เคยถูกใครสะกดรอยตาม แอบเฝ้ามอง แอบส่งของมาให้ หรือทำพฤติกรรมที่ทำให้เรารู้สึกกังวลกับความปลอดภัยของตัวเองหรือเปล่า?
ไม่นานมานี้ หลายคนคงจะเห็นข่าวคราวแพร—มินตรา เชื้อวังคำ หรือ มินตัน เน็ตไอดอลหญิงที่ถูกชายคนหนึ่งคุกคามและสะกดรอยตามมาตลอด 2 ปี ซึ่งผู้กระทำผิดก็เคยถูกจับมาแล้ว แต่ก็ยังก็เหตุเดิมซ้ำอีก จนนำมาสู่คำถามว่า หรือเพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ที่สะกดรอยตามผู้อื่นโดยตรงได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุสามารถกระทำในลักษณะแบบนี้ โดยไม่ได้รับความผิด
พอมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายคนคงตั้งข้อสงสัยว่าแล้วประเทศไหนที่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดคนที่สะกดรอยตามผู้อื่น ซึ่งคำตอบก็คือ มีหลายประเทศที่มีกฎหมายนี้อยู่อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฟิลิปปินส์
แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงกฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตาม (Anti-Stalking Act) ในประเทศญี่ปุ่นกัน เพราะเป็นประเทศในลำดับต้นๆ ที่มีเหตุการณ์การก่ออาชญากรรมในลักษณะนี้บ่อยครั้ง เนื่องด้วยหลายปัจจัยทั้งค่านิยมชายเป็นใหญ่และการด้อยค่าเพศหญิงที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม
ถึงกระนั้น ประเทศญี่ปุ่นก็มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ที่สะกดรอยตามคนอื่นได้ ซึ่งกฎหมายนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 23 ปีที่แล้ว ด้วยสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกแฟนเก่าสะกดรอยตาม จนนำมาซึ่งการก่อเหตุฆาตกรรม แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดกฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตามขึ้น
กว่าจะมีกฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตาม
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1999 ฮิโอริ อิโนะ นักศึกษาหญิงชาวญี่ปุ่นถูกผู้ชายคนหนึ่งใช้มีดแทงจนเสียชีวิต โดยชายคนนี้ถูกจ้างโดยคาซูฮิโตะ โคมัตสึ ผู้เป็นแฟนเก่าของเธอนั่นเอง ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น โคมัตสึคุกคามอิโนะในหลายรูปแบบ ทั้งสะกดรอยตามและข่มขู่ครอบครัวของเธอเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากเธอขอยุติความสัมพันธ์กับเขา
ข่าวนี้เป็นที่โด่งดังมากในประเทศญี่ปุ่น ผู้คนต่างให้ความสนใจ เพราะคิดว่าถ้ามีกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ชายคนนี้ได้ตั้งแต่แรก ผู้หญิงคนนี้คงไม่เสียชีวิต
ดังนั้น ในปี 2000 ญี่ปุ่นจึงกำหนดให้มีพระราชบัญญัติกฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตามขึ้น ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้ ตำรวจสามารถตักเตือน และออกคำสั่งห้ามให้ผู้กระทำความผิดเข้าใกล้จำเลย แต่จะใช้วิธีนี้เมื่อพิจารณาว่า เป็นการกระทำผิดครั้งแรกเท่านั้น
เมื่อปี 2017 ญี่ปุ่นก็มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตามในโลกโซเชียล (Cyberstalking Law) อีกด้วย อย่างการกระทำที่ถือว่าผิดกฎหมาย คือการส่งข้อความซ้ำๆ ต่อผู้อื่น ผ่านทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง หรือการแสดงความคิดเห็นต่อใครคนหนึ่งในโซเชียลอย่างไม่ลดละก็เข้าข่ายความผิดเช่นกัน
โดยทั้ง 2 กฎหมายถ้าพิจารณาว่ากระทำผิดครั้งแรกก็จะแค่ถูกตักเตือนหรือออกคำสั่งต่างๆ แต่ถ้ายังก่อเหตุซ้ำอีกก็จะถูกดำเนินคดี โดยโทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 ล้านเยน (หรือราวประมาณ 5 แสนบาท) ซึ่งโทษของกฎหมายนี้ถูกแก้ไขหลายครั้งแล้วก่อนหน้า เพราะหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า โทษยังน้อยเกินไป เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ยังมีคนได้รับผลกระทบจากการถูกสะกดรอยตามอยู่ดี
แต่แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายนี้มาหลายปีแล้ว แต่คดีการสะกดรอยตามก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และเพิ่งจะมาลดน้อยลงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง
อย่างเมื่อปี 2011 ชายคนหนึ่งก่อเหตุฆาตกรรมญาติ 2 คนของอดีตแฟนสาว ในจังหวัดนางาซากิ และอีก 2 ปีถัดมาก็เกิดเหตุนักเรียนมัธยมปลายในโตเกียวถูกฆ่าโดยแฟนเก่าของเธอ รวมทั้งในปี 2016 ไอดอลหญิงคนหนึ่งก็ถูกแฟนคลับใช้มีดแทงจนเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (16 มกราคม) นี้เอง ชายคนหนึ่งถูกจับกุมในข้อหาใช้มีดแทงผู้หญิงคนหนึ่งจนเสียชีวิตบนถนนในเมืองฟุกุโอกะ ถึงแม้ว่าก่อนเกิดเหตุ ผู้ถูกกระทำจะปรึกษากับตำรวจหลายครั้งเกี่ยวกับการถูกคุกคาม แต่ในท้ายที่สุดก็เกิดเหตุที่น่าสลดใจขึ้น ซึ่งผู้ก่อเหตุก็คือแฟนเก่าของเธอ
เหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น เป็นแค่บางส่วนที่เรานำมายกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีกฎหมายป้องกันการสะกดรอยตาม แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าขึ้นอยู่ดี
แล้วกฎหมายนี้มีปัญหาอย่างไร?
คำตอบก็คือ ตามกฎหมายแล้ว ตำรวจจำเป็นต้องตักเตือนหรือออกคำสั่งห้ามผู้ก่อเหตุก่อนเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถดำเนินคดีได้ทันที ถ้าหากยังไม่ก่อเหตุซ้ำ โดยในเคสในเมืองฟุกุโอกะ ที่เรายกตัวอย่างข้างต้น ผู้ชายเพียงถูกสั่งให้ย้ายบ้านและเปลี่ยนงาน และเขาก็ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่เมื่อผ่านไปไม่นาน เขาก็พยายามสะกดรอยตามแฟนเก่าต่อ ทั้งบุกไปที่ทำงานของเธอ และคุกคามเธอบนช่องทางโซเชียลมีเดีย
ทำให้ตำรวจยกระดับการป้องกันขึ้น โดยการลาดตระเวนบริเวณบ้านฝ่ายหญิง หรือมอบเครื่องส่งสัญญาณที่สามารถส่งขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้อย่างทันที แต่ในวันเกิดเหตุเธอไม่ได้พกเครื่องนี้ติดตัวไปด้วย ทำให้เธอไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือกับตำรวจได้
“เมื่อผู้สะกดรอยตามไม่เปลี่ยนพฤติกรรมหลังจากได้รับคำเตือนหรือคำสั่งห้าม สิ่งสำคัญ คือตำรวจจะต้องติดตามผู้กระทำความผิดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาตระหนักรู้ว่ากำลังถูกจับตามองอยู่” โคบายากาวะ อากิโกะ ประธานองค์กรด้านมนุษยธรรม NPO กล่าว
โดยเธอกล่าวอีกว่า “ถึงแม้ว่าผู้สะกดรอยตามส่วนใหญ่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง หลังจากได้รับคำเตือนหรือคำสั่งห้ามปรามจากตำรวจ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ ..และผู้ถูกกระทำบางรายต้องการหลักประกันที่มากกว่าคำสั่งควบคุมธรรมดาๆ”
นอกจากนี้ ในหลายๆ คดี ผู้ถูกสะกดรอยตามส่วนใหญ่จะขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกสะกดรอยตาม แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในเบื้องต้นตำรวจทำได้เพียงแค่ออกคำสั่งห้าม อย่างการไม่ให้ผู้ก่อเหตุเข้าใกล้หรือใช้วิธีตระเวนในละแวกใกล้เคียงที่พักอาศัยของผู้ถูกคุกคามเท่านั้น โดยไม่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาให้เข้าสู่กระบวนการลงโทษทางอาญาได้ทันที
ทั้งนี้ หลายคนคิดว่า กฎหมายนี้ปกป้องผู้ถูกกระทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีอีกหลายคนที่คิดว่ากฎหมายนี้ยังมีช่องโหว่ และโทษที่น้อยเกินไปอยู่ดี จึงทำให้ยังเกิดเหตุในลักษณะนี้อยู่ ถึงแม้จะแก้โทษในกฎหมายเป็นรอบที่ 3 แล้วก็ตาม
เมื่อการแก้กฎหมายอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ
การแก้ไขกฎหมายเพื่อขจัดปัญหาเป็นเรื่องดี แต่นอกจากกฎหมายแล้ว สิ่งที่สังคมต้องย้อนกลับไปดูด้วยคือรากของปัญหา … สังคมแบบไหนที่ทำให้การสะกดรอยตามเฟื่องฟู?
จากผลการวิจัยชี้ว่า พื้นเพของสตอล์กเกอร์ส่วนใหญ่ มักจะขาดทักษะทางสังคม และคิดว่าสื่อสารกับผู้อื่นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ ‘โรคขี้มโน (Erotomania)’ คือภาวะสุขภาพจิตอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกับอาการหลงผิด หรืออาการคลั่งไคล้ที่มากจนเกินไป โดยบุคคลที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะยึดติดกับการได้รับความรักจากบุคคลอื่นเสมอ ซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
หรือการคิดเข้าข้างตนเองเสมอว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นตกหลุมรักตนเอง เสมือนกับที่ตนเองตกหลุมรักพวกเขา จึงอาจทำให้บางครั้งตัวผู้ป่วยจะแสดงพฤติกรรมที่อยากจะใกล้ชิดหรือติดต่อคนที่ตัวเองคลั้งไคล้ตลอดเวลา จนนำไปสู่การสะกดรอยตามและคุกคาม ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จำเป็นต้องรักษา โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ดังนั้น ปัญหาสุขภาพจิต เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่จะต้องพูดถึงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ หากลองดูสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นในปี 2021 มีผู้คนขอรับการปรึกษาเกือบ 20,000 ครั้งเกี่ยวกับการถูกสะกดรอยตาม และมีคนมากถึง 2,500 คนที่ถูกตำรวจสอบสวนหรือควบคุมตัวเพราะก่อเหตุสะกดรอยตามและคุกคามผู้อื่น โดยผู้กระทำความผิดเป็นผู้ชาย 75 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกกระทำที่ถูกสะกดรอยตามนั้นมักจะเป็นแฟนเก่าหรือคนที่เคยออกเดตด้วย
“กฎหมายสามารถป้องกันการสะกดรอยตาม แต่ไม่สามารถป้องกันการถูกทำร้ายหรือฆาตกรรมได้เลย”
จึงอาจสรุปได้ว่า แม้ว่ากฎหมายจะถูกแก้แล้ว แต่ถ้าไม่แก้ค่านิยมทางสังคม หรือวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่ยังคงเอื้อให้ผู้ก่อเหตุที่มักจะเป็นผู้ชายคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะคุกคามผู้อื่นควบคู่ไปด้วย ปัญหาการสะกดรอยตามก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งการศึกษา สื่อ สถาบันต่างๆ อย่างสถาบันครอบครัว ล้วนมีอิทธิพลต่อการลดความรุนแรงทางเพศในสังคมให้น้อยลงได้
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ากฎหมายต่อต้านการสะกดรอยตามในประเทศญี่ปุ่นยังมีช่องโหว่อยู่มาก ที่ยังก่อผู้สะกดรอยตามยังสามารถหาช่องทางเพื่อกระทำเช่นเดิมอยู่ จนบางครั้งนำไปสู่เหตุการณ์ที่ร้ายแรง จนทำให้บางคนต้องประสบกับการถูกทำร้ายร่างกาย หรือเลวร้ายที่สุด คือถูกฆาตกรรม แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีกฎหมายนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อผู้ที่ถูกคุกคามและสะกดรอยตาม โดยการบังคับใช้เป็นกฎหมาย รวมทั้งพยายามแก้ไขกฎหมายเสมอเพื่อรองรับกับการคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อย่างการคุกคามในโลกโซเชียลมีเดีย
ถ้าเปรียบเทียบกับในประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายนี้ ทำให้ผู้ก่อเหตุสามารถสะกดรอยตามผู้อื่นได้อย่างเสรี โดยไม่กลัวว่าตัวเองจะถูกจับ เช่นในกรณีของมินตันที่ผู้สะกดรอยตามเธอถูกจับด้วยข้อหาอื่นแทน ไม่ใช่เพราะข้อหาการสะกดรอยตามเธอ ทำให้เธอยังต้องประสบกับการถูกคุกคามของชายคนนี้อยู่ดี
ดังที่มินตันกล่าว “กฎหมายบ้านเรามันเป็นแบบนี้ กฎหมายมีไว้รอให้เหยื่อถูกกระทำรุนแรงก่อน กฎหมายไม่ใช่มีไว้เพื่อป้องกันเหยื่อไม่ให้เกิดเหตุ”
การล่วงละเมิดและการคุกคามของสตอล์กเกอร์ มีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรงและเป็นอันตรายได้ เพราะบุคคลที่มีพฤติกรรมแบบนี้มีแนวโน้มที่จะก็เหตุอาชญากรรมต่อผู้ที่พวกเขาสะกดรอยตาม ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ คือผู้หญิง ดังนั้น กฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ที่สะกดรอยตามผู้อื่นสมควรมีในทุกสังคมหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก