ความรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองถูกวาดเส้นทางไว้ก่อนเราจะเกิดแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนคงเข้าใจ
ในระดับหนึ่งเราทุกคนถูกกำหนดเส้นทางแบบนั้นจากสภาพแวดล้อมของเรา จากฐานะ จากเพศ จากเดือนปีที่เกิด จากค่านิยม และที่เหลือจะเป็นยังไงอยู่ที่โชค จังหวะชีวิต แรงขับเคลื่อนของเรา และแรงขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงของสังคม
แต่ถ้าเราเกิดในที่ที่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่มีผลกับที่แห่งนั้นเลย? ไม่ว่าค่านิยมของโลกไปถึงที่ไหน ระบบการทำงานพัฒนาไปยังไงแล้ว และตัวตนของเราเปลี่ยนไปจากตอนที่เราเกิดขนาดไหน ที่แห่งนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เราเกิด หรืออาจจะตั้งแต่ก่อนหน้านั้น และบางครั้งเส้นทางเดียวที่เรามีคือการเดินกลับเข้าสู่ระบบนั้นๆ เพื่อเสริมสร้างมันต่อไปให้แก่คนรุ่นต่อไป
บางครั้งการเกิดและเติบโตภายในบ้านกงสี
ก็ให้ความรู้สึกประมาณนั้น
ครอบครัว ‘บ้านกงสี’ เป็นรูปแบบครอบครัวที่เหมือนบริษัท ที่ครอบครัวจะมีธุรกิจหลักซึ่งรายได้จะถูกนำมารวมกันอยู่ที่ส่วนกลาง และรายได้กองกลางเหล่านั้นจะถูกแจกจ่ายไปยังสมาชิกเท่าๆ กัน โดยแทนที่โครงสร้างบริษัท โครงสร้างของกงสีมาจากโครงสร้างครอบครัว และเปลี่ยนการขยายองค์กรผ่านการเปิดรับสมัครงาน เป็นการให้ผู้ชายหาภรรยาเข้าบ้านเพื่อมีทายาทในการสืบทอดโครงสร้างดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ
ในทางทฤษฎี ‘กงสี’ เป็นระบบที่มอบความมั่นคงให้กับสมาชิกภายในครอบครัว เนื่องจากระบบชี้ชัดแล้วว่าเราในฐานะคนที่เกิดจากพ่อแม่คนนี้ต้องทำอะไรในบ้าน การไขว่คว้าสำรวจเส้นทางเดินของตัวเองไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ตั้งแต่การเรียนและการงาน นอกจากนั้นเราเองยังไม่ต้องเริ่มใหม่กับการสร้างอะไรเป็นของตัวเองอีกด้วย เพราะฐานที่คนจากรุ่นก่อนๆ สร้างมานั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของเราให้เราสามารถสร้างต่อเติมจากมันต่อไปเรื่อยๆ และในการสร้างเราก็สร้างกับพี่น้องที่เรารู้จักมาทั้งชีวิต ไม่ต้องไปทำงานกับคนนอกที่เราไม่รู้ตื้นลึกหนาบางให้เสียเวลา
แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว เมื่อเราเอาธรรมชาติ ความต้องการ รวมถึงประสบการณ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง แผนและโครงสร้างที่ถูกวางไว้ย่อมไม่ทำงานอย่างที่มันโดนออกแบบมา และจุดแข็งที่กล่าวถึงที่ระบบกงสีต้องการจะให้เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นจริง
ถ้าใครเห็นคำว่าทำงานกันแบบครอบครัวในโพสต์รับสมัครพนักงานแล้วเบือนหน้าหนี บ้านกงสีคือการทำงานกันแบบครอบครัวที่หนีไม่ได้อย่างแท้จริง และมันเป็นการทำงานแบบครอบครัวขั้นกว่า เพราะเราไม่มีโครงสร้างองค์กร เรามีเพียงเครือญาติ อากงเป็นนายทุน ลูกชายคนโตเป็นหัวหน้า พี่น้องก็ช่วยๆ กัน และเราในฐานะลูกก็เป็นเด็กฝึกงานกันต่อๆ ไป และเมื่อมีรายได้ทุกคนก็ได้รับส่วนแบ่งจากกองกลางเท่าๆ กัน
เมื่อแจกแจงเป็นแบบนี้แล้วมองมันจากค่านิยมการทำงานในปัจจุบัน ระบบนี้ดูจะตั้งอยู่ตรงข้ามกับความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันอยู่ในหลากหลายแง่มุม อย่างแรกคือการกำหนดตำแหน่งจากลำดับศักดิ์ ลูกชายคนโตของลูกชายคนโตหรือตั่วซุงคือผู้ที่ต้องเป็นหัวหอกในการสืบทอดกิจการ ทรัพย์สิน และครอบครัว ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่ามนุษย์แต่ละคนมีความถนัดและความต้องการแตกต่างกันทั้งสิ้น การกำหนดตำแหน่งนี้ตั้งแต่ก่อนคนคนหนึ่งเกิดนั้นอาจเป็นผลเสีย ทั้งจากความไม่ถนัดที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ และจากความกดดันที่คนคนนั้นต้องได้รับเอาไว้
ถัดมาคือการทำงานในระบบนี้ยากที่จะแยกเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานออกจากกันได้ สมมติว่าถ้ามีความไม่พอใจกันและกันในการทำงาน เราจะนำความไม่พอใจนั้นๆ ไปสู่โต๊ะอาหาร สู่เตียงนอน สู่ทริปครอบครัว และในปัจจุบันหากเราไม่พอใจของใครสักคน เราจะแยกยังไงกับการบอกว่าเราไม่พอใจเขาในฐานะเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ในฐานะพ่อ หรือพี่น้อง ในเมื่อทั้งหมดเป็นสิ่งเดียวกัน?
หากสังเกต เมื่อเราพูดถึงเรื่องงานและตำแหน่งอะไรใดๆ ในครอบครัว เราจะพูดถึงผู้ชายทั้งหมด การให้ความสำคัญกับการสืบสายเลือดเพื่อการคงไว้ซึ่งครอบครัวนั้น ส่งผลให้ค่านิยมเกี่ยวกับเพศของบ้านกงสีชายเป็นใหญ่อย่างมาก ลูกชายคนโตสำคัญกว่าใครเพียงเพราะเขาเกิดถูกเพศจากคนถูกคน แต่ลูกสาวแม้จะเป็นที่รักหรือเก่งขนาดไหนบ่อยครั้งถูกค้ำคอไว้ว่าสักวันเธอจะต้อง ‘แต่งออก’ อยู่ดี
ครอบครัวกงสีนอกจากจะส่งต่อธุรกิจแล้ว สิ่งที่มาพร้อมกับมันคือค่านิยมของคนรุ่นก่อน ซึ่งมันมักหมายความว่ามุมมองโลกที่บรรพบุรุษของเราใช้สร้างระบบดังกล่าวขึ้นมานั้นยังอยู่และฝังรากในความเป็นกงสีตั้งแต่ต้น และมุมมองเหล่านั้นไม่อาจเข้ากับโลกปัจจุบันได้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องเพศและบทบาททางเพศ
‘ชายเป็นใหญ่’ เป็นคำที่ตลก เพราะว่ามันเป็นคำที่บอกอย่างกลายๆ ว่าผู้ชายเป็นเพศที่ได้รับผลประโยชน์จากแนวคิดนี้ ในความเป็นจริงแล้วแม้แต่ผู้ชายเองก็ได้รับความเจ็บปวดจากมันเช่นกัน มาตรฐานความเป็นชายที่ต้องแบกรับเช่นการเป็นผู้นำ ความห้ามอ่อนแอ ซึ่งความอ่อนแอหมายถึงการแสดงออกทางความรู้สึกหรือการทำตามความต้องการของตัวเอง ชายเป็นใหญ่ไม่มีใครได้รับผลประโยชน์ นอกจากความเป็นชาย และระบบของกงสีส่งต่อมันโดยผ่านการฉาบสีทับมันว่าคือความมั่นคง
เพราะหากมั่นคงอยู่แล้วเราจะเปลี่ยนอะไรทำไม?
และเมื่อเราพูดถึงหน้าที่ของผู้ชาย การมีลูกก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพวกเขา เพราะในเมื่อกงสีทำหน้าที่เป็นเหมือนครอบครัวครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งมันเหมือนองค์กร และการที่องค์กรจะเติบโตได้นั้นมันต้องการสมาชิกใหม่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
เราให้ความสำคัญในอะไรมากที่สุดเมื่อเราพูดถึงความสัมพันธ์ อาจจะคนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ คนที่ชอบอะไรตรงกับเรา ไม่มีนิสัยที่เป็นธงแดงปักหัว หรืออีกมากมาย แต่สำหรับการอยู่ในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการขยายครอบครัวแบบบ้านกงสี เรื่องเหล่านั้นทบจะเป็นเรื่องรอง เพราะหลักๆ แล้วสิ่งเดียวที่ต้องถามคือเราจะมีลูกกันหรือเปล่า ก่อนจะถามว่าเราเข้ากันได้ใช่ไหมด้วยซ้ำ
ในโลกปัจจุบันนี้ รูปแบบความสัมพันธ์ของสังคมเรามีหลากหลาย ครัวเรือนที่ทำงานทั้งคู่เพื่อหาเลี้ยงลูกในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ บ้านที่ผู้ชายเป็นคนเลี้ยงลูกและดูแลบ้านเพราะถนัดอย่างนี้ แม่เลี้ยงเดี่ยว บ้านที่สามีภรรยาไม่มีลูกเพราะต่างคนมีเป้าหมายชีวิตที่ไม่ใช่การสร้างทายาท คู่รัก LGBTQ หลายๆ เพศก็เป็นเรื่องปกติในสังคมแล้ว
โลกปัจจุบันไม่ได้มองความสัมพันธ์เป็นเพียงเรื่องของการสร้างครอบครัวอีกต่อไป แต่มันอาจหมายความได้หลากหลายอย่างมาก อาจจะความต้องการเพื่อนคู่คิด หาคนที่เป็นที่ชาร์จพลังของกันและกัน คนที่เราไม่ต้องพูดกันก็รู้กันอยู่ว่าต่างคนคิดอะไร หรือคนที่จะสนับสนุนกันและกันไปยังเป้าหมายที่ต่างคนตั้งไว้ และอีกมากมาย ทั้งหมดอาจหมายถึงเพียงว่าเราต้องการความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเรา
และเมื่อมองไปยังการสร้างสัมพันธ์ในมุมของบ้านกงสี หน้าตาของมันกลับเป็นเหมือนหน้าที่มากกว่าอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะในเมื่อเราไม่ได้แยกงานออกจากครอบครัวตั้งแต่ต้น มันเป็นธรรมชาติหรือเปล่า ที่การสร้างครอบครัวก็จะต้องกลายเป็นงานไปด้วย?
จากการศึกษาโดย Pew Research Center เกี่ยวกับความสนใจและคุณค่าที่คน gen z ยึดถือ พบว่าคนรุ่นนี้มีความสนใจเกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมสูงกว่ารุ่นที่เกิดมาก่อนหน้าทุกๆ รุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ หน้าที่รัฐบาล ความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยมุมมองเหล่านั้นอาจมาจากการการรับมุมมองที่เปิดกว้างจากการรับสื่อที่กว้างขวางมากขึ้นผ่านโซเชี่ยลมีเดีย หรืออาจจะเกิดจากการซึมซับโดยธรรมชาติกับคนร่วมรุ่นกัน แล้วในยุคปัจจุบันที่คน gen z กำลังจะเป็นรุ่นถัดไปที่จะต้องเริ่มเรียนรู้บทบาทของผู้นำบ้านกงสี พวกเขาจะทำยังไงหลังจากตัวเองได้รับรู้ค่านิยมของโลกใหม่ไปแล้ว?
สมมติว่าเราเป็นคนที่ได้ไปเจอกับที่ทำงานที่มีวัฒนธรรมการทำงานอันยอดเยี่ยม ได้เจอกับสายอาชีพที่เราถนัดและต้องการที่จะเดินต่อไปในเส้นทางนี้ กับเพื่อนร่วมงานที่มีเคมีตรงกัน หัวหน้าที่ไม่เป็นพิษ ถ้าเราซึมซับค่านิยมทางเพศสมัยใหม่ที่ทำให้เราเป็นอิสระจากบทบาทเดิมๆ ที่คับแคบ ฯลฯ แล้ววันหนึ่งเราต้องกลับเข้าไปสู่ระบบที่ถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน เราจะทำยังไง?
ย้อนกลับไปข้อดีที่เรามักนึกถึงเมื่อพูดถึงบ้านกงสี ‘ความมั่นคง’ ความมั่นคงหมายความว่าอะไร? เพราะหากเอามาจับกับความต้องการโดยรวมของคนยุคปัจจุบันระบบนี้น่าจะไม่ได้ให้ความสบายใจ และหากบ้านเป็นธุรกิจเก่าแก่ที่ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงในแง่รายรับก็อาจไม่ใช่ แต่ความมั่นคงในที่นี้อาจหมายถึงโครงสร้าง โครงสร้างที่ยากจะขยับเขยื้อนและเปลี่ยนแปลงเพราะความคาดหวังและจารีต
แต่ถ้าอย่างนั้นแล้วคำถามที่อาจต้องถามคือเรามั่นคงไปเพื่ออะไรหากความมั่นคงแลกมาซึ่งความไม่อาจเป็นตัวเอง? ความมั่นคงอาจทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่แง่มุมของชีวิตมีมากกว่าความมั่นคงเสมอ สุขภาพจิต ความฝัน ความรัก ฯลฯ และบ่อยครั้งธุรกิจกงสีเรียกร้องให้เราแลกมันเพื่อความมั่นคง เพื่อเป็นคนงานก่อฐานให้บ้านและโครงสร้างของมันแข็งแรง แต่เราอ่อนล้าและเศร้าโศก
บ้านกงสีไม่ได้มีเพียงข้อเสีย แต่จุดตัดระหว่างค่านิยมเก่าแก่ ความไม่ยืดหยุ่นของระบบ และการมาถึงของโลกยุคใหม่ ทำให้เราต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่อนความกดดันออกจากคนรุ่นถัดไปมากกว่าการคงไว้ซึ่งระบบดังกล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก