เวลาที่เราอยากรู้เรื่องอะไรสักเรื่อง สารานุกรมดูจะเป็นแหล่งอ้างอิงลำดับแรกๆ ที่เราสามารถไปเปิดดูเพื่อเริ่มต้นค้นคว้าเรื่องราวหรือประเด็นนั้นๆ
สารานุกรมเป็นเสมือนคลังความรู้คร่าวๆ ที่ผู้จัดทำนำองค์ความรู้ต่างๆ มาเขียนไว้ จัดจำแนกเป็นประเด็นๆ เป็นหัวเรื่องต่างๆ แล้วมักเอามาเรียงลำดับตามตัวอักษรในทำนองเดียวกับพจนานุกรม สารานุกรมที่เราคุ้นๆ ก็มีตั้งแต่แบบที่เป็นความรู้ทั่วๆ ไป มักเป็นสารานุกรมที่หน่วยงานใหญ่ๆ จัดทำขึ้น บางเล่มเขียนขึ้นเป็นภาษาประจำชาติ กึ่งๆ ว่าเป็นคลังความรู้ประจำชาตินั้นๆ บ้านเราก็มีสารานุกรมไทย ของอังกฤษก็มี Britannica นอกจากความรู้ทั่วไปแล้วเราก็มีสารานุกรมความรู้เฉพาะต่างๆ
ด้วยความที่สารานุกรมเป็นเหมือนรวมมิตรความรู้ เป็นหนังสือประเภทหนังสืออ้างอิงที่เราเอาไว้ค้นแค่บางเรื่องบางประเด็น ไม่ค่อยได้อ่านทั้งเล่มเท่าไหร่ เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล พวกสารานุกรมทั้งหลายก็เริ่มผันตัวเองมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น บางหัวก็ตอบรับว่าความรู้เป็นสิ่งที่ควรเผยแพร่ ก็เลยมีการเปิดให้เข้าอ่านหาความรู้กันได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กลายเป็นสบายผู้อ่านอย่างเราที่เมื่อสนใจเรื่องอะไร เราก็สามารถไปจิ้มๆ หาได้อย่างรวดเร็ว แถมด้วยความเป็นมัลติมีเดีย ตัวสารานุกรมยุคใหม่จึงมีลูกเล่น มีประเด็นเรื่องความรู้ที่ไม่ใช่แค่ข้อเขียนแต่รวมถึงกราฟิก วิดีโอ ไปจนถึงการออกแบบเชิงปฏิสัมพันธ์ให้เราได้กดได้เล่นกัน
ตัวสารานุกรมฟรีที่เอามาแนะนำมีทั้งสารานุกรมความรู้ทั่วไป สารานุกรมเชิงวิชาการหน่อย สารานุกรมว่าด้วยปรัชญา สารานุกรมสนุกๆ ว่าด้วยนิยายแนววิทยาศาสตร์ ไปจนถึงการรวบรวมเชิงข้อมูลของโลกยุคปัจจุบัน
The Canadian Encyclopedia
การจะถ่ายข้อมูลจากสารานุกรมเล่มหนาๆ จำนวนมหาศาลเป็นโครงการที่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ พวกสารานุกรมอ้างอิงเจ้าใหญ่ๆ บางเจ้าที่เผยแพร่ทางออนไลน์จึงมักมีการเก็บค่าสมาชิกบ้าง The Canadian Encyclopedia เป็นสารานุกรมของทางแคนาดาที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าอ่านได้ฟรีๆ มีระบบเสิร์ชเอนจิ้นที่ดี สารานุกรมแคนาดานี้ผลิตขึ้นในปี 1985 ในฐานะสารานุกรมประจำชาติ จนกระทั่งในปี 2001 ที่ทางแคนาดาถ่ายโอนสารานุกรมขึ้นสู่โลกออนไลน์และเปิดให้เข้าอ่านได้ฟรี ใครที่อยากอ้างอิงเรื่องทั่วไป ไปจนถึงเรื่องเฉพาะของทางแคนาดา เช่น เรื่องเชิงสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ก็ลองไปจิ้มๆ อ่านได้ สนุกดี มีเกือบแสนหัวเรื่อง
ไปลองเสิร์จเรื่องที่อยากรู้ได้ที่ : www.thecanadianencyclopedia.com
Oxford Research Encyclopedias
Oxford Research Encyclopedias เป็นสารานุกรมเชิงวิชาการที่ทางต้นสังกัดบอกว่าอยากจะสร้างแหล่งอ้างอิงสำหรับนักวิชาการและนักเรียนนักศึกษาที่ทั้งอัพเดตและเชื่อถือได้ ตัวสารานุกรมนี้จึงรวมงานอัพเดตที่มีการคัดกรองแล้วจากนักวิขาการทั่วทุกมุมโลก ใครที่ทำวิจัยหรือสนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงความรู้ก็ไปลองส่องๆ จากเว็บนี้ได้ ตัวสาขาที่ทางสารานุกรมนี้จัดทำค่อนข้างครอบคลุม แต่ว่าทาง Oxford เองก็บอกว่าการทำสารานุกรมนี้มีค่าใช้จ่ายนะ บางเนื้อหาเลยต้องมีการจ่ายเงินถึงจะอ่านได้ ก็ไปลองจิ้มๆ ดู มีทั้งที่อ่านฟรีและไม่ฟรี แต่โดยรวมแล้วดีนะ มีหัวเรื่องใหม่ๆ อัพเดตๆ ทันสมัยให้ได้อ่าน
ไปลองเสิร์จเรื่องที่อยากรู้ได้ที่ : oxfordre.com
Stanford Encyclopedia of Philosophy
พนมมือให้กับ Stanford University สำหรับสารานุกรมทางปรัชญา เว็บไซต์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งความรู้สำคัญที่ใหญ่โตและละเอียดถี่ถ้วนในประเด็นต่างๆ ของทางแขนงวิชาปรัชญา ใครที่อยากรู้ตั้งแต่แนวคิด อยากรู้จักนักปรัชญาเป็นคนๆ ไปจนถึงยุคสมัยความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ก็สามารถเข้าไปลองอ่านดูและค้นคว้าต่อไปได้อย่างสะดวกสบาย เป็นอีกสารานุกรมออนไลน์ฟรีที่เอาไว้ทั้งอ้างอิงและใช้อ่านเพลินๆ เข้าใจเรื่องยากๆ ได้ไม่ยากนัก
ไปลองเสิร์จเรื่องที่อยากรู้ได้ที่ : plato.stanford.edu
Scholarpedia
Scholarpedia บอกว่าตัวเองได้แรงบันดาลใจมาจาก Wikipedia และอยากจะสร้างชุมชนองค์ความรู้ที่ลึกซึ้ง—มีความเป็นวิชาการจากในแขนงต่างๆ ตั้งแต่ฟิสิกส์ ชีววิทยา ไปจนถึงสังคมศาสตร์ Scholarpedia เปิดให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกเขียนเนื้อหาลงสารานุกรมได้ โดยตัวสารานุกรมจะใช้วิธีแบบโลกวิชาการคือมีผู้เชี่ยวชาญ (peer review) อ่านคัดกรองและปรับปรุงเนื้อหาก่อนเผยแพร่ ดังนั้นงานเขียนหรือชุดความรู้ต่างๆ ในเว็บจะค่อนข้างอัพเดต มีความเป็นวิชาการสูง อาจจะเฉพาะเจาะจงไปในแต่ละสาขา คนทั่วไปอาจจะงงๆ หน่อย
ไปลองเสิร์จเรื่องที่อยากรู้ได้ที่ : www.scholarpedia.org
The Encyclopedia of Science Fiction
มาสู่สารานุกรมสนุกๆ The Encyclopedia of Science Fiction สารานุกรมที่รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งนวนิยายวิทยาศาสตร์—แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นนวนิยายแต่ในโลกที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ประเด็นทั้งหลายที่เคยอยู่ในนวนิยายตอนนี้เริ่มกลายมาเป็นเรื่องที่สร้างความยุ่งยากให้เราแล้ว สารานุกรมนี้จึงเหมาะทั้งกับคนที่อยากรู้เรื่องงานเขียนไซไฟ และคนที่สนใจประเด็นร่วมสมัย เช่น โคลนนิ่ง ไทม์แมชชีน
ไปลองเสิร์จเรื่องที่อยากรู้ได้ที่ : www.sf-encyclopedia.com
Our World in Data
เว็บนี้ไม่เชิงเป็นสารานุกรมแบบดั้งเดิม แต่เป็นคลังข้อมูล Data อัพเดตใหม่ล่าสุดในแง่มุมต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก Our World in Data ต้องการจะแสดงให้เห็นความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของโลกผ่านชุดข้อมูลและกราฟ ข้อมูลที่เอามาแสดงไว้กินเนื้อหาน่าสนใจตั้งแต่ ประเด็นเรื่องรายได้ พลังงาน การศึกษา เรื่องภัยทางธรรมชาติ ไปจนถึงทัศนคติต่างๆ
ไปลองเสิร์จเรื่องที่อยากรู้ได้ที่ : ourworldindata.org