ในความสัมพันธ์ของคนสองคน นอกจากความรัก มักมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเสียไม่ได้
คนบางคนเก็บเงินเพื่ออนาคต แต่อีกคนใช้จ่ายกับเรื่องปัจจุบัน บางคนมีเงินมาก แต่กลับต้องเลี้ยงอีกฝ่ายอยู่เรื่อย และถ้าเขยิบขึ้นมาเป็นความสัมพันธ์มากกว่าคู่รัก การแบ่งค่าใช้จ่ายส่วนตัวกับเงินภายในบ้านที่ไม่ลงตัว ดูเหมือนจะเป็นปัญหาในครอบครัวที่สามารถนำไปสู่การหย่าร้างได้
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตบำบัดการเงิน แผนกจิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาเวช และผู้เชี่ยวชาญความรุนแรงทางการเงิน (Financial Abuse) เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกี่ยวกับการทารุณกรรมทางการเงิน ลองไปทำความรู้จักความรุนแรงเรื่องเงินๆ ทองๆ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้กัน
The MATTER: ความรุนแรงทางการเงินคืออะไร
ดร.รพีพงค์: Financial Abuse หรือการทารุณกรรมทางการเงิน ผมขอใช้คำนี้ คือการทำร้ายคนๆ หนึ่งด้วยความรุนแรงหรือความมีอำนาจในการควบคุม ไปคุกคามอีกฝ่ายที่ต้องพึ่งพิง คือการใช้ทรัพย์สินเงินทอง และของมีค่า เป็นตัวกระทำความรุนแรงใส่อีกคน
The MATTER: การทารุณกรรมทางการเงินเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง
ดร.รพีพงค์: คนที่เข้ารับการปรึกษาส่วนใหญ่มีฐานเงินเดือนดี เรียกได้ว่าร่ำรวย แต่ถามว่าเกิดกับคนฐานะอื่นไหม ผมคิดว่ามี แต่เขาไม่ได้เข้ามาปรึกษา ถ้าถามถึงกรณีที่ผ่านมา ส่วนมากคือคนมีอำนาจเงินมากกว่าอีกฝ่ายจะเป็นผู้กระทำความรุนแรง กับอีกประเภทหนึ่งคืออำนาจเงินน้อยกว่า แต่เขามีอำนาจอย่างอื่นที่ทำให้ผู้ถูกกระทำต้องเคารพ เช่น ความรัก เหตุผลเพราะรักเลยต้องยอมๆ ไป อาจเพราะมีภาระอย่างอื่นด้วย เช่น ลูก หรือครอบครัวที่ต้องดูแล แต่เอาจริงๆ บางคนก็บ่นว่า ทำไมฉันต้องมารับภาระนี้ด้วย มันไม่แฟร์
ผู้หญิงบางคนต้องรับภาระในบ้านอย่างหนัก ผู้ชายบางคนไม่ได้เป็นพ่อบ้านที่ดี ไม่ทำงานบ้าน ไม่ทำอะไรเลย พอผมถามถึงความฝันของผู้หญิงคนนั้น เขาบอกว่า “วันนี้เขายินดีทำงานหนัก แต่อยากเห็นสามีซักผ้า ซื้ออาหารให้ลูก เลี้ยงดูลูก ไปรับไปส่งลูก” ทุกวันนี้มันคือภาระของเขาหมด มันใช่เหรอ สำหรับคนยุคนี้ที่เขาคาดหวังว่าจะเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ฉันทำงาน เธอทำงาน เราต่างเอาเงินมาเลี้ยงลูกด้วยกัน มันเป็นคู่ชีวิตที่สมดุล แต่มันไม่เกิดขึ้น ต้องรับผิดชอบคนเดียว ผมเลยถือว่ามันคือการทารุณกรรมทางการเงินอย่างหนึ่ง เมื่อมีเงินมาเป็นตัวกลางแล้วทำร้ายคนๆ หนึ่ง มีอำนาจควบคุมอีกฝ่าย อย่างในกรณีข้างต้น คุณเป็นพ่อของลูกโดยใช้ทรัพย์สินเงินทองร่วมกับภรรยา มันถูกแทรกซึมไปใช้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวันของฝ่ายหญิง เลยมองว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการเงิน
The MATTER: ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์รูปแบบไหน
ดร.รพีพงค์: ส่วนใหญ่เขามองว่าเกิดขึ้นกับคู่ความสัมพันธ์แบบครอบครัว เพราะสามีกับภรรยาอยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุด แต่ก็จะมีในส่วนการทารุณกรรมทางการเงินจากลูกที่ใช้จ่ายเกินตัว ทำให้พ่อแม่ต้องทำงานหนักขึ้น เด็กบางคนเอาหนี้สินมาให้พ่อแม่รับผิดชอบ เช่น พนันบอล หรือการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือธุรกิจ แต่ปรากฏว่ามันล้มเหลวแล้วโยนไปให้ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ ทำให้ต้องรับภาระการเงินเพิ่มขึ้นไปอีก มองไปถึงเรื่องภาระการมีลูกหลาน แต่ไม่ใช่วัยหาเงินได้ เลยต้องเอาลูกไปฝากให้คนในครอบครัวเลี้ยง คนเลี้ยงส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง สุดท้ายแล้วก็เพิ่มภาระเข้าไปอีก แล้วก็มีกรณีที่พ่อแม่วัยกลางคนถูกทารุณกรรมจากลูกที่มีฐานะการเงินดี เช่น จ้างคนรับใช้เลี้ยงดูพ่อแม่ ฉะนั้นลูกกำลังแอบกระทำความรุนแรงกับพ่อแม่ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในวัยชราซึ่งมีความเครียดจากลูกไม่ใส่ใจเขา ผมมองว่าตรงนี้ถือเป็นความรุนแรงทางการเงิน เพราะว่าเมื่อไหร่ที่มีเงินเป็นตัวแปรให้คนๆ หนึ่งทำความรุนแรงให้กับอีกฝ่ายก็นับว่าเป็นการทารุณกรรมทางการเงิน
ทีนี้มาเป็นลูกถูกพ่อแม่กระทำบ้าง เช่น พ่อแม่ติดหนี้การพนัน พ่อแม่เจ้าโปรเจคเสพติดการมีหนี้สิน เสพติดธุรกิจที่ต้องยืมเงิน ถ้าเป็นลูกผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบยิ่งแบกภาระเยอะ ยังไม่รวมถึงลูกผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวตัวเองอีก การทารุณกรรมทางการเงินยิ่งคูณสอง
ยังมีเรื่องการทารุณกรรมทางการเงินจากเพื่อน เช่น การเป็นหนี้เพื่อน หรือมีเพื่อนเป็นลูกหนี้ แต่กลับไม่ใช้หนี้คืน การค้ำประกันที่ต้องชดใช้ความเสียหายจากสิ่งที่ต้นไม่ได้ก่อ และสุดท้ายไม่ได้เกิดขึ้นเป็นคู่สักทีเดียว มันคือการทารุณกรรมจากตัวเอง เพราะมีสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นสาเหตุ เช่น การอดทนทำงานเพื่อหาเงิน ความกดดันจากเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน ทำมาค้าขายแล้วเจอลูกค้ากดดัน สถานการณ์พวกนี้มักมีเรื่องเงินเป็นตัวแปรทั้งนั้น
การให้อำนาจของเงินหรือสิ่งของมีค่าส่งอิทธิพลต่อเราแล้วทำให้ไปกำกับ ควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งจนมองข้ามคุณค่าความเป็นมนุษย์
The MATTER: อะไรที่ทำให้เกิดการทารุณกรรมทางการเงินต่อกัน
ดร.รพีพงค์: ผมมองว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทารุณกรรมทางการเงิน ได้แก่ หนึ่ง การให้อำนาจของเงินหรือสิ่งของมีค่าส่งอิทธิพลต่อเราแล้วทำให้ไปกำกับ ควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งจนมองข้ามคุณค่าความเป็นมนุษย์ สอง คือการสร้างอำนาจเหนือควบคุมอีกฝ่าย และสาม คือการเป็นฝ่ายที่ต้องเป็นผู้พึ่งพิงโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ส่วนสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ สภาพเศรษฐกิจทุกวันนี้มันก็เปลี่ยนไป มันเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนเยอะ ผู้หญิงมาทำงานมากขึ้น โดดเด่นในการทำงาน แต่ภาระหน้าที่ยังเหมือนเดิม ซักผ้ารีดผ้าไม่พอยังต้องมารับภาระในการทำงานอีก แม้ว่าสังคมส่วนหนึ่งก็ปรับตัวแล้ว ผู้ชายยุคใหม่ก็ให้ความช่วยเหลือด้านงานบ้านอยู่บ้างก็เถอะ
The MATTER: มีผลกระทบอะไรบ้างจากการทารุณกรรมทางการเงิน
ดร.รพีพงค์: การทารุณกรรมทางการเงินทำให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน เกิดพลังงานด้านลบต่อตัวเองและคนรอบข้าง อย่างกรณีผู้มีอาการไซโคโซมาติก (Psychosomatic diseases) เป็นอาการที่มาจากทางกายแต่ลึกๆ แล้วมันมีเรื่องจิตใจมาผสมด้วย ซึ่งเกิดจากการกดทับความรู้สึกแย่ๆ แล้วแสดงออกมาเห็นทางกาย อย่างเวลานอนไม่หลับติดกัน 3 วัน บางคนน้ำหนักลงฮวบ เกิดความเครียด เป็นไมเกรน สืบไปสืบมาก็พบว่ามีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากเรื่องเงิน
The MATTER: มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง
ดร.รพีพงค์: เปิดใจคุยกันทั้งหมด ทั้งทางฝ่ายผู้ทำทารุณกรรมทางการเงิน และฝ่ายผู้ประสบปัญหา เข้ามารับรู้ แลกเปลี่ยน ซึ่งเราจะเจอคนอยู่ 2 กรณี คือผู้กระทำเป็นคนที่ยอมรับ กับอีกพวกที่ไม่ยอมรับการกระทำ ถ้ามันเกิดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย แล้วมีฝ่ายที่ยอมรับ ผมถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งละนะ อย่างน้อยเราเจอแสงสว่างเล็กๆ พอยอมรับว่าเป็นปัญหา ก็พร้อมแก้ไขปัญหาไปด้วย
มีกรณีสมมติ คือสามีรู้ว่าทำความรุนแรงกับภรรยา แล้วรู้ว่าตัวเองทำร้ายภรรยาด้วยคำพูด หนี้สินที่พี่ชายเขาไปสร้างไว้กับสามี ยืมเงินไปแล้วไม่คืน ร้ายไปกว่านั้นคืออยู่ข้างบ้าน ต้องเห็นทุกวัน ทุกครั้งที่เขาเดินผ่านบ้านพี่ชายของภรรยาก็จะอารมณ์ขึ้น เราเลยต้องหาสิ่งเร้าที่ไม่ทำให้ฝ่ายสามีเจอพี่ชายของภรรยา เราเลยแนะนำให้แยกกันอยู่อีกบ้านที่ไม่ต้องเห็นหน้าพี่ชาย สามีก็ไปอยู่อีกบ้านหนึ่ง ภรรยาอยู่อีกบ้านหนึ่ง ส่วนลูกก็แบ่งแยกกันเลยว่าคนไหนจะไปอยู่กับใคร เจอกันได้แต่ต้องเจอในสถานที่ที่ไม่เห็นสิ่งเร้า เพราะสุดท้ายถ้าเห็นพี่ชายของภรรยา สามีก็จะใช้คำพูดด้านลบใส่ภรรยาโดยไม่รู้ตัว
ทีนี้มาที่กรณีถ้าคนกระทำความรุนแรงไม่ยอมรับ ไม่รู้ว่าตนเป็นคนทารุณกรรมทางการเงินเลยไม่ยอมรับว่าตนมีปัญหา กลุ่มนี้จะไม่ยอมมาบำบัด พอบอกให้มาหาปรึกษา เขาก็จะปฏิเสธ ถ้าเป็นแบบนี้แก้ยากเพราะมันไม่มีใจจะแก้ ก็ตัวคนที่โดนต้องปรับตัวหรือพยายามหาทางออกให้กับตัวเองเพิ่ม จะหย่าไหมหรือจะทน หรือถ้าเป็นส่วนในการทำงานจะออกดีไหมหรือจะทนทำงานต่อไป ทนเพื่อปรับตัว เพราะบางอย่างผลตอบแทนมันก็คุ้มที่จะต้องทนต่อ
เราช่วยให้เขาตระหนักรู้มีสติ จริงๆ ถ้าคนเรามีสติจะไม่ทำความรุนแรงใส่กัน อย่างกลุ่มที่ยอมรับมันก็ง่ายต่อการบำบัด
The MATTER: ในฐานะนักจิตบำบัด สิ่งสำคัญสำหรับการบำบัดคืออะไร
ดร.รพีพงค์: ในการบำบัดทุกครั้ง เราจะยึดกรณีศึกษาเป็นหลัก เราจะไม่เอาความคิดของเรามาครอบ เพราะสุดท้ายกลุ่มคนที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางการเงินเหล่านั้น ก็ต้องไปเผชิญชีวิตของเขา ไม่ใช่เรา เราเหมือนเป็นแค่คนที่ร่วมเดินกับเขาแค่ชั่วขณะหนึ่ง เรียกได้ว่าเดินกอดคอกับเขา แต่สุดท้ายก็ต้องบอกเขาว่าคุณต้องเดินต่อแล้วนะ เราต่างรู้ว่าคุณต้องไปถึงเส้นชัยคนเดียว เราช่วยให้เขาตระหนักรู้มีสติ จริงๆ ถ้าคนเรามีสติจะไม่ทำความรุนแรงใส่กัน อย่างกลุ่มที่ยอมรับมันก็ง่ายต่อการบำบัด ส่วนเวลาไม่เจอทางออกผมก็พยายามกระตุ้นให้เขาเจอด้วยตัวเขาเองหรือคนในครอบครัวอาจช่วยกันปรับพฤติกรรมร่วมกัน อันนี้จะดีมากเพราะมันเริ่มมีความเป็นทีมเวิร์กละ ช่วยย่นระยะเวลาในการบำบัดได้
วิธีการพวกนี้ เราก็ค่อยเป็นค่อยไปเพราะว่าคนเราจะให้มาหักดิบเปลี่ยนไปเลยมันทำใจไม่ได้ เหมือนจะให้เลิกกาแฟเลยก็ไม่ได้ ต้องค่อยๆ เลิกค่อยๆ ไป และใจเย็นๆ ต้องไปแบบช้าๆ เพราะเราเชื่อว่าในการทำบำบัด การค่อยเป็นค่อยไปดีที่สุด เพราะเวลาที่เรารีบทำและประสบความสำเร็จเร็ว สุดท้ายเดี๋ยวมันจะกลับมา
The MATTER: สุดท้าย เรามีทางออกของความรุนแรงนี้อย่างไร
ดร.รพีพงค์: ปัญหาคือการไม่เคารพกันของคนในครอบครัวหรือแม้แต่การทำงาน ถ้าคนเรารู้จักเคารพกันมันก็จะไม่เกิดความรุนแรงขึ้น แต่เพราะคนเรามันไม่เคารพไม่ให้เกียรติกัน พูดจาดูหมิ่นถากถาง หรือเป็นในลักษณะภาษากาย เช่น สายตา การกระทำแบบไม่สนใจ หรือการทำร้ายร่างกาย ในทางวาจาก็ด่าทอ ขมขู่ อยากพูดไรก็พูด อยากด่าไรก็ด่า เพราะมันรู้ว่ามีอำนาจมากกว่า เรียกว่าอำนาจซ่อนเร้น มนุษย์มันจะรู้ว่าใครมีอำนาจ ฉลาดที่จะเรียนรู้ว่ามันมีอำนาจซ่อนอยู่โดยไม่ต้องสอน คนที่มีอำนาจน้อยกว่าก็จะถูกข่ม
ดังนั้นทางออกของปัญหานี้ในมุมมองผม คือการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน พยายามสื่อสารกันในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบครับ