เราจะเข้าใจเพศของเราได้ยังไง?
ในยุคปัจจุบันการพูดคุยเกี่ยวกับเพศไม่ใช่เรื่องที่ถามเอตอบบีได้อีกต่อไปแล้ว เพศทางพันธุกรรม อัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี ฯลฯ บทสนทนาเกี่ยวกับเพศลึกขึ้น หลากหลายขึ้น และครอบคลุมมากขึ้นไปมากกว่าเกิดเป็นเด็กชาย โตไปเป็นผู้ชาย และชอบผู้หญิงเท่านั้นแล้ว แต่โลกปัจจุบันเรียกร้องให้มีการทดลองและสำรวจเพศของตัวเองมากกว่านั้น เพื่อตัวเองและเพื่อสร้างสังคม สร้างระบบที่ไม่กีดกันใครออกไป
แต่เรามีการพูดคุยกันแบบนั้นแล้วหรือยัง?
แน่นอนว่าเราอาจคุยกันว่าในปัจจุบันมีการให้พื้นที่การพูดเรื่องเพศในแง่มุมต่างๆ ตั้งมากมายแล้วในมุมวิชาการ ไหนจะด้านความบันเทิงในปรากฏการณ์ ‘วาย’ อีก (ที่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องเอาไปคุยถกกันวันหลังว่าเป็นหรือไม่เป็นการนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ดีมากน้อยขนาดไหน) เรื่องเพศในสังคมเราไม่คับแคบเท่าเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่ว่าหากให้เราพูดโดยสัตย์จริง เราเปิดพื้นที่การสำรวจทดลองเพศกันมากพอแล้วหรือ?
ความรู้สึกของการ ‘โตไปเดี๋ยวค่อยรู้’ ดูจะเป็นท่าทีหลักเมื่อเราพูดคุยกันเรื่องการสำรวจตัวตนทางเพศของเราแต่ละคน แต่เรื่องแบบนี้เราค่อยๆ กันได้จริงหรือเปล่า? มีเหตุผลอะไรที่เราควรหรือไม่ควรในการที่จะเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมเริ่มเสาะหาส่วนหนึ่งในตัวตนทางเพศของเขาเองอย่างรวดเร็ว?
ตั้งแต่เราเกิดขึ้นมา โลกและระบบของมันบอกกับเราว่าไม่เป็นชายเราก็เป็นหญิง และโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ บ่อยครั้งในห้วงเวลาและขั้นตอนการเติบโตของเราทำให้เราถูกจัดอยู่ในกรอบของเพศเหล่านั้น ทั้งจากครอบครัว เพื่อน สถานศึกษา ที่ทำงาน ฯลฯ โดยหากออกจากลู่ทางของเพศกำเนิดตัวเองหรือเกิดการตั้งคำถามถึงเพศของตัวเอง คำว่า “เดี๋ยวก็หาย” มักเป็นคำตอบที่ตามมา และทำให้หลายๆ คนเก็บงำความรู้สึกไม่ลงรอยเหล่านั้น ซ่อนมันลึกลงไปเกินกว่าจะนึกถึงมันต่อ แต่ความรู้สึกไม่ลงรอยมักไม่หายไปไหน
ในขณะที่บางคนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ แต่ในหลายๆ กรณีการโดนกำหนดให้เราเป็นเพศที่เขาไม่ได้ต้องการเป็น หรือแม้แต่การโดนกำหนดให้เป็นเพศใดๆ แต่แรกทำให้เกิดบาดแผลที่กำเนิดจากภายในได้ ความรู้สึกไม่ลงรอยกันระหว่างเพศทางพันธุกรรมและอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองนี้เราเรียกมันว่า Gender Dysphoria ซึ่งหากไม่ได้รับรู้ถึงมันอาจสร้างอันตรายต่อคนคนหนึ่งได้
ก่อนจะไปกันต่อ gender dysphoria เป็นเพียงหนึ่งในหนทางที่คนคนหนึ่งเลือกจะเริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางการสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เราแต่ละคนในโลกมีประสบการณ์ชีวิตและความรู้สึกเกี่ยวกับเพศของเราแตกต่างกันออกไปเสมอ นี่เป็นเพียงแง่มุมเดียวของประเด็นเพศเท่านั้น
ความรู้สึกดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีประสบการณ์ด้วย ฉะนั้นหากต้องยกตัวอย่างให้เห็นภาพเราอาจต้องมองไปยังงานสำรวจสักงาน
โดยองค์กรนักวิชาการ แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานศึกษาและให้ความรู้เพื่อสนับสนุนคนข้ามเพศในวัยเยาว์ Trans Youths CAN! จากประเทศแคนาดาได้สร้างงานวิจัย Gender identity development, expression and affirmation in youth who access gender affirming medical care ที่คุยเจาะลึกเกี่ยวกับประสบการณ์ของเยาวชนข้ามเพศจำนวน 36 คนเพื่อเป็นการเพิ่มคลังข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ gender dysphoria และการแสดงออกทางเพศของเยาวชนผู้เข้ารับหรือกำลังตัดสินใจเข้ารับการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ
ในการสัมภาษณ์ นักวิจัยคุยกับกลุ่มตัวอย่างถึงทั้งผลกระทบจากสังคมและครอบครัว การรับรู้และรับมืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองและ gender dysphoria ไปจนประสบการณ์การเริ่มต้นเข้ารับการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ โดยในการสัมภาษณ์ผู้วิจัยให้ข้อสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่เริ่มสืบหาอัตลักษณ์ทางเพศจากภายในตัวเองนั้นเริ่มมาจากการรับรู้ถึง gender dysphoria และผู้วิจัยเรียกมันว่าความรู้สึกที่เกิดจากภายในเท่านั้น นั่นคือเป็นปัจจัยเดียวของการเริ่มสำรวจเพศที่ไม่อาจกังขาได้ว่ามาจากข้างนอกเลย โดยในกลุ่มตัวอย่างนั้นเราอาจเริ่มรู้สึกถึงมันได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี
จากข้อมูลดังกล่าว เราอาจพูดได้ว่าไม่ว่าคนคนหนึ่งจะได้เรียนรู้หรือไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ ความรู้สึกไม่ลงรอยกันระหว่างเพศทางพันธุกรรมและอัตลักษณ์ทางเพศก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นนั้นแล้วหลายๆ มุมมองที่เล่าว่าการสอนเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศเองนั่นแหละที่นำไปสู่การทำให้คนอยากข้ามเพศ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย) อาจไม่เป็นจริง
กลับกัน การบอกปัดความรู้สึกและผลกระทบที่ตามาได้ของ gender dysphoria นั้นเป็นภัยยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น เนื่องจากมันสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ตัดขาดจากสังคม และในงานวิจัยเกี่ยวข้องกับความต้องการจบชีวิตตัวเองโดยมหาวิทยาลัยการแพทย์เบย์เลอร์ ฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอาการ gender dysphoria มีโอกาสจะมีความคิดจบชีวิตตัวเองสูงกว่าคนอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ
แต่ก่อนที่จะรู้ได้ว่าอาการเหล่านั้นมาจากความไม่ลงรอยกันในเพศของตัวเอง สิ่งแรกที่ต้องเกิดขึ้นคือการมีพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเพศของเราเสียก่อน เพราะหากเมื่อเราหันซ้ายหันขวาไปหาคนรอบตัวแล้วพบเพียงคำแนะนำเช่น “เดี๋ยวก็หาย” “เดี๋ยวก็มีคนทำให้เปลี่ยนไปได้” หรือ “เดี๋ยวพอถึงเวลาก็ต้องแต่งงานนะ” ทางออกที่คำตอบเหล่านั้นดูหยิบยื่นให้คือรอเวลาต่อไปเดี๋ยวก็หาย ซึ่งเป็นภัยกับเราได้
แล้วเราจะทดลองและสำรวจเพศของเรายังไงได้บ้าง? กลับไปยังงานวิจัยโดย Trans Youths CAN! พบว่าประสบการณ์ของผู้ให้สัมภาณ์เกี่ยวกับการค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองนั้นมีหลากหลายมาก บางคนพบเจอทางออกจากการดูสื่อเพื่อการศึกษาบนโลกออนไลน์ บางคนค้นพบว่าการข้ามเพศนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยจากการเห็นกรณีการข้ามเพศของคนมีชื่อเสียง บ้างเปลี่ยนวิธีการใช้ภาษาของตัวเอง (ในกรณีนี้ภาษาฝรั่งเศส) จากที่เป็นภาษาที่มีการกำหนดเพศ เขาก็เลือกใช้เป็นการกำหนดเพศที่ gender neutral แทน แล้วจึงมองไปยังการเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอีกมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดยังมีความแตกต่างระหว่างหนทางและห้วงเวลาในการสำรวจและทดลองเกี่ยวกับเพศของตัวเองอีกด้วย โดยหนทาง A คือค้นพบอาการ gender dysphoria ได้เร็ว และตัดสินใจข้ามเพศอย่างรวดเร็วผ่านความสนับสนุนของผู้ปกครอง หนทาง B คือการพบอาการดังกล่าวไวแต่ไม่คิดอะไรจึงละเว้นการข้ามเพศไปก่อนจนเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเพศของตัวเองมากขึ้น และหนทาง C คือพบอาการ gender dysphoria ช้าเนื่องจากไม่เคยได้คิดถึงเพศมาก่อน จนเริ่มเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์
ทั้ง 3 หนทางไม่มีแบบใดดีกว่าแบบใด แต่ความแตกต่างเหล่านี้ชี้ให้เราเห็นว่าทุกคนล้วนมีประสบการณ์ สภาพแวดล้อม และจังหวะชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่มีคำตอบเดียวเมื่อพูดถึงเรื่องเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ แต่สิ่งที่แน่นอนจากการมองประเด็นดังกล่าวคือในเมื่อเราทุกคนต่างกัน ทางเดียวที่เราจะรู้จักตัวเองได้คือการได้สำรวจมันด้วยตัวตนของตัวเองเมื่อตัวเองรู้สึกพร้อม
และนอกจากนั้น ความเข้าใจจากคนรอบข้างและสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญ การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงไม่ได้จำเป็นเพียงแค่สำหรับคนที่รู้สึกว่าต้องการข้ามเพศหรือคนที่กำลังตั้งคำถาม แต่สำหรับเราทุกคนในสังคมเพื่อสร้างระบบและสิ่งแวดล้อมที่เปิดรับให้มนุษย์ทุกคน เริ่มตั้งแต่วันนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก