ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย กลายเป็นเฟรชชี่ หลายคนก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศใหม่ๆ เพื่อนใหม่ ไปถึงกิจกรรมใหม่ๆ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่หลายมหาวิทยาลัยจัดไว้สำหรับเฟรชชี่ปีหนึ่ง ก็คือการประกวดดาว-เดือน
ซึ่งการประกวดดาวเดือนนี้ ก็มีตั้งแต่ในระดับของโต๊ะ สาขา คณะ ไปถึงมหาวิทยาลัย ที่เฟ้นหาคนหน้าตาดี พร้อมทัศนคติมาเป็นตัวแทนประจำตำแหน่ง และเป็นหน้าตาในระดับต่างๆ แต่ด้วยตำแหน่ง และสิทธิพิเศษของดาว-เดือนนี้ ก็ทำให้ช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา เกิดการตั้งคำถามถึง beauty privilege ว่าการประกวดเหล่านี้ ยิ่งเป็นการส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางรูปลักษณ์หรือเปล่า ?
สิ่งที่ตามมากับการตั้งคำถาม และกระแสต่อต้าน beauty privilege นี้ ก็ทำให้หลายคณะได้มีการปรับ เปลี่ยนรูปแบบการประกวดดาว-เดือน ไปถึงการยกเลิกการประกวดเหล่านี้ไป
เมื่อการประกวด ไม่ไปกับแนวคิดของคณะและสังคม จึงมีมติยกเลิก
หลายคณะเองก็ยังคงมีการประกวดดาว-เดือนเป็นปกติ แต่สำหรับปีนี้ เราเห็นการปรับเปลี่ยนที่มากขึ้น เมื่อหลายคณะได้มีการรับฟังความคิดเห็นนักศึกษาในคณะ และมีการทำประชามติว่า ยังควรมีกิจกรรมนี้อยู่หรือไม่ ซึ่งหลังการทำประชามติผ่านไป คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตก็ได้มีการประกาศยกเลิกการประกวดดาว-เดือน-ดิน และยกเลิกองค์กรดาว เดือน ดินของคณะแล้ว
คณะกรรมการนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ (กน.) ธรรมศาสตร์เล่าให้เราฟังว่า ทางคณะ กน. และองค์กรดาว-เดือน-ดิน ได้เห็นกระแสสังคมที่ต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางรูปลักษณ์ จึงได้มาเริ่มพูดคุยกันถึงความจำเป็นของการจัดประกวดดาวเดือน และเกิดเป็นการทำประชามติขึ้นมา
“ด้วยบริบทของความเป็นคณะสังคมสงเคราะห์ เราส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมในการเป็นมนุษย์ ทั้งความหลากหลายทางเพศ และด้านอื่นๆ ด้วย เราคิดว่ากิจกรรมนี้ มันยังส่งเสริมด้านสิทธิพิเศษ หรือ privilege อยู่มาก และมีความไม่เท่าเทียมด้วย
ตัวคณะ และนักศึกษาในคณะก็จะถูกหล่อหลอให้มีแนวคิดเหมือนกับคณะว่า เราเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน ที่จะพัฒนาคณะ พัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยได้ด้วยตัวเองทุกคน ก็เลยเป็นบริบทของคณะว่า ทำไมต้องมีตัวแทน ดาว เดือน ดิน ในเมื่อทุกคนสามารถเป็นตัวแทนของคณะ และเป็นในแบบของเราได้ทุกคน” คณะกรรมการนักศึกษาของคณะ และองค์กรดาว-เดือน-ดิน เล่าให้เราฟัง
โดยก่อนหน้านี้ คณะสังคมสงเคราะห์ก็เคยมีการปรับข้อจำกัดบางอย่างในการประกวดมาก่อนแล้ว ในการไม่จำกัดเพศในการประกวด “เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คณะเราก็มีแนวคิดเรื่องนี้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาคณะเราก็ปรับเปลี่ยนดาว-เดือน-ดิน ให้ผู้ชายก็สามารถประกวดได้ไม่ว่าจะเป็นดาว หรือเดือน หรือเพศไหนก็ลงตำแหน่งไหนได้ไม่มีการจำกัดเพศอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการผลักดัน คือ beauty privilege มากกว่า การที่บุคคลที่เป็นดาว-เดือน-ดิน สามารถได้ทำอะไรก่อนคนอื่นในคณะ หรือก่อนคนอื่นในสังคมมหาวิทยาลัย เราเลยผลักดันเรื่องนี้”
“คำว่าดาว เดือน เวลาคนมองมา ก็จะตีว่าจะต้องน่าตาดีเท่านั้น มันเป็นความคาดหวัง แต่ทางองค์กรไม่ได้ต้องการให้เห็นแบบนั้น เหมือนที่เราคัดมาเราไม่ได้ดูแค่หน้าตา เรายังดูเรื่องทัศนคติ แต่ว่าเมื่อคนนอกมองมา และกระแสสังคมเป็นแบบนี้ เราก็ต้องยอมรับว่า การประกวดไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ หรือสิ่งที่เราอยากบอกกับสังคม เราก็เลยต้องการจะยกเลิกการประกวด”
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลประชามติก็ออกมาด้วยเสียงส่วนใหญ่ของผู้มาใช้สิทธิที่โหวตว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกกิจกรรมนี้ ด้วยผู้ที่มาใช้สิทธิจำนวน 85.34% เห็นด้วยให้มีการยกเลิก ขณะที่ 14.66% ของผู้มาใช้สิทธิ มองว่าไม่ควรยกเลิก ซึ่งการลงมติครั้งนี้มียอดผู้ใช้สิทธิ 232 คน คิดเป็น 23.13% ของจำนวนนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ทั้งหมด
ย้อนไปในปี 2561 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกการประกวดดาว-เดือนของคณะเช่นกัน หลังนิสิตกลุ่มหนึ่งจึงได้รวมตัวกันส่งจดหมาย “ขอให้ทบทวนและยกเลิกการจัดประกวด ดาว เดือน และดาวเทียม” ไปยังนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งให้เหตุผลทั้งเรื่องของงบประมาณ การประกวดที่ยกคุณค่าของดาว-เดือนให้เด่น เหนือกว่าคนอื่น การประกวดไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนิสิตอย่างแท้จริง ไปถึงเรื่องการใช้คำว่าดาวเทียม ที่หมายถึงคำว่าไม่แท้ ไม่จริง เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วย
โดยผลประชามติของทางรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เองก็ปรากฏออกมาว่ายกเลิกการประกวด ด้วยคะแนนของนักเรียนชั้นปี 1 ในปีการศึกษานั้น จำนวน 54.62% เห็นว่าควรยกเลิกตำแหน่งดาว เดือน และดาวเทียม ส่วนนิสิตที่เห็นว่าไม่ควรยกเลิกมีทั้งหมด 43.46%
ยุคสมัยเปลี่ยน รูปแบบก็ต้องเปลี่ยนไป
นอกจากตัวคณะที่มีการเคลื่อนไหวด้วยการยกเลิก ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง ก็มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้เช่นกัน แต่จะไม่ใช่การยกเลิกไปเลย เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือเรียกได้ว่าปฏิวัติระบบเลยด้วย โดยปีนี้ จะไม่มีการเรียกว่าการประกวดดาว-เดือน หรือการคัดเลือกที่รูปลักษณ์หน้าตา แต่เป็นการค้นหาตัวแทนแกนนำที่จะมาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม
การประกวดของธรรมศาสตร์ในปีนี้ จะใช้ชื่อว่า คณะผู้เปลี่ยนแปลงสังคม หรือ ‘TU Progressive Movement’ โดยใช้วิธีการคัดเลือกตัวแทน 2 คนจากแต่ละคณะแบบไม่จำกัดเพศใดๆ ทั้งจะเวิร์กช็อป 2 ด้าน ทั้งด้านวิชาการ และด้านพัฒนาความเป็นผู้นำ เพื่อที่สุดท้ายจะได้ 6 แกนนำผู้เปลี่ยนแปลงสังคม ที่จะเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะการเมือง การศึกษา ปัญหาสังคม ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ
บัซซี่ – ศิวกรณ์ ทัศนศร ดาวมหาลัยธรรมศาสตร์ ปี 61 และประธานคณะกรรมการคัดเลือกคณะผู้เปลี่ยนแปลงสังคม เล่าประสบการณ์ของเธอเองว่า จากจุดที่เคยเป็นดาวมหาวิทยาลัย เธอก็เห็นทั้งข้อดี และข้อเสียของระบบ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอตั้งการปรับเปลี่ยนระบบดาวเดือนของมหาวิทยาลัยทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง
“จริงๆ การที่เราอยู่ในตำแหน่งดาว เราก็เห็นทั้งข้อดี และข้อเสียของระบบนี้ ซึ่งเราเองในฐานะที่เป็นดาวใหญ่ (หมายถึงดาวมหาวิทยาลัย) เขาก็มีการเลือกปฏิบัติด้วย ส่วนมากผู้หญิงแท้ ผู้ชายแท้ภาษีดีกว่า มีคนเลือกเทคแคร์ พอเป็นสาวประเภท 2 บางทีเขาก็ให้เราออกงานทีหลัง ซึ่งหลังๆ เราก็พยายามปรับระบบว่าถ้าจะออกงานต้องผ่านเราก่อนเท่านั้น ก็เป็นการแก้เกมอย่างนึง ซึ่งเราก็เห็นว่าระบบนี้ มันมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เลยอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน”
ไม่เพียงรูปแบบการคัดเลือกที่เปลี่ยนไป บัซซี่ยังเล่าแผนระยะยาวของคณะผู้เปลี่ยนแปลงสังคมให้เราฟังอีกว่า จะมีการลงมือปฏิบัติกิจกรรมทางสังคมจริงๆ และยังร่วมมือกับองค์กรทางสังคมภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย
“พอได้ 6 แกนนำที่จะขับเคลื่อนสังคมแล้ว ก็จะจัดตั้งเป็นชมรมที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมในประเด็นต่างๆ และคนอื่นที่อยากเข้ามาร่วมกิจกรรม ก็สามารถสมัครเข้ามาร่วมได้ เราใช้คำว่าคณะผู้เปลี่ยนแปลงสังคม เพราะว่าทุกคนจะเท่ากัน คณะนี้จะเป็นทีมเดียวกัน”
“ที่แน่นอนคือ น้องๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคม มีการวางโปรเจ็กต์ขึ้นมา อันนี้เป็นโมเดลต้นแบบของการเปลี่ยนแปลง เราจะไม่ให้น้องอยู่แค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่จะมีประเด็นหลักที่ต้องขับเคลื่อน เช่นประเด็นการเมือง แล้วประเด็นการบำเพ็ญประโยชน์ ขับเคลื่อนเรื่อง LGBT แรงงาน และเราจะร่วมงานกับ UN Women รวมถึงเราจะไม่ทำแค่การปลูกป่า ไปบ้านพักคนชรา จะไม่ใช่ภาพนั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ในประเด็นการเมืองก็มีทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจในเชิงการเมือง ให้น้องเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น
โดยการคัดเลือกนี้ บัซซี่ยังชี้ถึงเกณฑ์ของบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำได้ ตาม 4 ข้อนี้ 1 ความน่าเชื่อถือ 2. มีความรู้ ความเข้าใจประเด็นต่างๆ อย่างถูกต้อง 3. มีจิตสาธารณะ และ 4. เรียนรู้วิถีประชาธิปไตย
ปีที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์เองก็ได้เปลี่ยนชื่อการประกวดดาว-เดือน เป็น ‘Thammasat Social Changemakers’ (ผู้นำทางด้านการเปลี่ยนแปลงสังคม) แต่บัซซี่เองก็บอกว่า ด้วยอุปสรรคต่างๆ ทำให้เป็นการเปลี่ยนแค่ชื่อ แต่รูปแบบยังเป็นเหมือนดาวเดือนเช่นเดิม ซึ่งเมื่อเธอ และพรรคของเธอชนะเลือกตังองค์การนักศึกษาได้ เธอก็ตั้งใจว่าปีนี้ จะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบในปีนี้ จากบทเรียนของปีที่ผ่านมา
“ในฐานะที่เป็นดาว เราก็เสียใจที่แหล่งกำเนิดของเรามันโดนกระแส และทำให้ต้องปิดตัวไป แต่เราก็ไม่โทษว่าความคิดนี้มันไม่ดี เพราะส่วนตัวเราเองก็เห็นด้วยกับการยกเลิกระบบดาว-เดือน ปีที่แล้วเราก็อยากจะยกเลิก แต่พอมันไม่ชัดเจน สิ่งที่ได้มาก็คือดาว-เดือน แม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อ เราเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เราในฐานะกองประกวดใหญ่ ก็ยินดีที่จะปรับเปลี่ยนตามโลกใบนี้ เพราะโลกมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
เราได้ปรับ และเปลี่ยนไปตามเสียงเรียกร้อง คือลดประเด็นของ Beauty Privilege ลง ปีที่แล้ว เราได้มีการทำแล้ว แต่การเปลี่ยนมันไม่เปลี่ยนจริงๆ เราเห็นข้อดีข้อเสียแล้ว และได้ถอดบทเรียนมาปรับในครั้งนี้” บัซซี่เล่า