เราอาจจะอยู่ในโลกดิจิทัลจนไม่ค่อยได้ลงมือขีดเขียนสิ่งต่างๆ ด้วยปากกาดินสอเท่าไหร่ แต่บางที ในตอนที่กำลังพูดคุยกันในร้านอาหาร หรือนั่งสบายๆ อยู่คนเดียว อยู่ๆ เราก็เกิดไอเดียบรรเจิดขึ้นมา วินาทีนั้นเราอาจจะรีบคว้าปากกาดินสอกับเศษกระดาษเล็กๆ ใกล้ตัว อาจจะเป็นจานรองแก้ว โบรชัวร์ หรือทิชชูหนาๆ สักแผ่น
ลายเส้นขยุกขยุยที่ถ่ายทอดความคิดอย่างเร่งด่วนนั้น เป็นงานศิลปะส่วนตัวของเราที่มีเสน่ห์เหมือนกันเนอะ นอกจากจะจดโน้ตต่างๆ อย่างเร่งด่วนแล้ว เจ้า ‘ภาพสเก็ตช์’ บนกระดาษ เป็นสิ่งที่เราอาจจะเห็นได้บ่อยๆ จากสถาปนิก จากนักออกแบบ ที่มักจะคว้าเอาของใกล้ตัวมาขีดเขียนเพื่ออธิบาย—วาดภาพสื่อสารความคิดอย่างเป็นรูปธรรม
การวาดขยุกขยุย—ในโลกดิจิทัลที่ทุกอย่างเป็นระเบียบ—เลยเป็นกระบวนการน่ารักๆ เป็นการสร้างงานศิลปะและบันทึกความคิดความทรงจำของเราอย่างเร่งด่วน หลายครั้งที่เราเห็นเส้นขยุกขยิกของเราเองที่จะพยายามจะให้ภาพ (visualize) จากความคิดที่เป็นนามธรรมสู่ ‘รูป’ การขีดเขียนเร็วๆ นี้ ถือเป็นวิธีการสื่อสารที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ ในวิทยาลัยสถาปัตยกรรมเองก็บอกว่า การขีดเขียนแบบนี้ถือเป็นวิธีสำคัญในวงการสถาปัตยกรรม หลายครั้งไอเดียดีๆ สถาปนิกเก่งๆ ต่างก็เริ่มจากลายเส้นขยุกขยิกที่ไม่เป็นทางการนี้
ก้อนความคิดก่อนจะเป็นสายการบิน ก่อนจะเป็นตึกสูง
ในปี 1967 ที่บาร์แห่งหนึ่งใน San Antonio ชายหนุ่มสองคนเดินเข้าไปในบาร์ นักธุรกิจหนุ่ม Herb Kelleher หยิบทิชชูรองแก้วค็อกเทลขึ้นมา แล้ววาดสามเหลี่ยมลงไป แต่ละมุมมีชื่อเมืองสามเมืองในสหรัฐฯ จากกระดาษเล็กๆ นั้น นำไปสู่การก่อตั้งสายการบิน Southwest Airlines ของสหรัฐฯ หนึ่งในสายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การร่างความคิดลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญ แต่สุดท้ายอาจจะเป็นวิธีในการแก้ปัญหาและถ่ายทอดความคิดที่สำคัญได้ … โอเค เราต่างรู้ว่าสมองเรารับรู้สิ่งต่างๆ และคิดด้วยภาพ ดังนั้นการวาดออกมาจึงเป็นวิธีการส่งผ่านความคิดที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราต้องใช้พื้นที่เล็กๆ เพื่ออธิบายความคิดใหญ่ๆ ถ้าเราสามารถย่อความคิดออกมาให้เรียบง่ายจนอยู่ในเศษกระดาษและผู้คนเข้าใจได้ แปลว่าความคิดของเรานั้นค่อนข้างชัดเจนและได้เรื่องได้ราว
ในวงการสถาปัตยกรรมเองก็บอกว่า เจ้าโน้ตและแบบร่างเล็กๆ พวกนี้ถือเป็นพื้นฐานและกิจกรรมสำคัญที่สถาปนิกแทบทุกคนทำ NewSchool of Architecture + Design มหาวิทยาลัยทางการออกแบบก็เห็นว่าความขยุกขยุยเล็กๆ นี้เป็นเรื่องใหญ่ เลยมีโครงการที่รวบรวม Napkin Sketches ของเหล่าสถาปนิกดังระดับโลกมาเพื่อจัดแสดงและระดมทุน จากงานนี้เราจะได้เห็นตัวตนและสไตล์ของสถาปนิกแถวหน้าของโลก ทั้ง Zaha Hadid, Wolf Prix หรือ Thom Mayne ซึ่งการได้เห็นแบบร่างด้วยมือหยาบๆ พวกนี้ ก็ทำให้เราเห็นสไตล์ เห็นตัวตน ของคนที่สร้างงานได้ดี – แอบขนลุกด้วยความตื่นเต้นเล็กน้อย
เคล็ดวิชา Napkin Sketches
ด้วยความที่หลายคนมองว่าการร่างความคิด ไม่ว่าจะเป็นการสเก็ตช์ภาพหยาบๆ การจดโน้ต ทำระบบแผนภูมิง่ายๆ ขึ้นมา ถือเป็นการฝึกทั้งฝีมือการวาด ทั้งเป็นการลับความคิดและวิธีการถ่ายทอดความคิดไปในตัว เลยมีการส่งเสริมให้ลองวาดภาพบนกระดาษกันมากขึ้น
หลักเริ่มแรกคือ อย่ากลัวที่จะวาด ยิ่งทุกวันนี้เราเสพติดกับความเป๊ะ ความเป็นระบบระเบียบจนคิดว่า วาดเองก็ไม่สวย ใช้พวกโปรแกรม จดในมือถือเอาดีกว่า แต่การได้ลงมือวาดก็ถือเป็นกิจกรรมที่สนุก ได้สร้างงานศิลปะที่อาจจะดูเละๆ หน่อย ดังนั้นกฏง่ายที่สุดคือ วาดๆ ไปเถอะ ไม่สวยคือสวย
ยิ่งไปกว่านั้น เวลาเราลงมือโน้ตหรือร่างความคิด เราจะได้ลองวาดพวกรูปทรงพื้นฐานต่างๆ เพื่อใช้แทนในการวางความคิดที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เราใช้สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วาดรูปคน กลไกง่ายๆ ไปจนถึงการใช้สัญลักษณ์เพื่ออธิบายระบบการทำงานของสิ่งที่ยากและซับซ้อน ตรงนี้ก็ถือว่าเราได้ฝึกความคิด ฝึกจินตนาการไปในตัว
ถ้าเทียบกับการพิมพ์หรือการวาดด้วยโปรแกรมที่แสนจะเป็นระเบียบ เราอาจพบว่า ลายเส้นโย้เย้กับลายมือหวัดๆ ของเรา บางครั้งก็ส่งผลทางความรู้สึกกับเราเป็นพิเศษ เคล็ดวิชาสำคัญของการร่างและจดความคิดในทิชชูคือ วาดๆ ไปเถอะ ในความไม่สวย ในความหวัด นั่นแหละคือความสวยงาม ลองนึกดูว่าถ้าเราไปเจอการเขียนหวัดๆ ของเราที่เคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งอีกครั้ง เราย่อมเกิดการระลึกถึงห้วงเวลาและความคิดนั้นๆ ได้
วันธรรมดาๆ แบบนี้ เราอาจกำลังนั่งรอใครสักคน หรือถกถียงกับเพื่อนอย่างออกรส การถกเถียงหรืออธิบายอาจจะออกรสและ ‘เห็นภาพ’ มากขึ้นถ้าเราวาดหรือร่างความคิดของเราลงกระดาษ สุดท้าย เจ้าเศษกระดาษนี้อาจจะนำไปสู่กิจกรรมร่วมกันถกเถียง ขีดเขียนความคิดทั้งหลายที่เป็นรูปธรรมและสนุกสนานระหว่างบทสนทนา… เจ้ากระดาษที่ดูไม่สลักสำคัญนี้ อาจนำไปสู่อะไรที่ใหญ่โตและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก