วันนี้ฝนตก วันก่อนก็ร้อน บางวันขนส่งระบบรางยังรวน นั่งรถเมล์ ยืนต่อคิวรถตู้ บางครั้งน้ำตามันก็ไหลออกมาเอง
ช่วงนี้เป็นช่วงหลังจากวันหยุดยาว เป็นเวลาที่เราค่อยๆ พาตัวเองกลับเข้าสู่ภาวะปกติในชีวิตประจำ คือการกลับมาทำงาน งานว่าเหนื่อยแล้ว แต่หลายครั้งนอกจากตัวงานเอง การที่เราเดินทางไปทำงานอันเป็นชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ ที่ทำให้เกิดความสงสัยในชะตากรรมการอยู่ในเมืองใหญ่ การนั่งรถไป-กลับแต่ละครั้ง เสียเวลาในการเดินทางเท่ากับการเดินทางไปจังหวัดใกล้ๆ และทดท้อใจราวกับการเดินทางไปอัญเชิญคัมภีร์ที่ชมพูทวีป
การเดินทางไปทำงาน (Commuting) นับเป็นปัญหาใหญ่ที่เราเองรู้กันดี ทั้งความยากลำบาก การเอาแรงกายและแรงใจไปเผาผลาญอยู่บนท้องถนน แถมความลำบากนี้ยังเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญทุกวัน ยิ่งผนวกเข้ากับสภาพอากาศ ทั้งอากาศที่ร้อนจัดจนส่งผลกระทบกับสุขภาพชนิดตายได้อย่างไม่ล้อเล่น หรือในวันที่ฝนตก ระยะเวลาและการเตรียมตัวเพื่อเดินทางกลับบ้านนั้นอาจขยายจากเดิม 2-3 เท่า ถึงบ้านกันในเวลา 5 ทุ่มหรือเที่ยงคืนกันจนเป็นเรื่องธรรมดา
ประเด็นเรื่องการนั่งรถไปทำงานนานๆ เป็นปัญหาเรื้อรัง ทุกวันนี้เราเองยังไม่อยากจะนับว่าเราใช้เวลากี่ชั่วโมงต่อวันในการเดินทางไปทำงาน และคิดเวลาที่สูญเสียไปเป็นเวลากี่วันต่อไป การใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานๆ ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ รวมถึงส่งผลต่อความรู้สึกต่องานและศักยภาพในการทำงาน เราอาจอ้วนขึ้น เบื่องานมากขึ้น รู้สึกเหมือนเงินเดือนหดหายอย่างไม่คุ้มเหนื่อย แต่ในทางกลับกัน ขั้นตอนการเดินทางไปทำงานที่มีระยะเวลาพอเหมาะก็มีประโยชน์ทางสังคมด้วย
ทุกนาทีที่นั่งรถนานขึ้น น้ำตาก็ยิ่งเอ่อท้น
ปัญหาการนั่งรถไปทำงานสัมพันธ์กับเงื่อนไขทั่วไปของเมืองใหญ่ ทั้งการเกิดขึ้นของชานเมืองและย่านที่พักอาศัย การต้องเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ใจกลางเมือง ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่พัฒนา ไม่เพียงพอ และไม่มีประสิทธิภาพ
ทุกวันนี้คุณใช้เวลาเดินทางไปทำงานเที่ยวและกี่นาที? ปัญหาแบบเมืองๆ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกเผชิญและพยายามแก้ไข ประเทศอังกฤษเองมีรายงานว่า ระยะเวลาการเดินทางไปทำงานได้เพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จาก 48 นาที เป็น 60 นาที ‘ต่อวัน’ (เพิ่มมา 12 นาทีเขาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขแล้ว) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าเล็กน้อยคือราว 50 นาทีต่อวัน บางรายงานระบุว่าคนอเมริกัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 นาทีต่อเที่ยว เมืองใหญ่เช่นนิวยอร์ก ใช้เวลาเดินทางไปทำงาน 37 นาทีต่อเที่ยว
อันที่จริง ตัวเลขของเมืองใหญ่ทั้งหมด คือการใช้เวลาเดินทางไปทำงานเฉลี่ยครึ่งชั่วโมงต่อเที่ยวนั้น นับกันว่าเป็นเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่เป็นปัญหาแล้ว หันกลับมามองที่กรุงเทพฯ ถ้าเราสามารถนั่งรถไปถึงที่ทำงานในเวลาครึ่งชั่วโมง ก็นับได้ว่าเป็นบุญในการใช้ชีวิตเรียบร้อยไม่ต้องแก้ไขอะไร
ทว่าประเด็นสำคัญของเวลาในการเดินทางไปทำงาน คือสัดส่วนการใช้เวลาเหล่านั้นไปในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันและบวกไปอีก 1 ชั่วโมงเป็นการเดินทาง นับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่ดีนัก อังกฤษเองเป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามชี้ให้เห็นปัญหาของการนั่งรถไปทำงาน สื่อเช่น Daily Mail รายงานผลการศึกษาว่า 1 ใน 10 คนที่เดินทางไปทำงานระบุว่าตัวเองอยากจะร้องไห้(แบบจริงๆ) และ 1 ใน 6 คน อยากกลับบ้านนอนทันทีเมื่อเดินทางถึงออฟฟิศ
ในความเหนื่อยล้าจากการเดินทางนี้ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพและความรู้สึกในการทำงาน ถ้าเราเดินทางถึงที่ทำงานได้เร็วขึ้น เริ่มวันได้สดใส ไม่เบียดเสียด หรือเดินทางนานเกินไป ก็จะทำให้ทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ในรายงานนี้ยังมีข้อคิดเห็นที่เราเข้าใจได้ เช่น เงื่อนไขที่ทำให้การเดินทางไปทำงานแย่ 3 อย่างคือ รถติด รถหรือระบบขนส่งที่ล่าช้า และข้อสุดท้ายคือการเจอกับปัญหากลิ่นตัวขณะนั่งรถไปทำงาน ในรายงานนี้ยังพูดถึงตัวเลขระยะเวลาที่คนทำงานจะเริ่มเหนื่อยคือราว 17 นาที
การใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานๆ ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ
รวมถึงส่งผลต่อความรู้สึกต่องานและศักยภาพในการทำงาน
นั่งรถนานแย่ อ้วนด้วย แถมรู้สึกเหมือนเงินเดือนลดลง
ความเครียดของการเดินทางไปทำงาน ทั้งสภาพการเดินทางที่แย่และระยะเวลาที่นานเกินไปส่งผลต่อเราอย่างสำคัญ คือความดันโลหิตสูงขึ้น งานศึกษาว่าด้วยการทำงานยืดหยุ่นจากกลุ่มตัวอย่างในอังกฤษ ปี 2017 จำนวน 34,000 รายพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เดินทางไปทำงานด้วยระยะเวลาต่ำว่าครึ่งชั่วโมง ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่เดินทาง 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยประเมินเป็นประสิทธิภาพการทำงานที่มากกว่าถึง 7 วันต่อปี ในระดับจิตใจ คนที่นั่งรถไปทำงานนานกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่น มีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า ความรู้สึกกังวลเรื่องเงิน และความเครียดจากเรื่องงานมากกว่า
นอกจากสุขภาพจิตแล้ว สุขภาพกายก็ย่ำแย่พอกัน ในรายงานระบุว่ากลุ่มตัวอย่างที่นั่งรถไปทำงานนานๆ มีอยู่ราว 46% มีแนวโน้มจะนอนหลับไม่ถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน การนอนที่น้อยลงนี้ส่งผลเกี่ยวเนื่องคือ 21% ของคนที่นั่งรถไปทำงานนานๆ มีแนวโน้มจะเกิดภาวะอ้วน ในทำนองเดียวกัน ผลการศึกษาในปี 2020 ยังพบว่า ยิ่งใช้เวลาเดินทางนาน ผู้เดินทางมีแนวโน้มจะมีกิจกรรมทางกายภาพลดลง ซึ่งส่งผลให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะอ้วนและโรคจากพฤติกรรมต่างๆ ลองนึกภาพว่าเวลาเรานั่งรถนานๆ เรามักไม่ค่อยมีแรงกระฉับกระเฉง
ในระดับความรู้สึกต่องาน รวมถึงการเลือกที่จะทำงานหรือเลิกทำงาน มีรายงานเชื่อมโยงเวลาทำงานพบว่า ทุกๆ 20 นาทีที่กลุ่มตัวอย่างใช้เวลาไปทำงานมากขึ้นต่อวัน มีความรู้สึกพึงพอใจต่องานลดลง ความไม่พึงพอใจนี้เทียบได้กับความรู้สึกที่ว่าเราได้รับเงินเดือนน้อยลง 19% คือความรู้สึกต่องานลดลงเหมือนโดนตัดเงินเดือนถึง 1 ใน 5
สำหรับความน่าสนใจในรายงานและความรู้สึกในการเดินทางไปทำงาน เราจะเห็นว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นอาจฟังดูไม่มากนัก เช่น 10 นาทีต่อเที่ยว 20 นาทีต่อเที่ยว แต่ในเงื่อนไขดังกล่าวอาจส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ และประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญต่อไป ประชากรสุขภาพแย่ลงก็สัมพันธ์กับบริการสาธารณสุข ผู้คนไม่มีความสุขกับการทำงานและกับการใช้ชีวิตในเมือง
ทว่าในทางกลับกัน ปัญหาในการเดินทางไปทำงานนี้ บางรายงานระบุว่า ความอึดอัดหรือผลต่อสุขภาพสัมพันธ์กับรูปแบบการเดินทางที่เราต้องอยู่เฉยๆ อย่างการนั่งรถหรือขับรถ สำหรับการเดินทางที่ได้ขยับเขยื้อน เช่น การขับขี่หรือเดินไปทำงานนั้นไม่มีผล คือถ้าเดินหรือขี่จักรยานไปทำงานได้ จะค่อนข้างส่งผลดีต่อสุขภาพและความรู้สึกโดยรวม ไม่ได้รับผลกระทบจากระยะเวลาเท่าไร
ประเด็นการเดินทางไปทำงาน อันที่จริงในช่วงเวลาที่เราผ่านการทำงานที่บ้าน (Work From Home) บางครั้งเราอาจรู้สึกคิดถึงการเดินทางไปทำงาน แต่อาจจะขอให้มีระยะเวลาที่พอเหมาะ บางรายงานระบุว่า การเดินทางไปทำงานเป็นกระบวนการในชีวิตประจำวันที่จำเป็น เป็นการปรับความรู้สึกจากโหมดคนทั่วไปสู่โหมดมืออาชีพ เราใช้เวลาที่นั่งรถไปทำงานในการเตรียมตัว จัดการสมองและความรู้สึก โดยปกติคนทั่วไปจะรู้สึกว่าการเดินทางไปทำงานในเวลาต่ำกว่า 15 นาทีต่อเที่ยวถือเป็นระยะเวลาที่กำลังดี
นอกจากการปรับความรู้สึกแล้ว การเดินทางไปทำงานยังอาจมีผลทางสังคมด้วย การเดินทางไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตร การที่เรามีกิจวัตรจะทำให้เรารู้สึกว่าเรามองเห็นชีวิตของเราอย่างเป็นระบบ เป็นโครงสร้าง และรู้สึกว่าเราจัดการชีวิตได้ เราตื่นนอน แต่งตัว นั่งรถไปทำงาน กินข้าว และกลับบ้าน ในอีกด้าน การนั่งรถไปทำงานก็นับเป็นประสบการณ์ร่วมอย่างหนึ่งที่เราเองจะรู้สึกว่าเรากำลังดิ้นรนอยู่ เรามีผู้คนที่กำลังดิ้นรนไหลหลากไปในชีวิตประจำวัน และในการทำงานเลี้ยงดูชีวิตไปพร้อมๆ กัน
สุดท้ายนี้ การใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานๆ ที่นานเกินไปมากๆ ทั้งขนส่งสาธารณะและสภาพเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยชีวิตนั้นไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม แต่เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.businessinsider.com