“คนไหนเป็นผัว คนไหนเป็นเมียล่ะ?”
มักเป็นคำถามเบสิกเวลาเราถามเพื่อน คนรู้จัก หรือซุบซิบใครที่เป็นคู่รักเกย์ เลสเบี้ยน หรือ LGBTQ อย่างเมามัน ว่าคนไหนเป็นสาว คนไหนแมน แด๊ดดี้ อ้อนแอ้น มากกว่ากัน หรือบางครั้งอาจลามไปถึงการถามตำแหน่งรุก รับ ที่บางครั้งแทบไม่ได้เกี่ยวกับลักษณะทางภายนอกด้วยซ้ำ
ว่าแต่ว่า เคยสงสัยไหม ว่าเมื่อเขาเป็น LGBTQ ที่มีความลื่นไหลทางเพศแล้ว ทำไมยังต้องไปนำความเป็นหญิงหรือชายไปครอบไว้อยู่ หรือทำไมความสัมพันธ์ถึงต้องประกอบด้วยแค่ความสาวกับความแมน?
ทั้งหมดนี้กำลังสะท้อนถึงแนวคิด Gender Binary, Heteronormativity และ Gender role ที่ยังฝังรากในสังคม
Gender Binary คือ การแบ่งเพศเป็นสองขั้วตรงข้ามกัน โดยมองว่าโลกนี้มีแค่เพศชายกับหญิงตามอวัยวะเพศเท่านั้น
ส่วน Heteronormativity หรือ บรรทัดฐานรักต่างเพศ ก็เป็นแนวคิดที่ตีคู่กันมา โดยมองว่าการมีความรัก แต่งงาน กับเพศตรงข้าม เป็นเรื่องปกติ และมองสิ่งที่ผิดไปจากนี้เป็นความแปลก
นอกจากนี้ ยังมี Gender role (บทบาททางเพศ) ที่เป็นผลพวงมาจาก 2 ความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นเหมือนกัน นั่นคือสิ่งที่สังคมคาดหวังให้ ‘ผู้หญิง’ หรือ ‘ผู้ชาย’ ปฏิบัติ เพื่อให้สมกับ ‘ความเป็นหญิง’(femininity) หรือ ‘ความเป็นชาย’(masculinity) โดยสอดคล้องกับความคิด Gender binary
Gender role นี้ครอบคลุมแทบทุกการแสดงออกทางเพศ จากการแต่งกาย การปฏิบัติตัว จนไปถึงอาชีพที่ทำ หน้าที่ในบ้าน เช่น ผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้เรียบร้อย อ่อนโยน เป็นผู้ตาม และถูกโยงกับอาชีพที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เช่น พยาบาล คนเย็บผ้า ในขณะที่ผู้ชายจะถูกคาดหวังให้เป็นคนแมนๆ แข็งแกร่ง เป็นผู้นำ และทำงานเลี้ยงครอบครัว
แนวคิด 3 อย่างนี้ มักมาด้วยกัน และเป็นทรีโอที่อาจมีพลังทำลายตัวตนของ LGBTQ community ได้อย่างมาก เพราะนอกจากเป็นการตีกรอบ กดดัน และ stereotype ผู้คนจากการใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวเองแล้ว เนื่องจากสุดท้ายแล้วคนยังไม่ยอมรับ identity LGBTQ ที่เป็นตัวบุคคลนั้นจริงๆ แต่เป็นแค่การโยงเข้าความสาว ความแมน โดยกลายเป็น เกย์คิง เกย์ควีน ทอมสาว ดี้ แทน
ยิ่งไปกว่านั้นช่องโหว่ของการละเลยและเหมารวมเช่นนี้ ยังนำไปสู่การถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ปิดกั้นอัตลักษณ์ของ LGBTQ และ Non-binary อีกด้วย เช่น การไม่มีกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในหลายประเทศ การกีดกันในตลาดแรงงานต่อชาว LGBTQ เนื่องจากอัตลักษณ์คนกลุ่มเหล่านี้จะถูกมองเป็นเรื่องแปลก และไม่ ‘ปกติ’
และในเมื่อ ‘รักต่างเพศ’ ยังคงเป็นขนบกระแสหลัก Gender role จึงยังแทรกซึมในคู่รักเกย์ เลสเบี้ยน หรือเควียร์ โดยความเป็นหญิงชายนี้ถูกคาดหวังทั้งจากคนภายนอกและคนภายในความสัมพันธ์เอง โดยคนภายนอกมักตัดสินและคาดเดาจากลักษณะนิสัย หรือท่าทาง ว่าใครมีความสาวแมนมากกว่ากัน เช่น ความอ้อนแอ้น ท่าทาง ความเป็นผู้นำ ทรงผม การแต่งกาย
ส่วนในคู่รักเอง อาจแสดงพฤติกรรมตามสิ่งที่ตนเองคิดว่าตัวเองเป็น หรือถูกกดดันจากคนรอบข้างว่าตัวเองเป็นอะไรโดยหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญคือวัฒนธรรม butch and femme (ทอมและดี้) ในความสัมพันธ์ของเลสเบี้ยน โดยจะมีฝ่ายหนึ่งที่แสดงความเป็นชายอย่างชัดเจน คือ Butch (ทอม) และอีกคนมีความเป็นหญิงอย่างชัดเจน และทั้งสองแสดงความรักตาม heteronormative
เช่น คนใดคนหนึ่งอาจรู้สึกว่าต้องเป็นคนที่ขอเป็นแฟน ตามธรรมเนียมความเป็น ‘ชาย’มากกว่าอีกคน หรือการแบ่งงานบ้าน ที่คนที่มีความเป็นหญิงอาจต้องรับภาระมากกว่า เป็นต้น
นอกจากนั้น งานวิจัยโดย Jean Marecek ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเพศศึกษา พบว่า คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะถามหาความเป็นชายในคู่รักเลสเบี้ยน มากกว่าถามหาความเป็นหญิงในคู่รักเกย์ ซึ่งยังแสดงให้เห็นว่า นอกจาก gender role แล้ว ในบริบทที่เป็นสังคมปิตาธิปไตย (ซึ่งเท่ากับเกือบทั้งโลก) ความเป็นชายยังคงถูกมองว่าเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ มากกว่าความเป็นหญิง ที่จะทำให้คอนเซ็ปต์ความรัก ‘สมบูรณ์’
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพฤติกรรมในคู่รักร่วมเพศและต่างเพศอาจคล้ายกัน งานวิจัยที่เปรียบเทียบความสัมพันธ์รักต่างเพศและรักร่วมเพศพบว่า คู่รักเกย์เลสเบี้ยนรู้สึกสบายใจในการปฏิบัติตัวต่อกันมากกว่าเนื่องจากไม่มีกรอบกดกันของ gender role ที่สังคมขีดไว้เท่าคู่รักต่างเพศ นอกจากนั้นยังพบว่า คู่รักมีความเท่าเทียมทางอำนาจในการต่อรองในความสัมพันธ์ (power equality) มากขึ้นด้วย เพราะไม่มีกรอบชายเป็นใหญ่ที่ยังฝังอยู่ในคู่รักต่างเพศ หรือสังคมปิตาธิปไตยที่คอยกดดันวัฒนธรรมการปฏิบัติตัวว่าต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ เช่น คู่รักเลสเบี้ยนที่อยู่ด้วยกันอาจสบายใจที่จะย้ายไปอยู่บ้านใครก็ได้ ต่างกับความสัมพันธ์ต่างเพศที่ผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้อยู่ร่วมกับบ้านผู้ชายหลังแต่งงาน หรือไม่มีวัฒนธรรมการเลี้ยงข้าวเวลาออกเดทอย่างที่ชายหญิงถูดคาดหวังให้ทำ
แล้วถ้ารู้สึกสบายใจกว่า ทำไมคู่รัก homosexual ถึงยังทำพฤติกรรมเหมือนชายหญิงล่ะ?
มนุษย์เลียนแบบพฤติกรรมจากคนรอบตัวและสื่อ ถึงแม้ว่า LGBTQ movement กำลังคืบหน้า แต่เรายังคงต้องยอมรับว่าสื่อที่โชว์การแสดงความรักของมนุษย์ยังเต็มไปด้วยชายหญิง จากทั้งหนังฮอลลีวูดละคร นิยาย หรือซีรีส์ต่างๆ
คนในสังคมเช่นกัน การที่เราเห็นพ่อแม่ ลุงป้า ดารา เพื่อนและแฟนเพื่อนที่เป็น Straight แสดงความรักยังไงกัน ก็ต้องมีผลกระทบต่อการวางตัวกับคนรักของเราแน่นอน
ในเมื่อสื่อและคนรอบข้างมีผลต่อการเลียนแบบพฤติกรรมของคน คู่รักเกย์แลสเบี้ยนจึงอาจยังคงวางตัว คาดหวัง และแสดงออกตามสิ่งที่คู่รักชายหญิงทำกันโดยที่ไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้น ในเมื่อ LGBTQ มีจุดมุ่งหมายอยู่แล้วคือความหลากหลาย และการสบายใจที่เป็นตัวเอง วาทกรรม ‘ใครผัว เมีย สาว แมน’ ควรถูกทบทวนใหม่ หรือเลิกนำมาใช้ได้แล้ว เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ชอบใคร ก็มีสิทธิ์กำหนดนิยามความสัมพันธ์ตัวเองได้ โดยไม่ต้องรู้สึกโดนตีกรอบ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Mahdawi, A. (2016). ‘Who’s the man?’ Why the Gender Divide in Same-sex Relationships is a Farce. The Guardian. Retrieved February 9, 2020 from
Marecek, J. (2010). Gender Roles in the Relationships of Lesbians and Gay Men. Journal of Homosexuality. New York: Routledge. Vol. 8, pp. 45-49.