ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ก็เพราะ ‘ความสุข’ เป็นเรื่องของ ‘นโยบายรัฐ’ – บิลเล ตาบิโอ (Ville Tavio) รัฐมนตรีด้านการค้าต่างประเทศและการพัฒนาของฟินแลนด์ บอกกับเรา
‘ฟินแลนด์’ กับ ‘ความสุข’ กลายเป็นคำสองคำที่ผูกติดกันอย่างแยกไม่ออก
“ความสุขถูกผูกเข้ากับฟินแลนด์และคนฟินแลนด์มาระยะหนึ่งแล้ว” รัฐมนตรีตาบิโอกล่าว “ผมมั่นใจว่าคุณต้องถามว่า ในหนึ่งวันชาวฟินแลนด์ยิ้มกี่ครั้ง หรือรู้สึกมีความสุขมากแค่ไหน และผมก็ไม่คิดว่าคำตอบจะต่างจากส่วนอื่นๆ ของโลก”
“อันที่จริง ผมคิดว่าคนไทยยิ้มมากกว่าชาวฟินแลนด์เล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ” เขาว่า
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ฟินแลนด์เพิ่งจะได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ในรายงาน World Happiness Report ประจำปี 2024 ที่เพิ่งออกมาไม่กี่วันนี้ ซึ่งเป็นการจัดทำร่วมกันระหว่างบอร์ดบรรณาธิการของรายงานดังกล่าว บริษัทสำรวจความคิดเห็น Gallup, Oxford Wellbeing Research Centre และ UN Sustainable Development Solutions Network
ก็เท่ากับว่า ปีนี้ฟินแลนด์ครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน
แล้วเคล็ดลับของชาวฟินแลนด์มีอะไรบ้าง? สัมผัส ‘ความสุข’ ในฐานะนโยบายรัฐ ผ่านมุมมองของรัฐมนตรีฟินแลนด์ ‘บิลเล ตาบิโอ’ ในการบรรยายสาธารณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งในการให้สัมภาษณ์กับ The MATTER
เคล็ดลับคือ ‘โครงสร้างพื้นฐานแห่งความสุข’ (Infrastructure of Happiness)
เราชั่งตวงวัดความสุขกันยังไง?
World Happiness Report อธิบายถึงวิธีในการจัดอันดับความสุขของแต่ละประเทศ สำหรับปี 2024 นี้ว่า มีที่มาจากการใช้ข้อมูลจากการสำรวจ Gallup World Poll โดยเป็นการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ให้ประเมินความพึงพอใจในชีวิตตัวเองตามลำดับขั้นบันไดจาก 0 ถึง 10 (0 คือ ชีวิตที่แย่ที่สุด และ 10 คือ ชีวิตที่ดีที่สุด) เป็นขั้นบันไดที่เรียกว่า บันไดแคนทริล (Cantril ladder)
World Happiness Report อธิบายอีกว่า กลุ่มตัวอย่างโดยปกติแล้วจะมีประมาณ 1,000 คนต่อปีในแต่ละประเทศ รวมๆ แล้วก็มากกว่า 100,000 คนต่อปีใน 130 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลในช่วงปี 2021-2023 เพื่อให้ได้การประเมินคุณภาพชีวิตที่อัปเดตมากที่สุด และลดความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่าง
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ทีมงานก็จะนำมาวิเคราะห์ โดยใช้ 6 ปัจจัยในการอธิบายว่าทำไมแต่ละประเทศจึงมีผลการประเมินความพึงพอใจในชีวิตที่แตกต่างกัน – 6 ปัจจัยที่ว่านั้นก็คือ ระดับของจีดีพี (GDP) อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ความเอื้ออาทร (generosity) การสนับสนุนทางสังคม (social support) เสรีภาพ (freedom) และการทุจริต (corruption)
ผลการสำรวจสำหรับปีนี้ ก็พบว่า ฟินแลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ด้วยคะแนนประเมินความพึงพอใจในชีวิตเฉลี่ย 7.741 (ถ้าเทียบกับไทย ซึ่งปีนี้ได้อันดับที่ 58 ก็มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.976)
เคล็ดลับก็คือ ‘โครงสร้างพื้นฐานแห่งความสุข’ (infrastructure of happiness) – รัฐมนตรีตาบิโอเฉลยเคล็ดความสุขจากฟินแลนด์
“ในฟินแลนด์ เราเชื่อว่า ความสุขสันต์ (joy) ความอิ่มอกอิ่มใจ (contentment) และความพึงพอใจ (satisfaction) ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวมันเอง ความสุขควรเป็นเป้าหมายเชิงนโยบาย” ตาบิโอกล่าวในการบรรยายสาธารณะ
“คุณต้องสร้างสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมที่จำเป็น หรือที่เรียกกันว่าโครงสร้างพื้นฐานแห่งความสุข เพื่อสร้างกรอบให้ผู้คนสรรค์สร้างความสุขของพวกเขาได้ ความสุขสร้างขึ้นบนพื้นฐานขององค์ประกอบหลายอย่างที่สังคมฟินแลนด์ได้พัฒนามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“งานวิจัยชี้ว่า ความพึงพอใจ สัมพันธ์กับสังคมที่ทำงานได้ดี ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษา หลักประกันสังคม” รัฐมนตรีด้านการค้าต่างประเทศและการพัฒนาจากฟินแลนด์อธิบาย
“ความเสมอภาค การเลือกตั้งที่เสรี สื่อที่เสรี และระดับการทุจริตที่ต่ำ รวมถึงธรรมชาติ ต่างก็ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขโดยรวม เหล่านี้คือองค์ประกอบที่จะรับประกันไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนสามารถตามหาความฝันของตัวเองได้ ตัดสินใจชีวิตตัวเองได้ และปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่”
การเมืองดี, เสรีภาพ, เสมอภาค, เวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์ และธรรมชาติ
แล้ว ‘โครงสร้างพื้นฐานแห่งความสุข’ ของฟินแลนด์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
เราพอจะแบ่งองค์ประกอบได้ดังนี้
การเมืองดี
‘ธรรมาภิบาล’ (good governance) หรือก็คือการเมืองและระบบการปกครองที่ดี “คือใจกลางของการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการมีความสุข” ตาบิโออธิบาย
สำหรับรัฐบาลฟินแลนด์ ธรรมาภิบาล หมายถึง การไม่มีความรุนแรงทางการเมืองและการทุจริต มีความโปร่งใส การปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มรูปแบบและไม่ลำเอียง โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อย มีหลักนิติธรรม (rule of law) มีระบบการเมืองที่สะท้อนเสียงของทุกคน และรัฐบาลที่ทั้งมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ตาบิโอชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญ คือ ‘ความเชื่อใจ’ (trust) ซึ่งมาจาก ‘การเปิดกว้าง’ (openness) ความเชื่อใจก็คือความเชื่อใจในการเมืองและข้าราชการ ซึ่งก็มีที่มาจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ และระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ขัดขวางการทุจริต ส่วนการเปิดกว้างนั้นหมายถึงเสรีภาพด้านข้อมูลและการสื่อสาร รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคม
“นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฟินแลนด์จึงส่งเสริมให้มีการพูดคุยกันระหว่างภาคประชาสังคมและรัฐบาล” เขากล่าว
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ‘เสถียรภาพ’ (stability) ที่ช่วยให้รู้สึกถึงการมีความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกิจในฟินแลนด์ ซึ่งมีความต่อเนื่อง ความเชื่อใจ และความโปร่งใสสูง
เสรีภาพ
แน่นอนว่า ‘เสรีภาพ’ คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการมีความสุข
รัฐมนตรีตาบิโออธิบายถึงความสำคัญของเสรีภาพในสังคมฟินแลนด์ว่า สะท้อนให้เห็นได้จากการที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ฟินแลนด์มีระบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงการแข่งขันแบบหลายพรรคการเมืองที่เข้มข้น เสรีภาพในการพูด ศาสนา และการรวมกลุ่ม เป็นที่ได้รับความเคารพในสังคม ส่วนสื่อก็เป็นอิสระ ปราศจากแรงกดดันทางการเมืองและการเซ็นเซอร์ เป็นต้น
เสมอภาคและเป็นธรรม
“ความเป็นธรรมและความเสมอภาคคือองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของความสุข” และ “ฟินแลนด์ก็เป็นประเทศที่มีความยุติธรรมทางสังคมมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก” คือคำอธิบายโดยรัฐมนตรีจากกระทรวงการต่างประเทศของฟินแลนด์
ตาบิโอชี้ว่า ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับสิทธิทางสังคมและความเสมอภาค สวัสดิการขั้นพื้นฐาน รวมถึงความเสมอภาคของอำนาจทางการเมือง ในแง่ของเพศสภาพ กลุ่มต่างๆ ทางสังคม และชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเปิดรับชนกลุ่มน้อย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง และการเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค
“ฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกไม่ได้ หากปราศจากการยึดมั่นในความเสมอภาคอย่างเข้มแข็ง” เขาว่า
ประการหนึ่งที่น่าสนใจ และรัฐบาลเน้นย้ำก็คือ ชาวฟินแลนด์ต้องมี ‘การเริ่มต้นที่เสมอภาค’ (equal start) ซึ่งเป็นการรับประกันว่า ชาวฟินแลนด์จะมีความเสมอภาคตั้งแต่แรกเกิด รวมๆ แล้วหมายถึงการปกป้องสิทธิเด็ก และการสนับสนุนผู้ปกครอง เช่น เปิดให้มีการฝากครรภ์ฟรี รวมถึง ‘paid parental leave’ หรือการลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกโดยได้รับเงินปกติ เป็นเวลาถึงเกือบปีหลังคลอด
เวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์
จะพูดถึง ‘ความสุข’ โดยไม่พูดถึง ‘เวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์’ (work-life balance) ก็คงจะยาก
“เวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์ ที่ฟินแลนด์ ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” รัฐมนตรีตาบิโอกล่าว “ด้วยชั่วโมงการทำงานที่สมเหตุสมผล วันหยุดที่ใจกว้าง และระบบสนับสนุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญได้กับทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว การลาเลี้ยงดูลูก ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น และการทำงานทางไกล ทำให้สามารถผสมผสานการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ง่าย”
อยู่กับธรรมชาติ
และท้ายที่สุดคือ ‘ธรรมชาติ’ ซึ่งใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวฟินแลนด์มาโดยตลอด “ชาวฟินแลนด์รักป่า” ตาบิโอออกปากยืนยัน “ชาวฟินแลนด์มากกว่า 80% บอกว่าป่าสำคัญกับพวกเขา” ป่าเขาลำเนาไพรนำมาซึ่งความสุข แต่ก็รวมไปถึงน้ำสะอาด อากาศสะอาด และธรรมชาติที่ปราศจากมลพิษด้วย
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ แม้จะอยู่ในเมือง แต่แค่เดินเพียง 10 นาที ชาวฟินแลนด์ก็สามารถเข้าถึงสวนสาธารณะหรือป่าได้แล้ว นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังมีทะเลสาบถึงมากกว่า 188,000 แห่ง จนได้ฉายาว่าเป็น ‘land of a thousand lakes’
“เพื่อรับประกันความสุขในอนาคต การพัฒนาอย่างยั่งยืนคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงการมีพลังงานที่สะอาดและไม่แพง การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ และมาตรการด้านภูมิอากาศที้สะอาด” ตาบิโอกล่าวต่อมา
ไทยมีความสุขอย่างฟินแลนด์บ้างได้ไหม?
แล้วประเทศไทยมีศักยภาพที่จะมีความสุขอย่างฟินแลนด์ได้มากแค่ไหน? เราถาม บิลเล ตาบิโอ รัฐมนตรีจากฟินแลนด์ ซึ่งเคยเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใน จ.สงขลา เมื่อ 14 ปีก่อนด้วย
คำตอบในมุมมองของเขาก็คือ ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะหากพูดถึงภาคอุตสาหกรรมของไทยซึ่งเติบโตมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาพูดถึง ‘ประชาธิปไตยไทย’ ซึ่งก็อยู่ในระดับดี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยก็สามารถเรียนรู้การให้คุณค่าต่อประชาธิปไตยในแบบชาวฟินแลนด์ได้
อีกไกลแค่ไหนกว่าไทยจะมีความสุขเท่าฟินแลนด์? เราลองรวบรวมการจัดอันดับในแง่มุมต่างๆ ที่รัฐมนตรีฟินแลนด์อธิบายว่าเป็น ‘พื้นฐาน’ แห่งความสุข เปรียบเทียบฟินแลนด์กับไทย ก็จะพบความต่างคร่าวๆ ได้ดังนี้
- ความสุข (World Happiness Report 2024)
- ฟินแลนด์ – 1 (คะแนนเฉลี่ย 7.741)
- ไทย – 58 (คะแนนเฉลี่ย 5.976)
- ธรรมาภิบาล (Legatum Prosperity Index 2023)
-
- ฟินแลนด์ – 1
- ไทย – 114
- ประเทศมีเสถียรภาพ (Fragile States Index 2023)
-
- ฟินแลนด์ – 3
- ไทย – 87
- การรับรู้ทุจริต (Corruption Perceptions Index 2023)
-
- ฟินแลนด์ – 2 (คะแนน 87/100)
- ไทย – 108 (คะแนน 35/100)
- เสรีภาพสื่อ (World Press Freedom Index 2023)
-
- ฟินแลนด์ – 5 (คะแนน 87.94/100)
- ไทย – 106 (คะแนน 55.24/100)
- สังคมเปิดกว้างหลากหลาย (Social Progress Index 2024)
-
- ฟินแลนด์ – 1 (คะแนน 93.82/100)
- ไทย – 62 (คะแนน 59.94/100)
- เมืองที่มี เวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์ ดีที่สุด (Work-Life Balance Index 2022)
-
- เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์ – 3 (คะแนน 99.24/100)
- กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 96 (คะแนน 70.73/100)
- สิทธิเด็ก (KidsRights Index 2023)
-
- ฟินแลนด์ – 2 (คะแนน 0.908/1)
- ไทย – 8 (คะแนน 0.885/1)
ส่วนในเรื่องของความสุข ตาบิโอสะท้อนว่า “ทุกประเทศมีเหตุผลที่ดีในการเรียนรู้จากการจัดอันดับความสุข และที่มาของความสุข ผมจึงคิดว่านี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกๆ ประเทศควรศึกษา”
พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง