หากถามว่า คนรุ่นใหม่กำลังคิดอะไรอยู่นั้น สิ่งหนึ่งที่อาจบอกได้ดีคงหนีไม่พ้นฟีดส์ในแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ ของเจ้าตัว เพราะมันช่วยสะท้อนได้ว่าพวกเขาพูดคุยหรือสนใจอะไรกันบ้าง
ล่าสุด Instagram หนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลที่คนรุ่นใหม่หลายคนรู้จักและใช้งานกันนั้น ได้ปล่อยรายงานชื่อว่า Trend Report 2022 ออกมา ซึ่งเผยให้เห็นถึงเทรนด์และประเด็นที่เหล่าคน Gen Z ต่างให้ความสำคัญและความสนใจในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องราวเกี่ยวกับความชอบทั่วไป ตลอดจนทัศนคติในการใช้ชีวิต
The MATTER เลยอยากพาทุกคนมาดูและทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ไปด้วยกันว่า ตลอดปีที่ผ่านมาและในปีนี้จะมีเรื่องไหนบ้างที่คนรุ่นใหม่สร้างบทสนทนาและกำลังจะทำให้เกิดขึ้นจริง
แฟชั่น & ความงาม : แต่งตัวแบบ Maximalist แต่แต่งหน้าแบบ Minimalist
เน้นสไตล์ ALT หรือไม่ตามกระแส แฟชั่นในมุมมองของคนรุ่นใหม่เป็นมากกว่าเครื่องแต่งกาย แต่ยังสร้างสีสัน ค้นหาความสนุก และแสดงตัวตนของตัวเอง ถูกทำให้เป็นเรื่องที่เข้าถึงและจับต้องได้ง่ายขึ้น เพราะต่างมองหาแฟชั่นที่ตอบรับกับการนำมาใช้สวมใส่ในชีวิตจริง มีคนที่คิดจะลองเปลี่ยนแนวมาสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นสไตล์เก๋ๆ อย่าง Dark Academia, Goblincore หรือ Nostalgia มากถึง 50%
นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่เน้นดูแลและให้ความสำคัญกับร่างกายตัวเองมากขึ้น จึงเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสะอาด ดูดีแบบเป็นธรรมชาติ มีส่วนผสมที่ปลอดภัย โดย 1 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่สนใจที่จะหาข้อมูลและมีแนวโน้มซื้อเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์แพลนต์เบส วีแกน หรือแม้แต่ใช้เครื่องสำอางกับร่างกายและผิวพรรณให้น้อยลง
เพลง & ดนตรี : ติดตามเพลงใหม่ๆ ผ่านโซเชียล และชื่นชอบ dance challenges
ปัจจุบันจะเน้นตามเพลงออกใหม่จากสื่อโซเชียล คิดเป็น 70% การเข้ามาของคลิปวิดีโอสั้นๆ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเข้าถึงการฟังเพลงหรือศิลปินออกใหม่ต่างจากไปเดิม ที่สำคัญ ประสบการณ์การรับชมดนตรีหรืองานคอนเสิร์ตก็เปลี่ยนไปด้วย โดยมักจะเข้ามาดูสิ่งเหล่านี้ในอินสตาแกรมและแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มดนตรีหรือเพลงมากขึ้น
ที่สำคัญ ยังเน้นเสพงานเสียงคู่งานภาพ โดยอัลบั้มเพลงที่ปล่อยมาใหม่จะมีส่วนประกอบทางวิชวลเข้ามาด้วย ทั้งนี้ การสตรีมวิชวลกับศิลปินมีมาแล้วประมาณ 2-3 ปี นอกจากนี้ คนช่วงอายุ 13-24 ปี ยังเป็นสมาชิกของแฟนด้อมศิลปินอีกด้วย คิดเป็น 41% และ Dance Challenges ยังเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งตารอในปีนี้เหมือนเดิม โดยหวังว่าจะได้เห็นโจทย์ท้าทายและหลากหลายมากขึ้น
อาหาร : ลงทุนกับการเรียนรู้สูตรการทำอาหารที่มีคุณภาพ
คนรุ่นใหม่ยังลงทุนกับการเรียนรู้และทดลองสูตรทำอาหารใหม่ที่มีคุณภาพ โดย 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ได้เริ่มลองทำอาหารใหม่ๆ ทั้งอบขนม ทำเค้กสูตรประเทศต่างๆ โดยศึกษาจากช่องบนสื่อโซเชียล ในขณะที่ ผู้คนจำนวน 1 ใน 6 สนใจทำอาหารโมเลกุล (Molecular Gastronomy) และ 1 ใน 5 ยังสนใจเรียนรู้การทำค็อกเทลที่บ้านอีกด้วย
ช้อปปิ้ง : เน้นซื้อของมือสองหรือของที่นำกลับมาใช้ใหม่
ช้อปปิ้งออนไลน์ยังเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าหลักของปีนี้ หากแต่จะกระจายตัวจากเว็บไซต์ค้าปลีกใหญ่ๆ มายังแพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้น โดยผู้คนมากกว่า 1 ใน 4 มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าหรือสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งผ่านหน้าฟีดส์บนแพลตฟอร์มโซเชียล ร้านขายของมือสองคือพื้นที่ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มองหาเสื้อผ้าหรือของใช้ที่นำมากลับมาใช้ซ้ำได้ รวมทั้งยังวางแผนจะเปิดหน้าร้านขายเสื้อผ้าและสินค้าที่สร้างความยั่งยืนให้กับโลกบนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้นด้วย
เกม : วิดีโอเกมได้รับความนิยมมากขึ้น และมีการคอสเพลย์กันมากขึ้น
เมื่อต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน วิดีโอเกมจึงกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และไม่มีทีท่าลดลง โดยคนรุ่นใหม่ใช้เวลาเล่นเกมมากขึ้น โดยเฉพาะเกมที่ช่วยสร้างการปะทะสังสรรค์ เพราะช่วยให้คนรู้สึกเชื่อมต่อถึงกันได้ รวมทั้งหลีกหนีจากโลกความจริงมาในโลกเหนือจริง ประสบการณ์เล่นเกมในบริบทหลากหลายจึงเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งตาคอยในปีนี้
- คนรุ่นใหม่ 40% คาดหวังว่าจะได้เห็นเทรนด์วิดีโอเกมใหม่ๆ มากขึ้น
- 3 ใน 10 อยากทำ livestream มากกว่าเล่นเกมเท่านั้น
- 1 ใน 5 หวังจะได้ดูคอนเสิร์ตแบบ VR และเป็นที่นิยมมากขึ้นในปีนี้
นอกจากนี้ ฐานคนเล่นเกมจะขยายกว้างไปยังกลุ่มคนที่ไม่ได้เล่นเกมมาก่อน โดยกลุ่มคนเหล่านั้นจะสนใจการเล่นวิดีโอเกมมากขึ้นจากการมองหาไอเทมเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่ลงทุนมาทำแฟชั่นให้อวตารในเกม ที่สำคัญ ผู้คนยังสนใจซื้อสินค้าแบบ VR มากขึ้น 50% จากปีที่แล้ว ในขณะที่ 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่คาดหวังจะเห็นการแต่งคอสเพลย์มากตามไปด้วย
สุขภาพ & ความเป็นอยู่ : ให้ความสำคัญกับสุขภาพใจ และเลือกทำงานอดิเรกที่เป็นงานสร้างสรรค์
ประเด็นเรื่องสุขภาพใจจะเป็นมากกว่าเรื่องเกี่ยวกับภายในตัวเอง พวกเขาจะทบทวนแและมองไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตหรือสิ่งที่ตัดสินใจอันส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก โดยจะเลือกเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต เอื้อให้เกิดคอมมูนิตี้ และกิจกรรมแนวสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ผู้คนยังให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่บ้านมากขึ้น คิดเป็น 42% ของผู้ใช้อินสตาแกรม รวมทั้งมองหาวิธีเสริมภูมิต้านทานทางใจและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เช่น วาดภาพ ทำคอลลาจ เขียนเพลง เป็นต้น ที่สำคัญ ยังมองหาวิธีสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นด้วย ทั้งการทำบ้านให้น่าอยู่และรักษ์โลกมากขึ้น
การศึกษา & อาชีพ : การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเรียนรู้ในชีวิตจริงและค้นหางานที่มีความหมายกับตัวเอง
คนเจเนอเรชั่นต่อไปจะทบทวนและให้คุณค่ากับเป้าหมายการเรียนและการทำงานที่ต่างจากเดิม โดยคน Gen Z จำนวน 90% เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดมาจากการเรียนรู้โลกจริง อีกทั้งค่าเล่าเรียนในสถานศึกษานั้นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขากลับมาทบทวนเลือกเดินเส้นทางอื่นที่น่าจะตอบโจทย์กับชีวิต โดยคนรุ่นใหม่จำนวน 2 ใน 3 ไม่ได้มองว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาเสมอไป
เมื่อว่าถึงเรื่องการทำงาน หลายคนไม่ยอมให้การทำงานเข้ามา ‘กิน’ ชีวิตตัวเอง โดย 68% มองว่างานคือสิ่งที่เขาต้องทำ แต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขสถิติคน Gen Z ที่มีทัศนติต่อการทำงานที่น่าสนใจ ดังนี้
- 87% เห็นว่า หลายคนตกอยู่ในสถานะที่ต้องทำงานหลายอย่าง เพื่อหาเงินมาให้พอจ่ายสิ่งที่ต้องการ
- 63% มองว่า การแพร่ระบาดส่งผลให้ตัวเองเริ่มกลับมาทบทวนเป้าหมายของการทำงานมากขึ้น โดยหาคำตอบว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาต้องการอะไร แล้วจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร
- 71% คิดว่า จะหางานที่มีความหมายต่อตัวเองแม้ว่าจะได้เงินน้อยก็ตาม โดยเชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตัวเองเลือก รวมทั้งตั้งคำถามถึงความหมายของคำว่า ‘ความสำเร็จ’ ในบริบทสังคมที่พวกเขาอยู่ว่าคืออะไร
คนดัง & ครีเอเตอร์ : ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียลคือผู้นำเทรนด์ทางความคิด
เมื่อว่ากันถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิดแล้วนั้น เหล่าคนดังและครีเอเตอร์ในโลกออนไลน์ยังส่งผลทางความคิดและความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดย 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 13-24 ปี นั้น เชื่อว่าเหล่าคนดังที่ผลิตคอนเทนต์คุณภาพจะดึงดูดกลุ่มคนให้มาสนใจกระแสต่างๆ ในสังคมได้มากขึ้น ที่สำคัญ ผู้คนจำนวน 4 ใน 5 เชื่อว่าคนดังในสื่อโซเชียลและครีเอเตอร์เหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิดมากกว่าคนดังอย่างดารา ศิลปิน นักร้อง หรือคนมีหน้าตาชื่อเสียงในสังคมแบบเดิม
มีม : มีมคือเครื่องมือสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อทุกคนต่างเผชิญสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมาเป็นเวลานาน หลายคนมองหาสิ่งที่ทำให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัย มีมถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะให้ความรู้สึกของความแน่นอนและควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ โดย 1 ใน 5 ของคนรุ่นใหม่จะให้ความสนใจสต็อกมีมมากในปีที่ผ่านมา และหวังว่าจะเห็นมีมใหม่ๆ มากขึ้นในปีนี้
ไอเดียของมีมที่ได้รับความสนใจจะผสมผสานความเสียดสีย้อนแย้ง ซึ่งเห็นได้จากเทรนด์ต่างๆ ในโลกอินเตอร์เน็ตตลอดปีที่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไอเดียมีมที่คนอยากเห็นระหว่างปีที่แล้วกับปีนี้กลับมีสัดส่วนสลับกัน โดยปีที่แล้ว คนอยากเห็นมีมแนวตลกเหนือจริง (35%) มากกว่ามีมเกี่ยวกับคริปโตฯ (29%) ในขณะที่ปีนี้ คนอยากเห็นมีมเกี่ยวกับคริปโตฯ (32%) มากกว่ามีมตลกเหนือจริง (29%) นั่นก็เพราะ มีมแนวตลกเหนือจริงทำให้คนเสพรู้สึกไม่มั่นคงหรือไม่เกิดความสมดุลในชีวิต ส่วนมีมเกี่ยวกับคริปโตฯ ทำให้คนเสพรู้สึกตลกและมีส่วนร่วมกับเรื่องที่เป็นที่พูดถึงวงกว้างได้ง่าย
ประเด็นทางสังคมและความยุติธรรม : ติดตามและมีส่วนร่วมกับประเด็นทางสังคมมากที่สุด
โลกออนไลน์คือพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ใช้สนับสนุน มีปฏิสัมพันธ์ และสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม โดยคนจำนวน 52% ได้ติดตามบัญชีโซเชียลที่เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมทางสังคมเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นว่าสื่อโซเชียลคืออีกช่องทางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม
ที่สำคัญ การเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมในปีนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยบรรดาคนรุ่นใหม่จะยิ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้เวลา ความมุ่งมั่น และเงินทุนในการขับเคลื่อน โดยพวกเขาจะบริจาคทุนทรัพย์ในปีนี้ คิดเป็น 37% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก :