สำหรับชาวโลกตะวันออกแบบเราๆ วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของพวกเราคือเราไม่ค่อยมีการแตะเนื้อต้องตัวกันเท่าไหร่โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ การสวมกอดเวลาเจอกัน จากกัน เลยดูเป็นวัฒนธรรมแบบฝรั่งซะมากกว่า เป็นพฤติกรรมที่เราไม่ค่อยจะชิน
ว่าไป ขนาดกับคนที่เราสนิทสนมคุ้นเคยมากๆ กระทั่งเพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัว เราเองก็ไม่ได้กอดกันบ่อยๆ จะกอดก็เก้อๆ เนอะ แต่ลึกๆ แล้ว การกอดมันก็ดีแหละ ถ้าไม่นับเรื่องเขิน
ถึงฝรั่งจะกอดกันบ่อย แต่ด้วยความที่โลกสมัยใหม่ก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมีความหม่นเศร้า อ้างว้างของกันและกัน เดินแบกความทุกข์กันไปมา ด้วยการโหยหาอ้อมกอดหรือการเชื่อมต่อกับมนุษย์ด้วยกัน เลยมีโครงการกอดฟรี หรือ free hug campaign ภาพที่เราคุ้นคือการที่มีซักคนถือป้ายเขียนว่า free hug แล้วก็ให้ชาวบ้านหรือคนแปลกหน้าแถวๆ นั้นเข้ามาสวมกอด
กอดฟรีมาจากไหน?
แคมเปญกอดฟรีเริ่มต้นที่ออสเตรเลีย ปี 2004 นาย Juan Mann (นามแฝง ออกเสียงว่า one man) ผู้ซึ่งตอนนั้นรู้สึกเศร้าโศกใจและหงอยเหงาจากปัญหาชีวิตที่พี่แกต้องเผชิญ พี่ Mann แกบอกว่าในวันที่เศร้าๆ คืนนึง พี่แกไปเที่ยวแล้วก็มีคนแปลกหน้ามากอดแกแรงๆ จากแรงกอดนั้นทำให้พี่แกรู้สึกว่า เฮ้ยนี่มันดีสุดๆ ไปเลย หลังจากนั้นคือ ในวันที่ 30 มิถุนายน พี่แกเลยเริ่มออกมาที่ Pitt Street Mall กลางเมือง Sydney แล้วก็เดินถือป้ายที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อแจกกอดให้กับคนแปลกหน้าที่เดินไปเดินมาในห้างนั้น
ผลในความพยายามครั้งแรกของพี่ Mann บอกว่าก็เก้ออยู่พอสมควร พี่แกบอกว่าพี่แกยืนถือป้ายตั้งเกือบชั่วโมงกว่าจะมีหญิงชราคนหนึ่งเดินเข้ามากอด แถมพอกอดๆ ไปเรื่อยๆ คนก็เริ่มรู้จักพี่แกแล้วก็เข้ามากอดมากขึ้น แต่อย่างว่าด้วยแนวคิดในการแบ่งปันความอบอุ่นให้กับคนแปลกหน้าผ่านการสวมกอดมันก็มีความเสี่ยงหลายๆ อย่าง ทางการเลยบอกว่าไม่ได้นะ เพราะยูไม่มีประกันที่เรียกว่า public liability insurance ต้องเลิกการแจกกอดนี่ซะ ผลคือมีการรณรงค์ต่อด้วยการให้ลงนามกันว่าควรให้มีการแจกกอดกันต่อไป ผลคือมีผู้มาร่วมลงนามกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ และนาย Mann ก็ได้รับอนุญาตให้ทำการ Free Hug ต่อไปได้
กระแสการรณรงค์ของ Mann เป็นที่เลื่องลือมาก มีการนำไปทำเป็น MV แถมพีคสุดคือในเดือนตุลาคมปี 2006 Mann ได้รับเชิญให้ไปออกรายการ Oprah ของ Oprah Winfrey ซึ่งโครงการ Free Hug ได้กลายเป็นกระแส และมีการรณรงค์ต่อๆ กันไปจนเกือบทั่วโลก
กอดกับแกร่ง
การกอดเป็นการแสดงออกในการเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นๆ มีการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการสวมกอดอยู่ไม่น้อย เช่นพบว่าการสวมกอดนั้นส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง และมีผลกับการผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า oxytocin ซึ่งมันเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างสายสัมพันธ์ของบุคคล
ประเด็นเรื่องการกอดไปทั่ว กอดกับคนแปลกหน้าก็มีประเด็นที่ว่า เฮ้ย มันจะเป็นการแพร่เชื้อโรครึเปล่านะ มันจะทำให้เราป่วยรึเปล่า ล่าสุดผลการศึกษาจาก Carnegie Mellon University พบผลในทางตรงกันข้าม คือพบว่าด้วยความที่การกอดมันทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ มันทำให้ร่างกายเรามีภูมิต้านทานมากขึ้น เวลาที่เราเครียดมันทำให้เราป่วยง่าย การกอดจึงทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
ในเชิงสังคม การสวมกอดคนแปลกหน้ามันก็ทำให้เรารู้สึกแปลกแยกจากสังคมน้อยลง จากใบหน้าที่เรารู้สึกว่าเป็นคนอื่น เป็นคนแปลกหน้า แต่ไอเดียที่ให้เราสวมกอดคนอื่นมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าโลกที่เต็มไปด้วยคนอื่นมันเบาบางลงนิดหน่อย
ในอีกทางมันก็มีความเสี่ยงที่เราต้องนึกถึงด้วย เพราะการกอดมันยังมีนัยของความใกล้ชิดอื่นๆ เช่นเชิงชู้สาวแฝงอยู่ด้วย แต่ด้วยเจตนา ด้วยภาษากายมันก็สัมผัสได้แหละ
ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่การกอด
การกอดมันเป็นเรื่องดี เป็นวิธีการที่มนุษย์เชื่อมโยงและเยียวยากันและกัน แต่การกอดก็มีเรื่องที่ระมัดระวังอยู่ ทั้งในเชิงความหมายและความเหมาะสมต่างๆ ซึ่งสำหรับบ้านเราก็อาจถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยชิน กับการแสดงออกแบบถึงเนื้อถึงตัว
ในแง่ของกระแสที่เกิดขึ้น ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่การ ‘กอด’ เพราะฟังก์ชั่นของการกอด เช่นในห้วงเวลาที่เกิดความเสียใจที่ผ่าน เราก็เห็นภาพของคนที่ร้องไห้และโผเข้าสวมกอดกัน ท่ามกลางความรู้สึกที่แห้งแล้งของความสูญเสีย การเห็นภาพหรือการสวมกอดมันก็เป็นสัญญาณที่ช่วยนำพามนุษย์อย่างเราๆ ให้หัวใจไม่แห้งผากจนเกินไปนัก