มีลูกช้า และไม่อยากมีลูก กำลังเป็นเทรนด์ในหมู่คนรุ่นใหม่หลายๆ ประเทศ เช่นเดียวกับในจีน โดยรายงานล่าสุด ระบุว่าภายในปีนี้ จีนจะมีจำนวนสัตว์เลี้ยง มากกว่าเด็กเกิดใหม่แล้ว และมีแนวโน้มว่าในปี 2030 จีนอาจมีจำนวนสัตว์เลี้ยงมากกว่าเด็กอายุ 4 ขวบถึงสองเท่าตัว
ที่ผ่านมาจีนกำลังเผชิญกับปัญหาจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนใช้นโยบายลูกคนเดียวมานานหลายทศวรรษ แม้ในปัจจุบันนโยบายลูกคนเดียวจะถูกยุติไปแล้ว อีกทั้งเมื่อปี 2021 มีการกำหนดนโยบายกระตุ้นอัตราการเกิดใหม่ ที่รัฐบาลสนับสนุนให้คู่รักมีลูก 3 คน แต่จีนอาจยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อรายงานล่าสุดจากธนาคารโกลด์แมน ซาคส์ (Goldman Sachs) ระบุว่าภายในสิ้นปีนี้ จำนวนสัตว์เลี้ยงในหลายเมืองของจีน จะแซงหน้าจำนวนเด็กอายุ 4 ขวบหรือต่ำกว่า อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 จีนอาจมีจำนวนสัตว์เลี้ยงราว 70 ล้านตัว ในขณะที่จำนวนเด็กอายุ 4 ขวบและต่ำกว่า จะลดลงเหลือต่ำกว่า 40 ล้านคน ซึ่งหมายความว่า จีนอาจมีจำนวนสัตว์เลี้ยงมากกว่าเด็กเล็ก ‘เกือบสองเท่า’
หากเทียบจำนวนกับผลสำรวจในอดีต อาจพบว่าสถานการณ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยในปี 2017 จีนมีเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ราว 90 ล้านคน เมื่อเทียบกับประชากรสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ราว 40 ล้านตัว
โดยรายงานตลาดอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีน (China Pet Industry White Paper) เมื่อปี 2023 ระบุว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงในจีนกว่าครึ่ง มีอายุอยู่ระหว่าง 23 ถึง 33 ปี อาจกล่าวได้ว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่
เรื่องนี้อาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่สนใจแนวคิดแบบเดิมๆ ที่กล่าวว่าการแต่งงาน คือการให้กำเนิดและสืบทอดสายเลือดของครอบครัว อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าชาวจีนรุ่นใหม่ยังไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูลูก
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นความท้าทายสำหรับคู่รักหลายคู่ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เนื่องจากจีนเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ ตั้งแต่การว่างงานของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ไปจนถึงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อมานาน
อ้างอิงจาก