เรามักพูดว่า ‘อยากกลับไปเป็นเด็กจัง’ เวลาชีวิตวัยผู้ใหญ่ของเรายากขึ้นมา
เรามักเชื่อมโยงวัยเด็กหรือชีวิตวัยรุ่นของเราเป็นช่วงที่โลกรอบกายสดใส เราเป็นเหมือนดอกไม้ที่เบ่งบาน และมีเรื่องราวใหม่ๆ ที่มีสีสันให้เราได้เรียนรู้มากมาย ชีวิตดูมีอะไรเมื่อเทียบกับความเป็นผู้ใหญ่ที่รู้สึกจำเจ รูทีน และเหี่ยวเฉา ‘เจ็บที่สุดก็แค่หกล้ม’ อย่างที่เขาว่ากัน
แต่จริงๆ หากเราหันไปหา ‘เด็กรุ่นใหม่’ เราอาจจะตั้งคำถามกับภาพความสดใสของวัยเด็กที่เราจำได้ เพลงที่พวกเขาฟัง เรื่องที่พวกเขาคุย มุกที่พวกเขาเล่น กลิ่นของมันดูเศร้ากว่าที่เราจำได้ และส่วนหนึ่งอาจจะเป็นธรรมชาติของการเก็บความจำมนุษย์เองที่ไม่จำอะไรอย่างเป็นภาพชัดเจน แต่เป็นการตีความภาพในอดีต แต่ส่วนหนึ่งมันอาจบอกอะไรเกี่ยวกับวัยเด็กของคนรุ่นปัจจุบันได้หรือเปล่า?
คนรุ่นใหม่เศร้าเร็วไปหรือเปล่า? มันมีเหตุผลหรือเปล่าที่ทำให้พวกเขาเศร้าตั้งแต่อายุเท่านี้? และความเศร้านี้นำไปสู่อะไรได้?
โลกที่พาให้เศร้า
บ่อยครั้งการแบ่งคนเป็นรุ่นๆ แล้วบอกว่าพวกเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้กันทั้งรุ่นมักเป็นการจัดกรอบที่ขึ้นอยู่กับมุมมองส่วนตัวของพูดเป็นส่วนมาก แต่เมื่อเรามองไปยังสถิติ เสียงพูดถึงเกี่ยวกับรุ่นนั้นๆ ทั้งจากพวกเขาเองและคนนอก แม้ไม่อาจเรียกได้ว่าข้อเท็จจริงอย่างเต็มปาก มันวาดภาพกว้างที่น่าสนใจได้เสมอ และภาพภาพนั้นอาจนำไปสู่อะไรบางอย่างได้
เกือบทุกครั้งที่มีการพูดถึงสุขภาพจิตของ ‘คนรุ่นใหม่’ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเขาว่าอะไรกันบ้าง ‘คน gen y เศร้ากว่า gen X’ ‘คน gen z และ gen z เศร้ากว่าคนรุ่นก่อนทั้งหมด’ และแม้แต่ในปัจจุบันก็มีคนเริ่มสังเกตการณ์และคาดเดาจากธรรมชาติของการเลี้ยงดูแล้วว่า Gen Alpha ที่เกิดขึ้นหลัง 2010 ลงไปจะเศร้ายิ่งกว่ารุ่นก่อนหน้า!
“พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านที่พวกเขาอยู่ ไม่อยู่ในความสัมพันธ์ ไม่แต่งงาน ยังอยู่ในบ้านพ่อแม่ตัวเอง มีหลากหลายอุปสรรคที่ไม่ให้พวกเขาได้พัฒนาและเติบโต…นี่คือคนรุ่นที่มีการศึกษามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่หนทางสู่ความสำเร็จนั้นก็ไม่ชัดเจนกว่าที่เคย” ลิซา สโตรไชน์ (Lisa Strohschein) นักสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตากล่าวเกี่ยวกับความเศร้าของคน gen y และ z เนื่องจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจโลกที่ในยุคที่พวกเขาเติบโตขึ้นที่เป็นอุปสรรคในการเติบโตของพวกเขา
และเมื่อมองไปยังสถิติโดย Pewresearch คน gen y และ z มีความเห็นว่าปัญหาต่างๆ ในโลกนั้นเกิดจากมนุษย์ และคิดว่าผู้มีอำนาจควรลงมือแก้ปัญหามากกว่าที่ทำอยู่สูงกว่ารุ่นอื่นๆ ที่มักมองว่าปัญหาต่างๆ ในสังคมควรถูกแก้ไขโดยปัจเจกมากกว่ารัฐบาล
โดยทั้งหมดนี้เรากำลังพูดถึงปัญหาอย่าง ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่องว่างระหว่างฐานะ ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านั้นคือปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนพวกเขาจะเกิด พร้อมเวลาที่น้อยนิดในการแก้ไข อำนาจแก้ไขอยู่ในมือของคนที่ไม่ได้มองมันว่าเป็นเรื่องใหญ่แบบพวกเขา หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ออกปากว่ารับรู้ก็ไม่ลงมือทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรม และพวกเขาทำได้มากที่สุดก็คือการต่อสู้ผ่านการเป็นนักกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง แล้วจะเอาอะไรมาไม่เศร้า?
แต่รุ่นอื่นก็เจอปัญหานี่ เพิ่งบอกไปเองว่าเรื่องพวกนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนรุ่นหลังๆ นี้ แล้วอะไรสำหรับคนรุ่นใหม่เศร้ากว่ารุ่นก่อน? ข้อแรกคือความเปิดกว้างของพวกเขาเกี่ยวกับการพูดถึงสุขภาพจิต โดย gen y และ z โดยในการวิจัยเมื่อ 2019 โดย Pewresearch พบว่าทั้งสองรุ่นมองว่าโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับคนรุ่นเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเป็นไปได้เดียว เพราะอีกอย่างคือยุคที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาทำให้เขาตื่นรู้มากว่ารุ่นไหนๆ ด้วย
โลกออนไลน์ที่ป้อนความโมโหให้ไม่หยุดหย่อน
เมื่อเราพูดถึงโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ความรู้สึกของบทสนทนาดูมีความหวังมากกว่านี้ เราหวังว่าอินเทอร์เน็ตจะทำหน้าที่เหมือนห้องสมุดและโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ทำให้การเข้าถึงการศึกษาและข้อมูลง่ายขึ้นที่ปลายนิ้วของเรา และโซเชียลมีเดียนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราสามารถคีพความสัมพันธ์ของเราไว้แม้แต่กับเพื่อนที่เราไม่ได้เจอ มันยังทำหน้าที่เครื่องมือเชื่อมต่อคนทั่วโลกเข้าหากันแม่อยู่กันคนละมุมโลก
เราเชื่ออย่างหนักแน่นว่าอินเทอร์เน็ตจะสร้างกลุ่มผู้คนที่เป็น Digital native หรือคนที่เกิดขึ้นมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัล มีอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือตั้งแต่กำเนิดจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ผ่านวิธีการคิดที่คนรุ่นก่อนไม่แม้แต่จะสามารถจินตนาการถึงมันได้ แต่ต้องขอโทษด้วยสำหรับโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย อย่างแรกความหวังรูปแบบนั้นหนักเกินกว่าจะให้คนคนไหนแบกรับไว้ได้ และอย่างที่สองคือแม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิธีที่เราคิดและเรียนรู้จริง มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งหมด
เราเรียนรู้ว่าแม้เราเชื่อมต่อกับผู้คนนับร้อยพันตลอดเวลา การเชื่อมต่อเหล่านั้นแตกต่างจากความสัมพันธ์ที่แท้จริง และเหล่า digital native หรือคนรุ่นใหม่เหล่านี้แทบจะเป็นคนรุ่นที่เหงาที่สุดที่เคยมีมาเพราะพวกเขาทดแทนสังคมในชีวิตจริงด้วยการหากลุ่มก้อนของตัวเองทางอินเทอร์เน็ตแทน
และนอกจากนั้นวิธีที่เรารับข้อมูลจากโซเชียลมีเดียเองก็มีปัญหาเช่นกัน ในภาพฝันของเราเมื่อสิบปีที่แล้วอัลกอริทึมคือหุ่นยนต์ไร้ความรู้สึกที่จะทำหน้าที่เหมือนผู้คุ้มประตูและเลือกกระจายข้อมูลที่เหมาะควรสำหรับคนที่อยากรู้มันโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น แต่เมื่อมองผ่านการศึกษาในปัจจุบัน ภาพนั้นอาจไม่ได้เป็นจริงเท่าที่เราคิดไว้
“มันหยิบยื่นคอนเทนต์แง่ลบให้แก่เราเพื่อให้เราตอบโต้ด้วยคอนเทนต์แง่ลบ” แอนดรูว์ เซลาแพค (Andrew Selapak) ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยฟลอริดากล่าวเกี่ยวกับการทำงานของอัลกอริทึมเฟซบุ๊ก โดยเขามีความเห็นว่าความต้องกันอันดับหนึ่งของมันคือการทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับมันไม่ว่าไลก์, แชร์, คอมเมนต์ และการแพร่กระจายความรู้สึกแง่ลบเป็นวิธีที่จะทำให้คนจะมีส่วนร่วมกับมันมากที่สุด “และไอ้เครื่องจักรที่สร้างและส่งต่อความโกรธแบบไม่รู้จบนี้ไม่มีทางส่งผลดีต่อใครก็ตามหรือสังคมใดๆ ที่ตั้งอยู่บนหลักเหตุผล” เขากล่าวเมื่อพุดถึงมุมมองการถกเถียงทางการเมืองของเรื่องดังกล่าว
และนี่ไม่ใช่แพล็ตฟอร์มเดียวที่เป็นอย่างนั้น จากการศึกษาและทดลองโดยศูนย์ Center for Social Media and Politics มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก พบว่าอัลกอริทึมของยูทูบจะแนะนำเนื้อหาสำหรับคนฝ่ายอนุรักษนิยมให้แก่ผู้ใช้งานไม่ว่าพวกเขาจะมีความสนใจในด้านใดและมีความเชื่อทางการเมืองด้านไหน และในทางตรงกันข้ามกัน ทวิตเตร์เป็นพื้นที่เหมาะแก่การฟังเสียงสะท้อนของตัวเองอย่างมาก และเราอยู่กับพวกมันทุกวันวันละหลายชั่วโมง
และยิ่งไปกว่านั้นจากการสังเกตการณ์ Gen Alpha โดยรูดิเกอร์ มาส (Rudiger Maas) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันผู้ก่อตั้งสถาบัน Institut für Generationenforschung ที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับคน generation ต่างๆ โดยเฉพาะ พบอีกแล้วว่าคนรุ่นที่เกิดหลังจากปี 2010 นั้นมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลยิ่งกว่ารุ่นก่อนหน้า ด้วยเหตุผลที่พวกเขาและพ่อแม่ของพวกเขาพึ่งพาเทคโนโลยีสูงมากๆ และปริมาณข้อมูลและตัวเลือกในการเสพข้อมูลเหล่านั้นท่วมท้นเกินกว่าคนในวัยนั้นๆ ควรแบกรับเอาไว้
ปลายทางของความเศร้า?
ความเศร้า ความโกรธ และความเคว้งคว้างของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีทิศทางได้หลากหลาย การกลายเป็นนักกิจกรรมที่พยายามแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ก่อให้มันเกิดขึ้น หรือการหาเครื่องมือที่จะทำให้ความเจ็บปวดเหล่านั้นน้อยลง ในระดับที่เราสามารถปิดตาหนีมันไปได้อย่างแท้จริง แต่หากมองไปยังอดีตไม่กี่ปีที่ผ่านมาของการเคลื่อนไหวที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ตัวเลือกหนึ่งดูน่าเป็นห่วง
เมื่อ 2017 ที่เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา มีการชุมนุมรวมตัวกลุ่มชาตินิยมผิวขาวและฝ่ายขวาจำนวนมากในมูฟเมนต์ Unite the Right จากประเด็นความต้องการของคนในท้องที่ที่จะนำอนุสาวรีย์ในยุคสมัยการก่อตั้งอเมริกาออกจากสวน Lee Park นำไปสู่การประท้วงตอบโต้จากฝั่งตรงข้าม จบลงที่การเสียชีวิตของผู้ประท้วงฝั่งซ้ายหนึ่งรายจากการโดนรถชนจากผู้ประท้วงฝั่งขวา
ชาร์ล็อตส์วิลล์เกี่ยวข้องกับความเศร้าของคนรุ่นใหม่ยังไง? การรวม Unite the Right ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน ผู้คนเหล่านี้มีตัวตนอยู่จริงอยู่ก่อนหน้านี้ในอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว และการเคลื่อนไหวนี้เป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขาตัวตนอยู่จริง “นี่คือการรวมตัวของกลุ่มชาตินิยมที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ” ผู้ประท้วงหนึ่งรายกล่าวกับสำนักข่าว Vice พร้อมอธิบายวิธีการรวมตัวกันของพวกเขาผ่านการสื่อสารระหว่างกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น KKK นาซี และอีกมากมาย
ในขณะที่การประท้วงครั้งนี้เป็นกรณีสุดโต่ง แต่มันคือปลายทางที่เป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงแล้วในโลก และมันเริ่มขึ้นมาจากกลุ่มคนที่ถูกทำให้สุดโต่ง (radicalized) บนเว็บบอร์ดและกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ซึ่งโดยมากมีเทคนิคการชักจูงผู้คนเปราะบางหลากหลายรูปแบบ แรงงานที่ถูกกดทับ ความรู้สึกไม่มั่นใจในความเป็นชายของตัวเอง คนที่โดนสังคมกันออกในทางใดทางหนึ่ง ฯลฯ แม้คนเหล่านี้จำนวนมากจะไม่ได้ลงไปยังกลุ่มเหล่านั้น จำนวนมากไป และไปมากพอจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งครั้งที่จำความได้
“พวกเขามาเพื่อบอกว่าเขาเป็นมากกว่ามีมในอินเทอร์เน็ต ว่าพวกเขามีตัวตนจริง” แอลล์ รีฟส์ (Elle Reeves) นักข่าวจากสำนักข่าว Vice อธิบายให้ผู้ชมสารคดีชาร์ล็อตส์วิลล์ฟัง กลุ่มที่ทำให้คนคนหนึ่งเริ่มเดินไปยังเส้นทางขวาจัดเหล่านี้อาจจะหน้าตาไม่เหมือนกลุ่มเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่อาจมาในรูปแบบที่เราอาจแยกไม่ออกจากนักมีมทั่วไป ลองนึกย้อนไปยังช่วงก่อนหน้านี้ที่เราเห็น ‘มีมซึมเศร้า’ โผล่ออกมาเป็นดอกเห็ด หากเราก้าวผิดกลุ่มเหล่านี้สามารถร่วงลงไปในรูนั้นแบบปีนออกไม่ได้
และหนึ่งในวิธีที่พวกเขาใช้ในการหน่วงเหนี่ยวคนเอาไว้คือการ ‘เลี้ยงไข้’ ความเปราะบางในชีวิตของคนผู้เข้าร่วม เพราะแม้ว่าทางออกของความเปราะบางเหล่านั้นคือการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ความเชื่อที่จะถูกฝังหัวในกลุ่มขวาจัดคือพวกคุณไม่ผิด คุณรู้สึกเป็นชายไม่มากพอไม่ใช่เพราะกรอบอันคับแคบของชายเป็นใหญ่ แต่เพราะเฟมินิสต์เปรียบเหมือนมะเร็ง และคำอธิบายในทิศทางนั้น
ทั้งนี้เราไม่ได้บอกว่าหากเราคนไหนเคยขำกับมุกดาร์กๆ หรือมีมที่กำลังจะตกขอบของความ ‘ไม่พีซี’ ไปจะแปลว่าคุณอาจจะหลุดออกจากฝั่งซ้าย แต่มันคือวิธีการหนึ่งๆ ที่ถูกใช้ในการชักจูงคนเข้าสู่แนวคิดทางการเมืองที่อันตรายได้ และเป้าหมายหลักของพวกเขา คือคนเจเนอร์เรชั่นแสนเศร้านั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก