เคยนึกเล่นๆ ไหมว่าตอนแก่ตัวไปชีวิตเราจะเป็นแบบไหน?
เชื่อว่าพอนึกถึงเรื่องนี้ สิ่งที่ตามมาน่าจะเป็นเรื่อง ‘เงิน’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นช่วงวัยที่หลายคนไม่ได้มีเรี่ยวแรงพอจะลุกมาทำงานได้อย่างเก่า
ก่อนหน้านี้ถ้าเราพูดถึงวัยเกษียณ คนรุ่นใหม่หรือคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่จำเป็นต้องรีบคิดในตอนนี้ แต่จากผลการสํารวจทักษะทางการเงินของไทย กลับพบว่า เจเนอเรชั่น Z เริ่มคิดหรือวางแผนการเก็บออมสำหรับยามชรา/วัยเกษียณกันเยอะขึ้น จาก 41.7% ในปี ค.ศ.2018 กลายเป็น 59.6% ในปี ค.ศ.2020 และเทรนด์นี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะในสหรัฐอเมริกา มีผลสำรวจโดย BlackRock เมื่อต้นปี ค.ศ.2022 ที่พบว่า คนเจเนอเรชั่น Z ในวัยทำงาน (อายุ 18-25 ปี) เก็บเงิน 14% ของรายได้ไว้สำหรับการเกษียณ/การลงทุน ขณะที่คนเจเนอเรชั่นอื่นๆ เก็บประมาณ 12% ของรายได้ในแต่ละเดือน
รีบเกษียณ?
สาเหตุที่คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจเรื่องการวางแผนวัยเกษียณมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้หลายคนเผชิญกับความไม่แน่นอนทางรายได้ ตามมาด้วยสงครามและภาวะเงินเฟ้อที่พาราคาข้าวของพุ่งสูงขึ้น โดยการสำรวจของ BlackRock พบว่า คนเจเนอเรชั่น Z เป็นกลุ่มที่กังวลเรื่องเงินเฟ้อมากที่สุด (90%) ทำให้พวกเขาพยายามจะหาวิธีเอาชนะเงินเฟ้อด้วยการลงทุนแบบ ‘ระยะยาว’ มากขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจนี้ คือเทรนด์การลงทุนของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ที่เริ่มสนใจ ‘Target Date Fund’ หรือกองทุนประเภทสมดุลตามอายุ ตัวกองทุนจะให้คนลงทุนเลือกปีที่จะเกษียณได้ และพอร์ตการลงทุนก็จะถูกปรับให้เหมาะกับช่วงวัย เช่น ช่วงแรกๆ อาจจะเน้นลงทุนแบบความเสี่ยงสูง แต่ช่วงใกล้จะถอนออกมาหรือช่วงใกล้เกษียณจะเน้นลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำและรักษาเงินต้นมากกว่า หรืออีกเทรนด์หนึ่งคือการลงทุนกับบริษัทที่เน้น ESG (environment, social, และ governance) หรือบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เคารพสิทธิมนุษยชน ทำงานอย่างโปร่งใสและยุติธรรม เพราะนอกจากคนรุ่นใหม่จะใส่ใจปัญหาสังคมมากขึ้นแล้ว หลายคนยังมองว่า องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG มีแนวโน้มจะสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและยั่งยืนได้มากกว่า
นอกจากนี้ ในรายงาน คนวัยแรงงานคาดหวังและเตรียมตัวอย่างไร เพื่อชีวิตในวัยสูงอายุ ยังกล่าวว่า คนเจเนอเรชั่น X เริ่มทำงานในยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากสูง ขณะที่คนรุ่นใหม่ทั้งรุ่นมิลเลนเนียลและเจเนอเรชั่น Z เริ่มทำงานในยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากลดน้อยลง ดังนั้นการเก็บออมแล้วฝากธนาคารเลยไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่เพียงพออีกต่อไป แถมยุคสมัยนี้เริ่มมีทางเลือกให้เราเข้าถึงข้อมูลและการลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจเรื่องการเงินและการลงทุนกันมากขึ้น ยอมรับความเสี่ยงได้สูงกว่า และหลายคนก็เริ่มตั้งเป้าว่าอยากจะมีอิสรภาพทางการเงินก่อนวัยเกษียณอีกด้วย
‘พึ่งพาตัวเอง’ เป็นหลัก
แม้จะคิดและวางแผนวัยเกษียณกันเยอะขึ้น แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเก็บออมให้ได้ตามเป้าหมาย โดยผลการสํารวจทักษะทางการเงินของไทย เมื่อปี ค.ศ.2020 พบว่า มีคนเจเนอเรชั่น Z ไม่ถึง 10% ที่สามารถเก็บเงินได้ตามการวางแผน ด้วยสภาพเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาด ราคาข้าวของแพงขึ้น รวมทั้งความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมสูงวัยที่พ่อแม่รวมทั้งตัวเราเองมีแนวโน้มจะอายุยืนขึ้น หลายคนเลยต้องตั้งเป้าหมายด้วยจำนวนเงินสูงกว่าเดิม เพราะกังวลว่าเมื่อถึงวันนั้น เงินเก็บสำหรับวัยเกษียณของเราจะพอใช้หรือเปล่า แถมคนรุ่นนี้ยังนิยมมีลูกน้อยลง เช่นเดียวกับค่านิยมเรื่องการพึ่งพาลูกหลานในยามแก่ชราที่ลดน้อยลงไปด้วย
ดังนั้นคนรุ่นใหม่เลยต้องวางแผนมากกว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับ ‘ผู้ดูแล’ เมื่อเราเข้าสู่วัยชรา เห็นได้จากรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2022 ที่กล่าวว่า เจเนอเรชั่น Y และ Z มีแนวโน้มจะต้องการพึ่งพารัฐหรือสถานสงเคราะห์ในด้าน ‘ผู้ดูแล’ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้สูงกว่าเจเนอเรชัน X
นอกจากนี้ รูปแบบการทำงานของเจเนอเรชั่น Z มีแนวโน้มที่จะทำงานหลากหลาย ยืดหยุ่น เปลี่ยนสายงานได้ง่ายขึ้น และไม่ได้ยึดติดว่าต้องทำงานเดิมไปตลอดชีวิต บางคนเลยไม่ได้มีสวัสดิการจากองค์กรมาสนับสนุนแผนวัยเกษียณ เช่น เงินบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แต่ถ้าถามว่าเราพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐแทนได้ไหม เชื่อว่าหลายคนคงส่ายหน้าอย่างพร้อมเพรียง เพราะการสนับสนุนจากรัฐในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมสักเท่าไร อย่างเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่ตอนนี้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ปี ค.ศ.2020 คือ 2,762 บาท/เดือน เลยไม่น่าแปลกใจ ที่คนรุ่นใหม่จะหันมาสนใจเรื่องการลงทุนและวางแผนวัยเกษียณกันมากขึ้น เพราะทั้งสภาพสังคม ค่านิยม และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ตัวช่วยในการเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณรูปแบบเดิมลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่ยุคนี้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลและวิธีการลงทุนได้ง่ายและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีเพียงเจเนอเรชั่น Z เท่านั้นที่ต้องเผชิญความท้าทาย เพราะทุกเจเนอเรชั่นต่างก็มีความยากระหว่างการเก็บออมและวางแผนเพื่อวัยเกษียณ เพียงแต่รูปแบบอาจจะแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับวิธีการปรับตัวที่ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะมีวิธีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
อ้างอิงข้อมูลจาก