วิธีแสดงความรักความห่วงใยของคุณเป็นแบบไหน? บอกรัก กอด หรือซื้อของให้?
บางครั้งเราสื่อความรักของเราออกไปอีกฝ่าย เรียกได้ว่าเทให้หมดหน้าตัก ทำไมเขากลับไม่รู้สึกถึงความรักนั้น และมักจะเข้าใจผิดว่าเราไม่ใส่ใจ จนนำไปสู่การทะเลาะกันในที่สุด? สรุปแล้วความรักที่เราให้ มันส่งไปถึงเขาจริงๆ หรือเปล่านะ?
บอกรักแทบตาย แต่อีกฝ่ายไม่ได้ยิน
นับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราพบเจอบ่อยๆ ในความสัมพันธ์ ก็คือการที่เราแสดงความรักรูปแบบหนึ่งออกมาอย่างตั้งใจ เพื่อหวังให้อีกคนรับรู้ถึงความรู้สึกที่เรามีให้ หรือรับรู้ว่าเขามีค่า มีความหมายต่อเรามากขนาดไหน เช่น หลังเลิกงานขับรถกลับบ้านผ่านร้านขนมหวานที่แฟนชอบ ก็มักจะซื้อกลับไปฝากทุกครั้งเพื่อให้เขาดีใจ หรือเห็นว่าช่วงนี้พื้นรองเท้าของแฟนเริ่มผุผัง ก็ไปเดินเลือกซื้อคู่ใหม่มาให้ หวังจะเซอร์ไพรส์สักหน่อย
แต่วันหนึ่งแฟนกลับบอกว่าเราไม่ได้รักเขาเลย เมื่อถามว่าทำไมถึงคิดแบบนั้นล่ะ? เขาตอบกลับมาว่า “ก็เพราะเธอไม่เคยบอกรักเราเลยน่ะสิ”
เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยคงรู้สึกเซ็ง เฟล โกรธ และเสียใจปะปนกันไปในขณะเดียวกัน แถมท้อใจที่อุตส่าห์ทำอะไรต่างๆ ให้มากมาย สุดท้ายเขาไม่เห็นความหมายของการกระทำนั้นเลย เพียงเพราะเราเป็นคนที่บอกรักไม่เก่ง หรือมองว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูดเท่านั้นเอง
แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาความไม่เข้าใจที่ว่านี้ไม่ใช่โจทย์ที่ยากอะไรนัก หากเราเรียนรู้ ‘ความต้องการ’ ของอีกฝ่ายให้มากขึ้น
ไม่ใช่ไม่รัก แต่เราแค่บอกรักกันคนละภาษา
ในปี ค.ศ.1992 นักเขียนและนักให้คำปรึกษาชาวอเมริกา แกรี่ แชปแมน (Gary Chapman) ผู้จบการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ ได้เขียนหนังสือชื่อ The Five Love Languages: How to Express Heartfelt Commitment to Your Mate ซึ่งเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงคอนเซ็ปต์ของ ‘ภาษารัก’ ที่ได้ช่วยให้คู่รักเรียนรู้การแสดงความรักของตัวเอง และรับรู้ถึงความรักที่อีกฝ่ายส่งกลับมาให้
เนื่องจากแกรี่ได้ใช้เวลาหลายปี เพื่อสังเกตและจดบันทึกพฤติกรรมของคู่รักที่เข้ามาขอคำปรึกษาจากเขา และก็เห็นว่า คู่รักมักจะเกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน เพราะพวกเขามีความต้องการในการแสดงความรักและรับรู้ถึงความรักที่แตกต่างกัน จนในที่สุด แกรี่ก็สรุปออกมาได้ว่า การสื่อสารความรักหรือภาษารักนั้น มีทั้งหมด 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
คำพูด (Words of Affirmation) ภาษาแรก คือ การแสดงความรักผ่านคำพูดหรือการสนทนา เช่น คำบอกรัก คำชื่นชม คำยกย่อง หรือคำพูดให้กำลังใจ เพราะบางคนชอบที่จะได้ยินว่าอีกฝ่ายรู้สึกยังไงกับตนเอง ดังนั้น พวกเขาจะรู้สึกดีใจมากที่ได้เห็นข้อความน่ารักๆ บนกระดาษโน้ต หรือถ้อยคำหวานๆ จากแจ้งเตือนในไลน์
การใช้เวลาร่วมกัน (Quality Time) ภาษาที่สอง คือ การแสดงความรักผ่านการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ บางคนจะรู้สึกถูกรักเมื่ออีกคนแสดงออกว่าอยากอยู่ด้วยกัน แต่พวกเขาไม่ได้ต้องการปริมาณหรือจำนวนชั่วโมงในการอยู่ด้วยกันมากนัก หากแต่ต้องการช่วงเวลาที่มีคุณภาพมากกว่า เช่น เมื่อได้อยู่ด้วยกันแล้ว ก็ต้องอยู่ให้คุ้ม ปิดมือถือแล้วใช้เวลาด้วยกันอย่างคุ้มค่า ดังนั้น การที่พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองถูกรัก ก็คงจะมาจากการที่อีกคนแสดงออกว่าอยากฟังหรือสนใจในสิ่งที่เขาพูดหรือทำมากกว่า
การสัมผัสทางร่างกาย (Physical Touch) ภาษาที่สาม คือ การแสดงความรักผ่านการสัมผัสตัว ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการมีเซ็กซ์เท่านั้น แต่หมายถึงการกอด จับถือ หอมแก้ม โอบไหล่ หรือลูบหัว หรือที่เรียกว่า สกินชิป (skinship) ทำให้การเดตที่สมบูรณ์แบบของพวกเขา บางครั้งก็อาจมาในรูปแบบของการนอนกอดกันบนโซฟา แล้วเปิดหนังดีๆ สักเรื่องดู เพราะพวกเขาแค่อยากรู้สึกใกล้ชิดกับอีกฝ่ายเท่านั้น
การทำอะไรสักอย่างให้ (Acts of Service) ภาษาที่สี่ คือ การแสดงความรักผ่านการทำอะไรดีๆ ให้หรือการบริการอะไรสักอย่าง เช่น วันนี้อีกคนบ่นว่าเมื่อย อีกคนก็อาสาทำความสะอาดบ้านให้แทน หรือเห็นว่าน้ำมันรถของอีกคนใกล้จะหมด ก็เอารถไปเติมน้ำมันให้โดยที่อีกคนไม่ต้องขอ ซึ่งการกระทำเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละที่ทำให้อีกคนรู้สึกได้รับความรัก เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้รับการเอาใจใส่
การให้/ได้รับของขวัญ (Giving/Receiving Gifts) ภาษาสุดท้าย คือ การบอกรักผ่านการให้ของขวัญ คนที่ใช้ภาษารักนี้จะมองว่า การให้ของขวัญเป็นสัญลักษณ์แทนการบอกรักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะอยากเป็นผู้รับอย่างเดียว เพราะเมื่อถึงโอกาสสำคัญ พวกเขาเองก็เป็นฝ่ายมอบของขวัญให้เช่นกัน และบางครั้งก็ไม่จำเป็นว่าของขวัญชิ้นนั้นจะต้องชิ้นใหญ่หรือมีราคาแพงแต่อย่างใด เพราะภาษารักที่ซ่อนอยู่ภายใต้การให้ของขวัญนั้น มีอะไรมากกว่ารูปลักษณ์ที่ดึงดูด
หรือกล่าวคือ เพียงแค่อีกคนใช้เวลาในการเลือกซื้อของขวัญชิ้นใดชิ้นหนึ่งมาให้ นั่นก็แปลว่าเขาได้สื่อสารให้รู้แล้วว่าเขารู้จักอีกคนและแคร์อีกคนมากแค่ไหน นอกจากนี้ คนที่มีภาษารักแบบนี้มักจะจดจำของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับจากคนรักได้ดีอีกด้วย เพราะมันมีความหมายสำหรับพวกเขามากๆ ยังไงล่ะ
คงจะเห็นแล้วว่า แต่ละภาษามีการสื่อสารความรักที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งบางคนอาจจะใช้หลายภาษาในการบอกรัก ทั้งใช้เวลาอยู่ด้วยและก็ชอบบอกรัก หรือชอบที่จะให้สิ่งของและทำอะไรสักอย่างให้ แต่เมื่อนำไปเทียบกับอีกคน ภาษาที่เราใช้ดันไม่มีข้อไหนที่ตรงกันเลย จึงทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจดังที่กล่าวไปเมื่อตอนต้น
หรือเรียกว่า บอกรักดังแทบตาย แต่อีกฝ่ายก็ไม่ได้ยิน
เพราะแม้จะพูดออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจที่ลึกที่สุด
แต่สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ ดันเป็นการกอด การจับมือ
หรือการใช้เวลาร่วมกันต่างหาก
เรียนรู้ เข้าใจ และจูนกันให้ติด
เมื่อเรารู้แล้วว่าภาษารักมีทั้งหมด 5 ภาษา ซึ่งแต่ละภาษาก็ซ่อนความรัก ความห่วงใย และความใส่ใจเอาไว้เหมือนๆ กัน แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าภาษาที่เราใช้ จะทำให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความรักของเราจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อน หรือเกิดความเข้าใจผิดกันอีก?
‘การพูดคุย’ เท่านั้น คือกุญแจที่เราจะใช้ไขไปสู่ทางออกของปัญหานี้ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทั้งง่ายและมีประสิทธิภาพ แต่หลายคนมักจะหลีกเลี่ยง เลือกที่จะไม่เปิดใจคุยกันตรงๆ เพราะกลัวไปจบที่การมีปากเสียง
แต่รู้มั้ยว่า การที่เราและเขาคุยกันคนละภาษาจนเกิดความเข้าใจผิด จริงๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากการทะเลาะเหมือนกันนะ เพราะปลายทางก็คือความรู้สึกอึดอัดที่เกาะกินอยู่เต็มอก ทำไมเขาไม่ทำแบบนั้นนะ ทำไมเขาไม่พูดแบบนี้นะ และยังไงก็คงไม่ได้คำตอบหากไม่เลือกที่จะพูดหรือถามออกมา
แต่ถ้าเราลองเปิดใจให้กว้าง และพูดคุยกับเขาอย่างใจเย็นจนได้รู้ภาษารักของกันและกันแล้ว มันจะเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะนำไปปฏิบัติ เช่น บอกรักเขาให้มากขึ้น ดูแลเขาผ่านการทำอะไรดีๆ บ้าง หรือซื้ออะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้ในบางโอกาสก็ดี เพราะเราแล้วรู้ว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ และมันทำให้การแสดงความรักเหล่านี้ดู ‘มีคุณค่า มีความหมาย’ มากขึ้น ในขณะเดียวกันเขาก็รับรู้ความรักที่เราส่งให้จากใจด้วยเช่นกัน ซึ่งการได้รู้ภาษารักของอีกฝ่าย ไม่ใช่แค่จะช่วยแก้ปัญหาความไม่เข้าใจ แต่ยังช่วยยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น และเสริมสร้างความสุขในระยะยาวได้อีกด้วยนะ
(แต่ถ้าพูดคุยกันแล้ว สุดท้ายก็ไม่ชัวร์ว่าภาษาของเราหรือเขาเป็นแบบไหนกัน การทำควิซในเว็บไซต์ 5lovelanguages ก็อาจเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยสะท้อนความต้องการของแต่ละฝ่ายชัดเจนให้ชัดเจนมากขึ้น)
และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาษารักก็ไม่ได้มีเพียงแค่ภาษาเดียวอย่างที่ได้กล่าวไป และอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เช่น จริงๆ เราชอบที่จะได้พูดคุย ได้ระบาย โดยมีแฟนรับฟังอย่างตั้งใจ แต่บางวันเราอาจเหนื่อยจนไม่อยากพูดอะไรมาก การกอดหรือลูบหัวเบาๆ จึงเป็นคำตอบ ฉะนั้น กุญแจสำคัญก็คือเราแค่ต้องพูดคุย สื่อสาร และถามไถ่กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้เทความรักของเราให้เขาได้อย่างเต็มถังยังไงล่ะ
การเปลี่ยนไปบอกรักคนสำคัญในชีวิตอีกภาษาหนึ่ง ช่วงแรกเราอาจจะไม่ชินหรือฝืนใจสักนิด แต่นั่นจะช่วยให้เราเติบโต เพราะบางครั้งเราหมกมุ่นอยู่กับความเป็นตัวเองมากเกินไป จนคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นคือวิธีบอกรักของเราแล้ว แต่วันใดวันหนึ่งที่อีกคนไม่รับรู้ถึงความรักนั้นเลย เราก็อาจจะได้เรียนรู้ในวันที่สายไปแล้วก็ได้ ซึ่งถ้าเราลองรู้จักแสดงความรักต่อผู้คนในแบบอื่นๆ มากขึ้น นั่นแปลว่าเราได้เรียนรู้ที่จะเอาตัวเองออกจากความเป็นศูนย์กลาง และเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ถ้าในที่สุดแล้ว เราไม่รู้จะปรับภาษารักนั้นให้เหมือนกันได้ยังไง ก็ต้องกลับมาถามตัวเองดูแล้วว่า เมื่อคนรักใช้ภาษานี้ในการบอกรักเรา ซึ่งเป็นคนละภาษากับที่เราใช้ เราจะมองเห็นความรักและความทุ่มเทของเขาได้หรือเปล่า? ทั้งๆ ที่มันก็เป็นการบอกรักอย่างหนึ่งเหมือนกัน สุดท้าย มันก็เป็นเรื่องของการจูนเข้าหากันให้ได้มากที่สุดนั่นแหละเนอะ
ในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะรูปแบบไหน การสื่อสารนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้มันราบรื่นตลอดรอดฝั่ง ไม่ต่างไปจากความรู้สึกที่มีอยู่ข้างในเลย ยังไงลองพูดคุยกันถึงความต้องการที่เราและเขามี เพื่อที่ว่าสุดท้ายจะได้พบกับทางออกหรือจุดตรงกลาง ที่เราและเขาก็ต่างสบายใจกับจุดนั้นมากที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก