมวัฒนธรรม ‘ความงาม’ ที่ผู้หญิงมีขนรักแร้ก็ถือว่าเป็นความงามเช่นกัน และเป็นที่สังเกตว่าสาวๆ ยุค Millennial ก็ไม่ได้มานั่งกำจัดขนตามร่างกายตั้งแต่ขา หัวหน่าวยันรักแร้เหมือนรุ่น Gen-X เค้าทำกัน
ถึงกับว่าต้นปี ค.ศ.2020 Wonderman Thompson บริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารด้านการตลาดยังได้ออกมากล่าวว่า จากการสำรวจ ขนรักแร้จะเป็นเทรนด์ความงามของผู้หญิงในปี ค.ศ.2020 อีกด้วย
จนเป็นที่กล่าวกันเกินจริงว่า การปล่อยขนรักแร้งอกตามธรรมชาติ ไม่กำจัดมันทิ้ง ก็เป็นอีกคลื่นลูกหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรี เพราะหมุดหมายคลื่นของสตรีนิยมด้วยขนรักแร้ก็เป็นอะไรที่เกินจริงไปหน่อย เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวคลื่นลูกอื่นๆ ที่ผ่านมา แม้ว่าเรื่องไว้ขนรักแร้จะเป็นประเด็นสิทธิเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอโดยตรงก็ตาม และอันที่จริงมันก็มีกลุ่มเฟมินิสต์และผู้หญิงที่ต้องการปลดแอกจากภาวะไร้ขนรักแร้มายาวนาน ให้เป็นกระแสอยู่หลายๆ ครั้ง ไม่ใช่ช่วงครึ่งหลังทศวรรษที่ 2010
เพราะหลายทศวรรษก่อน ในปี ค.ศ.1999 จูเลีย โรเบิร์ต (Julia Roberts) ก็เคยชูแขนทักทายแฟนคลับ ในงานหนัง Notting Hill รอบปฐมทัศน์ ด้วยชุดเดรสเลื่อมสีแดงเข้มแขนสั้นของเธอที่เผยให้เห็นไรขนรักแร้เล็ก ๆ สร้างความตะลึงพรึงเพริศแก่สาธารณชน อย่างไรก็ตามเธอให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า วันนั้นเธอไม่ได้คำนวนความยาวของเสื้อเท่านั้นเอง พอโบกไม้โบกมือก็เลยเห็นขนรำไร แต่เธอก็ได้กล่าวว่า “แต่นั่นก็แสดงถึงความเป็นมนุษย์ของฉันนะยะ”
ไม่ว่าแม่จูเลียจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และมันก็สั่นสะเทือนวาทกรรมหญิงงามของปิตาธิปไตยเพียงนิดหน่อยในวงการบันเทิง แต่มันก็จุดประกายสังคมให้กลับมาตระหนักถืงการมีขนใต้วงแขนของผู้หญิงว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมชาติของมนุษย์เพศหญิง
แต่การไร้ขนรักแร้ต่างหากเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม
การมีและไม่มีขนรักแร้ของผู้หญิงมีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่หมุดหมายหนึ่งที่สำคัญก็คือในปี ค.ศ.2019 เมื่อ Emily Ratajkowski ดารานางแบบสุดเซ็กซี่ถ่ายแบบในชุดชั้นในโชว์วงแขนที่ดกไปด้วยขนรักแร้ลงนิตยสาร Harper’s Bazaar ฉบับเดือนกันยายน ค.ศ.2019 ที่กล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ มากไปกว่านั้น เอมิลี่ ก็ได้กล่าวเรื่องสิทธิสตรีในบทความประกอบ ซึ่งเธอยังได้กล่าวอีกว่าขนบนร่างกายของเธอคือความเซ็กซี่อย่างหนึ่ง เหมือนจะเป็นการไถ่บาปของนิตยสารในเวลาเดียวกัน เนื่องจากนิตยสาร Harper’s Bazaar คือตัวการสำคัญในการสร้างวาทกรรมวาทเวรความงามที่ว่าผู้หญิงควรมีจั๊กกะแร้เรียบเนียน ไม่มีขนเป็นพุ่มรกรุงรัง
ในปี ค.ศ.1914 นิตยสารชื่อดัง Harper’s Bazaar เป็นนิตยสารสตรีแห่งแรกที่เริ่มโฆษณาสร้างแคมเปญให้สาวๆ กำจัดขนขาและรักแร้ และในปีต่อมา ค.ศ.1915 บริษัทมีดโกนอย่าง Gillette ก็ออกมาตั้งแคมเปญต่อต้านขนใต้วงแขนในฐานะที่เป็น “ขนที่ไม่น่าดู” และ “ขนที่น่ารังเกียจ” ที่ต้องกำจัดออกจากร่างกาย ไปพร้อมกับเปิดตัวสินค้า Milady Décolletée ซึ่งเป็นมีดโกนที่ตั้งใจวางตลาดขายให้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งโฆษณาว่าผู้หญิงจะมีเสน่ห์มากขึ้นด้วยการโกนขนรักแร้ Harper’s Bazaar รับลูกต่ออย่างดี ในโฆษณาหน้าหนึ่งของนิตยสารกล่าวว่า การมีวงแขนที่เกลี้ยงเกลาเป็น ‘ความจำเป็น’ อย่างหนึ่งของลูกผู้หญิง และหลังจากนั้นธุรกิจมีดโกนก็ประสบผลสำเร็จอย่างมาก บริษัทมีดโกนทั้งหลายต่างขึ้นราคาสินค้าและเร่งผลิตมีดโกนสำหรับคุณผู้หญิงที่ไม่ต่างอะไรจากของผู้ชาย เพียงแต่มีสีชมพูและขนาดเล็กกว่า ทั้งๆ ที่อาชีพนอกบ้านของผู้หญิงในยุคสมัยนั้น ก็ได้รับเงินน้อยกว่าผู้ชาย
รักแร้ที่ไร้ขนของผู้หญิงจึงเป็นผลผลิต ของส่วนผสมที่ลงตัวในการแสวงหาผลกำไรจากผู้หญิงในฐานะผู้บริโภค ระหว่างอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ขณะนั้นเริ่มผลิตเสื้อผ้าสตรีชุดราตรีโปร่งแขนกุด อุตสาหกรรมการกำจัดขนของผู้ชายที่ต้องการสร้างยอดขายและกำลังเจาะกลุ่มตลาดผู้หญิง และอุตสาหกรรมนิตยสารสำหรับผู้หญิงที่สร้างวัฒนธรรม flapper ก็โฆษณาชุดแขนกุดใส่เต้นรำ อวดวงแขนเนียนเรียบไร้ขน
ขณะเดียวกันความไร้ขนยังสะท้อนถึงความไร้เดียงสาทางเพศ ความยังไม่โตไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์อีกด้วย
โชคดีที่มีดาราฮอลลีวูดรุ่น 1950’s Sophia Loren นางสวยหยาดเยิ้ม และปรากฏตัวต่อสื่อด้วยการโชว์รักแร้ที่มีขน ช่วยปลุกกระแสมีขนรักแร้ก็เท่ากับความสวยความงามอย่างหนึ่งของลูกผู้หญิงเช่นกัน และวัฒนธรรมฮิปปี้แห่งทศวรรษที่ 1960 ที่พยายามเข้าถึงธรรมชาติมากที่สุด การโกนหนวดโกนขนหน้าแข้งและรักแร้ไม่ใช่วัฒนธรรมที่นิยมสำหรับวันรุ่นหญิงขณะนั้น และในยุคของอุดมการณ์แห่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่นี้ ก็นำไปสู่ปรากฎการณ์เคลื่อนไหวของนักสตรีนิยม ปลดแอกเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอจากความงามฉบับปิตาธิปไตย นำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “bra-burn feminist” (ไม่ว่าในเหตุการณ์ที่พวกเธอออกมาประท้วงจะจุดไฟเผายกทรงจริงหรือไม่ก็ตาม) ที่ผู้หญิงออกมาประท้วงเวทีนางงามอเมริกาที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ ในปี ค.ศ.1968 พวกเธอไม่เพียงถอดยกทรง รองเท้าส้นสูง ในฐานะเครื่องมือทรมานพันธนาการสตรีเขว้งลงในถังขยะ บางนางยังนำลิปสติก มีดโกนและแหนบ ปาทิ้งลงไปด้วย เพราะเป็นสัญลักษณ์การกดขี่ทางเพศไม่ต่างอะไรไปจากยกทรง ที่ยกทรงในยุคนั้นถูกกำหนดให้เป็นสิ่งจำเป็นต้องสวมก่อนออกจากบ้าน เพื่อปกปิดหัวนมและประคองเต้าไม่ให้กระเพื่อมเวลาขยับตัว ยกทรงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของระบบสองมาตรฐานที่หัวนมผู้ชายและการเปลือยท่อนบนของผู้ชายเป็นสิ่งปรกติไม่อนาจาร ยกทรง ส้นสูง เครื่องสำอางจึงเป็นความงามและความสิ้นเปลืองไม่ต่างอะไรไปจากการโกนขนบนร่างกาย
ก่อนที่จะเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ที่การกำจัดขน
กลายเป็นเรื่องปกติและผู้หญิงก็เริ่มไม่มีขนรักแร้อีกครั้ง
การเคลื่อนไหวปลดแอกของผู้หญิงยุคนี้ 2010-2020’s ในโลกออนไลน์มันก็มีข้อจำกัด แบบ net idol เซเลบๆ หรือไปไม่สุด พวกเธออยู่ในเมคอัพที่จัดเต็ม ชุดชั้นในยั่วยิ้ม สวยสง่า ชูขนรักแร้ปุกปุยที่กลายเป็นอีกเครื่องประดับกาย ดาราบางนางอัพรูปเสร็จก็กลับไปแว็กซ์ ซึ่งมันต่างจากการเคลื่อนไหวยุค 1960-1970’s ที่แหนบ มีดโกน และการกำจัดขนไม่ว่าที่ใบหน้า ขา รักแร้ ไม่ต่างอะไรกับเครืองสำอาง ยกทรง ที่สิ้นเปลืองเงินทอง เสียเวลา และกดขี่ทางเพศ กลายเป็นการพูดถึงความงามกับขนรักแร้ที่มีจริยธรรมความงามที่ต่างกันออกไป จากหลบลี้ความงามแบบปิตาธิปไตยกำหนดร่างกายพวกเธอในอดีต มาสู่การช่วงชิงคุณค่าความหมายความงามรื้อสร้างตีความใหม่ด้วยพวกเธอเองในปัจจุบัน
ดังนั้นการเคลื่อนไหวของพวกเธอในยุคสมัยนี้ จึงไม่ใช่ว่าเป็นเฟมินิสต์แล้วต้องละทิ้งความงาม หรือละทิ้งสุขอนามัย เพราะการไว้ขนรักแร้ไม่ใช่การหันหลังให้ความสวยความงามหรือการดูแลตัวเอง หากแต่เป็นการปฏิวัติบรรทัดฐานความงาม ที่ขนดกของพวกเธอไม่ใช่ความน่าอับอายทางสายตา ความอัปลักษณ์ หรือ “ความไม่เป็นผู้หญิง” อีกต่อไป และแม้จะมีชุดอธิบายว่ากำจัดขนเป็นเรื่องสุขอนามัย โกนเล็มแล้วทำให้สะอาดขึ้นไม่เป็นแหล่งสะสมหมักหมมแบคทีเรีย แต่การกำจัดขนแต่ละครั้งก็คือการสร้างโอกาสให้เกิดการเสียดสีและติดเชื้อได้เช่นกัน ซ้ำร้ายการกำจัดขนในแต่ละครั้งก็สร้างความเจ็บปวด ระคายเคืองผิวหนัง สร้างหนังไก่บนหนังคน เพิ่มค่าใช้จ่าย มีราคาแพง และสร้างภาระในชีวิต 2 สัปดาห์ละครั้ง
และเฟมินิสต์รุ่นนี้ก็ไม่ได้มาตัดสินว่าบาปผู้หญิงที่ยังกำจัดขนใต้วงแขน เพราะสำหรับพวกเธอขนจั๊กกะแร้ผู้หญิงเป็นทางเลือก Xiao Meili เฟมินิสต์ชาวจีนที่ลุกขึ้นท้าทายวาทกรรมความงามเรื่องความไร้ขนใต้วงแขน และชักชวนให้หญิงสาวหลายคนอัพรูปอวดขนรักแร้ตนเอง และ normalize ขนรักแร้ของผู้หญิง เธอกล่าวว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะโกนหรือไม่โกนก็เป็นเรื่องของพวกเธออง แต่ไม่ใช่โกนเพราะการบังคับหรือแรงกดดันของสังคม เพราะถ้าสังคมกดดันและบอกว่าผู้หญิงต้องโกนขนรักแร้ที่เป็นอวัยวะเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอได้ มันก็ไม่ยากแล้วล่ะที่สังคมจะควบคุมบอกให้เธอทำหรือไม่ทำอย่างอื่นเรื่องใดบ้างในชีวิต
ขนตามร่างกายจึงเรียกได้ว่าเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อสู้กับมาตรฐานความงามของผู้หญิง และการกำจัดหรือไม่กำจัดขนยังคงสัมพันธ์กับการต่อสู้ของเฟมินิสต์ในเรื่องสิทธิทางร่างกายและวามกรรมความสวยความงาม
ขณะเดียวกันในเรื่องของรสนิยม ที่สเป็ก ความสวยความงาม การดึงดูดทางเพศเย้ายวนใจ ก็เป็นเรื่องปัจเจก และเสรีภาพในการเลือก ที่ผู้ชายบางคนชอบผู้หญิงมีคนรักแร้ บางคนไม่ชอบ ผู้หญิงบางคนคิดว่าการมีขนรักแร้ sexy กว่าไม่มี ใครใคร่มีก็มีไป เพียงแต่ความงามที่ไร้ขนรักแร้นั้นไม่ได้เป็นรสนิยมในระดับปัจเจกล้วนๆ อย่างเดียว หากแต่เป็นผลผลิตและการประกอบสร้างทางสังคมด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าการไว้ขนเพียงเพราะปฏิบัติตามความปรารถนาของชายคนรักในชุดความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม เต็มไปด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า ก็เป็นอีกคนละเรื่องกันนะ
อ่านเพิ่มเติม