“เจอคนหลากหลายร้อยแปดพันเก้า บางคนอกหัก บางคนประชดชีวิต บางคนตั้งใจมาเก็บเงิน บางคนมีครอบครัว ลูกเต้าทำงานแล้ว แต่ก็ต้องมา มันอาชีพเขา” – ป้าศรี
“ตอนแรกป้าเป็นหนี้เขา 20,000 กว่าบาท ต้องเอาโฉนดที่ดินไปจำนำ แต่ตอนนี้หมดแล้ว.. ไม่มีหนี้สินเนี่ย ดีที่สุดแล้ว มีแค่ไหนก็ใช้เท่านั้น” – ป้าจันทร์ (นามสมมุติ)
สิทธิและปัญหาของผู้ค้าบริการทางเพศ เป็นประเด็นที่สังคมกลับมาพูดถึงกันอีกครั้ง เพราะหากไม่ปิดสองหู สองตา ก็คงเคยได้ยินคำฝรั่งที่เรียกเมืองไทยว่าเป็น ‘เมืองหลวงของเซ็กซ์เวิร์กเกอร์’ สะท้อนว่าสังคมเรามีเซ็กซ์เวิร์กเกอร์จำนวนมาก ที่บางรายงานชี้ว่ามีมากกว่า 140,000 คน ขณะที่อีกฉบับบอกว่ามีไม่ต่ำกว่า 800,000 คน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 คนเหล่านี้ยังอยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกนับเป็นแรงงาน และสูญเสียสิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองในฐานะแรงงานคนหนึ่ง และด้วยสถานะเช่นนี้ ทำให้บ่อยครั้งที่เธอและเขาถูกบังคับให้จ่ายเงินแทนการถูกจับเข้าเรือนจำ
TheMATTER ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรอกสาเก เพื่อพูดคุยและเก็บภาพชีวิตของเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ในย่านดังกล่าว ซึ่งเรื่องเล่าทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพและเนื้อเรื่องเหล่านี้แล้ว
เลียบคลองหลอด ย่านตรอกสาเก
หากเคยลองมาเดินเล่นบริเวณเขตเมืองเก่า ช่วงตั้งแต่ตรอกหลังตึกรัตนโกสินทร์ จรดฝั่งตรงข้ามกระทรวงกลาโหม ย่านที่คลองหลอดวัดเทพธิดาไหลผ่านกึ่งกลางชุมชนที่ชื่อว่า ‘ตรอกสาเก’ คงจะเคยได้ยินเสียงเสียงกระซิบมาเข้าหูว่า “เที่ยวมั๊ยคะ?”
ตรอกสาเกเป็นพื้นที่ประหลาด ในบางซอยของตรอกสาเก มีโรงแรมหรูหราราคาแพง แต่ฝากตรงข้ามเป็นกองขยะพลาสติกของซาเล้ง ถัดออกไปแม่ค้ายืนโขกส้มตำ ท่ามกลางกลิ่นหอมกาแฟ หรือในอีกซอยหนึ่ง เพื่อนหญิงต่างวัยกำลังเดินผ่านเพลิงหน้าตาประหลาดที่คนเก็บขยะใช้หลับนอน เพื่อมุ่งไปยังจุดประจำการ รอคอยลูกค้าที่มาซื้อตัวเธอไปในค่ำคืนนี้
หญิงสาวขายบริการในพื้นที่คลองหลอด มีตั้งแต่วัยสาวแรกแย้ม เรื่อยไปจนถึงผมสีดอกเลาทั้งหัว พวกเธอไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรมามากมาย นอกจากถุงยาง เควายเจลล์ และเก้าอี้พลาสติกสักตัวสำหรับนั่งพัก
ค่าแรงของพวกเธอต่อหนึ่งยก หรือหนึ่งชั่วโมง มีตั้งแต่ 500 บาท 300 บาท จนถึงถูกสุดเพียงบุหรี่หนึ่งมวน ส่วนค่าโรงแรมผู้ซื้อต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งก็มีให้เลือกตั้งแต่โรงแรมติดแอร์อย่างดี ไปจนถึงห้องรูหนูในบ้านไม้เก่า ในราคาชั่วโมงละ 50 บาท
แม้ขณะนี้ สังคมไทยจะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 บังคับใช้อยู่ แต่ดูเหมือนว่าผู้ค้าบริการทางเพศก็ยังดำรงอยู่ ชนิดที่ถ้าใครเถียง ก็ต้องไล่ไปเช็คสายตา
โดยจากรายงานของ UNAIDS เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2020 เคยประเมินไว้ว่า มีจำนวนผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทย 145,000 คน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่แท้จริงก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะรายงานบางฉบับก็ประเมินว่าอาจมีมากถึง 800,000 – 2,800,000 คน
และจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2555 ที่เคยได้สัมภาษณ์ ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตนักการเมืองและนักธุรกิจผู้คว่ำหลอดในวงการอาบ นวด นวด เขาเคยประเมินรายได้ของอุตสาหกรรมทางเพศในไทยไว้ว่าอาจมากถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี
มุมหนึ่ง หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมคนเราถึงยอมแลกเซ็กส์กับเงินจำนวนเพียงไม่กี่ร้อย แต่ในสังคมไทยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำติดอันดับต้นของโลก ไม่ว่าเรื่องระบบการศึกษาที่ไม่ทั่วถึงและขาดคุณภาพ ความยากจนที่ส่งทอดเป็นมรดก เรื่อยไปจนถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง การค้าบริการทางเพศอาจเป็นเรื่องจริงใจกว่าอาชญกรรมหลายเท่าตัวนัก
ป้าจันทร์ และความฝันหลังจากนี้
“ตอนแรกป้าเป็นหนี้เขา 20,000 กว่าบาท ต้องเอาโฉนดที่ดินไปจำนำ แต่ตอนนี้หมดแล้ว.. ไม่มีหนี้สินเนี่ย ดีที่สุดแล้ว มีแค่ไหนก็ใช้เท่านั้น” ป้าจันทร์ (นามสมมุติ) หญิงสาวในวัยห้าสิบตอนต้นเล่าให้เราฟังในห้องสี่เหลี่ยมเล็กแคบ ที่มีเพียงพัดลม เตียง 6 ฟุต และไฟสีส้มดวงเล็ก
“ตอนแรกป้าเป็นหนี้เขา 20,000 กว่าบาท ต้องเอาโฉนดที่ดินไปจำนำ แต่ตอนนี้หมดแล้ว.. ไม่มีหนี้สินเนี่ย ดีที่สุดแล้ว มีแค่ไหนก็ใช้เท่านั้น” – ป้าจันทร์ (นามสมมุติ)
ป้าจันทร์เหมือนเด็กสาวต่างจังหวัดทั่วไป ที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพในยุคคนชนบทอพยพเข้าเมือง และด้วยข้อจำกัดทางการศึกษา ทำให้เธอมีทางเลือกไม่มากนัก ต้องจำใจเป็นพนักงานก่อสร้าง ก่อนที่ลงเอย มาทำอาชีพหญิงขายบริการตามคำชวนของเพื่อน
“มันเหมือนมีอะไรกับแฟนนั่นแหละ มันเป็นอาชีพเรา เราบริการลูกค้า ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย” จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ป้าจันทร์ขายบริการทางเพศในเรต 300 บาท/ชั่วโมง พบลูกค้ามากหน้าหลายตาแวะเข้ามาใช้บริการ บางคนให้ทิปบ้าง บางคนต่อราคาจนเธอเดือดดาล ซึ่งถ้าวันไหนโชคยืนข้าง เธออาจได้ลูกค้าถึงสามราย และมีเงินติดกระเป๋าเกือบพันบาท
แต่ถ้าบางวันแจ๊คพ็อตก็อาจจะมีรถมอเตอร์ไซค์คันสีน้ำตาลวนมาจอดใกล้ๆ จุดประจำที่เธอยืน ก่อนที่จะมีคนในชุดกากี ลงมาร้องขอเงิน 100-200 บาท แทนการถูกพาไปโรงพัก
ป้าจันทร์ไม่ได้มองว่าการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเรื่องเลวร้ายนัก สำหรับเธอมันเหมือนการช่วยๆ กันเสียมากกว่า ‘เขาทำหน้าที่ของเขา เราทำของเรา จ่ายๆ กันไปมันก็จบ’ คำอธิบายของเธอไม่ผิดเพี้ยนจากนี้มากนัก
ป้าจันทร์ไม่ได้ตัวคนเดียว เธอมีลูกชายสองคน คนโตตอนนี้แต่งงานแล้ว และมีลูกเล็กน่ารัก 3 คน ขณะที่อีกคนหนึ่งต้องเผชิญกับอาการทางจิต จากการเสพยาเกินขนาดตั้งแต่สมัยยังอยู่ในวัยมัธยม ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอยังคงต้องทำงานนี้อยู่ เพื่อหาเงินเป็นค่าเดินทางกลับไปใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ลพบุรี รวมถึงค่ารักษา หยูกยา และอื่นๆ
ทุกครั้งที่พูดถึงลูก สายตาป้าจันทร์จะเป็นประกาย เปี่ยมไปด้วยความหวัง เธอเล่าให้ฟังว่าไม่มีใครที่บ้านรู้ว่าเธอมาทำอาชีพนี้ และเธอยินดีให้มันเป็นความลับอยู่แบบนั้น เธอหวังว่าต่อจากนี้อีก 4-5 ปี จะรักษาลูกชายให้หายดีแล้วเก็บเงินสักก้อนเพื่อย้ายออกจากกรุงเทพฯ กลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดกับพี่สาว ลืมเลือนเรื่องราวที่ผ่านมาให้หมด เหมือนลืมความฝันเมื่อคืนวาน
ป็อกหนุ่มวัยรุ่นใจรักบริการ
ป็อกเป็นเด็กหนุ่มผิวกร้านแดด รูปร่างผอมบาง และสูงไม่เกิน 5 ฟุตครึ่ง พื้นเพเป็นคนจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน และเหมือนเช่นชาวชนบทส่วนมากที่ถูกความจำเป็นทางเศรษฐกิจบีบให้ต้องย้ายเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ
และเช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากในสังคมไทย ป็อกไม่มีปริญญาบัตร และไม่เคยกระทั่งสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ 15 ปี แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นโชคดีของเขา เพราะตาของเขาเคยสอนวิชา ‘นวดแผนไทย’ เอาไว้บ้าง ทำให้ช่วงหนึ่งเขามีโอกาสได้ทำงานในร้านนวดแห่งหนึ่ง ภายในสนามมวยราชดำเนิน
แต่เมื่อสนามมวยราชดำเนินกลายเป็นจุดแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เมื่อเดือนมีนาคม เท่ก็ต้องจำใจลาจากร้านนวด และกลายมาเป็นมือนวดฟรีแลนซ์ ที่หอบเสื่อหนึ่งผืนและน้ำมันโอสถทิพย์ที่ซื้อจากสนามหลวงในราคา 20 บาท เพื่อให้บริการนวดคลายเมื่อยริมถนน
ป็อกเล่าว่า ปกติแล้วเขาจะออกมาปูเสื่อประจำการริมถนนราชดำเนิน และเริ่มรับลูกค้าตั้งแต่เวลา 1 ทุ่ม ถึงประมาณเที่ยงคืน แต่ถ้าวันไหนลูกค้าชุมเขาก็อาจทำงานเลยไปจนถึงตี 5 เขาค่าบริการเพียงชั่วโมงละ 150 บาท แต่ถ้าลูกค้าประทับใจฝีไม้ลายมือการนวดของเขา เขาก็พร้อมที่ตามลูกค้าไปกินข้าว ดื่มเบียร์ แล้วนวดต่ออีกสักยก ในห้องของโรงแรมหรือบ้านของลูกค้า เพราะสำหรับเขา
“มันเป็นเรื่องของงานบริการ เราชอบบริการ ถ้าลูกค้าชอบ เราก็ต้องทำ”
ก่อนจากกันเราถามป็อกว่าหลังจากนี้มีความฝันหรือแผนจะทำอะไรไหม เขาส่ายหน้า ยิ้มหยีๆ จุดบุหรี่สูบและเดินจากไป
ร้านน้ำป้าศรี ศาลาพักใจริมทาง
มองออกมาจากห้องน้ำในตึกแถวโทรมๆ แห่งหนึ่ง เสียงพระสวดบทอิติปิโสดังมาจากวิทยุทรายซิสเตอร์เก่าแก่ ตัดกับเสียงกระทบกันของกระบวยและแก้วพลาสติกหน้าร้าน หญิงชราในเสื้อเชิ้ตลายทางกำลังพูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่ง ก่อนหัวเราะและล้วงกระดาษสีแดงออกมาจากกระเป๋าเสื้อ ยื่นส่งให้หญิงสาวอีกคน เธอพนมมือขอบคุณ ก่อนหยิบมัน และเดินหายไปกับแสงไฟถนน
ร้านของป้าศรีตั้งอยู่กึ่งย่านตรอกสาเกพอดี มันเป็นทั้งร้านน้ำชา ร้านขายข้าว หอพัก ห้องน้ำ ศาลาประชาสัมพันธ์ของชุมชน ตลอดจนศาลาพักเหนื่อยและพักใจของผู้ค้าบริการทางเพศ
“โอ๊ย มันเป็นแบบนี้มา 20-30 ปีแล้ว ตั้งแต่ป้ามาอยู่ เก้าอี้แถวนั้นมันก็มีอยู่แล้ว” หญิงชราเชื้อไทย-จีนรูปร่างเล็ก พูดขึ้นด้วยน้ำเสียงกังวาล เธอชื่อ ‘ป้าศรี’ และเธอหมายถึงเก้าอี้เจ็ดแปดตัวข้างร้านเธอ ที่มักจะมีหญิงสาวผลัดกันหมุนเวียนมานั่งกันตลอด 24 ชั่วโมง
“เจอคนหลากหลายร้อยแปดพันเก้า บางคนอกหัก บางคนประชดชีวิต บางคนตั้งใจมาเก็บเงิน บางคนมีครอบครัว ลูกเต้าทำงานแล้ว แต่ก็ต้องมา มันอาชีพเขา” – ป้าศรี
ปีนี้อายุป้าศรีย่างเข้าสู่เลขเจ็ดแล้ว เห็นมาเยอะ รู้มาเยอะ และผ่านมาเยอะ เธอพูดถึงเจ้าของเก้าอี้เหล่านั้นว่า “เจอคนหลากหลายร้อยแปดพันเก้า บางคนอกหัก บางคนประชดชีวิต บางคนตั้งใจมาเก็บเงิน บางคนมีครอบครัว ลูกเต้าทำงานแล้ว แต่ก็ต้องมา มันอาชีพเขา” น้ำเสียงเธอชัดว่าไม่ได้มองว่าคนเหล่านั้นเลวร้าย ที่ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่มันเป็นทางเลือก บนทางแยกที่จำเป็นของชีวิต
“จ่ายฝั่งนี้ (สน.สำราญราษ) 100-200 ข้อหาเตร็ดเตร่ เดินไปฝั่งนู้น (สน.ชนะสงคราม) 500 ข้อหาค้าประเวณี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว แล้วแต่นายสั่ง” เรานั่งฟังอย่างนิ่งเงียบ ขณะที่เธอเปิดเปลือยวิธีการใช้กฎหมายเพื่อหากินกับหญิงขายบริการให้เราฟัง
ซึ่งอันที่จริง ปัจจุบันตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ไม่มีความผิดฐานเตร็ดเตร่เพียงอย่างเดียวอีกแล้ว แต่ผู้ค้าบริการจะมีความผิดก็ต่อเมื่อ เข้าไปเสนอตัว หรือเชื้อเชิญให้มีการซื้อบริการอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่กำกวมย่อมให้คุณแก่ผู้ที่ถือกฎหมายอยู่ในมือ และให้โทษแก่ผู้ที่เหยียบยืนอยู่ในโลกสีเทาเช่นกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศ
นอกจากนี้ คำว่า ‘นายสั่ง’ ก็ยังชวนนึกถึงปรากฎการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายคุกคามประชาชนที่เกิดขึ้นตลอดการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ผ่านมา มันแสดงว่าอำนาจของกฎหมายไม่ได้อยู่ในแม่บทเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในดุลยพินิจของผู้ควบคุมกฎหมายอยู่มากเช่นกัน
ไม่เพียงแต่ผู้ค้าบริการทางเพศที่เป็นฟรีแลนซ์เท่านั้น เพราะจากงานวิยจัยของ ดร.จอมเดช ตรีเมฆ พบว่า สถานค้าบริการทางเพศแต่ละแห่งมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งต้องแบ่งจ่ายเป็นค่าต๋งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเดือนละ 200,000 – 400,000 บาท
“การศึกษาเป็นปัญหาใหญ่สุด ถ้าโตในสลัมไม่ได้เรียน ก็ไม่รู้จะไปไหน เขาก็ดึงๆ กันมาทำ รัฐบาลประเทศเราไม่เหมือนต่างประเทศ ไม่เคยสร้างงาน สร้างอาชีพ ดูอย่างโรงงานรถยนต์ ยังไม่มีเป็นของตัวเองเลย” – ป้าศรี
“การศึกษาเป็นปัญหาใหญ่สุด ถ้าโตในสลัมไม่ได้เรียน ก็ไม่รู้จะไปไหน เขาก็ดึงๆ กันมาทำ รัฐบาลประเทศเราไม่เหมือนต่างประเทศ ไม่เคยสร้างงาน สร้างอาชีพ ดูอย่างโรงงานรถยนต์ ยังไม่มีเป็นของตัวเองเลย” ป้าศรีพูดพลางไล่สายตาตามตัวหนังสือบนหน้าธุรกิจของหนังสือพิมพ์
อาจดูเป็นเรื่องตลกร้าย แต่สิ่งที่ป้าศรีพูดเป็นความจริงที่เราต่างต้องยอมรับ เพราะเมืองไทยเป็นและเคยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกอะไหล่รถยนต์ไปให้แก่บริษัทรถยนต์ขนาดยักษ์หลายยี่ห้อ ไม่ว่า โตโยต้า, ฮอนด้า, ฟอร์ด หรือมิตซูบิชิ เพื่อนำอะไหล่กลับไปประกอบที่ประเทศต้นทาง และส่งกลับเข้ามาในไทยอีกรอบ เพื่อรับภาษีนำเข้า 300 เปอร์เซนต์
นอกจากนี้ ปัญหาการว่างงานก็ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมไทยอยู่ เพราะหลัง Coivd-19 ไม่ว่าสำนักไหนก็ล้วนคาดการณ์ไปทิศทางเดียวกันว่า ต้องอาศัยเวลาไม่น้อยในการกลับมาฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนเดิม
รัฐสวัสดิการจะดูแลทุกคน จ๋า มูลนิธิอิสรชน
จ๋า – อัจฉรา สรวารี จากมูลนิธิอิสรชน เป็นคนหนึ่งที่ลงไปคลุกคลีในพื้นที่ตรอกสาเกอยู่สม่ำเสมอ โดยปกติทุกวันอังคารเธอและอิสชนจะนำอาหาร น้ำหวาน เสื้อผ้า ผ้าห่ม ตลอดจนอุปกรณ์ป้องกันไวรัส Covid-19 อย่างหน้ากากอนามัย และเจลล์ล้างมือลงไปแจกในพื้นที่ และสำหรับกลุ่มที่เป็นผู้ค้าบริการ อิสรชนก็เตรียมมีถุงยาง และเควายเจลล์ติดมือลงไปแจก
จ๋า มองว่ากฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีฉบับปัจจุบัน ถูกคิดโดยคนที่ไม่เข้าใจผู้ค้าบริการ มันเลยออกมาบิดเบี้ยวไปหมด และยังมีภาพจำว่าผู้ค้าบริการส่วนมากถูกบังคับให้มาทำ ไม่ได้เลือกเองโดยสมัครใจ
การพูดถึงประเด็นนี้ จ๋าบอกว่าต้องเข้าใจก่อนว่าในปัจจุบัน มีทั้งผู้ขายบริการโดยสมัครใจ และต้องมาขายบริการเพราะสภาพเศรษฐกิจบังคับ
“ในพื้นที่ตรอกสาเกอาจจะใช่ (ถูกสภาพเศรษฐกิจกดดัน – ผู้เขียน) เพราะเป็นพื้นที่ low cost ที่โสเภณีที่แก่แล้ว ออกจากสถานบริการแล้ว มาทำเป็นอิสระของตัวเอง ผู้ขายแถวนี้ก็จะมีอายุ 40 ไปถึงวัย 80 มีทั้งเป็นแม่บ้าน และต้องหาเลี้ยงตัวเอง เพราะเข้าสู่อาชีพอื่นไม่ได้แล้ว”
“แต่คนที่มาทำยุคหลังนี้ไม่มีใครโดนบังคับแล้ว เมื่อก่อนมันเคยมีระบบซ่อง บ้านสาว ก็จะมีคนถูกบังคับเข้ามาขายตัว อย่างเมื่อก่อนแถวบ้านพี่ มันก็จะมีซอยบ้านสาว พี่ก็วิ่งเล่นอยู่แถวนั้น เราเห็นมาตลอดตั้งแต่ถูกบังคับมาขาย ถูกทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าตัวตายเพราะติดเชื้อไวรัส HIV”
“แต่ถึงตอนนี้ซอยนั้นก็ปิดไปหมดแล้ว คนขายบริการพอทำงานสักพัก เขามีลูกค้าประจำ เขาก็ออกมาทำอิสระเอง เพราะค่านายหน้าก็ไม่ต้องแบ่งให้ใคร”
จ๋า กล่าวต่อว่าก่อนอื่นเราต้องตั้งหลักกันก่อนว่าอาชีพผู้ค้าบริการทางเพศก็เป็นอาชีพด้านบริการที่สุจริต ไม่ได้ทำร้ายใคร ใช้ร่างกายและแรงงานของตัวเองแลกกับค่าตอบแทน ซึ่งถ้าทำแล้วหาเลี้ยงตัวเองได้ ก็ไม่ต้องเบียดเบียนใคร
อย่างไรก็ดี จ๋ายอมรับว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง และนโยบายของภาครัฐที่ยังคงวนเวียนอยู่กับการสงเคราะห์คนจน และมองว่าพวกเขาไม่มีศักยภาพในการทำงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาฝังรากลึกที่เกิดขึ้นได้ หากต้องมุ่งไปแก้ในระดับโครงสร้างสังคมคือ การสร้างรัฐสวัสดิการ
เธอเข้าใจดีว่ามันยังอีกไกลนัก กว่ารัฐไทยจะเดินหน้าไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ แต่เธอเชื่อเหมือนที่บอกกับอาสาสมัครของกลุ่มเสมอว่า สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเริ่มมีได้คือ ทัศนคติมองคนเท่ากัน
“สังคมไทยในตอนนี้ยังมีปัญหาหลายระดับ โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่เห็นในตอนนี้ ซึ่งถ้าเราไม่ช่วยเขาเลย มันก็ไม่ได้ อิสรชนจะบอกอาสาว่าต้องไม่ให้เงิน แต่เราแค่แบ่งปัน เช่น ฉันมีผ้าห่ม 2 ผืน แบ่งให้คุณ 1 ผืน เราพยายามแบ่งปันแบบนี้ เพื่อให้เห็นว่าคนเท่ากัน”
“ถ้าทัศนคติของคนที่มีอำนาจกำหนดนโยบายยังมองคนไม่เท่ากันว่า กิน ขี้ ปี้ นอน เขาก็จะไม่มีวันเข้าใจความหมายของรัฐสวัสดิการ เขาจะเคยชินกับการเข้าใจว่า ฉันต้องให้บางสิ่งเพราะคนที่รับที่ต่ำกว่า ขาดกว่า และเราเหลือกว่า”
“เราไม่ได้มองแค่ผู้ขายบริการทางเพศอาชีพเดียวนะ แต่มองว่าถ้าเรามีรัฐสวัสดิการอย่างทั่วถึง ทุกอาชีพจะได้รับการดูแลเท่ากัน ได้ค่ารักษาพยาบาลฟรี ค่าเล่าเรียนฟรี แก่ชราก็มีเบี้ยเลี้ยงชีพ เพราะเราเสียภาษีกันอยู่ตลอด ถ้าเราได้รับสวัสดิการที่ดีเท่ากัน ก็จะไม่มีการเถียงกันว่าทำไมคนนี้ได้เท่านี้ คนนี้ได้อีกแบบหนึ่ง”