เสียงปืนสงบลง ความวุ่นวายค่อยๆ ทยอยคลี่คลาย จำนวนผู้เสียชีวิตถูกหยุดยั้งไว้ได้ แต่บาดแผลที่เกิดจากความรุนแรงเหล่านั้น..ไม่อาจฟื้นฟูสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน
เหตุการณ์กราดยิงที่เพิ่งผ่านพ้นไปนับว่าเป็นรูปแบบสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรามาก่อน ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อความรุนแรงครั้งนี้จึงไม่ได้จำกัดเพียงผู้ประสบเหตุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนในพื้นที่และผู้คนที่เฝ้าติดตามจากการรายงานข่าวตลอดทั้งคืนด้วย
นั่นหมายความว่า ‘mass shooting’ ครั้งหนึ่งไม่ได้จบลงเพียงการรักษาพยาบาล-เยียวยาเหยื่อผู้รอดชีวิตทางด้านร่างกาย แต่ในระดับสังคมเองก็ถูกเหตุการณ์นี้กัดกร่อนความเชื่อใจของผู้คนในการใช้ชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน ส่วนผู้รอดชีวิตที่แม้จะรักษาตัวหายดีแล้วแต่ความรู้สึกต่างๆ จากเหตุการณ์นั้นยังสามารถพัฒนาจนเกิดเป็นปัญหาทางสภาพจิตใจ
บาดแผลทางใจ และสภาวะป่วยทางจิต – ร่องรอยและคราบน้ำตาจากความรุนแรง
“ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้น บาดแผลทางใจก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” นี่คือคำบอกเล่าจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาอาการบาดแผลทางใจหรือที่เรียกกันว่าอาการ ‘trauma’
สภาวะเจ็บป่วยทางใจที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์กราดยิงนั้นส่งผลให้ ‘เหยื่อผู้รอดชีวิต’ ได้รับผลกระทบ 2 แบบด้วยกัน ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ก็มีความใกล้เคียงกันมาก และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลและวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
อย่างแรกคือ อาการบาดเจ็บทางจิตใจหรือ ‘trauma’ เป็นอารมณ์ช็อกที่ผันแปรไปตามประสบการณ์ทางอารมณ์ที่แต่ละบุคคลได้รับมา trauma จะเกิดขึ้นเมื่อเราเพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจสุดๆ เช่น เหตุการณ์ภัยพิบัติ อุบัติเหตุทางรถยนต์ การข่มขืน สงคราม หรือเหตุการณ์กราดยิง
ประสบการณ์ทางอารมณ์แบบนี้มักก่อให้เกิดความวิตกกังวลและความกลัวเป็นเวลานาน บางรายต้องใช้เวลาฟื้นฟูมากถึง 10 ปีกว่าจะกลับมาเป็นปกติได้ ร้ายแรงที่สุดอาการเหล่านี้ยังสามารถพัฒนาไปสู่อาการความผิดปกติทางด้านสุขภาพจิตในระยะยาวได้ เช่น อาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
หมายความว่า แม้เหตุการณ์ความรุนแรงที่ได้รับจะเกิดขึ้นเพียงไม่นาน หรือเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่นั่นก็อาจทำให้สุขภาพจิตของคนคนหนึ่งพังทลายพอๆ กับคนที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาหลายครั้งได้ด้วย
จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยบาดแผลทางจิตใจยังให้ข้อมูลต่อด้วยว่า ความรุนแรงจากเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธปืนทำให้เหยื่อบางรายพัฒนาความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์กลายเป็นอคติกับบุคคลอื่นๆ ที่มีบุคลิกภาพคล้ายกับมือปืนผู้ก่อเหตุ
ในทางการแพทย์สันนิษฐานว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากอาการบาดเจ็บทางสมองในส่วนที่เรียกว่า ‘amygdala’ ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้มนุษย์เกิดความรู้สึกกลัว วิตกกังวล และมองโลกในแง่ลบ
ส่วนอาการประเภทที่ 2 ได้แก่ ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรงหรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) บทความจาก The Conversation ระบุว่า อัตราการเกิดอาการ PTSD ของเหยื่อผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงสูงถึง 36% และยังพัฒนาไปสู่อาการป่วยโรคซึมเศร้า รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่มีผลทำให้ร่างกายทรุดโทรมตามไปด้วยราวๆ 80%
ความวิตกกังวลที่พัฒนาสู่อาการป่วย PTSD นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหยื่อผู้รอดชีวิตเกิดความรู้สึกผิดกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อาการนี้เรียกว่า ‘survivor’s guilt’ คือ แม้ว่าตัวเองจะเอาชีวิตรอดมาได้แต่พวกเขากลับรู้สึกว่า ตนเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอื่นๆ เสียชีวิต และอีกด้านก็เกิดความคิดว่า ทำไมตนไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อคนอื่นๆ ให้มีชีวิตรอดกลับมาได้เหมือนตัวเอง
ผู้ป่วย PTSD มักจะมีจุดเริ่มต้นมาจากอาการบาดแผลทางจิตใจหรือ trauma ก่อน หลังจากเกิดความรู้สึกวิตกกังวล ผู้ที่มีอาการ trauma จะมีความคิดความรู้สึกผูกติดกับเหตุการณ์ความรุนแรงวนเวียนในหัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความหงุดหงิด มีอาการฝันร้ายนอนไม่หลับ และหลีกเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมเดิมๆ ที่เคยรู้สึกเอ็นจอยมากๆ ก่อนหน้าที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น
สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นก็คือ พัฒนาการสมองของผู้ประสบเหตุที่ยังอยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นซึ่งยังอยู่ในช่วง ‘development stage’ หรือช่วงพัฒนาการทางความคิดที่มีต่อสภาพแวดล้อม การสัมผัสหรือได้รับประสบการณ์ที่น่ากลัวหลังจากรอดชีวิตกลับมา ซึ่งเด็กๆ ยังสามารถรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านทางสื่อฯ ได้อยู่ จึงมีผลทำให้โลกแห่งประสบการณ์ถูกหล่อหลอมไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งในแง่สถานที่ และต่อตัวบุคคลอย่างผู้ใหญ่และคนในครอบครัว
เหตุการณ์ความรุนแรงทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า ไม่มีใครปกป้องเขาได้ และโลกกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ซึ่งโลกทัศน์แบบนี้ยังสามารถส่งต่อไปถึงช่วงอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่ รวมถึงยังสามารถถ่ายโอนสู่ลูกๆ ของพวกเขาในอนาคตต่อไปได้ด้วย
ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็อาจได้รับผลกระทบ?
สภาวะบอบช้ำทางจิตใจไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์หรือคนในครอบครัวของเหยื่อเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังผู้ที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ตามหลักจิตแพทย์มีคำอธิบายเรื่องนี้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างเซนซิทีฟกับการชี้นำทางสังคม และยังมีเซนส์ของความเอาตัวรอดเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อความหวาดกลัวในระดับกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ มนุษย์จึงเรียนรู้และซึมซับประสบการณ์ความกลัวเหล่านี้ผ่านการเห็นผลกระทบที่มีต่อคนอื่นๆ ในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ติดตามผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อโซเชียลมีเดียก็ตาม สิ่งที่ไปกระทบกับความรู้สึกอย่างรุนแรงกับคนกลุ่มนี้โดยตรงคือ คลิปและรูปภาพศพผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้รับการเซนเซอร์ การได้ยินได้ฟังเสียงปืนปะทะกัน หรือเสียงผู้คนร้องไห้หวาดกลัวซ้ำๆ
ทั้งหมดนี้ทำให้คนที่เสพสื่อเกิดความรู้สึกที่อธิบายได้ว่าเป็น ‘a sense of lack of control’ หรือความรู้สึกที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นั้นได้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้คนรู้สึกไม่มั่นคง หวาดหลัว และบอบช้ำ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากผลกระทบในลักษณะนี้คือ โศกนาฎกรรม 9/11 ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทั้งสิ้นเกือบ 3,000 คน
หลังจากความรุนแรงในครั้งนั้นทำให้ผู้ที่ไม่ได้ประสบเหตุโดยตรงมีอาการ PTSD เพิ่มขึ้นจากการได้รับข้อมูลผ่านสื่อฯ ผู้คนเกิดความหวาดระแวงว่า จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้ขึ้นอีก และแน่นอนว่าความเชื่อใจที่มีต่อสถานที่ที่พวกเขาเคยคิดว่าปลอดภัยก็ลดลงตามไปด้วย
มีผลสำรวจระบุว่า อาการ PTSD ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบเกี่ยวข้องโดยตรงกับอัตราการดูโทรทัศน์ที่มีการรายงานเหตุการณ์ 9/11 แม้เราจะคิดว่า อาการ PTSD มักเกิดขึ้นกับเหยื่อผู้ประสบเหตุโดยตรงมากกว่า แต่จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า การสัมผัสเหตุการณ์โดยอ้อมยังสามารถเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ที่ผู้คน โดยเฉพาะเด็กๆ จะมีอาการ PTSD
การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทำให้เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับภาพความรุนแรงซึ่งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะเข้าใจและรับมือกับความรู้สึกเช่นนี้ได้ สิ่งสำคัญจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องติดตามการรับข้อมูลข่าวสารของลูกๆ อย่างใกล้ชิด
ถ้าหากยังรู้สึกหดหู่ ลองดูวิธีเยียวยาจิตใจ
หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายลงแล้ว การเยียวยาผลกระทบกับเหยื่อผู้รอดชีวิตจึงเป็นลำดับถัดไปที่ต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรกๆ
เบื้องต้นกรมสุขภาพจิตได้ออกมาให้ข้อมูลว่า กลุ่มคนที่ต้องระมัดระวังและได้รับการดูแลเป็นพิเศษคือ เด็กและเยาวชน เนื่องจากเด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงน้อย ไม่เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก่อน เหตุการณ์กราดยิงจึงส่งผลกระทบกับคนกลุ่มนี้ได้รุนแรงที่สุด
โดยแพทย์แนะนำว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ฟังที่ดีให้กับเด็ก ให้ลูกๆ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจอมาคล้ายกับเป็นการร่วมแชร์ประสบการณ์ความทุกข์ ความเจ็บปวด ซึ่งตรงนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาไม่ต้องเก็บเรื่องแบบนี้ไว้กับตัวเองคนเดียว
ต่อมาคือ พ่อแม่ต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัย ไว้เนื้อเชื่อใจ และใกล้ชิดกับลูกให้มากๆ เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงจะทำให้เด็กๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย และเกิดความรู้สึกหวาดกลัวเพราะไม่สามารถพึ่งพิงพ่อแม่หรือผู้ใหญ่รอบๆ ข้างได้ ที่สำคัญต้องลดการเสพสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นทั้งหมด
ส่วนสุดท้ายเมื่อภาวะทางจิตใจของเด็กเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว พ่อแม่อาจจะให้เด็กทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อให้เด็กรู้สึกว่า ตัวเขามีความสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง แต่สิ่งที่ต้องตระหนักไว้มากๆ คือ การหลีกเลี่ยงให้เด็กไปยังสถานที่เกิดเหตุนั้น
สำหรับบุคคลทั่วไป จิตแพทย์แนะนำว่า ให้พยายามฟื้นฟูสภาพจิตใจของตัวเองด้วยการใช้ชีวิตให้เป็นปกติที่สุด หรือหากรู้สึกไม่สบายใจและยังไม่ดีขึ้น ให้ลองคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท เพื่อช่วยกันประคองและสนับสนุนให้ผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้ ที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงการเสพสื่อในช่วงนี้ โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดียที่ปะปนไปด้วยข่าวจริง ข่าวลือ และข่าวลวง
หากยังไม่รู้สึกดีขึ้นในเร็ววัน อาจลองปรึกษาจิตแพทย์ควบคู่ไปด้วยระหว่างที่ให้เวลากับตัวเองในการพักผ่อน เพราะผลกระทบแบบนี้มีความจำเป็นที่จะต้องให้เวลาสักพักเพื่อจะผ่านช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ไปให้ได้
ความรุนแรงไม่เคยส่งผลดีกับใคร ทั้งตัวคนกระทำ เหยื่อ หรือสังคมเองก็ตาม แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว ข่าวอาจเงียบสงบลงไปและมีเรื่องอื่นๆ ดึงความสนใจตามมาอีกมากมาย แต่แผลในใจที่ฝังลึกลงไปคงต้องใช้เวลาในการเยียวยามากเหมือนกัน