ค่อนข้างดึกดื่นในวันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน พอผมเปิดประตูรถแท็กซี่เพื่อจะก้าวขึ้นไปนั่ง ก็พลันได้พบป้าผู้หญิงวัยหกสิบเป็นคนขับ นั่นล่ะ มูลเหตุที่จะเล่าเรื่องต่อไปนี้
ครับ ประวัติศาสตร์ไทยว่าด้วยผู้หญิงและการขับรถแท็กซี่!
อันที่จริง ใช่ว่าผมจะเพิ่งเจอผู้หญิงขับรถแท็กซี่หนแรกหรอกนะ เพราะสัก 6-7 ปีก่อนก็เคยโดยสารรถแท็กซี่ที่มีคนขับผู้หญิงซ้ำบ่อยแถวๆ เมืองปทุมธานีเช่นกัน แต่การเผชิญหน้าคุณป้าสารถีคราวล่าสุดนั้น ค่อยๆ สะกิดให้ผมฉุกนึกถึงผู้หญิงที่อยากขับรถแท็กซี่ช่วงต้นทศวรรษ 2470 ขึ้นมาครามครัน
อ้อ! ผมคงจำเป็นต้องเผยรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับความเป็นมาของรถแท็กซี่ในเมืองไทยเสียก่อนกระมัง ยานพาหนะสัญจรดังกล่าวปรากฏขึ้นครั้งแรกราวเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2466 พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ริเริ่มนำเอารถยนต์ออสติน (Austin) มาทำรถโดยสาร ยุคสมัยนั้นทั้งกรุงเทพฯ มีรถแบบนี้แล่นประมาณ 14 คัน ติดป้ายไว้บริเวณกระจกด้านหน้ารถและหลังรถว่า ‘รับจ้าง’ คิดค่าโดยสารเป็นไมล์ ตกราคาไมล์ละ 15 สตางค์ จัดว่าแพงโขอยู่ทีเดียว
ชาวพระนครก็ยังมิได้เรียก ‘รถแท็กซี่’ แต่เรียกขานติดปากว่า ‘รถไมล์’
ส่วนคนขับ ‘รถไมล์’ เดิมทีเป็นพวกทหารอาสาไปร่วมรบทวีปในยุโรป โดยเฉพาะที่สังกัดกองทหารบกรถยนต์ ทั้งนี้เพราะพระยาเทพหัสดินเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพฝ่ายไทยในสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกสารถีจะสวมเสื้อเชิ้ต มีเสื้อนอกคอแบะสวมทับอีกชั้น นุ่งกางเกงขายาวแบบฝรั่ง นับว่าแต่งตัวหล่อเหลานำสมัยเอาการ อีกทั้งการขับ ‘รถไมล์’ ยังทำให้มีรายได้จำนวนเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าโดยสาร
ครั้น ‘รถไมล์’ ได้รับความนิยมจากชาวพระนครอย่างยิ่ง พระยาเทพหัสดินจึงจัดตั้งกิจการในรูปแบบบริษัท ใช้วิธีกำหนดค่าโดยสารแบบการติดมิเตอร์เฉกเช่นรถโดยสารในประเทศทางทวีปยุโรป ตอนนี้เองแหละครับ ที่รถ ‘แท็กซี่ มิเตอร์’ พลันถือกำเนิดขึ้น อย่างไรก็ดี ผ่านมาอีกไม่กี่ปี พระยาเทพหัสดินได้ยกเลิกกิจการรถแท็กซี่ไป จวบจนช่วงปลายทศวรรษ 2480 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กิจการรถแท็กซี่จึงฟื้นตัวขึ้นมาใหม่โดยเจ้าของรายอื่นๆ คราวนี้ ใช้รถยนต์ ‘เรโนลต์’ (Renault) มาทำเป็นรถแท็กซี่แทน คิดค่าโดยสารกิโลเมตรละ 2 บาท
อย่างที่บอกแหละครับ การที่คนขับ ‘รถไมล์’ ผู้เป็นอดีตทหารอาสาสงครามโลกแต่งกายดูดี ย่อมจะสร้างภาพลักษณ์ให้รถโดยสารยุคแรกๆ ของช่วงปลายทศวรรษ 2460 ชวนหลงใหล ทว่าพอล่วงเข้าทศวรรษ 2470 เริ่มมีกิจการรถแท็กซี่ของเจ้าอื่นๆ เพิ่มเติมมาด้วย คนขับรถแท็กซี่ของบางกิจการก็มิได้แต่งกายโก้ๆ เหมือนพวกอดีตทหารอาสาอีก พวกเขาเพียงขับรถโดยสารเพื่อหาเงินพิเศษประทังชีวิต ห้วงยามนี้เอง ภาพลักษณ์ของคนขับแท็กซี่แปรเปลี่ยนไป ตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เริ่มนำเสนอภาพคนขับแท็กซี่อีกแง่มุมในฐานะผู้ชายที่มีความอันตรายต่อผู้หญิง มักยินข่าวคราวกรณีคนขับแท็กซี่ฉุดคร่าผู้หญิงไปรังแกต่างๆ นานา ขณะเดียวกัน คนขับแท็กซี่ก็พัวพันขลุกอยู่กับหญิงโสเภณี อยู่กับปัญหาครอบครัว ปัญหาความรุนแรง ยิ่งในช่วงกลางทศวรรษถึงปลายทศวรรษ 2470 ภาพลักษณ์ดังกล่าวได้ถูกขับเน้นเป็นทบทวี ดังปรากฏในเรื่อง ‘ฉันชั่วเพราะชาย’ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ๑๐ ธันวา แผนกข่าวเร็ว ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2476 เขียนโดยผู้ใช้นามแฝง ‘ลอยลม’ กล่าวถึงนายทองดำ เนตรคำ คนขับแท็กซี่ที่ให้หญิงโสเภณีคนหนึ่งขายตัวเพื่อนำเงินมาปรนเปรอเลี้ยงดูเขา
วกกลับมาต้นทศวรรษ 2470 นอกเหนือไปจาก ‘แท็กซี่ มิเตอร์’ ยังปรากฏกรณี ‘แท็กซี่ มีเธอ’ ด้วย นั่นคือ การที่ผู้หญิงอยากจะประกอบอาชีพเป็นคนขับรถแท็กซี่เหมือนกับผู้ชายบ้าง
นางจรวย วีละเวีย วัย 23 ปี คือผู้หญิงคนแรกๆ ที่แสดงความปรารถนาตำแหน่งสารถีประจำรถแท็กซี่ เธอเป็นศิษย์จากโรงเรียนเครื่องยนตร์พงษ์โสภณ ซึ่งเจ้าของได้แก่ นายเลื่อน พงษ์โสภณ ชายชาวสยามผู้มีชีวิตโฉบเฉี่ยวบนรถไต่ถัง แม้กระทั่งเคยขับเครื่องบินผาดโผน มิหนำซ้ำ เขายังเป็นนักประดิษฐ์รถสามล้อฝากไว้ในเมืองไทย
วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2471 แม่จรวยได้ทำเรื่องเสนอต่อเจ้าพนักงานผู้อนุญาตขับขี่ยวดยาน โดยแจ้งความประสงค์ของเธอที่จะขออนุญาตขับรถแท็กซี่ในเขตจังหวัดพระนคร ข่าวนี้เกรียวกราวมิใช่น้อย กระทั่งหนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง ฉบับวันถัดมาคือ 26 พฤษภาคมถึงกับนำลงตีพิมพ์เผยแพร่
แต่กระนั้น ทางเจ้าพนักงานชั้นผู้ใหญ่พิจารณาดู กลับไม่ยอมอนุญาต พร้อมแจกแจงเหตุผลว่า เพราะแม่จรวยเป็นเพียงสตรีเพศ การประกอบอาชีพขับรถแท็กซีจึงเป็นอันตรายต่อตัวเธอเอง
ไม่แน่ใจนัก ถัดต่อมาจากกรณีของจรวย วีละเวียแล้ว ช่วงก่อนปีพุทธศักราช 2500 มีผู้หญิงคนอื่นๆพยายามยื่นเรื่องขออนุญาตขับรถแท็กซี่อีกมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญสุดๆ ผมยังตามสืบค้นไม่เจอข้อมูลสักที ผู้หญิงไทยคนแรกที่สมหวังได้ขับรถแท็กซี่นั้น เธอชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไรกัน ซึ่งหากผมค้นพบแล้ว ก็คงจะมารายงานทุกท่านภายหน้าแน่ๆครับ
สำหรับคราวนี้ อย่างน้อยที่สุด การได้ทำความรู้จักผู้หญิงที่เปี่ยมล้นความใฝ่ฝันจะเป็นคนขับแท็กซี่ แม้เธอจะมิได้รับอนุญาตก็ตามที คงน่าจะเป็นอะไรที่ชวนให้เห็นว่าผู้หญิงเริ่มส่งเสียงเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเธอในการกระทำบางอย่างทัดเทียมผู้ชายขึ้นมาบ้างแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2543
- ปียกนิฏฐ์ หงษ์ทอง. สยามสนุกข่าว. กรุงเทพฯ : กัญญา, 2531
- สก็อต บาร์เม่. “บทบาทความสัมพันธ์หญิงชาย ชนชั้น และวัฒนธรรมสมัยนิยมในประเทศสยามยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2476-2483)” ใน วารสารหนังไทย 19 (ตุลาคม 2557). แปลโดย นันทนุช อุดมละมุล. น. 137-181
- สงวน อั้นคง. สิ่งแรกในเมืองไทย เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: แพร่พิทยา, 2514
- Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular culture in Thailand. Chiang Mai:
Silkworm, 2002.