“เป็นเซลส์ขายวัคซีนซิโนแวค ให้กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ประโยคที่ไม่ว่าใครก็ตามได้อ่านสามารถเห็นภาพชัดเจนว่าชายคนนี้ทำงานร่วมกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอาจจะมีเรื่องผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันอยู่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สื่อหลายแห่งเลือกที่จะหยิบนำไปเล่าต่อ ซึ่งต่อมาภายหลังก็มีข่าวออกมาอีกว่ามันเป็นข้อมูลเท็จ มีการจับกุมผู้กระทำผิดโทษฐานแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงของ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ เพิ่มเติมเข้าไปบนเว็บไซต์ Wikipedia
ตอนนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อความเป็นจริงหรือไม่ มีมูลเหตุมากน้อยขนาดไหน เพราะข้อความดังกล่าวนั้นมาจาก Wikipedia ที่เป็น “สารานุกรมเสรีที่ร่วมสร้างขึ้นโดยผู้อ่านหลายคนร่วมกันปรับปรุงวิกิพีเดียอย่างสม่ำเสมอ ระบบของวิกิพีเดียจะแตกต่างจากแหล่งข้อมูลอื่น ที่ทุกคนสามารถร่วมแก้ไขได้ ไม่เฉพาะเจ้าของเว็บไซต์” เพราะฉะนั้นหมายความว่าคนทั่วไป คุณหรือผมเองก็สามารถที่จะเข้ามาแก้ไขรายละเอียดบน Wikipedia ได้ ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะจริงเท็จแค่ไหน
แถมยังไม่พอ ในเว็บไซต์เองก็มีระบุเอาไว้เรื่องความรับผิดชอบว่า “วิกิพีเดียไม่อาจรับประกันความถูกต้องแม่นยำของสารสนเทศในเว็บไซต์นี้ได้”
เว็บไซต์ Wikipedia มีทั้งหมดมากกว่า 300 ภาษา มากกว่า 55 ล้านบทความ และมีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 20,000 ล้านครั้งจากทั่วโลกทุกเดือน บนสารานุกรมเสรีแห่งนี้มีจำนวนผู้เรียบเรียงและคนที่คอยตรวจสอบแก้ไขข้อมูลกว่า 200,000 คนต่อวัน และเพิ่งจะฉลองวันเกิดครบรอบ 20 ปีไปเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา
Wikipedia ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.2001 โดย จิมมี เวลส์ (Jimmy Wales) และ แลร์รี แซงเจอร์ (Larry Sanger) โดยคำว่า ‘วิกิพีเดีย’ เป็นคำที่ผสมผสานกันขึ่นมาระหว่างคำว่า ‘wiki’ ที่เป็นลักษณะการสร้างเว็บไซต์แบบมีส่วนร่วม (คำในภาษาฮาวายที่แปลว่า ‘เร็ว’) และ ‘pedia’ มาจากคำว่า ‘encyclopedia’ ที่แปลว่าสารานุกรม ตอนนี้ Wikipedia กลายเป็นสารานุกรมเสรีที่ใหญ่ที่สุดและมีคนเข้าถึงมากที่สุดในโลก โดยคนที่เข้ามาเขียนแก้ไขและตรวจสอบล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น ถ้าเราเอาแค่บทความที่เป็นภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวกว่า 6 ล้านบทความ ก็จะได้สารานุกรมกว่า 2,800 เล่ม
Alexa Internet บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตบอกว่า Wikipedia เป็นเว็บไซต์ที่มีความนิยมสูงเป็นอันดับ 13 ของโลก มากกว่า Reddit, Netflix หรือ Instagram ด้วยซ้ำ
Wikipedia เป็นความสำเร็จอันแปลกประหลาด มันไม่เหมือนกับบริษัทใหญ่ๆ ในซิลิคอนแวลลีย์ ไม่มีผู้ถือหุ้น ไม่ได้ทำให้ใครร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี และไม่มีการขายพื้นที่โฆษณา ไม่ได้เอาเงินนักลงทุนมาเผาเล่นเพื่อการขยายตลาด Wikipedia เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติเพราะคนทั่วไปใช้เวลาและความสามารถของตัวเองเพื่อหาข้อมูลมาเขียน รากฐานของเว็บไซต์คือแนวคิดที่แสดงถึงความเชื่อเชิงบวกของเทคโนโลยีในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 20 ที่เชื่อว่ามนุษย์จะใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือเพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพ การศึกษา และความรู้แจ้งทางความคิด
แต่แน่นอนว่าประเด็นของ Wikipedia นั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมาก ไมเคิล กอร์แมน (Michael Gorman) อดีตประธานสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association) กล่าวเชิงเย้ยหยันว่า “บางคนสนับสนุน Wikipedia อย่างหมดหัวใจ อันนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ผมงงมาก ศาสตราจารย์ที่สนับสนุนการใช้งานของ Wikipedia ก็เทียบเท่าทางสติปัญญากับนักโภชนาการที่แนะนำให้ทานบิ๊กแม็กกับทุกอย่างเป็นประจำ” และถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีคนเริ่มใช้ Wikipedia เป็นข้อมูลอ้างอิงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเว็บไซต์ก็ยังไม่มีเครดิตหรือน้ำหนักเทียบเท่ากับสารานุกรมอย่าง ‘Britannica’ ที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาอยู่ดี โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สื่อชื่อดังทั่วโลกก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการอ้างอิงข้อมูลจาก Wikipedia ถ้าเป็นไปได้
ทุกอย่างที่เราเห็นบน Wikipedia นั้นเป็นการทำแบบไม่มีผลตอบแทน เป็นธรรมชาติของการร่วมมือกันของบางคน บางแห่ง ที่มีความสนใจความเชี่ยวชาญในบางเรื่อง (ที่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่ลึกมากๆ) และทุ่มเทเวลาเพื่อสร้างมันขึ้นจากความรู้ที่ตัวเองมี เช่นถ้าอยากรู้ว่าตัวละครใน Justise League of America มีใครบ้าง หรือผลสกอร์ของการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียลีกทุกนัดตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 หรือแม้แต่ภูเขาไฟในประเทศอินโดนีเซียชื่ออะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เราหาได้บนสารานุกรมเสรีแห่งนี้
ถึงแม้ว่าในมุมมองของนักวิชาการ Wikipedia จะไม่ใช่แหล่งข้อมูลที่อาจจะถูกต้องนัก แต่มันกลับกลายเป็นเว็บไซต์ที่มีการอ้างอิงถึงอย่างกว้างขวางบนโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อโซเชียลมีเดียถูกโจมตีเกี่ยวกับการปิดบังข้อมูล ข่าวปลอม ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่ทฤษฎีสมคบคิด ความน่าเชื่อถือของ Wikipedia จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายคนพูดถึง โทบี นีกริน (Toby Negrin) ผู้ดูแล Wikimedia Foundation องค์กรการกุศลที่เป็นผู้ดูแลระบบหลังบ้านของเว็บไซต์ Wikipedia บอกว่าสารานุกรมเสรีแห่งนี้คือ “Guardian of Truth” หรือ “ผู้พิทักษ์ความจริง”
มันอาจจะฟังดูหรูหราอลังการเป็นอย่างมาก แต่ว่าบริษัทเทคโนโลยี่ใหญ่ๆ ก็เริ่มใช้ Wikipedia เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลเพื่อเป็นตัวกลางตัดสินเช่นกัน อย่างกรณีวิดีโอบน YouTube ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดก็จะถูกแท็กด้วยคำเตือนที่มาจาก Wikipedia หรืออย่าง Facebook เองก็ใช้ Wikipedia เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรือสื่อที่เป็นแหล่งที่มาของบทความที่แชร์บนแพลตฟอร์มด้วย แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังร่วมมือกับ Wikipedia เพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมเกี่ยวกับ COVIF-19 โดยจะเอาข้อมูลที่ถูกต้องไปวางไว้บนสารานุกรมเสรีแห่งนี้ เพื่อให้มีการแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องและตรวจสอบจาก WHO มาแล้ว
มูลค่าของตัว Wikipedia เป็นอะไรที่ยากคำนวณ รายได้ของเว็บไซต์มาจากทุนการกุศลและการบริจาคของผู้ใช้งานทั่วไป
ในปี ค.ศ.2018 มีงานศึกษาหนึ่งที่บอกว่าเว็บไซต์นี้มีมูลค่าราวๆ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แค่จากการใช้งานของประเทศอเมริกาเพียงอย่างเดียว บริษัทมากมายใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์นี้เพื่อธุรกิจ อย่าง Alexa หรือ Siri ก็เอาข้อมูลจากตรงนี้ไปใช้งานต่อ หรือแม้แต่ Google หรือ Facebook ก็ตาม ที่ทำให้การใช้งานของ Wikipedia สูงขึ้นเรื่อยๆ จากการค้นหาและอ้างอิง
แต่ยิ่ง Wikipedia ถูกอ้างอิงและเข้าถึงมากเท่าไหร่ มันก็มีปัญหาที่ตามมาด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลที่เขียนนั้นไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ ดิแลน บรีฟส์ (Dylan Breves) เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ได้เข้าไปแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับตัวโคอาทีที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยในแถบอเมริกาใต้ เขาเขียนเอาฮาว่าเจ้าตัวนี้มีชื่อเล่นว่า “Brazilian aardvark” โดยไม่ได้ใส่ที่มาหรืออ้างอิงจากแหล่งใดๆ ซึ่งแน่นอนว่าที่เขาไม่ใส่ก็เพราะเขาสร้างมันขึ้นมาเอง ปัญหาต่อมาคือมีคนเอาข้อมูลตรงนี้ไปใช้ในเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย มีหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกอ้างอิงถึงชื่อนี้ด้วย หรืออย่างตอนที่มีคนใส่ข้อมูลแบบผิดๆ ของนักแสดง ซาชา บารอน โคเฮน (Sacha Baron Cohen) ว่าเขาเคยทำงานที่ Goldman Sachs ทั้งที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวเลย กว่าจะเอาข้อมูลออกได้ก็ใช้เวลานาน เพราะมันไปปรากฏบนบทความบนอินเทอร์เน็ตที่กระจายไปทั่วแล้ว (สื่ออย่าง Independent ยังมีบทความที่มีข้อมูลที่ผิดตรงนี้อยู่เลย)
สจ๊วต กายเกอร์ (Stuart Geiger) นักศึกษาปริญญาเอกสาขาที่ University of California, Berkeley พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอีเมลที่ตีพิมพ์ในสื่อ The New Yorker ว่า
“ในฐานะของคนเขียนบทความบท Wikipedia มายาวนานคนหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดเป็นอย่างมากเมื่อผู้รายงานข่าวไม่ทำการตรวจสอบข้อมูลของ Wikipedia ก่อนแล้วสุดท้ายก็ทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำเดิม Wikipedia จะสามารถทำหน้าที่ของมันได้ตราบเมื่อเราอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่เชื่อถือได้เท่านั้น”
แต่ก็ไม่ใช่ว่าแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือจะผิดพลาดไม่ได้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจอย่างเรื่องวันเกิดของ จิมมี เวลส์ ที่ในสารานุกรม Britannica บอกว่ามันคือวันที่ 7 สิงหาคม โดยอ้างอิงมาจากทะเบียนสมรสของเขาเอง เวลส์ออกมาบอกว่าทะเบียนสมรสมีความผิดพลาดทางข้อมูล ความจริงแล้ววันเกิดของเขาคือวันที่ 8 สิงหาคม แต่ด้วยความที่ Wikipedia ต้องอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ วันเกิดของเขาบน Wikipedia ก็ยังเป็นวันที่ 7 สิงหาคมอยู่ ซึ่งจากการตรวจสอบจากเว็บไซต์ Nature ในปี ค.ศ.2005 ก็พบว่าความจริงแล้วข้อมูลที่ผิดพลาดทั้งบน Wikipedia หรือ Britannica ก็แตกต่างกันไม่มากในบทความทั่วไป (Britannica ออกมาโต้แย้งถึงประเด็นนี้เช่นกัน)
แต่ด้วยธรรมชาติและโครงสร้างของมันจึงทำให้ยากที่จะอธิบายได้ว่าข้อมูลของ Wikipedia ก็น่าเชื่อถือพอๆ กับแหล่งข้อมูลอื่นๆ โดยเฉพาะช่องโหว่ที่คนไม่ประสงค์ดีสามารถเข้ามากลั่นแกล้งและแก้ไขข้อมูลที่เป็นเท็จจนก่อให้เกิดความเสียหาย อาจจะเป็นบอตหรือผู้ที่เข้ามาหาผลประโยชน์ทางการเมืองหรือความแตกแยก แต่ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่ามีความพยายามแก้ไขจุดอ่อนนี้อยู่บ้าง อย่างช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี การจะแก้ไขข้อมูลเกี่ยวข้องกับบทความเหล่านี้ บัญชีต้องมีอายุมากกว่า 30 วัน และต้องเคยแก้ไขมาแล้วอย่างน้อย 500 ครั้ง
เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า “เราเชื่อถือ Wikipedia ได้ไหม?” คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คงต้องบอกว่าเชื่อได้พอๆ กับเวลามีใครสักคนหนึ่งมาบอกเราเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตาม แล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปเช็กแหล่งข้อมูลอีกทีว่ามาจากไหนอีกที อย่างน้อยๆ ข้อดีของเว็บไซต์ก็คือว่า เวลาเราเห็นบทความบท Wikipedia ทั้งโลกก็เห็นด้วยเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้มันถูกตรวจสอบอยู่เสมอโดยเฉพาะในประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม เพราะธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่งคือเราอยากจะพิสูจน์ว่าความเชื่อของเรานั้นถูกต้อง หรือเวลาเห็นข้อมูลผิดๆ เราจะพยายามแก้ไขให้มันถูกถ้าเป็นเรื่องที่เราสนใจ
Wikipedia เป็นพื้นที่เปิดให้ใครก็ตามที่มีความรู้ถ่ายทอดข้อมูลที่มีประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เกิดข้อมูลที่ผิดพลาดแพร่กระจายออกไปได้เช่นเดียวกัน มันถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน และตรวจสอบโดยผู้ใช้งานที่เต็มไปด้วยความสงสัยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทั่วโลก
วิสัยทัศน์ของ Wikipedia คือ “โลกที่มนุษย์ทุกคนสามารถแชร์ความรู้ต่างๆ ได้” ผ่านมา 20 ปี ที่มันทำหน้าที่นั้นได้อย่างดีเยี่ยม ข้อมูลที่สามารถแก้ไขและเขียนได้โดยทุกคนเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน เราในฐานะผู้ใช้งานต้องทราบในจุดนี้ แม้ว่าเราจะมีฐานข้อมูลที่เป็นเหมือนสมองของโลกใบนี้ แต่ก็เหมือนกับสมองอีกนั่นแหละ บางทีมันก็ผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีใช้มันเป็นจุดเริ่มต้นของการหาข้อมูล ไม่ใช่จุดจบหรือแหล่งข้อมูลที่เอาไปอ้างอิงได้ทั้งหมดอย่างไม่คลางแคลงสงสัย
อ้างอิงข้อมูลจาก
วิกิพีเดีย:ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ – วิกิพีเดีย
Is Wikipedia trustworthy when it comes to science? – The Washington Post
How a Raccoon Became an Aardvark | The New Yorker
New Test to Provide Context About Articles – About Facebook
Wikipedia and W.H.O. Join to Combat Covid-19 Misinformation – The New York Times
Free Online Encyclopedia. Wikipedia has gained a status of a new… | by Hiroshi Hatano | Medium
Baron Cohen comes out of character to defend Borat | The Independent | The Independent
Can we trust Wikipedia? 1.4 billion people can’t be wrong | The Independent | The Independent
Illustration by Sutanya Phattanasitubon