นี่ก็ปี 2024 แล้ว เรายังต้องพูดถึงบทบาททางเพศกันอยู่(อีก)หรือ?
ตราบใดที่มนุษย์ยังคงสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เราก็ยังคงต้องพูดเรื่องเพศกันไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เพราะความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นการสร้างสังคม แต่ละหน่วยทางสังคมก็ผูกร้อยเชื่อมโยงกันด้วยความรู้สึก ความคิด ความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความรัก’ ที่เชื่อมร้อยมนุษย์เข้าหากันจนเกิดสายสัมพันธ์ และกำเนิดสมาชิกใหม่
แน่นอนว่าสถานะ ‘คนรัก’ มักมาพร้อมกับความคาดหวัง ไม่ว่าจะความรู้สึกรัก ความไม่โดดเดี่ยว การดูแลเอาใจใส่ ทำให้รู้สึกปลอดภัย หรือแม้กระทั่งทำให้ได้ทุกอย่างตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเหมือนเป็นพ่อแม่อีกคน และสิ่งเหล่านี้เองที่กลายมาเป็นตัวตัดสินว่า เราจะอยู่ร่วมชีวิตกันได้ตลอดรอดฝั่ง รวมถึงเป็นเกณฑ์ในการตามหาคนที่ใช่ เหตุผลทางสังคมจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่อธิบายความคาดหวังต่อคนรักได้
เมื่อบทบาทสร้างจาก ‘ความจำเป็น’ ในชีวิต
ย้อนกลับไปก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้ชายรับหน้าที่หลักในการประกอบอาชีพ ทำมาหากิน และเลี้ยงดูครอบครัว ในขณะที่เพศหญิงอยู่กับบ้าน ซัปพอร์ตการกินการอยู่ รวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกจำนวนมหาศาล เหตุนี้เองจึงอาจทำให้เพศชายถูกผูกติดอยู่กับความเข้มแข็ง และความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนเพศหญิงก็ถูกผูกติดอยู่กับความละเอียด อ่อนโยน และผูกพันกับสายใยที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ สูง
การสร้างบทบาทที่ตายตัวให้กับชายและหญิงในสังคมยุคดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่บทบาทที่ทำไปอย่างไม่มีเหตุผล เพราะมันยังส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไปด้วย ขณะเดียวกันการสร้างครอบครัวและการบริหารจัดการครัวเรือน ก็ได้กลายมาเป็นหน้าที่ที่เรียกร้องให้ผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างดีจากครอบครัว หรือเรียกอีกอย่างคือการได้รับการอบรมจาก ‘แม่’
สถานะความเป็นแม่ เมีย และลูกสาว กลายเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากบทบาททางเพศ (gender role) และบทบาททางสังคมที่สถาปนาจากความจำเป็นเหล่านี้ โดยมีตัวแปรสำคัญคือการแต่งงาน ที่เปลี่ยนสถานะจากความเป็นผู้ดูแลที่อยู่ใต้ปกครองของครอบครัวหนึ่งไปสู่อีกครอบครัว และนัยหนึ่งมันคือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างสองครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ผลผลิต หรือแม้กระทั่งอำนาจด้วย
ขณะเดียวกัน หลักศาสนาก็เป็นส่วนสำคัญในการลงหลักปักรากแนวคิดเรื่องบทบาททางเพศลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้หญิงไม่สามารถมีสามีใหม่ได้เมื่อสามีเดิมตาย หรือที่เรียกว่าพิธีสตี ในศาสนาพราหมณ์ที่ให้ผู้เป็นภรรยาต้องกระโดดลงกองไฟหลังจากที่สามีเสียชีวิต หรือการล่าแม่มดในศาสนาคริสต์ที่จำกัดพฤติกรรมของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้แสวงหาความรู้ ควบคุมพฤติกรรมทางเพศ รวมไปถึงการประณามพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ตรงกับมาตรฐานทางสังคม เช่น การใช้ชีวิตอย่างสันโดษ
ต่อมาในยุคแสงสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) เกิดการแพร่กระจายของแนวคิดปัจเจกชนนิยมที่มีสาระสำคัญว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาในชนชั้นไหน หรือมีฐานะอะไรก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ผู้หญิงจึงก้าวเข้าสู่การแสวงหาความรู้ในทุกศาสตร์ ที่ทำให้ขอบฟ้าของการรับรู้ทะลุกรอบเพศ และทำให้ได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพว่า ตนก็สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เท่ากับที่ผู้ชายทำได้เช่นกัน แนวคิดสตรีนิยม หรือเฟมินิสม์ (Feminism) จึงถือกำเนิดขึ้น และต่อสู้กับความเป็นปิตาธิปไตยในสังคมที่ฝังรากลึกมาช้านาน
สองเราเท่ากัน: เพราะความเท่าเทียมทำให้รักของเรา ‘ทันสมัย’
สิ่งที่กระตุ้นให้แนวคิดเฟมินิสม์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วมีหลากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นการรบซึ่งกระทบต่อมนุษยชาติอย่างรุนแรงจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือการนำระเบิดปรมาณูมาใช้เท่านั้น แต่การเกณฑ์ผู้หญิงไปเป็นทหารและแรงงาน ยังเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาสู่โลกการทำงานที่มีทักษะมหาศาล โลกที่เต็มไปด้วยเพศชายถูกแทนที่ด้วยหญิงที่สามารถทำได้ทั้งงานบ้าน งานที่ต้องการทักษะและแรงงาน รวมถึงสามารถดูแลลูก และการตระหนักถึงความสามารถของตนเองของผู้หญิงนี้ จึงเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้แนวคิดเฟมินิสม์กระจายตัวอย่างรวดเร็ว
ทว่าการออกมาทำงานนอกบ้านของผู้หญิงยังก่อให้เกิดอคติจากเพศชายขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ การดูถูกเหยียดหยาม การพยายามหาข้อจำกัดด้านสรีระ หรือแม้กระทั่งการได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าเพศชาย สิ่งเหล่านี้เองที่เร่งปฏิกิริยาให้ผู้หญิงเรียกร้องสิทธิของตนมากขึ้น ความเป็นแม่ เมีย และลูกสาว จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกดขี่สิทธิสตรี เพราะผู้หญิงเป็นได้มากกว่านั้น
มากไปกว่านั้น ตำแหน่งงานของผู้หญิงยังเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสงครามสิ้นสุด งานเหล่านี้นำไปสู่อิสรภาพที่เพิ่มมากขึ้นทั้งการเงินและการใช้ชีวิตของผู้หญิง และไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจของเพศชาย ด้วยบทบาททางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมเหล่านี้ จึงไม่ได้เป็นแค่ความก้าวหน้าของแนวคิดเท่านั้น แต่อาจยังสั่นคลอนไปจนถึงสถานะในครัวเรือนของสามีและภรรยาด้วย
เมลิสซา วิงก์ (Melissa Vink) และคณะ ได้ศึกษาความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รักตรงเพศว่า มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อบทบาททางเพศเปลี่ยนแปลงไปตามสถานะทางการงาน ซึ่งพบความน่าสนใจว่า คู่ที่ฝ่ายหญิงสวมกางเกงซึ่งผิดไปจากภาพจำของบทบาททางเพศ มักมีเกิดการสั่นคลอนในความสัมพันธ์ หรือหากฝ่ายชายไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำได้อย่างชัดเจน ก็อาจทำให้ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ลดลง โดยสิ่งนี้มีผลมาจากภาพจำตายตัวที่มีต่อชายและหญิง
จากสังคมที่เปลี่ยนแปลง บทบาทในครอบครัวก็เปลี่ยนไป มีครอบครัวที่เป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว (single parent) หรือแม้กระทั่งครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในแง่หนึ่งการจำกัดบทบาทในครอบครัวตามเพศ อาจจัดเป็นการกีดกันทางเพศแบบคลุมเครือ (ambivalent sexism) ซึ่งสัมพันธ์กับโครงสร้างทางอำนาจในครอบครัว ที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในครอบครัว รวมถึงส่งต่อความคิดไปสู่คนรุ่นต่อไปด้วย
การเลี้ยงดูและเศรษฐกิจมีผลต่อ ‘ชีวิตรัก’ ของผู้คน
ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมแรกสุดที่ปลูกฝังแนวคิดต่างๆ ให้กับเด็ก ซึ่งแนวคิดเหล่านั้นเองก็มีผลทั้งต่อสภาพจิตใจและการสร้างความสัมพันธ์ในอนาคตด้วย
การที่พ่อแม่แสดงบทบาทในการดูแลครอบครัวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อาจส่งผลต่อความผูกพันและภาพจำของลูกเมื่อเติบโตขึ้นและมีความสัมพันธ์แบบโรแมนติก ภาพจำเหล่านั้นจะเข้ามามีบทบาทต่อความสัมพันธ์ด้วย ยิ่งประกอบกับสังคมทุนนิยมที่ทำให้เกิดเมือง ความเร่งรีบในชีวิตเพิ่มขึ้น รูปแบบความสัมพันธ์ก็มีหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ความสัมพันธ์แบบโรแมนติกนำไปสู่บทสุดท้ายอย่างการแต่งงานและสร้างครอบครัว ก็มีตอนจบอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคบกันแบบไม่ผูกมัด การหย่าร้าง หรือความรู้สึกโดดเดี่ยวแม้จะมีคนรักก็ตาม
ทั้งนี้จากวิทยานิพนธ์เรื่องความรักในมหานคร: ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงและการโหยหาอดีตในวรรณกรรมเอเชียร่วมสมัย โดยฐิติมา กมลเนตร ยังชี้ให้เห็นว่า ในนวนิยายที่ใช้ฉากหลังเป็นมหานครอย่างโตเกียวและเซี่ยงไฮ้ มีการนำเสนอการโหยหาอดีตผ่านการกลับไปสานสัมพันธ์กับ ‘แม่’ เพื่อเติมเต็มจิตใจจากความสัมพันธ์ในโลกสมัยใหม่ ที่ความสัมพันธ์เริ่มเหินห่างกันมากขึ้น และเป็นแม่แบบในการแสวงหาความสัมพันธ์แบบโรแมนติกที่มั่นคง ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์หลากรูปแบบ
รูปแบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้สร้างภาพของชายและหญิงที่สวนทางกันมากขึ้น ผู้หญิงก้าวเข้าสู่โลกของการงานมากขึ้นอย่างเข้มแข็ง ส่วนผู้ชายก็มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ขณะเดียวกันความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงกลับไม่ได้ลดน้อยถอยลง เมื่อผู้หญิงจำเป็นต้องทำหน้าที่ทั้งแม่ เมีย และลูกสาวอย่างเต็มที่ ไปพร้อม ๆ กับการมีความสัมพันธ์ที่เป็นเหมือนกับสินค้าและผลประโยชน์ที่เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
หรือในช่วงที่ผ่านมา เราอาจเคยได้เห็นกระแส #tradwife (traditional wife) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการเป็นภรรยา ‘ในขนบ’ ผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ ด้วยการทุ่มเทเวลาไปกับการดูแลบ้านเรือน หุงหาอาหารให้สามีและลูกๆ อย่างเต็มใจ ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์และบทบาทในครอบครัวของคนบนโซเชียลมีเดียอย่างชัดเจน
อเลนา เคท เพต์ติตต์ (Alena Kate Pettitt) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ tradwife เธอได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตแม่บ้านยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแต่งงานตามขนบของเธอ โดยมีความเชื่อว่าการได้ดูแลสามีและลูกเป็นความสุขของเธอ ชื่อเสียงของเธอทำให้เธอลงมือเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิถีสตรีในขนบและหลักคิดทางศาสนา และเธอยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอตั้งใจอยากเผยแพร่สิ่งเหล่านี้โดยไม่คาดหวังรายได้ที่จะตามมา เช่นเดียวกับที่ tradwife เหล่านี้ตั้งคำถามกับแนวคิดเฟมินิสม์ในปัจจุบัน ไปพร้อม ๆ กับนำเสนอความภาคภูมิใจของการเป็นภรรยาในขนบ ตลอดจนนำเสนอแนวคิดต่างๆ เช่น การต่อต้านการทำแท้ง หรือการเต็มใจดูแลปรนนิบัติสามีอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ แนวคิด tradwife ยังเชื่อมโยงกับการหันกลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นการทำฟาร์ม ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ และขายต่อเมื่อเหลือ แนวคิดนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การสร้างภาพฝันโรแมนติกของชีวิตคู่แบบขนบดั้งเดิม แต่ยังอาจหมายรวมถึงการหวนหาอดีตไปด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนติดกับการล็อกดาวน์ หรือแม้กระทั่งเป็นการหลีกหนีจากภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน
ในทางกลับกัน หากพิจารณาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยม การเป็น tradwife อาจจะไม่พอต่อการยังชีพในเมืองใหญ่ๆ รวมถึงแนวคิด DINK (Dual Income, No Kids) กลายมาเป็นทางเลือกของคู่รักยุคใหม่ด้วย จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่านอกจากแนวคิดทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว อิทธิพลของสื่อยังมีผลต่อการสร้างหรือเปลี่ยนบทบาททางเพศด้วยเช่นกัน
บทบาททางเพศจึงไม่ได้กดดันเพียงเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น แต่เพศชายก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เพราะการแสดงออกถึงความเข้มแข็ง หรือการสามารถปกป้องคนรักได้ ก็เป็นผลพวงมาจากความเป็นชายที่เป็นพิษ (toxic masculinity) ที่กดดันให้ผู้ชายจำเป็นต้องแสดงความเป็นชาย และรู้สึกด้อยเมื่อไม่สามารถทำตามมาตรฐานที่สังคมคาดหวังได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสรีระ บทบาทการหาเลี้ยงครอบครัว รวมไปถึงการไม่แสดงอารมณ์ ซึ่งเมื่อเราพิจารณาเรื่องนี้แล้ว เราจึงอาจเห็นพฤติกรรมที่ผู้ชายไม่อาจยอมรับได้ว่าตน ‘ล้มเหลว’ ในการดูแลครอบครัว แม้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดกันได้ แต่ก็อาจนำไปสู่การตำหนิสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวจนเกิดการใช้ความรุนแรง หรือเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนรัก เช่น การปั่นหัว (Gaslighting) ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์นี้ไม่ได้เกิดจากตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ค่านิยมและบทบาททางเพศสามารถส่งต่อทั้งแง่ดีและแง่ร้ายในความสัมพันธ์ได้ทั้งนั้น ไม่แน่ว่าเหตุผลที่ทำให้เราอยากมีคนรักที่สามารถดูแลเราได้เฉกเช่นเดียวกับที่พ่อแม่ดูแล จึงเป็นผลพวงของ ‘บทบาททางเพศ’ ที่ปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัย ก่อนจะถูกถ่ายทอดผ่านครอบครัวและสื่อต่าง ๆ ตลอดจนความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ยิ่งสังคมที่เร่งรีบและระบบเศรษฐกิจที่เร่งเร้าให้เราแสวงหาความมั่งคั่ง การปกป้องดูแลและซัปพอร์ตวิถีชีวิต จึงกลายมาเป็นสิ่งที่ผู้คนคาดหวังจากความสัมพันธ์แบบโรแมนติกด้วย
และไม่แน่ว่าในอนาคตบทบาททางเพศจะเกิดความเปลี่ยนแปลง การโหยหาความสัมพันธ์ที่คนรักสามารถดูแลเราได้แบบเดียวกับพ่อแม่ อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป
เพราะบทบาททางเพศเป็นหนึ่งในสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่อาจเปลี่ยนไปตามการรับรู้ของคนในสังคม สิ่งสำคัญที่สุดที่คนเราต้องการจากคนรัก จึงอาจไม่ใช่เพียงการเป็นได้ทุกอย่างเหมือนที่ครอบครัวเคยดูแลมา แต่คือการให้ความสำคัญต่อกันและกันในสิ่งต้องการนั่นเอง
อ้างอิงจาก