ทำไมเราต้องสนใจ Representation?
หนังที่เราดู นิยายที่เราอ่าน หรือสื่อที่เราเสพ มันไม่ใช่แค่เฉพาะความบันเทิงเฉยๆ อย่างนั้นเหรอ? เรายังต้องพูดถึงและให้ความสนใจในภาพตัวแทนอยู่จริงๆ เหรอ ในเมื่อมองไปทางไหนก็เริ่มมีการนำเสนอคนกลุ่มต่างๆ ผ่านสื่อมากขึ้นแล้ว? มันก็ดีพอแล้วหรือเปล่า? และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงเรื่องแต่งไม่ใช่เหรอ ทำไมเราถึงไม่ไปสนใจเรื่องอื่นในชีวิตจริงล่ะ?
คำถามเหล่านั้นมักเกิดขึ้นมา เมื่อมีการพูดคุยเกี่ยวกับการนำเสนอผ่านสื่อหรือ Media Representation หากมองไปรอบๆ ตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นหนัง หนังสือ วิดีโอเกม ฯลฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำเสนอผ่านสื่อนั้นเดินหน้าไปไกลที่สุด เท่าที่มันเป็นมาตามธรรมชาติของเวลาและความเปลี่ยนแปลง และน่าจะไม่ต้องตั้งคำถามว่ามันสำคัญหรือไม่อีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งที่ต้องรู้ในขั้นต่อไปคือ แล้วทำไมการนำเสนอผ่านสื่อถึงสำคัญ? ซึ่งถ้าเรารู้คำตอบของคำถามนี้ คำถามอื่นๆ ข้างต้นก็อาจได้รับการคลี่คลายไปด้วย
หากสมมติว่า เราเติบโตมาในโรงเรียนชายล้วน สังคมโดยรอบเต็มไปด้วยผู้ชายและคนเพศเดียวกันกับเรา เราจับกลุ่มกับคนที่มีจุดร่วม อาจจะเป็นความสนใจร่วมหรือมุมมองอะไรบางอย่าง โดยกลุ่มเพื่อนเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญต่อการก่อร่างสร้างตัวตนของเรา สร้างความหมายของความเป็นชาย และทำให้เราคิดไปว่าตัวเองรู้ทุกอย่างที่ต้องรู้เกี่ยวกับโลกของเราแล้ว แต่ ณ ขณะนั้นคือโลกที่มีแต่ผู้ชาย
แล้วลองคิดต่อไปอีกว่า ถ้าทั้งหมดนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสังคมและในทุกช่วงชีวิตของเราล่ะ?
อาชีพของเราทำให้เราเข้าใจมุมมองของเพื่อนร่วมอาชีพ รายได้เป็นตัวกำหนดที่อยู่อาศัย และที่อยู่อาศัยเป็นตัวกำหนดรูปแบบเพื่อนบ้านที่มีสถานะทางสังคมคล้ายกับเรา สถานะทางชนชั้นของเราจะพาไปเจอคนในชนชั้นเดียวกัน และเพศสภาพของเราก็เป็นตัวกำหนดคนที่จะอยู่รอบตัวเรา
ในระดับใดระดับหนึ่ง สังคมของเราแบ่งเราออกจากกันด้วยกำแพงที่เรามองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเราออกผ่านการงาน ผ่านเพศ หรือผ่านชนชั้น และบ่อยครั้งที่กำแพงเหล่านั้นบังเราไว้ไม่ให้เห็นคนกลุ่มอื่นๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งหนึ่งในหนทางอันน้อยนิดที่จะทำให้เรามองออกไปนอกกำแพงสถานะทางสังคมได้ คือการมองดูการนำเสนอผ่านสื่อ หากแต่ภาพนำเสนอที่เห็นเหล่านั้นในปัจจุบัน เป็นยังไงบ้างนะ?
สำหรับใครหลายคน ครั้งแรกที่ได้เห็นตัวละคร LGBTQ+ บนสื่ออย่าง ‘พี่กอล์ฟ’ จากซิตคอมเรื่องเป็นต่อ หรือภาพจำ ‘กะเทย’ กระแสหลักที่เข้าถึงคนหลายกลุ่มและเป็นที่ติดตามากที่สุดของไทยอย่างหอแต๋วแตก แต่ในสังคมของเราที่มีกำแพงกั้นระหว่างกันอยู่นี้ ทำให้การรับรู้ถึงตัวตนมาจากภาพจำที่ค่อนข้างเหมารวม (Stereotype)
หากกลับมามองในยุคปัจจุบันที่มีความทันสมัยขึ้น ความนิยมของสื่อ ‘บอยเลิฟ’ หรือที่เราคุ้นในชื่อว่า ‘วาย’ นั้นก็เป็นทางเข้าสำหรับใครหลายคนที่อยากเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ชายรักชาย อย่างไรก็ดี บอยเลิฟบางเรื่องก็ค่อนข้าง ‘ขวยเขิน’ ที่จะนำเสนอว่าตัวละครคู่หลักของพวกเขาเป็น ‘เกย์’ โดยมักจะแทนที่ความสัมพันธ์ว่า ‘ชอบแค่คนนี้’ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใด หากเป็นการค้นหาเพศวิถีของตัวเองอยู่ แต่เปอร์เซ็นต์ของการนำเสนอเกี่ยวกับเพศอย่างตรงไปตรงมาและการปล่อยเบลอเรื่องเหล่านั้น อาจจะทำให้คนทั่วไปมีภาพจำและรับรู้เรื่องเพศได้อย่างไม่ครบถ้วนทุกแง่มุม
เรื่องทั้งหมดมันเป็นแค่เรื่องแต่ง คนเราต้องแยกแยะเรื่องแต่งกับเรื่องจริงออกจากกันได้รึเปล่า?
ทว่าเราก็พบว่ามีบทความวิชาการ The Power of (Mis)Representation: Why Racial and Ethnic Stereotypes in the Media Matter โดยแมรี่ คาสตาเยดา (Mari Castañeda) ศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัย Commonwealth Honors College เป็นบทความที่ปฏิเสธมุมมองข้างต้น
บทความเล่าถึงผลกระทบในแง่ลบของการนำเสนอผ่านสื่อด้วยการเหมารวม โดยคาสตาเยดาเขียนว่า การนำเสนอที่ขาดความหลากหลายนั้นสร้างความเข้าใจทางสังคมที่จำกัด พร้อมทั้งสร้างความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดอันตรายต่อคนกลุ่มนั้นจริงๆ ทั้งนี้เธอได้ยกตัวอย่างภาพจำคนลาตินอเมริกาที่มักได้รับภาพจำในแง่ลบและรุนแรง เช่น เป็นผู้ค้ายา นักเลง หรือเป็นแรงงานผิดกฎหมายในสื่อของสหรัฐฯ
สำหรับข้อถกเถียงว่า การนำเสนอผ่านสื่อไม่มีผลอะไรต่อโลกความจริง คาสตาเยดากล่าวว่า “แม้ว่าอุตสาหกรรมจะบอกว่าสื่อและป๊อปคัลเจอร์มีผลกระทบต่อโลกเพียงน้อยนิดหรือไม่มีเลย แต่ผู้ถกเถียงไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลที่เก็บกันมาหลายปี งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า สื่อส่งผลต่อการรับรู้และสังคมต่อคนทั่วไปโดยเฉพาะในเด็ก และเมื่อเวลาผ่านไป เด็กเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกปั้นขึ้นมา ด้วยสื่อที่ให้คุณค่าเชิงทุนนิยม เหยียดเชื้อชาติ และเหยียดเพศในสหรัฐฯ”
หากจะมองไปยังแง่มุมเรื่องเพศ เราจะเห็นผลกระทบของมันได้จากความจำเจ (Cliché) ในภาพยนตร์นั่นคือ ฆาตกรต่อเนื่องหญิง ในขณะที่การแต่งหญิงเป็นคนละเรื่องกับการเป็นคนข้ามเพศ แต่บ่อยครั้งผู้คนกลับเชื่อมโยงภาพทั้ง 2 เข้าด้วยกัน ซึ่งนักปรัชญานาตาลี วินน์ (Natalie Wynn) ได้ยกตัวอย่างหนังเรื่อง Psycho, Dress to Kill และ Silence of The Lambs ว่าเป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องของยุคสมัยนั้นที่นำเสนอภาพของคนข้ามเพศ และมีส่วนก่อให้เกิดภาพจำอันตรายต่อคนข้ามเพศ โดยความกลัวคนข้ามเพศนั้นก็สามารถส่งผลไปเป็นความรุนแรงและการฆาตกรรม เนื่องด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือความรู้สึก ‘ถูกหลอก’
ส่วนที่ต้องคำนึงถึงอีกหนึ่งส่วน คือความรอบด้านของการนำเสนอ “ฉันไม่คิดว่าการสร้างหนังหรือการเขียนหนังสือฆาตกรข้ามเพศเป็นเรื่องผิดตลอด เพราะมันเป็นปัญหาของการนำเสนอ เกือบ 10 ปีที่ไม่มีการนำเสนอเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับคนข้ามเพศ มีแต่สื่อฆาตกรต่อเนื่องบานตะไท…เมื่อถึงเวลาคุยกันเรื่องกฎหมายห้องน้ำ แล้วผู้คนนึกถึงแต่ว่าคนข้ามเพศจะจ้วงแทงผู้หญิงในห้องน้ำจาก Psycho จึงเห็นได้ว่าภาพจำมันส่งผลไปยังมุมมองที่คนมีต่อคนข้ามเพศได้จริงๆ” วินน์กล่าว
ความรอบด้านในการนำเสนอ ส่งผลต่อเรามากกว่าเพียงมุมมองจากคนอื่น เพราะเป็นมุมมองที่เรามีต่อตัวเองด้วย นอกจากประสบการณ์ในโลกของเราแล้ว สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าคนที่มีตัวตนเหมือนเราสามารถดำรงอยู่และเป็นใครในโลกใบนั้นได้ แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากคนที่มีตัวตนแบบเราถูกนำเสนอในแง่ลบอยู่สม่ำเสมอ หรือบางครั้งก็ไม่มีการนำเสนอคนที่มีตัวตนแบบเราเลย?
ในหนังสือ Reel Inequality: Hollywood Actors and Racism โดยแนนซี เหยียน (Nancy Yuen) มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำเสนอว่า “การดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน สามารถลดความมั่นใจในตัวเองของเด็กผู้หญิงทุกคนและเด็กชายผิวดำ แต่กลับเพิ่มความมั่นใจในตัวเองต่อเด็กชายผิวขาว” ซึ่งเธอเชื่อมโยงข้อมูลนั้นเข้ากับความลำเอียง ที่สื่อมักเลือกนักแสดงชายผิวขาวเป็นตัวเอกเสมอ และเลือกคนอื่นๆ ให้เป็นเพียงตัวร้าย ตัวรอง และวัตถุทางเพศ
ฉันเป็นผู้ชาย แต่ไม่ต้องเป็นผู้นำได้ไหม? ฉันอยากเป็นผู้หญิงแกร่ง แต่ไม่ต้องเป็นตัวแม่ได้หรือเปล่า? ฉันไม่ตลก ฉันเป็นกะเทยที่ถูกต้องหรือยัง? คำถามเหล่านี้และอีกมากมายเกินกว่าจะนับได้ มักเกิดขึ้นในใครสักคนเสมอ เมื่อพวกเขาเห็นการนำเสนอที่ซ้ำเดิมเกี่ยวกับเพศของตัวเอง หรือแม้แต่ผู้ที่ถูกนำเสนอมากแล้ว ทว่าไม่รอบด้านมากพอ ภาพจำเหล่านั้นก็อาจเป็นเหมือนสิ่งที่ผลักพวกเขาออกจากตัวตนของตัวเอง
ขณะเดียวกัน การนำเสนอในแง่บวก อาจพาให้เราได้รู้จักกับตัวตนของเราเองมากขึ้นได้ เด็กจากโรงเรียนชายล้วนคนหนึ่งได้ดูรักแห่งสยามครั้งแรกแล้ว อาจได้รับรู้ว่าสิ่งที่เรารู้สึกต่อเพื่อนสนิทคนนั้นไม่ใช่แค่ความรู้สึกเชิงมิตรภาพ แต่คือความรัก หรือเราอาจมองไปยังหนังอย่าง Spider-Verse ที่ตัวเอกเป็นคนผิวดำ เชื้อสายเปอร์โตริกัน แล้วทำให้เราฉุกคิดขึ้นได้ว่า คอนเซ็ปต์หลักของตัวละครสไปเดอร์แมน “ใครก็สามารถเป็นสไปเดอร์แมนได้” นั้นหมายความอย่างที่ว่าจริงๆ
ทางเดินบนเส้นทางสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริงยังอยู่อีกไกล การนำเสนอผ่านสื่อนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะบอกว่า ‘เท่านี้พอแล้ว’ ได้ แต่มันคือขั้นตอนของการสร้างและกระจายพื้นที่ให้แก่คนทุกคน จากทุกส่วนในสังคมที่ถูกกีดกันไว้ให้เท่ากัน
จนกว่าช่องว่างและกำแพงเหล่านั้นจะหายไป การนำเสนอที่รอบด้านจะหยุดลงไม่ได้
อ้างอิงจาก