เมื่อประมาณอาทิตย์ก่อนผมได้ข่าวเพื่อนที่ทำงานเก่าของผมคนหนึ่งเสียชีวิตจากเนื้อมะเร็งร้ายในสมอง เขาพยายามสู้กับมันมาตลอดหลายปี ทุกครั้งที่คุยกันเขาก็มีกำลังใจที่ดีเสมอ แต่ว่าสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องจากไป เหตุการณ์นี้กระทบกระเทือนจิตใจของเพื่อนๆ ทุกคนที่อยู่ในกลุ่ม เพราะเขาเป็นผู้ชายที่ร่าเริงและมีรอยยิ้มให้เพื่อนๆ เสมอ มีการโพสต์แสดงความเสียใจบนหน้าเฟซบุ๊กของเขาเพื่อระลึกถึงความทรงจำดีๆ ที่เคยมีร่วมกันมา หวังว่าถ้าสวรรค์มีจริงและสามารถใช้ wi-fi ได้เขาคงจะเห็นว่าเพื่อนๆ คิดถึงเขามากขนาดไหน แน่นอนหล่ะมันคงเป็นไปไม่ได้ แต่คำถามคือต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับบัญชีของเพื่อนผมคนนี้?
ประชากรโลกส่วนใหญ่ที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตทุกวัน แน่นอนว่าโอกาสในการมีบัญชีโซเชียลมีเดียอย่างFacebook, IG หรือ Twitter อย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือทั้งสามอย่าง) นั้นสูงมาก และก็มีคนตายทุกคนในทุกวันไม่ว่าที่ใดของโลกใบนี้ หลายคนอาจจะคิดถึงเรื่องพินัยกรรมเพื่อดูแลครอบครัวคนรักที่อยู่ข้างหลัง แต่เราไม่เคยคิดถึงบัญชีโซเชียลมีเดียเหล่านี้เลยเมื่อนาทีสุดท้ายของชีวิตมาถึง
มีตัวอย่างบัญชีของ Herman Cain ที่ทวิตเกี่ยวกับผู้สมัครเลือกตั้ง Joe Biden แต่ว่าตัวจริงของชายผู้นี้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อเดือนก่อน แต่ครอบครัวของเขาก็ยังทวีตจากบัญชีนี้อยู่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเพราะเชื่อในแนวคิดเดียวกัน
เมื่อครั้งที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิตแบบจริงจังนั้นเรื่องนี้มันยังไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว (แม้จะมีกลุ่มสูงอายุบ้างแต่ก็ไม่เยอะเท่าไหร่) แต่ว่าต่อไปในอนาคตมมันจะไม่เป็นแบบนี้ ผู้ใช้งานแก่ตัวลงทุกวัน อนาคตสังคมกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นคนชราก็จะเยอะตาม อัตราการเสียชีวิตของผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดียก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต? โซเชียลมีเดียทั้งหลายจะรับมือกับการเติบโตของบัญชีของบุคคลที่จากโลกนี้ไปแล้วยังไงกัน? ทั้งโพสต์ต่างๆ ที่เคยเขียน รูปภาพ วีดีโอ?
จากการคาดคะเนตอนนี้น่าจะมีบัญชีที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของผู้ที่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วประมาณ 10-30 ล้านบัญชี อาจจะดูว่าไม่มาก แต่มันก็มีเหตุผล เพราะว่าคนที่อยู่บนโซเชียลมีเดียเหล่านี้มักเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่อยู่แล้วในช่วงแรก ซึ่งถ้านับเป็นเปอร์เซ็นก็อยู่แค่ราวๆ 1% ของบัญชีทั้งหมด โดยเมื่อเทียบอัตราการเสียชีวิตของผู้ใช้เฟซบุ๊กกับ อัตราการเพิ่มขึ้นของสมาชิกต่อวันคือ 8,000 : 500,000 ในปัจจุบัน ก็จะทำให้เทรนด์ของจำนวนบัญชีของผู้เสียชีวิตบนโซเชียลมีเดียนั้นยังคงต่ำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ในโลกของความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเลขของการเติบโตของผู้ใช้งานอีกนั้นแหละ
ในรายงานจาก นักวิจัยชื่อ Carl J Öhman กับ David Watson ได้พยายามอธิบายถึงสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ ออกมาว่า แบบแรกคือไม่มีบัญชีใหม่เลย เฟซบุ๊กปิดประตูไม่รับผู้ใช้งานใหม่เพิ่มอีก แน่นอนว่ามันคงเป็นไปได้ยาก แต่อยากให้ลองนึกภาพตามอีกนิดว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ น่าจะได้เห็นจำนวนบัญชีของผู้ใช้งานที่เสียชีวิตแล้วข้ามผ่านบัญชีของคนที่ยังมีอยู่ที่ราวๆ ปี ค.ศ.2065
และภายในปี ค.ศ.2100 นั้น 98% ของผู้ใช้งานจะเสียชีวิตไปแล้ว
อีกรูปแบบหนึ่งคือเฟซบุ๊กเติบโตตามอัตราปัจจุบันไปเรื่อยๆ ที่ 13% ต่อปีจนกระทั่งทุกคนบนโลกนี้มีบัญชีหมด ถ้าเป็นแบบนั้นเราอาจจะเห็นจำนวนบัญชีผู้เสียชีวิตก้าวผ่านบัญชีผู้ใช้งานทั่วไปราวๆ ปี ค.ศ.2110 แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามทีอัตราการเสียชีวิตในแต่ละพื้นที่ก็ยังต่างกัน และแม้ว่าเฟซบุ๊กจะแข็งแกร่งขนาดไหนก็ไม่น่าจะทำให้ทุกคนมีบัญชีได้ เพราะฉะนั้นตัวเลขจริงๆ น่าจะตกอยู่ระหว่าง ค.ศ.2065 – 2110 ซึ่งอีกรายงานจาก Oxford Internet Institute ของมหาวิทยาลัย University of Oxford คาดว่าภายในปี ค.ศ.2100 จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,400 ล้านคน ซึ่งจะทำให้จำนวนบัญชีผู้เสียชีวิตบนเฟซบุ๊กนั้นมีจำนวนมากกว่าคนที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ.2070 เป็นต้นไป (รายงานใช้ฐานของผู้ใช้งานในปี ค.ศ.2018) เพราะฉะนั้นไม่ว่ายังไงก็ตามสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าบัญชีของผู้ใช้งานที่เสียชีวิตแล้วจะมีมากกว่า
คำถามกลับมาที่ว่าแล้วต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น? เพราะโลกออนไลน์นั้นเป็นเรื่องง่ายที่จะทิ้งบัญชีสักอันให้อยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไรกับมัน เพราะแน่นอนว่าก็ไม่ได้ใช้พื้นที่จัดเก็บอะไรนักหนา เป็นเพียงอีกบัญชีหนึ่งที่อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว ซึ่งตอนนี้เฟซบุ๊กเองก็มีสองทางให้เลือกว่าทำให้บัญชีแห่งนี้เป็น ‘memorials’ หรือพื้นที่ที่ระลึกถึงบุคคลนั้น คอนเทนต์ก็ยังคงอยู่ บัญชีนี้จะถูกแท็กเอาไว้ว่าเสียชีวิตแล้ว แต่เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวยังสามารถที่จะแชร์ ‘memories’ เหล่านั้นบนเฟซบุ๊กได้อยู่ แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดขนาดไหน เฟซบุ๊กก็ไม่สามารถเอาข้อมูลการล็อคกอินให้ได้ตามกฎของบริษัท หรือทางที่สองคือการแท็กเพื่อให้ลบบัญชีทิ้ง เมื่อมีบางคนแจ้งไปทางเฟซบุ๊กว่าเจ้าของบัญชีนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว และถ้าทางเลือกนี้ถูกตั้งเอาไว้ มันก็จะถูกลบไปเองอัตโนมัติ ซึ่งทางเลือกนี้ก็มีไว้สำหรับครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่รู้สึกว่านี่เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและไม่อยากให้ต้องมีเครื่องเตือนความทรงจำให้เจ็บปวดมากกว่าเดิม (อิสตาแกรมหรือ WhatsApp ใช้กฎเหมือนกับเฟซบุ๊ก)
ในส่วนของทวิตเตอร์นั้นคนในครอบครัวสามารถขอให้บริษัทลบบัญชีทิ้งไปได้ ซึ่งพวกเขาต้องเอาใบรับรองการเสียชีวิตของผู้ตายมาเป็นหลักฐานยืนยันด้วย ซึ่งหลายคนก็ไม่อยากจะทำเพราะมันยุ่งยาก เสียเวลา หรืออาจจะลืม เพราะฉะนั้นจำนวนบัญชีของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วบนทวิตเตอร์ ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไปด้วย ถ้าเป็น Google ก็จะมีขั้นตอนที่ต่างออกไปก็คือญาติสามารถที่จะบอกให้ทางบริษัทลบได้ ส่วนการตัดสินใจก็จะขึ้นอยู่กับทาง Google เองที่ไปรีวิวข้อมูลและตัดสินใจลบหรือไม่
สำหรับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ก็จะมีกฎที่แตกต่างกันออกไป
อย่าง Tinder เองก็จะถูกตั้งให้เป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทันทีหลังจากหนึ่งเดือนถ้าไม่มีการล็อคอินหรือทำอะไรกับแอพพลิเคชั่น เพราะฉะนั้นบัญชีก็จะถูกเอาออกไปจากระบบอยู่เป็นประจำ อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่าเมื่อมันเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการหาเดท การเลือกคนที่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้วคงเป็นเรื่องเกินความสามารถ
โซเชียลมีเดียหลายแห่งเริ่มมีฟีเจอร์ที่รองรับในส่วนนี้แล้ว อย่างเฟซบุ๊กเราก็ตั้งได้ว่าอยากให้ทำยังไงเมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว (อยู่ตรง settings -> account ownership & control -> memorialization setting) เราสามารถเลือกได้ว่าอยากให้ใครเป็นคนที่ดูแลบัญชีเราต่อ โดยการตั้งให้เป็น legacy contact (ผู้สืบทอด) ซึ่งตรงนี้สำคัญเพราะว่าถ้าไม่ตั้งเอาไว้ก็จะไม่มีใครไปทำอะไรกับบัญชีนี้ได้อีกเลย แล้วก็จะมีให้เลือกอีกว่าสามารถดาวน์โหลดข้อมูลของเราเอาไปเก็บไว้ได้ไหมถ้าเกิดเราเสียชีวิตไปแล้ว
ถึงแม้ว่าตอนนี้จำนวนผู้เสียชีวิตบนเฟซบุ๊กอาจจะไม่ได้ดูเยอะเมื่อเทียบกับบัญชีทั่วไป แต่ว่าตัวเลขนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นเรื่อยๆเมื่อบัญชีเหล่านี้ค่อยๆ มีมากขึ้นในอนาคตที่จะมาถึง
การระลึกถึงเพื่อนหรือคนใกล้ชิดเมื่อเขาจากไปแล้วเป็นสิ่งทั้งเจ็บปวด สวยงาม และชวนให้กลับมาคิดถึงเรื่องสำคัญอย่าง ‘ความตาย’ ว่าที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้ไกลตัวขนาดนั้น ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าร่างกายแข็งแรง ยังหนุ่มแน่น มีแรงขึ้นบันไดหลายสิบชั้น แต่ว่าทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีใครรู้ได้ อย่างน้อยๆ ตอนนี้เมื่อยังมีเวลามากมาย ตั้งค่าบัญชีเหล่านี้เอาไว้หรือเขียนใส่กระดาษเอาไว้ฝากไว้กับคนรัก เผื่อวันหนึ่งถ้าเราไม่อยู่แล้วจริงๆ นี่อาจจะเป็นเพียงสถานที่เดียวที่บันทึกรูปภาพและความทรงจำที่สวยงามเอาไว้ให้คนที่รักและคิดถึงเราก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก