หนังสือโบราณเก่าแก่เป็นสิ่งล้ำค่า เดี๋ยวนี้สถาบันต่างๆ ที่ครอบครองหนังสือเก่าแก่ไว้—ด้วยความที่หนังสือเก่าทั้งหลายถึงเวลาก็หมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ผู้ถือครองทั้งหลาย เช่น ห้องสมุด หรือมหาวิทยาลัยก็พากันสแกนและเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงคลังหนังสือเหล่านี้ได้
The Public Domain Review ก่อตั้งในปี 2011 เป็นเว็บไซต์ที่รับหน้าที่เป็นวารสารออนไลน์ ตัววารสารนี้มีพันธกิจหลักที่จะไปสอดส่อง รวบรวมพวกเนื้อหา หนังสือ งานศิลปะที่กลายมาเป็นสาธารณสมบัติจากที่ต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลักเป็นงานที่แปลกประหลาด น่าประหลาดใจ และสวยงาม
จากจุดหมายที่ต้องการรวบรวมงานเขียนเก่าๆ แปลกๆ งามๆ ดังนั้นเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกเอามารวบรวมไว้มักจะเป็นผลงานจากช่วงศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 ยุคสมัยที่เราเริ่มมีวิทยาการใหม่ๆ มีวิธีการจัดความรู้แบบโลกสมัยใหม่ มีการสำรวจไปสู่ดินแดนใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ความสนใจเรื่องลึกลับก็ยังคงอยู่ พอลองไปขุดคุ้ยงานเขียนโบราณในยุคนั้นพบว่ามีงานเขียนที่ว่าด้วยเรื่องแปลกประหลาด เรื่องลึกลับ ผีสาง เหนือธรรมชาติ
งานเขียนว่าด้วยเรื่องผีสาง รวบรวมและเขียนขึ้นในช่วงร้อยปีก่อน งานเขียนยุคนั้นมักถูกเขียนขึ้นอย่างละเอียด มีภาพประกอบสวยงาม เรียกได้ว่าทั้งสนุก สวยงาม และหลอกหลอนหน่อยๆ ในคลังเอกสารเก่านี้มีทั้งหนังสือว่าด้วยภูติผีปีศาจของญี่ปุ่น เรื่องเล่าประหลาดจากจีน ตำนานจากแถบตอนเหนือของอังกฤษ ไปจนถึงนวนิยายที่เขียนผ่านผีถ้วยแก้ว
The Bakemono Zukushi “Monster” Scroll (18th–19th century)
เราค่อนข้างรู้จักพวกภูตผีปีศาจจากประเทศญี่ปุ่น The Bakemono Zukushi เป็นม้วนภาพวาดโบราณที่บันทึกภาพเหล่าภูตของญี่ปุ่น ม้วนเอกสารนี้ไม่ปรากฏผู้แต่ง คาดว่าถูกเขียนขึ้นสมัยเอโดะราวศตวรรษที่ 18-19 ในม้วนภาพวาดนี้เราจะได้เจอกับภูตที่เราคุ้นเคย เช่น หญิงสาวคอยาว เจ้าหญิงหิมะ ภูติหน้าวัวที่แอบมาตัดผมเราตอนกลางคืน (ทำไปทำไม)
เข้าไปดูต่อได้ที่ : publicdomainreview.org
Kwaidan: Stories and Studies of Strange Things
จากเรื่องภูต มาสู่เรื่องผีบ้าง Kwaidan: Stories and Studies of Strange Things ตีพิมพ์ในปี 1904 เป็นผลงานของ Lafcadio Hearn นักวิชาการและนักแปลผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ชื่อเรื่องเองหมายถึง ‘เรื่องผี’ งานเขียนชิ้นนี้รวบรวมเรื่องผีที่ถูกเล่าในประเทศญี่ปุ่น งานเขียนส่วนใหญ่ผู้เขียนแปลและรวบรวมจากตัวบทเก่าแก่ แต่มีบางเรื่องเช่นที่แกบอกว่าแกเล่าจากประสบการณ์เจอผีของตัวเอง ด้วยความที่เป็นวิชาการ ช่วงสุดท้ายจึงเป็นภาควิเคราะห์ที่พูดถึงความเชื่อมโยงเรื่องเหนือธรรมชาติของวัฒนธรรมญี่ปุ่นและจีนที่เชื่อมโยงเข้ากับแมลง
เข้าไปดูต่อได้ที่ : publicdomainreview.org
Strange Stories from a Chinese Studio
Strange Stories from a Chinese Studio เป็นงานแปลรวมเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติและแปลกประหลาดของจีน รวบรวมโดย Pu Sung-ling หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องระดับคลาสสิกไว้เกือบ 500 เรื่อง ตั้งแต่ตำนานเรื่องต้นไม้วิเศษ เด็กน้อยที่ตัวเท่าหัวแม่มือ การสาปลูกสะใภ้ให้กลายเป็นหมู ความพิเศษของรวมเรื่องมหัศจรรย์ของจีนชุดนี้คือ เรื่องสั้นที่ถูกรวบรวมมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนธรรมดาที่ใช้ความเหนือจริงเพื่อวิพากษ์ความอยุติธรรมและการกดขี่ในสังคมจีนในช่วงศตวรรษที่ 17-18 อนึ่งการแปลในยุควิกตอเรียมีประเด็นเรื่องการเซ็นเซอร์ของผู้แปลเล็กน้อย เช่น เรื่องเพศ การเสพสมก็อาจจะถูกเปลี่ยนเป็นแค่การพูดคุย
เข้าไปดูต่อได้ที่ : publicdomainreview.org
British Goblins: Welsh Folk-lore, Fairy Mythology, Legends and Traditions
ยิ่งแฮร์รี่ พอตเตอร์ดัง พวกตำนานต่างๆ ในแถบตอนบนของอังกฤษก็ยังถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ เราได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับก็อบลิน เกี่ยวกับแฟรี่ นางไม้ต่างๆ British Goblins หลักๆ แล้วพูดถึงตำนานความเชื่อในแถวเวลส์ ครึ่งแรกเป็นอรรถาธิบายโดยละเอียดของก็อบลินและแฟรี่ ส่วนช่วงหลังจะพาเราจากโลกแฟรี่ไปสู่โลกวิญญาณ พูดถึงสัตว์ปีศาจ วิญญาณชั่วร้าย ผีนก ความเชื่อตำนานพวกนี้ดูจะทำให้เรามองเห็นภูมิทัศน์ภูเขาและป่าทึบอันหนาวเหน็บได้สนุกและขนหัวลุกมากขึ้น
เข้าไปดูต่อได้ที่ : publicdomainreview.org
The Algonquin Legends of New England
จากยุโรป เอเชีย มาสู่วัฒนธรรมแถบโลกสมัยที่ชาวตะวันตกไปตั้งรกรากและต้องพบกันชนพื้นเมือง The Algonquin Legends of New England เป็นงานเขียนเชิงรวบรวมตำนานและความเชื่อของชาว Algonquin ชนพื้นที่เมืองที่อาศัยอยู่บริเวณทวีปอเมริกาเหนือ งานเขียนชิ้นนี้เป็นผลงานการรวบรวมของนักคติชนวิทยา Charles G. Leland และสาธุคุณ Silas T. Rand แกนหลักของตำนานอยู่ที่เรื่องราวของ Glooskap เทพผู้ยิ่งใหญ่ตามความเชื่อ ชื่อของเทพองค์นี้แปลว่าคนหลอกลวงเพราะตามตำนานได้สัญญาไว้ว่าจะกลับสู่โลกมนุษย์ แต่ก็ไม่เคยกลับมาตามคำพูด
เข้าไปดูต่อได้ที่ : publicdomainreview.org
Jap Herron: A Novel written from the Ouija Board
ที่ปกมีคำว่า มาร์ก ทเวน (Mark Twain) อยู่ ด้วยความที่นวนิยายเล่มนี้ ‘บอกว่า’ ทเวนเป็นคนเขียน แต่เขียนผ่านกระดาน Ouija— ทำนองผีถ้วยแก้วของบ้านเรา นวนิยายเรื่อง Jap Herron ตามคำของคุณ Emily Grant Hutchings หญิงสาวที่เคยติดต่อพูดคุยกับทเวนผ่านจดหมายบอกว่า เธอได้รับสัญญาณจากผีทเวนในปี 1915 หลังจากนั้นเธอและ Lola Hays ก็เลยจัดการเอากระดาน Ouija มาติดต่อและได้รับคำสั่งให้ถ่ายทอดนวนิยายเรื่องนี้ขึ้น สุดท้ายหลังจากงานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ในปี 1917 ความเลอะเทอะก็นำมาซึ่งความขัดแย้ง โดยเฉพาะกับทายาทและผู้ดูแลลิขสิทธิ์และผลประโยชน์ของทเวน
เข้าไปดูต่อได้ที่ : publicdomainreview.org
Mythical Monsters
งานเขียนรวบตึงว่าด้วยสัตว์มหัศจรรย์และอสูรกายจากทั่วโลก Mythical Monsters เป็นงานเขียนเชิงรวบรวมเรียบเรียงของ Charles Gould ตีพิมพ์ในปี 1886 งานเขียนเล่มนี้เป็นการรวบรวมสัตว์ประหลาดจากในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก นับรวมตั้งแต่สัตว์ในนิทาน เพทนิยาย ตำนาน ปกรณัม เช่น มังกรของจีนและญี่ปุ่น ยูนิคอร์น นกฟีนิกซ์ ไปจนถึงงูยักษ์ที่บอกว่าพบได้แถบชายฝั่ง New England
เข้าไปดูต่อได้ที่ : publicdomainreview.org