ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองว่าคนที่ย้ายงานบ่อยไม่สู้งาน ไม่อดทน และไม่มุนานะ …แต่ไม่ใช่กับคน Gen Z!
ข้อมูลจากงานวิจัยของบริษัท Oliver Wyman บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจบ่งชี้ว่า วัยรุ่น Gen Z ไม่มองว่าการย้ายงานบ่อย (job-hopping) เป็นเรื่องที่เลวร้ายอีกต่อไป โดยพวกเขายินดีที่จะลาออกจากงานทันทีแม้ไม่มีแผนสำรอง หากงานเหล่านั้นไม่โอเคและไม่ให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
งานวิจัยนี้ศึกษาคน Gen Z วัย 18-25 ปีจากสหรัฐฯ และอังกฤษ จำนวนทั้งหมด 10,000 คน เพื่อวิเคราะห์ว่าคนเจนเรอเรชันนี้จะกระทบกับวิถีปฎิบัติของสถาบันธุรกิจอย่างไรบ้าง
คน Gen Z คือกลุ่มคนที่เติบโตในช่วงวิกฤตโรคระบาด ข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า พวกเขาสูญเสียชีวิตวัยรุ่นไปกับ COVID-19 มักจะตามหางานที่มี work-life balance ที่ดี และไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อเสียสละเวลาว่างให้กับงานขนาดนั้น
นอกจากไม่รู้สึกผิดที่จะย้ายออกจากงานแล้ว คน Gen Z ยังตามหางานที่มีสวัสดิการดีๆ ให้ด้วย เช่น ประกันสุขภาพกาย ประกันสุขภาพจิต และมองหาบริษัทที่มีความโปร่งใสในการทำงาน
และด้วยความที่คนรุ่นนี้เริ่มงานครั้งแรกในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก ทำให้พวกเขาคุ้นชินกับการทำงานจากบ้าน ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยเผยให้เห็นว่า คน Gen Z อยากทำงานจากบ้าน–ทำงานแบบผสมมากกว่า ง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้อยากจะเดินทางจากบ้านมาเพื่อเข้าออฟฟิศในทุกวัน
รายงานจาก Lever’s Great Resignation ระบุว่า ในปี 2022 คน Get Z 65% บอกว่า จะลาออกจากงานในช่วงสิ้นปี สอดคล้องกับผลงานวิจัยข้างต้นที่ระบุว่า คน Gen Z ไม่ได้รู้สึกผิดกับการย้ายงานบ่อยอีกต่อไป
ทั้งนี้ นิตยสาร Forbes เคยระบุเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ (Gen Z และ Millennials) ชอบย้ายงานบ่อยๆ ไว้ว่า เพราะคนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายกับงาน รู้สึกเฉื่อยชากับตำแหน่งของตัวเอง เชื่อว่าการย้ายงานจะทำให้ได้เติบโตและเรียนรู้โลกกว้าง ประกอบกับค่านิยมต่อต้านการย้ายงานบ่อยก็ไม่ค่อยหลงเหลืออีกต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลว่า เพราะคนรุ่นใหม่คาดหวังกับนายจ้างมากกว่าเดิม พวกเขาตามหาอาชีพที่มีความหมาย งานที่ไม่สร้างผลกระทบกับสุขภาพกายและใจ และงานที่ไม่ได้จ่ายเงินน้อยเกิน คนรุ่นใหม่จึงคาดหวังกับงานมากขึ้น เป็นผลให้ต้องตามหาที่ทำงานที่ดี จ่ายเงินเหมาะสม และมีคุณค่าทางจิตใจ
อ้างอิงจาก
https://www.businessinsider.com
https://www.businessnewsdaily.com