อาหารไทยจะไปสู่ระดับโลกได้อย่างไร? มีอะไรที่ต่างชาติสนใจและเป็นปัจจัยผลักดันผู้ประกอบการไทยได้บ้าง?
เมื่อไม่นานมานี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ได้ร่วมมือกับหอการค้าได้ และโคโลญเมสเซ่ จัดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอย่าง ‘THAIFEX – AUNGA ASAI 2023’ ขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี แม้จะจัดงานเพียงแค่ 5 วันแต่ผลตอบรับก็ออกมาอย่างเกินเป้าหมาย
ไม่เพียงแค่มูลค่าการค้าขายที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย แต่อิมแพ็คจากงานนี้ยังมีเรื่องน่าพูดถึง โดยเฉพาะเรื่องก้าวต่อไปของอาหารไทยว่าจะไปสู่ระดับโลก และเทรนด์ที่อาหารไทยเราจะไปสู่การแข่งขันระดับนานาชาติในอนาคต
The MATTER ได้พูดคุยกับ ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถึงผลตอบรับของงาน Thaifex ที่ผ่านมา รวมถึงอนาคตของอุตสหกรรมอาหารไทยในระดับโลก
ผลตอบรับของงานนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ผู้เข้าชมจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็นหมื่นหกพันราย จาก 132 ประเทศทั่วโลก ต่างชาติเข้ามาร่วมงานกว่า 16,000 รายขณะเดียวกันผู้เข้าชมงานจากจีนเพิ่มสูงขึ้นมากเพราะว่าเขาเปิดประเทศแล้วซึ่งปกติจีนก็มาเยอะอยู่แล้วคนจีนถือเป็นก็เป็นอันดับหนึ่งที่เข้ามาร่วมงานนี้เยอะที่สุด
ความสําเร็จของงานนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารของไทยว่าเป็นที่ยอมรับ งาน Thaifex ของเราก็ถือว่าเป็นงานที่ครบวงจร มีทั้งอาหารเครื่องดื่ม รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และเครื่องใช้ในการผลิตอย่างเช่นเครื่องทํากาแฟและอาหาร เราเป็นงานที่ครบวงจรมากที่สุดในเอเชีย มันสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารของเราตามนโยบายของทางกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกับเรื่องอาหารไทยสู่อาหารโลก ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างชัดเจน
ผมอยากขอย้อนอดีตไปซักนิด งานไทยเฟ็กซ์ของเราเมื่อครั้งแรก เรามีผู้ประกอบการมาร่วมงานแค่สิบกว่ารายเท่านั้น แต่ในช่วงหลังๆ มานี้งานเราถือว่าได้เติบโตขึ้นอย่างกา้วกระโดด
โจทย์ของงานในตอนแรกเริ่ม กับตอนนี้ต่างหรือเหมือนกันอย่างไร
อุตสาหกรรมอาหารบ้านเราครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตมากมายอยู่ในประเทศเรา จนถึงปลายน้ำที่มีนวัตกรรมน่าสนใจมากมาย ทำให้ประเทศเราค่อนข้างครบวงจร เป็นความได้เปรียบที่บางประเทศก็ไม่สามารถทําได้ เพราะฉะนั้นการพัฒนาตรงนี้มันก็เป็นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดประกอบกับงานไทยเฟ็กซ์ของเรา งาน Thaifex เราเริ่มจัดขึ้นในปี 2534 พอมาถึงปี 2546 เราก็จับมือกับของการค้าไทยและ Koelnmesse ที่เป็นผู้จัดงานที่มีชื่อเสียงระดับโลก เราก็มีความร่วมมือเราความร่วมมือกันที่เสริมสร้างให้แบรนด์ Thaifex เราเข้มแข็งขึ้น ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Thiafex world of food asia ตั้งแต่นั้นมา และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น THAIFEX – Anuga Asia ในปี 2563
มันคือการเติบโตของงานมาโดยตลอด รวมถึงเรื่องพื้นที่การจัดงานที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเราไปถามกับทาง Impact ว่าคุณจะมีการขยายพื้นที่อีกหรือเปล่า เพราะว่าเรายังมี waiting list รายใหม่ๆที่อยากจะเข้ามาร่วมในงานนี้เพิ่มเติมอีกมากมาย ถึงแม้ว่าตอนนี้งาน Thaifex ของเราจะมีผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าประจําเยอะอยู่แล้ว แต่เราก็มีพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาอยู่ในงานนี้เรื่อยๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ มีเวทีที่จะนำเสนอสินค้า และได้เจรจาการค้ามากขึ้น
เราคงต้องรักษาความพร้อมในครบวงจรในทุกรูปแบบ ในความหลากหลายของของตัวกลุ่มสินค้าให้ต่อเนื่องเหมือนเดิม เราเองก็มีแนวคิดว่า เราก็จะเน้นคุณภาพของงานที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ที่สําคัญที่สุดคือผู้ประกอบการของเราของต้องสร้างมาตรฐานเรื่อง food security และ food safety ให้เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับมีจุดขายที่โดดเด่น และแตกต่างกับคู่ค้าคู่แข่ง เพราะฉะนั้นก็จะบอกผู้ประกอบการอยู่ตลอดเวลาว่างานนี้ไม่ใช่มานั่งขายของอย่างเดียว เพราะมีผู้ประกอบการจากต่างชาติกว่า 45 ประเทศทั่วโลกมาแสดงสินค้าด้วยมากมายคุณสามารถสำรวจดูได้ว่าสินค้าของเขาพัฒนาไปอย่างไรแล้ว
งาน Thaifex เรายังมีมีสัมมนามากมาย ในโซนต่างๆ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทรนด์เรื่องอาหารอีกมากมาย ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของเรา และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับกิจการของตัวเองได้ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเองก็พยายามนำความรู้ต่างๆ มามอบให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเราก้าวได้ทันต่อคู่ค้าคู่แข่งต่างๆ ความคาดหวังของผมคือเราสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการของเราเพิ่มศักยภาพไปสู่มาตรฐานระดับโลกได้
ยอดขาย ยอดเจรจา ของงานรอบนี้เป็นอย่างไรบ้าง
เกินเป้าเยอะ ทางกรมเราตั้งเป้าไว้ที่ 70,000 ล้านบาท แต่จริงๆ เราสร้างมูลค่าได้มากถึง 122,000 ล้านบาทเลยทีเดียว แค่วันเจรจาธุรกิจ เราสามารถสร้างมูลค้าได้รวมถึง 19,700 ล้านบาทแล้ว วันขายปลีกเราสามารถสร้างมูลค่าได้ถึงกว่า 300 ล้านบาทแล้วถือว่าเป็นมูลค่าที่ทำได้เกินเป้า
อะไรทำให้มูลค่าพุ่งขึ้นได้เกินเป้าขนาดนี้
มันสอดรับกับจํานวนผู้เข้าร่วมงานที่เพิ่มสูงขึ้นเยอะด้วยนะครับ เราเปิดงานเป็นแบบเต็มรูปแบบ ส่วนผู้ประกอบการของเราก็พร้อมด้วยนะครับ มันก็ทําให้เกิดการค้าขายเกิดขึ้นอย่างลงตัว ปัจจัยอีกข้อคือสถานการณ์ COVID-19 มันก็เริ่มคลี่ ทำให้ทุกคนก็เดินทางมาได้ จีนเองก็เข้ามาได้ แล้วก็เรื่องอาหารยังไงก็เป็นเรื่องสําคัญ เช่นเรื่อง food security ที่หลายๆ ประเทศก็ประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามและสาเหตุอื่นๆ
เมื่อสักครู่นี่เราพูดถึงเรื่องเทรนด์ของอาหาร อยากทราบว่า ตอนนี้เห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในเวทีระดับโลกอย่างไรบ้าง
ตอนนี้มีมีสินค้าที่เป็นเทรนด์ ซึ่งทางงาน Thaifex ครั้งนี้เราก็เน้นให้จําความสําคัญในเรื่องอาหารแห่งอนาคต หรือ future food ที่จะแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มหลักๆ คือ functional food, novel food, medical food และ organic food สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เราให้ความสำคัญ เรายังได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับ future food ในงานที่ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี มีผู้เข้าร่วมจากสามสิบกว่าประเทศทั่วโลก มีการทำเรื่องของสร้างปฎิสัมพันธ์เชิงลึกผ่านเมนูอาหาร โดยเอาเมนูอาหารต่างๆ มาทำเป็น future food เช่นเป็นเมนู plant based อย่างโปรตีนจากพืชโปรตีนจากแมลงนอกจากนั้นเรายังมีองค์กรชั้นนำต่างๆมาร่วมจัดสัมนาเกี่ยวกับอนาคตของอาหารด้วยเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน
ต่างชาติสนใจในมุมในเป็นพิเศษของ future food จากไทยบ้าง
ต่างชาติสนใจในเรื่องสินค้าแบบ ready to eat และ ready to cook ซึ่งสะดวกสบายในการทำ เขาก็ชอบมากเพราะมันทำได้ไม่ยากมาก โดยที่รสชาติยังคงดีอยู่ เราเองก็สนับสนุนผลิตภัณฑ์แบบนี้ผ่านตรา thai select ประมาณ 800 ตราแล้ว ต่างชาติก็ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบสินค้าที่ดูแล้วน่าทาน มีหน้าตาแพ็กเกจที่สวยงามซึ่งไทยเราก็ไม่ได้เป็นรองกับชาติคู่แข่งเลย
ผู้ประกอบการบ้านเราทุกคนอยากจะมีของดีของเด่นที่จะมาขาย แต่หลายๆ รายอาจจะยังไม่พร้อมที่จะส่งออก นี่คือจุดที่ทางเราอยากยื่นมือเข้าไปช่วย พยายามสร้างกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เช่นการฝึกอบรม ออกแบบ พัฒนาเรื่องสินค้า พัฒนาเรื่องรสชาติ รวมถึงส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้ามาให้ความรู้ เพื่อที่จะผู้ประกอบการไปสู่จุดที่ส่งออกได้
ผมคิดว่าการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้ไปได้ไกลมากขึ้น จำเป็นต้องมีเรื่อง R&D (วิจัยและพัฒนา) และวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวด้วย ทางกรมฯ เราก็ได้ประสานให้หน่วยงานที่มีองค์ความรู้ เช่น สวทช. มาจับคู่ช่วยดูแลผู้ประกอบการต่างๆพัฒนาเรื่องนวัตกรรม เพราะว่าการพัฒนาผู้ประกอบการต้องเริ่มจากระดับฐานราก มีขั้นตอน มีการพัฒนาและการวิจัยต่างๆ โดยที่กรมฯ ของเราเป็นเหมือนปลายน้ำที่เมื่อผู้ประกอบการพร้อมที่จะออกไปต่างประเทศเมื่อไหร่ เราก็พร้อมจะช่วยให้เขาสู้ในระดับต่างประเทศได้
มองก้าวต่อไปของงาน Thiafex ในปีต่อๆ ไปอย่างไรบ้าง
เราก็คงต้องสร้างภาพลักษณ์ของงานให้ดีต่อไป ประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้เรื่องอาหารไทยสู่อาหารโลก ครัวไทยสู่ครัวโลก เราอยากให้ผู้ประกอบการของเราพัฒนาเก่งขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ มี storytelling เกี่ยวกับจุดเด่นในสินค้าของตัวเองอยู่เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เราจะอยู่นิ่งไม่ได้ เราอยากให้งาน Thaifex มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเสมอ