โอ๊ย ไม่ดีไม่งามเลย ใช้ไม่ได้ จะมาเต้นท่าตึ๊บๆ ส่อถึงเรื่องเพศอะไรแบบนี้ได้อย่างไร
ใจเย็นๆ ก่อน ก่อนอื่นเราอาจต้องลองเอานิยามของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ในความหมายกว้างๆ ที่หมายถึงวิถีชีวิตหรือวิถีปฏิบัติของผู้คนโดยที่ไม่ได้ไปจัดแบ่งว่าอันนี้สูงส่ง อันนี้ต่ำช้า ถ้าเราลองนึกย้อนไป ‘วัฒนธรรมแบบพื้นบ้าน’ อันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของเรา ‘เรื่องเพศ’ ก็ดูเป็นอะไรที่แยกออกจากชีวิตของพวกเราแทบไม่ได้
บทเพลงหรือวรรณกรรมทั้งหลายเลยเจือด้วย ‘เรื่องทะลึ่งตึงตัง’ อยู่เสมอ เพลงพื้นบ้านเช่นเพลงฉ่อย ลำตัด หรือเพลงแซว ที่แน่ล่ะ เพลงที่ใช้ร้องเกี้ยวพาราสีก็มีเนื้อหาที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงพูดถึงเรื่องเพศทั้งอย่างตรงๆ และอย่างอ้อมๆ ในวรรณกรรมเองก็มีส่วนที่พูดถึงการสังวาสกันผ่านการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น การเอาไถลงนาหรือการเปรียบเทียบดอกไม้กับผึ้ง ในวรรณคดีภาคใต้เองถึงขนาดมี ‘วรรณกรรมคำผวน’ เช่นวรรณกรรมภาคใต้ชื่อ ‘สรรพลี้หวน’ หรือ ‘พระเอ็ดยง’ ที่เชื่อว่าเป็นผลงานของคุณสุวรรณกวีหญิงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็นั่นแหละโดยรวมแล้วก็เป็นการใช้วาทศิลป์ในการพูดเรื่องต้องห้ามไปจนถึงการพูดอะไรที่มันเป็นธรรมชาติของคนเรา
เพลงพื้นบ้านอันเป็นวัฒนธรรมแบบบ้านๆ ในที่สุดก็ค่อยๆ กลายมาเป็นเพลงลูกทุ่ง เป็นบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของผู้คนจริงๆ – ซึ่งแน่ละความทะลึ่งตึงตังหรืออารมณ์ความปรารถนาของมนุษย์มันก็เป็นแง่มุมที่ธรรมดาที่ใครๆ ก็มี เพลงลูกทุ่งชั้นครูเช่นเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องที่เราถือว่าเป็นราชินีเพลงลูกทุ่ง เพลงของแม่ผึ้งพูดและแสดงท่าทีที่ ‘ค่อนข้างต้องห้าม’ ของผู้หญิง ไปจนถึงบอกเล่าอารมณ์ความปรารถนาในท่าทีที่ชวนให้ยิ้มๆ เขินๆ นิดหน่อย ยุคต่อๆ มาก็มีเพลงที่เล่นกับจังหวะการคล้องจองเช่นเพลงหมากัด ไปจนถึงการเล่นคำผวนอย่างใน ‘ลิ้นจี่หน้าหอ’
คนไทยเป็นคนสนุกสนานเนอะ พื้นที่ของความบันเทิงทั้งหลายมักมีเรื่องเพศ ความทะลึ่ง มุกตลก ที่ดูจะแยกออกจากความสนุกของพวกเราไม่ได้ คำวิจารณ์เรื่องความไม่สวย ความไม่งามอะไรก็สุดแท้แต่มุมมองของแต่ละคน แต่ว่าไอ้การเอาเรื่องทะลึ่งๆ มาบิด คือความหมายตามตัวอักษรเป็นอย่างหนึ่ง แต่สะกิดไปที่อีกเรื่องหนึ่งได้นี่ ก็ถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือความเฉลียวฉลาดแบบหนึ่งแหละเนอะ
ผู้ชายในฝัน – พุ่มพวง ดวงจันทร์
เพลงของราชินีลูกทุ่ง หนึ่งในหมุดหมายทรงคุณค่าของวงการเพลงลูกทุ่งไทย เพลงของพุ่มพวงเป็นเพลงที่ต่อต้านแนวคิดเรื่อง ‘ผู้หญิงต้องเรียบร้อย’ และเป็นเพลงที่กล้าพูดถึง ‘ความปรารถนา’ ของผู้หญิงที่ออกมาในลักษณะที่สองแง่สามง่ามและยังคงน่ารักชวนให้ยิ้มๆ นึกถึงความรู้สึกหรือเรื่องราวในชีวิตของเราจริงๆ เพลงอย่างชายในฝันก็พูด ‘ความฝัน’ ของผู้หญิงที่มีนัยเรื่องการฟีเจอร์ริ่งกัน แน่ล่ะคำว่า ‘เสียบหล่น เสียบหล่น’ ในฝันของสาวน้อยเนี่ยมันจะหมายถึงอะไรได้ นอกจากนี้ยังมีเพลงที่พูดถึงการ ‘อ่อย’ เช่นกระแซะๆ เข้ามาสิ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ถือได้ว่าพุ่มพวงได้ใช้กลยุทธ์ของศิลปะของบทเพลง ทั้งการใช้คำอื่นมาแทน การทอดเสียง สำเนียงแบบหยอกเย้า ซึ่งก็ถือว่าบทเพลงของแม่ผึ้งเป็นงานที่ส่งผ่านความรู้สึกที่ล้ำลึกของผู้หญิงออกมา
วันแรกเจอเลย – ยุ้ย ญาติเยอะ
ยุ้ย ญาติเยอะ เป็นนักร้องสาวที่พูดถึงการแตกเนื้อสาวอยู่เป็นประจำ และแน่ล่ะแค่การพูดถึงการเป็นสาวมันก็มีนัยถึงการพร้อมที่จะให้ชายหนุ่มทั้งหลายเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เพลงเช่น ‘วันแรกก็เลย’ ที่บอกว่าวันแรกก็จะโดนซะแล้วเนี่ย ถึงในเพลงจะไพล่ไปพูดถึงเรื่องทั่วๆ ไป แต่โดยนัยย่อมชวนให้นึกถึงเรื่อง ‘การโดน’ ที่เราก็รู้ๆ กันอยู่เนอะ แถมในเพลงยังมีคำสำคัญๆ เช่น ไอ้นั่นก็ดี ไอ้นี่ก็งาม คือไม่ได้พูดตรงๆ แต่เอาคำสำคัญทั้งหลายมารวมๆ กัน สุดท้ายผู้ใหญ่ทั้งหลายพอฟังมันก็อ้างอิงไปถึงประสบการณ์จริงในชีวิตได้แหละ ว่าเพลงกำลังเล่นกับความคิดความเข้าใจอะไรของเราอยู่
หมากัด – เอกชัย ศรีวิชัย
เพลง ‘หมากัด’ เป็นเพลงที่ทำให้เอกชัย ศรีวิชัยดังและเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการลูกทุ่งได้ ความพิเศษของเพลงหมากัดคือการเอารูปแบบความเป็นท้องถิ่นภาคใต้มาผสมผสาน ซึ่งแน่ล่ะว่าในนั้นมันก็มีความทะลึ่งตึงตังอยู่ในที เพลงหมากัดเล่นกับการลงคำที่สัมผัส เป็นการกะว่าคำที่ลงด้วยสระ -อวย ทั้งหลาย และทิ้งช่องว่างให้คนฟังได้ลุ้นหรือคิดไปเองก่อนว่ามันต้องเป็นคำนั้นแน่ๆ ส่วนหนึ่งมันก็เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือเล่นกับความทะลึ่งที่เราต่างก็มีในตัวเอง ก่อนที่จะเฉลยว่า อ้อ ขา เนอะ ไม่ใช่อย่างอื่น
ดิ้นไปดิ้นมา – สุดา ศรีลำดวน
หลังจากที่แม่ผึ้งเปิดบทเพลงที่พูดถึง ‘ฉากในมุ้ง’ ของสาวน้อยที่นอนอยู่คนเดียว พูดเรื่องที่มันส่วนตั๊วส่วนตัวของผู้หญิงออกมา เพลง ‘ดิ้นไปดิ้นมา’ เป็นอีกเพลงที่ทำให้เราจินตนาการถึงฉากส่วนตัวของผู้หญิงวัยกำดัดที่ต้อง ‘นอนเดียวดาย’ และแน่ว่าถ้าเธอไม่อยากนอนคนเดียว คือถ้าเธอมีหนุ่มมานอนข้างๆ ด้วย เตียงของเธอก็ยังคงจะจัดกระจายอยู่แน่ๆ แต่ ไม่ใช่เพราะเธอนอนดิ้นอยู่คนเดียวอีกต่อไป แต่อาจจะดิ้นและทำเตียงเละเทะเพราะกิจกรรมอื่น
น้องนอนไม่หลับ – อาภาภรณ์ นครสวรรค์
มาสู่ยุคเจ้าแม่หัวก้าวหน้า ตัวแทนหญิงสาวมั่นใจ และเป็นอีกเพลงที่พูดถึงผู้หญิงในพื้นที่ส่วนตัวมากๆ คือพูดถึงสาวน้อยที่ ‘นอนไม่หลับ’ เพราะ ‘ใจมันกระสับกระส่าย’ ไอ้ความร้อนรุ่มหงุดหงิดใจสำหรับสาววัยแตกเนื้อนี้มันจะมีอะไรได้นะ ไอ้ความรู้สึกนั้นมันกวนใจจนกระทั่งเก็บไปฝัน มีการพูดถึง ‘ปืน’ ที่ถูกเอามาจ้อง เอามาเล็งในทำนองเดียวกับชายในฝัน เพลงลูกทุ่งนี่ว่าไปก็เดินตามจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์เลย คือใช้ฝัน และใช้สัญลักษณ์เพื่อพูดถึงความปรารถนาอันล้ำลึกที่พูดออกมาตรงๆ ไม่ได้ ดังนั้น ถ้ามองตามหลักจิตวิเคราะห์ พวกเราเองก็อยากจะพูดเรื่องพวกนี้แหละแต่พูดไม่ได้ ถ้ามีเพลงที่ชวนให้คิดไปได้ มันก็เป็นการระบายความปรารถนาของเราด้วยไปพร้อมๆ กัน
เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว – ดาหลา ธัญญาพร
‘เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว’ แค่ชื่อก็แหม่ ชวนให้ยิ้มมุมปากแล้วเพราะมันเป็นคำที่พวกเราใช้นิยามอะไรบางอย่างที่…นะ รู้กัน ถ้าลองดูเนื้อเพลงจริงๆ เธอก็พูดถึงการไปชอบชายหนุ่มสุดหล่อคนหนึ่งแหละ แต่ทีนี้ดั๊นใช้คำว่าทั้งใหญ่ทั้งยาวไป ตามตัวอักษรก็นี่ไงหมายถึง ‘รูปร่าง’ โดยรวม ไม่ใช่หมายถึงรูปร่างเฉพาะเจาะจง แต่เอาจริง รูปร่างที่มันเฉพาะเจาะจงก็เป็น ‘ส่วนประกอบหนึ่ง’ ที่เราใช้บอกว่าเอ้อ ชายหนุ่มคนนี้พันธุ์ดีมั้ยเนอะ
คันหู – จ๊ะ อาร์สยาม
อีกหนึ่งเพลงสะเทือนวงการ จากต้นฉบับเป็นของหลิว วาริสสรา ต้นฉบับบอกว่าตอนแรกไม่ได้โลดโผนขนาดนี้ แต่ด้วยพลังของการเอามาร้องและการครางและการเต้นของจ๊ะนี่แหละที่ทำให้ ‘เนื้อหา’ และ ‘ความหมาย’ ของ ‘อาการคันหู’ ที่แม้ว่าทั้งเพลง ถ้าอ่านไปตามตัวอักษรมันก็พูดถึงหูจริงๆ นะ พูดเรื่องเอาสำลีมาปั่นต่างๆ นาๆ แต่ว่าด้วยในใจของเราเองแหละที่ก็รู้ดีว่าคำและอาการทั้งหลายมันกำลังส่อไปสู่เรื่องธรรมชาติบางเรื่องที่เรารู้กันดี
ลิ้นจี่หน้าหอ – ชนัล ปฐมวงศ์
โหดไปหน่อยเนอะกับเพลงนี้ แต่ว่า ตามเนื้อเพลง (ห้ามผวน) มันก็พูดถึงชีวิตประจำวันของอาจจะเป็นนักศึกษาหรือสาวออฟฟิศที่เช่าหออยู่ เป็นเรื่องการค้าการขาย เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่เอ้อ พูดถึงระบบการกระจายสินค้าแบบบ้านเราด้วยรถผลไม้ที่เราคุ้นเคย แต่ด้วยความแสบของคนแต่งและคนร้องก็ไปบิดให้เรื่องรถขายผลไม้ การซื้อผลไม้ตามฤดูกาลกลายเป็นความเปลี่ยวเหงาของสาวน้อยได้