นับตั้งแต่การยึดนำอาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสรีภาพสื่อมวลชนในไทยด่ำดิ่งตกต่ำมากขึ้นทุกปี
การเซ็นเซอร์ข่าวสารเกิดขึ้นทั้งจากทางภาครัฐและทางกองบรรณาธิการ โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญตัวหนึ่งคือ ดัชนีเสรีภาพสื่อที่จัดโดย องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters sans frontiers : RSF) ที่เปิดเผยว่า ในปี 2563 เสรีภาพสื่อไทยตกจากอันดับ 136 ในปี 2019 มาเป็นอันดับ 140 ในปี 2020
และถึงแม้ เราอาจเห็นการเกิดขึ้นของสื่อใหม่มากมาย แต่ในเชิงคุณภาพทางเนื้อหาที่เข้มข้นและพูดถึงประเด็นถกเถียงของสังคมอย่างรายการ ‘ตอบโจทย์ประเทศไทย’ ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ทางช่อง ไทยพีบีเอส อาจพูดได้ว่าลดลง และแทบไม่มีให้เห็นอีกแล้ว โดยเฉพาะในสื่อกระแสหลัก
กรณีล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนว่า มีความพยายามคุกคามสื่อคือ กรณีที่เอกสารลับระบุให้ มีการทบทวนเนื้อหาใน 4 สื่อ หนึ่งในนั้นคือ วอยซ์ ทีวี (Voice TV) และถึงแม้ ท้ายสุดศาลจะพิจารณายืนยันว่ารัฐธรรมนูญระบุให้มีการปกป้องคุ้มครองสื่อ และกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ปิดสถานีข่าว ทำได้เพียงระงับบางข้อมูลข่าวสาร
แต่คำตัดสินย่อมสำคัญเท่าๆ กับ ‘เจตนา’ ของผู้ใช้อำนาจที่พยายามคุกคาม ปิดปากสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ยืนตรงข้ามรัฐบาล
อันที่จริง การคุกคามสื่อมวลชนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่มันเป็นภัยที่มีมาอย่างสม่ำเสมอตลอดประวัติศาสตร์สังคมไทย
วันนี้เราจึงขอชวนย้อนดูการคุกคามสื่อในช่วงกว่าสองทศวรรษหลัง ที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการสลับสับขั้วอำนาจทางการเมืองไทย รวมถึงเครื่องมือประการต่างๆ ที่ผู้มีอำนาจใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนในสังคมไทย
การคุกคามสื่อในช่วงกว่าสองทศวรรษของสังคมไทย
ในช่วงก่อนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร สื่อส่วนใหญ่ส่งสารที่สนับสนุนการทำงานและนโยบายของรัฐบาล มีเพียงรายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์’ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล และ สโรชา พรอุดมศักดิ์ ที่ถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ MCOT หรือช่อง 9 เท่านั้น ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 15 กันยายน 2549 ผู้บริหารช่อง 9 ก็ได้ตัดสินใจถอนรายการดังกล่าวออกจากผังรายการ ซึ่งไม่มีสาเหตุแน่ชัด บ้างก็ว่าเป็นเพราะมีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ และบ้างก็ก็ว่าโดนกดดันจากทางรัฐบาล อย่างไรก็ดี ในท้ายสุด สนธิ ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการสู่ ‘เมืองไทยสัญจร’ ออกไปจัดรายการตามจุดต่างๆ และถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม Asia Satellite TV หรือ ASTV
ทางด้านทีวีของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. ถูกปิดหลายครั้งหลายครา แต่กรณีที่เด่นที่สุดคงไม่พ้น ระงับสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ D-station จนทำให้กลุ่ม นปช. เคลื่อนไปปิดล้อมสถานีไทยคม แต่อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถขัดขวางได้สำเร็จ
ถึงแม้ ต่อมาD-station จะเปิดตัวใหม่ภายใต้ชื่อสถานีข่าวเอเชีย อัปเดต แต่ก็ต้องปิดตัวลงอีกครั้ง หลังการยึดอำนาจของ คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่สถานีเหมือนยังไม่ยอมแพ้ เพราะได้เปิดสถานีใหม่อีกครั้งในชื่อ ทีวี 24 ซึ่งในท้ายสุดก็ต้องปิดลง ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ
แต่ข้อสังเกตในกรณีดังกล่าวคือ ทีวี 24 ถูกระงับสัญญาณ และถอดรายการครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีการสั่งปิด 7 วัน 1 ครั้ง ปิด 30 วัน 1 ครั้ง และระงับรายการ 15 วัน 1 ครั้ง โดยอ้างว่าออกอากาศที่มีเนื้อหาในบางรายการไม่เหมาะสม ไม่มีความเป็นกลาง และไม่มีการให้ข้อมูลรอบด้าน
อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คือการถอดรายการ ‘ตอบโจทย์ประเทศไทย’ ทางช่อง ไทยพีบีเอส หลังจัดให้ นักวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่าง สมศักดิ์ เจียรมธีรสกุล ออกมาถกเถียงโต้แย้งกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนฝ่ายขวาหัวก้าวหน้า และผู้ก่อตั้งสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ในประเด็นสถาบันกษัตริย์
และถึงแม้ว่าจนถึงตอนนี้ ภิญโญ จะไม่เคยออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เหตุใดรายการของเขา และตัวเขาถึงแยกทางกับไทยพีบีเอส แต่บทกลอนหนึ่งที่เขาส่งให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อาจช่วยคลายลับลมคมในได้บ้าง
“…. เราจุดไฟเพื่อให้เกิดปัญญาอวิชชาดับไฟแล้วป้ายสี
เหยียบให้ดิ้นกดให้จมธรณี
หรือนี่คือคำตอบประเทศไทย
ตายทั้งเป็นแล้วยังไล่ไม่ให้อยู่
น่าอดสูแผ่นดินไทยไร้ผู้กล้า
ถ้าไม่ลุกขึ้นสู้อวิชชา
ต่อไปนี้จงก้มหน้าอย่าได้เงย…”
บอร์ด กสทช.
ในยุคที่โทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลักที่สื่อสารกับคนจำนวนมากของประเทศ บอร์ดของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรียกได้ว่ามีเป็นเหล่าผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการรับรู้ของประชาชน และมีอำนาจคอยกำกับปากสื่อ
ภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. อำนาจของ กสทช. บิดเบี้ยวมากขึ้น โดยเฉพาะจากอำนาจตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 ที่ให้อำนาจ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ และยิ่งเข้มข้นมากขึ้น เมื่อ คสช. ได้มีประกาศแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับที่ 103/2577 ที่ให้อำนาจ กสทช. สามารถลงดาบสั่งปิด หรือระงับสถานีโทรทัศน์ช่องไหนก็ได้
โดยในช่วงปี 2559 บอร์ดกสทช. ได้มีมติระงับรายการ ‘Wake Up News’ ของช่องวอยซ์ ทีวี เป็นเวลา 7 วัน รวมถึงระงับการทำหน้าที่พิธีกรของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือหม่อมปลื้ม และอธึกกิต แสวงสุข หรือ ‘ใบตองแห้ง’ เป็นเวลา 10 วัน รวมถึงมีการปรับทางสถานี เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท ฐานฝ่าฝืนข้อห้ามในประกาศ คสช.
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 กสทช. ยังลงดาบซ้ำอีกครั้งกับวอยซ์ ทีวี โดยทำการระงับไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นเวลา 15 วัน โดยอ้างว่าทางสถานีเผยแพร่ข้อมูลที่ยุยง ปลุกปั่น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งที่ในช่วงนั้นกำลังใกล้ถึงการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 แล้ว
ข้อสังเกตุ จากผู้เขียนประการหนึ่งคือ การคุกคามวอยซ์ ทีวี อย่างไม่หยุดหย่อนจากทางผู้มีอำนาจและ กสทช. อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้วอยซ์ ทีวี ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เมื่อปี 2562 และหันมาเดินหน้าเสนอข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์แบบเต็มตัวด้วยหรือไม่
พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อมวลชน
ถึงแม้ พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริม จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… จะถูกคัดค้านจากคนในแวดวงวิชาชีพสื่ออย่างรุนแรง และเรียกว่ามันเป็นความพยายาม ‘ตีทะเบียนสื่อ’ แต่กฎหมายดังกล่าวที่ถูกเสนอผ่าน สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปท. ก็ผ่านการรับรองไปแล้ว
โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อนุญาตให้ตัวแทนจากภาครัฐ ได้แก่ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจในการ ออก-ถอน ใบอนุญาตในการทำงานของสื่อสารมวลชนคนใดก็ได้
นอกจากนี้ ยังบังคับให้ผู้มีวิชาชีพสื่อมวลชนทุกคน ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชนกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามอาจมีทั้งโทษจำคุกและปรับ บุคคลนั้นๆ หรือทางองค์กรสื่อเอง
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
นับตั้งแต่การเข้ามายึดอำนาจของ คสช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรี กลายเป็นเครื่องจักรหลักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ที่ไหลบ่าอย่างรุนแรงในโลกอินเตอร์เน็ต ผ่าน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
โดย พ.ร.บ.คอม มีปัญหาทั้งในเรื่องการตีความ และการให้อำนาจหน่วยงานภาครัฐกรั่นกรองข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และความสงบเรียบร้อยของสังคม กล่าวคือ ให้อำนาจหน่วยงานภาครัฐเป็นหมาเฝ้าบ้าน คอยขู่หรือกัดผู้ที่มีความคิดเห็นต่างตามดุลยพินิจของรัฐได้
โดยนอกจาก กรณีล่าสุดที่พยายามระงับการออกอากาศของวอยซ์ ทีวี แล้ว ก่อนหน้านี้ ยังมีการใช้ พ.ร.บ.คอม เพื่อปิดเพจ ‘รอยัลลิตส์ มาเก็ตเพลส’ ในเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่ามีเนื้อหายุยง ปลุกปั่น นำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงความจริง
นอกจากนี้ กรณีของ ไผ่-ดาวดิน หรือ จตุรภัทร บุญภัทรรักษา ที่แชร์บทความของบีบีซีไทย เกี่ยวกับพระราชประวัติของ ร.10 ก็ถูกแจ้งความในคดีหมื่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควบคู่ด้วยเช่นกัน ทำให้เขาต้องอยู่ในทัณฑสถานนานกว่า 2 ปี ทั้งที่ยังเป็นเพียงแค่นักศึกษา
ซึ่งข้อสังเกตในกรณีของ ไผ่ คือ เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเลือกดำเนินคดีกับไผ่ ทั้งที่บทความดังกล่าวมีผู้แชร์ไปมากมาย นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้ให้อำนาจกระทรวงดิจิทัลสามารถระงับข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้ เหตุใดจึงเลือกฟ้องร้อง ไผ่ แทนที่จะเลือกประสานไปยังสำนักข่าวบีบีซี เพื่อระงับข้อมูล
ดังนั้น อาจพูดได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกใช้เพื่อเหตุผลทางการเมืองของรัฐบาล คสช. มากกว่าเพื่อใช้ป้องกันเฟคนิวส์ อันเป็นปัญหาหลักของโลกอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันที่แท้จริง
อ้างอิง:
illustration by Waragorn Keeranan