‘เสื่อผืนหมอนใบ’ เป็นคำที่เรียกใช้เรียกคนจีนซึ่งอพยพหนีภัยสงครามและความอดอยากยากจนมาเมืองไทยตั้งแต่ร้อยปีก่อน นัยว่าสื่อถึงการที่ไม่มีอะไรติดตัวมาเลย แต่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันขันแข็ง มัธยัสถ์ และมีทักษะในการค้าขายเป็นเลิศ จึงสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว มีฐานะมั่นคง
แต่คนจีนที่อพยพมาไทยทุกคน แม้จะมีคุณลักษณะข้างต้นครบถ้วน ใช่ว่าทุกคนจะได้เป็น ‘เจ้าสัว’
เร็วๆ นี้ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิพากษ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เล่าเรื่องราวชีวิตของชายชาวจีนที่อพยพมาเมื่อไทยราว 70 ปีก่อน ปากกัดตีนถีบอยู่ในเมืองไทย เลี้ยงลูก 7 คน ถูกโกงจนต้องหนีคดี ไม่ได้เจอครอบครัวนับสิบปี – ชายที่เขาเรียกว่า ‘ป่าป๊า’
หนังสือเล่มดังกล่าวมีชื่อว่า ‘First Generation การเดินทางของคนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบ’
ป่าป๊าของวันชัย เป็นคนจีนแต้จิ๋ว มาจากเมืองซัวเถา คล้ายๆ กับบรรพบุรุษของใครหลายคน
ตลอดทั้งเล่ม วันชัยจึงไม่เพียงเล่าเรื่องเส้นทางชีวิตของป่าป๊า แต่ยังเล่าไปเส้นทางชีวิตของคนจีนที่อพยพมาเมืองไทยอีกหลายๆ คน – จนอาจเรียกได้ว่า นี่คือประวัติศาสตร์ย่นยอของการหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากในไทยของคนจีนแต้จิ๋ว
ป่าป๊าเสียไปตั้งแต่ 2 ปีก่อน วันชัยจึงบอกว่าการได้เขียนหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นการทดแทนบุญคุณผู้ให้กำเนิด “เหมือนสร้างพ่อขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” ทิ้งแง่คิดหลายอย่างไว้ให้กับผู้อ่าน ดึงคนไทยเชื้อสายจีนให้นึกย้อนไปถึงรากเหง้าของตัวเอง และชวนให้ทุกๆ คนคิดถึงสิ่งสำคัญหนึ่งของชีวิต ที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’
“สิบปีก่อน ผมเคยพาพ่อกลับไปเยี่ยมบ้าน
“พ่อเล่าให้ฟังว่าก่อนมาเมือ
“แต่พ่อไม่คิดเลยว่าครั้งนั้
—เนื้อหาส่วนหนึ่งที่วันชัยเขียนถึงชีวิตของป่าป๊า
The MATTER: คนจีนเริ่มอพยพมาเมืองไทยตั้งแต่ตอนไหน และเข้ามาด้วยสาเหตุอะไร
โดยประวัติศาสตร์ คนจีนเดินทางมาเมืองไทยเป็นช่วงๆ เป็นร้อยปีแล้ว แต่มาเยอะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี 2490 กว่าๆ เพราะช่วงนั้นประเทศจีนมีสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋ง มันเลยมีความอดอยากเยอะแยะ คนก็เลยอยากอพยพมาเสี่ยงโชคในต่างประเทศ
คนจีนแต้จิ๋ว เป็นคนจีนที่อพยพมาประเทศไทยเยอะที่สุด เพราะคนจีนแต้จิ๋วอยู่ในเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้งที่ติดทะเล แล้วมีเรือไปมาหาสู่กับเมืองไทยบ่อยมาก ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เป็นคนจีนแต้จิ๋วนะ เพราะฉะนั้นเวลาที่ประเทศจีนเกิดภัยพิบัติหรืออะไรก็ตาม คนจีนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ก็อยากจะไปเผชิญโชคในต่างประเทศ กลายเป็นที่มาของคำว่า ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ คือมาตายเอาดาบหน้า พ่อก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็หนีมาเมืองไทยตั้งแต่อายุ 19 จะเรียกว่าหนีพ่อแม่มาก็ได้นะ เพราะอยู่เมืองจีนต่อไปก็ไม่รู้อนาคต ก็แอบขึ้นเรือมาเมืองไทยที่ท่าน้ำราชวงศ์
The MATTER: ลักษณะร่วมของคนจีนแต้จิ๋วที่มาเมืองไทย
คนขยัน เพราะความขยัน ทำให้ทำไมเวลาคนจีนมาไทยถึงเป็นพ่อค้า เพราะว่าอยู่เมืองจีนมันอดอยากปากแห้ง ไม่ได้มีข้าวกินครบ 3 มื้อ มาไทยเขาเลยเป็นคนตื่นตัวตลอดเวลา คนไทยสบายๆ “ไม่ต้องทำหรอก เดี๋ยวก็มีข้าวกิน” แต่คนจีนมันมีความไม่มั่นคงสูง มันรู้ว่าอยู่ที่ประเทศจีน เดี๋ยวก็อด เกิดสงครามมันก็ต้องหาทางทำอะไรไว้ก่อน เพราะฉะนั้นความตื่นตัว หรืออะไรก็ตาม มันก็จะเป็นคนละคาแรกเตอร์ คนจีนมาเมืองไทยเลยกลายเป็นพ่อค้า แปปเดียวรวยกว่าคนไทย เพราะว่าโดยพื้นฐานมันไม่เหมือนกัน อันนี้เป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมนะ
อย่างเวียดนามก็เหมือนญี่ปุ่น ถ้าคุณไปประเทศเวียดนาม คุณจะรู้เลย ทุกซอกทุกมุมปลูกข้าวหมด คนเวียดนามทำงานตลอดเวลา หลังสงครามเวียดนามไม่กี่ปี เศรษฐกิจมันพุ่งขึ้นมาเลย วัฒนธรรมของคนไม่เหมือนกัน เวียดนามเคยสิ้นชาติมาก่อน เคยอดตายมาก่อน เคยผ่านสงครามกลางเมือง มีความยากลำบากมากๆ คนไทยไม่เคยผ่านสิ่งเหล่านี้ก็เลยเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินเขียนเรื่องชีวิตของคุณพ่อ หรือที่คุณวันชัยเรียกว่าป่าป๊าขึ้นมา
ตอนที่พ่อไม่สบายและเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เขียนเล่าลงในเฟซบุ๊ก เขียนไป 10 ตอน เป็นตอนสั้นๆ ปรากฎว่ามีคนอ่านเยอะมาก ก็มีคนเชียร์ว่าน่าจะเล่าเรื่องของคนจีนในอดีตให้ฟังหน่อย เพราะคนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้หรอก แล้วเมืองไทยมีคนเชื้อสายจีนเยอะมาก แต่เขาไม่ค่อยรู้รากเหง้าเท่าไร และชีวิตของพ่อก็น่าสนใจ เพราะเวลาพูดถึงคนจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบ ก็มักจะนึกถึงคนที่ประสบความสำเร็จ อย่างตระกูลเตชะไพบูลย์หรือตระกูลล่ำซำ แต่คนจีนจำนวนมากไม่ได้ประสบความสำเร็จ อย่างพ่อที่พยายามจะประกอบอาชีพค้าขาย มีลูก 7 คน พยายามสร้างฝันของตัวเอง มาทำธุรกิจของตัวเองตั้วแต่อายุยี่สิบปลายๆ แต่สุดท้าย พ่อก็ล้มละลายเป็นหนี้สิน คืออยากจะสะท้อนว่าชีวิตคน ทางเดินมันไม่ได้สวยงามเสมอไปหรอก เวลาที่คนเรียกว่าลูกเจ้าสัวๆ มันไม่ได้หมายถึงทุกคน
The MATTER: ตอนที่เขียนเล่าลงเฟซบุ๊ก แล้วมีคนแชร์ไปอ่านกันมากๆ เคยคิดไหมว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงได้รับความสนใจ
คนอยากรู้อดีตของตัวเอง คือคนอยากรู้จักคำว่า ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ‘เจ้าสัว’ แต่ไม่รู้ที่มาที่ไป คิดว่าเด็กสมัยนี้ไม่รู้รากเหง้าของตัวเอง แต่จะไปโทษเด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะจริงๆ เราไม่มีหนังสือหรือข้อมูลอะไรที่ทำให้เห็นว่ารากเหง้าของเราคืออะไร ประวัติศาสตร์ของคนในสังคมไทยก็เป็นเรื่องของชนชั้นสูงทั้งนั้น ถ้าเป็นคนทั่วไปก็มักเป็นข้อเขียนของคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ไม่มีข้อเขียนของคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ
เลยคิดว่าถ้าเขียนเรื่องของคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีความตั้งใจ ท่ามกลางเรื่องที่เขาล้มเหลวก็น่าจะเป็นบทเรียนให้คนรุ่นต่อไปได้อีกเยอะเลย
The MATTER: การรู้รากเหง้า มันมีความสำคัญอย่างไร
เคยยิงธนูไหม ยิ่งคุณง้างไปมากๆ จะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะยิ่งไปได้ไกล ผมกำลังจะบอกว่ายิ่งคุณรู้รากของตัวเองมากๆ คุณก็จะเข้าใจอนาคตของตัวเองได้ดีขึ้น ถ้าคุณง้างธนูน้อย ไม่ค่อยเข้าใจราก พอปล่อยมันก็ทิ่มลง คือการรู้รากเหง้ามันจะไม่ได้ช่วยให้ได้ผลทันใจ โอ้โห รวยแล้วเว้ย ไม่ใช่ แต่เราจะรู้ว่าเราจะไปทางไหนของชีวิต เพราะมันมีบทเรียนเยอะแยะด้านหลังให้เห็น
ต้นไม้ รากยิ่งลึก ต้นยิ่งสูง ต้นไม้รากสั้นๆ เดี๋ยวก็ล้มแล้ว
“เมื่อพ่ออาศัยเรือถึงท่าเรื
—เนื้อหาส่วนหนึ่งที่วันชัยเขียนถึงชีวิตของป่าป๊า
The MATTER: หลายๆ เรื่องที่เขียน ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทำไมถึงเลือกเล่าเรื่องแบบนี้ให้คนอ่านได้รับรู้
มันเป็นบทเรียนที่ดีนะ ถ้าเราคิดว่าชีวิตของเราที่ผ่านมา บางเรื่องมันเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นได้
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พี่เรียนเอกวรรณคดีอังกฤษ ก็มีคนถามตลอดว่า เรียนไปแล้วประกอบอาชีพอะไรได้ คือเราอ่านวรรณคดีอังกฤษเยอะ เหมือนกับเราได้เห็นบทเรียนชีวิตเยอะแยะผ่านตัวละครมากมายในสังคมโลก แล้วก็ทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เพราะมันมีคนเคยเดิมมาก่อน แล้วก็รู้ว่าผลมันจะเป็นอย่างไร อันนี้คือข้อดีเวลาใครถามว่าทำไมเรียนวรรณคดีอังกฤษ และสิ่งที่ติดตัวมาก็คือการเห็นประสบการณ์ชีวิตของคนจำนวนมากผ่านตัวหนังสือหนังสือเล่มที่เขียนก็เช่นกัน บางเรื่องมันเปิดเผยได้ ไม่ใช่ความลับ และคิดว่าเป็นประโยชน์กับคนอ่าน
The MATTER: ตอนเขียนเรื่องนี้ร้องไห้ไหม เพราะต้องเขียนถึงคุณพ่อที่เพิ่งเสียไป
ร้องจนเลิกร้องแล้ว แต่ตอนเขียนมันก็ลำบากนะ ไม่อยากคิดถึง คือบางช่วงใช้เวลาเขียนนานมาก ไม่ไหว เขียนไปก็คิดถึงพ่อและพี่สาวคนโตด้วย (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) ไม่ไหวแล้ว อยู่กับมันเยอะไปก็ไม่ได้ บางทีเขียนแล้วก็ทิ้งไว้เป็นเดือนค่อยมาอ่านใหม่
แต่มองย้อนไปมันก็คุ้มนะ อย่างน้อยก็ได้สร้างงานขิ้นหนึ่งขึ้นมา แล้วเป็นงานที่เราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอ่าน โอเค มันมีช่วงที่ตอกย้ำความคิดถึงหรืออะไรก็ตาม แต่มันก็ผ่านไปแล้ว และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขียนเรื่องคนตาย ก่อนหน้านี้ก็เคยเขียนเรื่องพี่สืบ (นาคะเสถียร) ก็ร้องไห้เยอะ แล้วก็คิดถึงตอนที่ไปจับงูหรือไปช่วยกวางด้วยกัน มันก็เหมือนภาพฉายขึ้นมา
The MATTER: หลายคนบอกว่า การเขียนถึงคนรักที่จากไป ถือเป็นการเยียวความเศร้าแบบหนึ่ง คุณวันชัยรู้สึกเช่นนั้นไหม
ถูกต้อง มันเป็นการเยียวยาจริงๆ แล้วก็เหมือนทดแทนบุญคุณเขาด้วยนะ มันไม่ง่ายเลยที่จะเขียนเรื่องคนใกล้ชิด แต่พอเขียนเสร็จแล้วทำให้ชีวิตเขามีประโยชน์ขึ้นมา เหมือนกับสร้างพ่อขึ้นมาอีกครั้ง ก็เชื่อว่าชีวิตของพ่อมีอะไรหลายอย่างที่ดีงาม น่าเอาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะความรักต่อแม่กระทั่งวินาทีสุดท้าย คือมันไม่ง่ายที่คนสองคนจะรักกันตั้งแต่อายุ 20 เป็นเวลากว่า 70 ปี ท่ามกลางยุคสมัยที่สถิติการหย่าร้างมันสูงมาก
The MATTER: คนไทยเชื้อสายจีนน่าจะเข้าสู่รุ่นที่ 3 หรือรุ่นที่ 4 แล้ว คิดว่าถ้าเขามาอ่านจะได้อะไรกลับไปบ้าง
เขาก็จะเห็นสภาพสังคมเมื่อ 50-60 ปีที่แล้วว่ามันเป็นอย่างไร ที่สำคัญมันได้ฉายภาพว่าการต่อสู้ของคนๆ หนึ่ง มันไม่ได้มีแค่รุ่นใดรุ่นหนึ่ง อาจจะไม่ได้เหมือนกัน 100% เพียงแต่ชีวิตของคนมันไม่ง่าย ชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่อาจจะลำบากกว่าด้วยซ้ำ ยิ่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้น พ่ออายุ 18 ต้องซ่อนตัวอยู่ในเรือนสำเภา ขึ้นท่าน้ำราชวงศ์เอาน้ำมันเครื่องทาตัว เพื่อจะหนีเข้าเมืองให้ได้ เราอายุ 18 ยังนั่งเล่นไลน์ชิลๆ อยู่เลย ถ้ามีคนที่ยากลำบากกว่าเรา เราก็จะมีกำลังใจในการต่อสู้ครั้งต่อไป เห้ย ชีวิตเราไม่ได้ลำบากมาก เราหมกมุ่นกับตัวเองไปหรือเปล่า
The MATTER: ปัจจุบัน วัฒนธรรมจีนแต้จิ๋วหลายๆ อย่างก็ถูกกลืนเป็นไทยไปหมดแล้ว ส่วนตัวรู้สึกเสียดายหรือไม่
ไม่ได้เสียดายอะไรนะ ไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องรักษาประเพณีอย่างเคร่งครัด ถ้าประเพณีไหน วัฒนธรรมไหน ที่มีประโยชน์ต่อสังคม เชื่อว่าสักวันก็ต้องกลับมา ถ้าคนไทยเชื้อสายจีนคิดว่าการไหว้เจ้ามันเท่ มันสนุก หรือมันมีประโยชน์ เดี๋ยวก็กลับมาเอง คือถ้าประเพณีวัฒนธรรมมันไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม มันก็ต้องตายอยู่แล้ว หลายอย่างที่อยู่ได้เป็นร้อยปี เพราะปรับเปลี่ยนไปตามสังคมต่างหาก
“คนรุ่นเสือผืนหมอนใบ ที่มาเผชิญโชคในเมืองไทย หางานทำหรือสร้างเนื้อสร้าง
“พ่อเป็นตัวอย่างที่ดี ของหนุ่มจีนที่มาเผชิญโชคใน
—เนื้อหาส่วนหนึ่งที่วันชัยเขียนถึงชีวิตของป่าป๊า
The MATTER: ในอดีตคนจีนจะเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ปัจจุบันมีขนาดเล็กลง คิดว่านิยาม ‘ครอบครัว’ ในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนจะเปลี่ยนไปหรือไม่
ถ้านึกย้อนไปสมัยตัวเอง วันตรุษจีนกลับไปหาอาม่า ลูกหลาน 40-50 คนไปรวมตัวกัน คือลูกเขาเยอะไง ก็มีหลายๆ ไปขอแต๊ะเอีย ก็สนุกดี แล้วเอาเงินแต๊ะเอียที่ได้มาเล่นไพ่ป๊อกเด้ง มันก็มีบรรยากาศของอดีตว่าปีหนึ่งมาเจอกันครั้งหนึ่ง แต่โอเคว่านั่นเป็นเงื่อนไขของสมัยนั้น เพราะว่าบ้านใหญ่ มีพื้นที่รองรับ มีลูกกันเยอะ แล้วในอดีตจะมีสถานที่ให้ไปไม่กี่ที่หรอก ไม่เหมือนสมัยนี้
แต่ทุกวันนี้สังคมก็เปลี่ยนไป คนอยู่คอนโดมากขึ้น แล้วมีลูกกันน้อยลง ไม่ได้เสียดายอะไร เพราะมันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เราไม่ใช่คนยึดมั่นถือมั่นอะไร เพราะคิดว่าสุดท้ายสังคมก็จะปรับไปได้ของมัน พ่อแม่บางคนเลือกจะไม่มีลูกด้วยเหตุผลต่างๆ คำว่าครอบครัวใหญ่มันก็หายไปอยู่แล้ว