จากนิยามของคำว่าบ้านที่เป็นแค่ที่อยู่อาศัย ก็เปลี่ยนไปหลังจากได้เดินทางไปลองอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ
ว่ากันว่าการเดินทางไปในที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ จะทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ไม่ว่าจะวัฒนธรรม วิถีชีวิต ไปถึงมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนไป เมื่อเจอโลกที่กว้างขึ้น ซึ่งเกาหลีใต้เอง ก็เป็นประเทศหนึ่งที่คนไทยมักไปท่องเที่ยว ไปติดตามมุมต่างๆ และได้เห็นความพัฒนาในบ้านเมืองของเขา
เช่นเดียวกับ ‘ก๊อต ปิยฤทธิ์ ปัญจธรรมวิทย์’ ผู้เขียนหนังสือ ‘HOME AWAY FROM HOME เกาหลีใต้ ที่เห็นและไปอยู่’ ที่จากแค่การเริ่มต้นทริปท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ ได้กลายเป็นการไปอยู่อาศัยที่นั่น ซึ่งแน่นอนว่าการได้ไปเห็นและไปอยู่ พบเจอกับเกาหลีใต้ทั้ง 4 ฤดูกาล ย่อมทำให้เขารู้จักเกาหลีใต้ในมุมที่ลึกซึ้งขึ้น ทั้งในด้านสังคม การเมือง วิถีชีวิตของคน รวมถึงได้นิยามคำว่าบ้านในมุมใหม่ เมื่อได้ไปอาศัยที่ต่างแดน
ไม่เคยไปเที่ยวไหนเลย ทำไมถึงเลือกประเทศแรกที่ไป คือเกาหลีใต้
ผมไม่เคยไปไหนเลย ไปเที่ยวแค่ในประเทศ หรือตอนเด็กมากๆ ยังจำความไม่ได้ก็มีข้ามไปมาเลเซียกับที่บ้าน พอโตมารู้สึกตัวอีกทีก็เป็นคนที่ขี้กลัว กลัวทุกอย่าง โดยเฉพาะเครื่องบิน ทั้งก่อนหน้านี้ ผมแทบจะไม่ได้แตะหนังสือเลย จนมาได้อ่านช่วงมหาลัยฯ เราก็เริ่มเห็นว่าคนไปเที่ยวอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าน่าลอง แต่ก็ยังกลัวอยู่ดี ก็ไม่ทำอะไรสักอย่าง
จนวันที่เราเริ่มเข้ามาในวงการหนังสือ เป็นคนทำกราฟฟิก มันก็รู้สึกว่าอยู่ตัวแล้ว การที่เราไม่ได้ทำงานประจำก็มีเวลาเยอะ เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรอย่างหนึ่งที่เป็นอีกขั้นนึงของชีวิต มันอาจจะเป็นขั้นนึงที่ธรรมดามากๆ สำหรับคนอื่น แต่สำหรับเราไม่เคยอ่ะ บังเอิญพอดีช่วงนั้นผมทำงานที่โฮสเทล บ้านของผมกับโฮสเทลมันใกล้กันมาก ผมเป็นคนชอบคุยกับคนอยู่แล้ว ชอบฟังคน ชอบคุยกับฝรั่ง แล้วพอทำโฮสเทล สิ่งที่ทำให้ผมพบก็คือว่า คนที่มาเที่ยว มีแต่อายุ 18-20 ต้นๆ และมันก็จะโดดไปเลย 30 กลาง ๆ ปลาย ๆ หรือเป็นคุณป้า 60-70 ปีมาเที่ยวคนเดียว
ผมก็เลยมีคำถามว่าแล้วพวกนี้มันไม่กลัวกันเหรอ ด้วยความที่ผมกลัวเครื่องบิน ผมก็เลยตัดแถบยุโรป และอเมริกาไปก่อน ก็เลยกะเอาที่ใกล้ๆ ก่อน แต่ก็ไม่อยากไปในอาเซียน เพราะรู้สึกว่ามันไม่น่าจะต่างอะไรมาก อยากไปเจออะไรที่ต่างสุด ๆ ไปเลย อย่างเช่น ญี่ปุ่นกับเกาหลี ตอนแรกที่คิดไว้คือไม่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน แต่พอคิดไปคิดมาแล้วแบบ ญี่ปุ่นได้ไปแน่ๆ เพราะว่าใครก็ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น ส่วนไต้หวัน ช่วงนั้นคือช่วงหน้าฝน แล้ว ผมได้ข่าวว่ามีพายุเยอะมาก เราก็ไม่อยากเสี่ยง
ไปๆ มาๆ เราไปเจอกับเพื่อนในโฮสเทลที่สนิทกัน ก็คือแก๊งค์คนเกาหลีที่ผมไปเจอในหนังสือ เขาก็ชวนไปนอนที่บ้าน จะพาเที่ยว เราก็เลยสนใจ เพราะว่าหนึ่งคือผมไม่มีความชอบอะไรเกี่ยวกับเกาหลีเลย ไม่มีเลย 0% ไม่อินกับอะไรเลย ซีรีย์ก็ไม่ดู แล้วนิสัยของผมคือ เวลาที่ดูหนัง ผมไม่เคยดูตัวอย่างหนัง เห็นโปสเตอร์ผมก็เข้าไปเลย ผมก็เลยรู้สึกว่า การไปเกาหลีโดยที่ไม่รู้อะไรเลย น่าจะมันดี ผมก็มีลูกบ้าอยู่ว่า ไปแม่งเลย ไม่ชอบก็ไม่ชอบ ไม่ชอบคือไปทีเดียวจบ แต่อย่างน้อยเราอันล็อกว่า เราออกนอกประเทศครั้งแรกแล้ว เลยตัดสินใจไป
พอไปครั้งแรกเราก็ช็อค ช็อคว่านี่เราโลกเดียวกันหรือเปล่า คือเขามีหมดเลย รถไฟฟ้าที่สถานีเยอะเหมือนใยแมงมุม ถนนหนทาง รถรา หรือว่าแบบวัฒนธรรมของเขาที่เราค่อยๆ ซึมซับเข้าเรื่อยๆ ที่ช็อคสุดๆ จากที่เห็นก็คือความเป็นคนมันเท่ากันมากๆ ต่อให้คุณเป็นคนแก่มากๆ หรือว่าต่อให้คุณพิการ คุณก็มีสิทธิเท่ากับคนที่เป็นปกติหรือแม้กระทั่งเบียร์ บนฝากระป๋องข้างบน มีอักษรเบลล์ให้คนตาบอด ในขณะที่บ้านเราบอกว่าคนตาบอดกินเบียร์ คุณเป็นอย่างนี้ยังไม่ดูแลตัวเองอีกเหรอ แล้วก็โดนตัดสินแบบนั้นมา ในขณะที่ที่นี่ เขาอยากทำอะไรก็ทำ
อาจจะด้วยว่าผมเที่ยวครั้งแรก สายตาผมที่มองมันก็จะเป็นเหมือนเด็กทารก ที่ไม่เคยเห็นอะไรมาก่อน เห็นนู่นเห็นนี่ก็ตกใจ คือแค่เห็นชานชาลารถไฟ กับรถไฟที่เท่ากัน แล้วคนพิการบนรถเข็นขับเข้าไปได้แบบง่ายๆ ผมก็ช็อคในเรื่องที่ธรรมดามากๆ ของเขา มันเลยทำให้เห็นว่าที่บ้านเราผู้คนกำลังเรียกร้องสิ่งที่ธรรมดามากๆ เช่น ขนส่งสาธารณะที่ดี หรือในขณะที่อินเตอร์เน็ทเกาหลีที่เร็วสุดในโลก เขาก็ยังบ่นช้ากันทุกวัน ผมก็รู้สึกว่า พอไปรอบแรกแล้ว ต้องซ้ำ เพราะว่ามันยังมีอะไรที่เรายังไม่รู้ เราก็เลยเริ่มศึกษาเรื่อยๆ อ่านหนังสือขึ้นเรื่อยๆ ว่าเขามีประวัติศาสตร์แบบนี้ ทำไมถึงทำอย่างนั้น
ที่ไปเกาหลีใต้มาทั้งหมดนี่คือ ช่วงเวลากี่ปี
อยู่ในปี 2017 ถึง 2019 แต่ผมจำตายตัวไม่ได้ ราวๆ ประมาณปีครึ่ง แต่ไม่เกินสองปี ก็คือไป-กลับ ทริปแรกก็ประมาณ 3 อาทิตย์ครึ่ง เกือบเดือน แล้วทริปอื่นก็เป็นแบบ 3 เดือนเต็ม แต่ก็จะมีบางที่ที่มีแบบ 2 เดือน ข้ามไปญี่ปุ่น และต้องกลับมาอีก 2 เดือน
ชื่อหนังสือคือเกาหลีใต้ที่ได้เห็นและไปอยู่ คิดว่าเกาหลีใต้ที่เราได้เห็นและไปอยู่ มันต่างกับที่เราคิดไว้ตอนแรกเลยมั้ย หรือที่ไม่คิดอะไรเลย
ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไรเลยว่าเกาหลีจะเป็นยังไง ทุกก้าวที่ผมก้าวไป ผมเดาอะไรไม่ได้เลย เวลาเดินๆ อยู่ ทำไมประเทศนี้เดินแล้วเหนื่อยจัง เดี๋ยวเป็นเนิน ไปห้องซูโอ (เพื่อนที่เกาหลี) ผมหอบเหนื่อย ไม่ไหว นั่นคือความสงสัย แล้วก็เริ่มมาอ่าน ทำไมมันเป็นแบบนี้ ก็รู้ว่าประเทศเขาเป็นภูเขา หรือทำไมคนเกาหลีถึงดูโกรธกันขนาดนี้ เราก็ไปดูประวัติศาสตร์ สมัยก่อนโดนกดขี่ขนาดไหน ถึงโกรธแบบนี้ ทำไมถึงแบนญี่ปุ่น ถึงไม่ชอบคนญี่ปุ่น โกรธกันทำไม จากตอนแรกผมไม่คิดอะไรเลย แล้วพอผมไปเจอ มันก็ค่อยๆ ทำให้เราเข้าใจประเทศเขาทีละนิดเรื่อยๆ
หรืออย่างที่ผมสงสัยเป็นคำถามแรกๆ เวลาไปคาเฟ่ นั่งปุ๊ป พวกคนเกาหลีก็จะวางของ วางโน้ตบุ๊ค วางกระเป๋าตังค์ วางของเสร็จ ชอบออกไปข้างนอกสูบบุหรี่ครึ่งชั่วโมง เห้ย ไม่กลัวของหายเหรอ ซึ่งมันก็เป็นภาพที่เหมือนกับที่โฮสเทลว่าคนเกาหลีชอบวางของที่ล็อบบี้ แล้วก็ออกไปเที่ยว ไม่กลัวหาย เขาก็จะบอกว่าไม่เป็นไร อันนี้ที่ของเรา ปลอดภัย ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าที่เกาหลีมันเซฟยังไง มันเซฟขนาดที่ว่า ผมเคยเจอบัตรเครดิตที่รถไฟใต้ดินที่แดกู วางแบบองศาเหลี่ยมๆ ออกมาหน่อย สองวันกลับมา มันก็ยังอยู่ที่เดิม ไม่มีใครแตะ ไม่มีใครทำอะไรเลย ซึ่งพอเราหาคำตอบเรื่องความปลอดภัยแล้วได้คำตอบ มันก็มีเรื่องมาให้สงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ
พอสงสัยมากขึ้นหาคำตอบมากขึ้น ก็อดมาเปรียบเทียบกับประเทศเราที่มันคล้ายๆ กัน การปกครองคล้ายๆ กัน เคยมีสถาบันกษัตริย์ มีระบอบเผด็จการมาก่อน แล้วทำไมถึงต่างกันขนาดนี้ ก็เลยเริ่มสงสัย เลยเริ่มไปศึกษา ไปดูชายแดนเกาหลีเหนือ-ใต้ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงแบ่งประเทศ ความสงสัยเริ่มมาเรื่อย สุดท้ายมันทำให้ผมรู้ว่า เรื่องที่เราไม่รู้หรือแม้กระทั่งไม่เคยสนใจเลย พอเราไปแตะมันจริง ๆ มันมีทางไปอีกโลกนึงเลย
ถึงจุดที่เราตัดสินใจว่า เราเช่าห้อง จะอาศัย ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ทำไมตอนนั้นถึงคิดอย่างนั้น
ตอนที่เช่าห้องอยู่ เป็นอารมณ์ชั่ววูบมากๆ ไม่คิดอะไรเลย ปกติผมเป็นคนที่ถ้าผมอยากจะซื้ออะไรสักอย่างนึง ถ้าคิดก็จะคิดมาก แต่ถ้าไม่คิดก็จะซื้อเลย อย่างที่เช่าห้องก็คือ บอกเพื่อนว่า เออ จะเช่านะ ซึ่งพอตกลงกันแล้ว มาอยู่ในห้องก็กุมขมับ กูทำลงไปได้ไง ไม่เชื่อตัวเอง แต่ผมก็มีความบ้าบิ่นที่ผมว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลองไปเลย ไม่ตายหรอก อย่างมากก็แค่กลับบ้าน ก็แค่นั้น หรืออย่างเรื่องเงินเราก็คิดว่าอย่างน้อยที่สุดแล้ว เรายังมีค่าตั๋วไว้บินกลับบ้าน คิดแบบห่ามๆ เลย
แล้วตอนนั้นวางแผนไว้มั้ยว่าเราจะอยู่ใช้ชีวิตอยู่ที่เกาหลีใต้นานแค่ไหน
ไม่มีเลย ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะพอใจ หรือจนกว่าเราจะเช่าห้องไม่ได้แล้ว แต่ตอนที่ผมรู้สึกเริ่มอิ่มตัว ก็คือเป็นช่วงที่เพื่อนเจ้าของห้องที่เราเช่ากำลังจะกลับพอดี
พอใช้ชีวิตอยู่ มีอะไรที่เป็น Culture shock ที่เราเจอบ้างมั้ย
Culture shock อันดับแรกคือการดื่ม ช็อคมาก ช็อคแบบ เคยภูมิใจในความเป็นไทยมากๆ ว่าคนไทยดื่มอย่างขี้เมาอยู่แล้ว นั่งดื่มเป็นลังสบายๆ แต่ที่นี่ช็อคแบบพวกมึงอยู่กันได้ยังไง คือเบียร์เกาหลีเบามากๆ ดื่มแล้วเหมือนเบียร์ไทยละลายน้ำแข็ง แล้วก็โซจู ถ้าเทียบกับเหล้าไทย ซึ่งถือว่าธรรมดามาก แต่ที่ช็อคสุดคือ มึงเอามาผสมกัน
สองคือ การดื่มในบ้านเขากับบ้านเรา บ้านเราการดื่มมันเป็นเรื่องของศีลธรรม ในขณะที่บ้านเขาการดื่มก็คือการเฉลิมฉลอง เอะอะดื่ม เรียนจบดื่ม ได้เงินเดือนก็ดื่ม ได้ไอโฟนใหม่ หรือซื้อคอมฯ ใหม่ก็ดื่ม ดื่มตลอดเวลา และอย่างในไทย ถ้าผู้หญิงดื่มเยอะก็ดูเป็นคนขี้เมา แต่ในขณะของเกาหลี ผู้หญิงนั่งกันสองคน ดื่มโซจูเป็น 10 ขวด เขาก็ไม่ว่าอะไร ทั้งคนเกาหลีในช่วงที่ผมไปอยู่มันจะติดคำว่า ‘YOLO’ ชีวิตเดียวมึงก็ซัดไปเลย ไม่กลัวตาย
เรื่องที่ 2 ที่ช็อค คือ เรื่องความเร็ว เวลาเดิน ขนาดว่าไม่ได้ตื่นตอนเช้าไปขึ้นรถไฟ ก็แค่เวลาปกติกลางวัน เวลาไปเดินห้าง เวลาใช้ชีวิตปกติ คนเกาหลีก็จะเร็วมาก ดูดบุหรี่ปุ๊ปๆ ทิ้ง ทำไมเร็วขนาดนี้ ผมกลับจากเกาหลีมาอยู่ไทย ผมเป็นคนเดินเร็วไปเลย มันเดินเร็วแบบ เร็วมากๆ แล้วเขาเดินชนแล้วก็ไม่มีการขอโทษไม่มีอะไรทั้งสิ้น เป็นความห่ามๆ ในเกาหลี
และอีกหนึ่งเรื่องที่ผมช็อคคือเรื่องความยุติธรรมในวิถีชีวิต อย่างคนไทยก็จะแบบไม่เป็นไรชิวๆ แต่ของคนเกาหลีที่ผมเจอกับตาคือ เพื่อนผมไปซื้อแตงโม แล้วมันผ่าแตงโมมา มันเป็นลายที่เขาเรียกว่าทอร์นาโด ซึ่งคนเกาหลีถือว่าเป็นแตงโมเสีย ผมก็มองว่าไม่เป็นไร เราก็กินส่วนที่ไม่เสีย แต่หันไปอีกทีเพื่อนโกรธมาก โทรหาซุปเปอร์มาร์เก็ตว่าทำไมแตงโมเป็นแบบนี้ ทำไมให้ของไม่ดี ซึ่งตอนนั้นซุปเปอร์มาร์เก็ตปิดแล้ว ผมก็ต้องแบกแตงโมไปคืนที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ผู้จัดการก็ต้องมาเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ตใหม่ แล้วออกมาขอโทษที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ พร้อมเอาแตงโมลูกใหม่ลูกใหญ่มาให้สองลูก ผมก็ช็อคว่า แค่แตงโมเน่าลูกนึงอ่ะ โกรธกันแบบยอมไม่ได้
หรืออย่างตอนอยู่แดกูผมชอบเล่นคีบตุ๊กตา ผมก็ใส่แบงค์พันวอนไป แต่เล่นไม่ได้ ผมก็ไม่เป็นไรๆ แค่ 30 บาทเอง แต่เพื่อนโทรหาเจ้าของร้านจากเบอร์ตรงตู้ บอกเจ้าของว่า เครื่องคุณทำไมใช้ไม่ได้ มันจะเล่นได้ยังไง คุณโกงเหรอ สรุปเจ้าของต้องขอเลขบัญชี แล้วโอนกลับมาสองพันวอน แล้วคราวหน้าบอกถ้ามาจะให้เล่นฟรีหนึ่งครั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานอะไรเลย ตอนนั้นผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นวัฒนธรรมของเขาจริงๆ หรือว่ามันเป็น วิถีชีวิตของเขา
แม้กระทั้งเวลากินร้านที่เป็นซุ้มยืนกินตอนหน้าหนาว ผมยืนตรงกลาง ข้างซ้ายเป็นคนแก่ ข้างขวาเป็นคนหนุ่ม คนแก่จ่ายตังค์เสร็จก็ไป แล้วคนหนุ่มอยู่ข้างๆ ผมก็บอกเจ้าของร้านว่า ขอโทษนะเมื่อกี้ เขาจ่ายไม่ครบ แล้วก็หยิบเงินมาจ่ายเพิ่มแทนอีกสองพันวอน เขายอมไม่ได้ มันไม่ยุติธรรมสำหรับร้าน ซึ่งเจ้าของร้านก็บอกว่า งั้นคุณกินไม่อั้นไปเลย ผมก็แบบ อะไรวะเนี่ย มึงบ้าหรือเปล่า มันช็อคเรื่องแบบนี้
กลายเป็นว่า ขณะที่คนมองว่าคนเกาหลีโมโหร้าย รุนแรง ซึ่งก็อาจจะถูกในสิ่งที่คนอื่นพูด แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ที่ผมเจอทำให้ผมคิดว่า จิตวิญญาณพวกเขาสุด ความเป็นคนสุด ไม่ยอมให้ใครทำอะไรไม่ยุติธรรม อย่างระดับอดีตประธานาธิบดีก็ติดคุกได้ 20 กว่าปี ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นเลย คือใครก็โดนได้ ถ้าไม่ยุติธรรมจริงๆ
มีเรื่องนึงที่เล่าในหนังสือคือเรื่อง ‘จอง’ กับ ‘นัม’ พอไปเกาหลีได้เจอประสบกาณ์ ‘จอง-นัม’ จริง ๆ มั้ย
‘จอง’ จริงๆ เป็นสำหรับคนเกาหลี ถ้าจะอธิบายก็คือ สมมติผมต้องอยู่กับครอบครัว แล้วทะเลาะกันตลอดเวลา ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง แต่ผมก็ยังต้องพึ่งพาครอบครัว อันนี้เรียกว่าจอง หรือมีแฟน ทะเลาะกันทุกวัน แต่ก็เลิกกันไม่ได้นี่ก็เรียกว่าจอง เป็นสายใยที่เรามองไม่เห็น เป็นอ้อมกอดที่เรามองไม่เห็น ซึ่งมันจะเกิดขึ้นระหว่างคนเกาหลีกับคนเกาหลีเท่านั้น เช่นเวลาคนเกาหลีมาเที่ยวไทย ในแอพพลิเคชั่นมันจะมีเป็นห้องแชท ที่มีแค่คนเกาหลี แล้วคนเกาหลีก็จะชวนไปเที่ยวกัน มาเจอกันมั้ย นัดกัน ซึ่งผมไม่เคยเจอจองแบบเต็มๆ กับตัว แต่ผมเคยเห็นผู้คนที่มีสายใยเชื่อมกัน
เช่นแบบกลุ่มซูโอ หรือว่าครอบครัวของเพื่อน ที่ถึงจะทะเลาะกัน แต่เขาก็ทิ้งกันไม่ได้ ทะเลาะกันวันนี้ ด่าๆ ใส่กัน เวลาหนาวก็ ยื่นเสื้อกันหนาวไปให้ด้วย คือเขาไม่มีฟอร์ม ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นเป็นยังไง แต่ที่ผมเจอ มันมีสายใยที่เรามองไม่เห็น หรือเวลาดูทีวี เราดูกีฬา สมมติทีมต่างชาติแข่ง และมีนักเตะของเกาหลีใต้ มันก็จะมีแค่รูปนักเตะเกาหลีใต้โชว์อยู่ข้างบน หรือวอลเลย์บอลก็จะมีรูปของผู้เล่นของเกาหลีใต้อยู่ว่านี่มีคนเกาหลีใต้นะ มีขึ้นแค่คนเดียว
ส่วน ‘นัม’ ผมเจอที่โฮสเทล ถ้าอย่างคนญี่ปุ่นเวลาพูดอะไรกับเขา เขาก็จะแบบอ๋อ โอเค แต่หน้าอาจจะไม่โอเค แต่คนเกาหลีคือหลบเลย เดินหนี เราจะรู้สึกได้เลยว่า เราเป็นคนนอกคอกมาก หรือว่าเป็นเรื่องถ่ายรูป คนเกาหลี สมมติเรายกกล้อง เขาก็เอาตัวก้มหลบไปใต้โต๊ะ เดินหนี หรือบางครั้งเดินเข้ามาบอกให้ลบรูป ไม่ให้ถ่าย แสดงออกชัดเจน บอกขอถ่ายรูปหน่อยได้มั้ย ไม่ได้
หรือแม้กระทั่งเพื่อนกันที่ผมไปเจอ เป็นคนที่ผมเจอในโฮสเทล ขนาดสนิทกันแล้วในระดับนึง คุยกันได้ทุกเรื่อง พอผมขอถ่ายรูปจะไปลงหนังสือ เขาบอกไม่ให้ ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้าเป็นคนอื่นที่มันใกล้ตัวเขาจะให้ แต่เขาไม่ให้เรา มันเหมือนเวลาเราคุยภาษาไทยกับคนไทย มันจะมีความใกล้ชิดมากกว่าเวลาเราพูดภาษาอังกฤษกับคนต่างประเทศ แม้ว่าเราจะสนิทกันแค่ไหน มันจะมีระยะอยู่นิดนึง ซึ่งนิดนึงนี้ สร้างความแตกต่างมาก
เกาหลีใต้มีวัฒนธรรมเรื่องการเรียน–การทำงานที่หนักมากๆ เราได้สัมผัสเรื่องนี้ด้วยไหม
แทบทุกที่ที่ผมไปที่แดกู เช่น เซเว่น พนักงานส่วนใหญ่ถ้าไม่แก่ แบบคุณลุงคุณป้า ก็จะเป็นนักเรียน ไม่มีใครมาก็จะนั่งทำการบ้าน พอลูกค้ามาก็เก็บการบ้านไว้ใต้เคาท์เตอร์ หรือว่าที่ผมอยู่แดกู มีบาร์นึงเจ้าของร้านชื่อ ‘จีฮโย’ ผมก็ชอบไปนั่งร้านนี้ ซึ่งร้านใกล้กับมหาลัย พนักงานทุกคนก็จะเป็นนักศึกษา มันมาเชื่อมกับคำถามว่า ทำไมวัยรุ่นเกาหลีแต่งตัวดีจังวะ ของที่ใส่แต่ละอย่าง เสื้อผ้าแบรนด์ ก็สงสัยว่าทำไมมีตังค์กันจัง
เราก็ค้นพบว่าการทำงานมินิมาร์ทเป็นเรื่องปกติ หรือการทำงานในร้านต่างๆ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเวลาเขาได้เงิน เขาได้เงินที่สมเหตุสมผลจริงๆ มันไม่ใช่วันนึง 300 บาท มันไม่ใช่ชั่วโมงนึง ไม่กี่สิบบาท มันก็สมเหตุสมผลในแง่ที่ว่า
เขาทำงานหนักเพื่อความฝันของเขา ซึ่งในสมัยก่อน มันอาจจะเทียบเป็นการทำงานหนักเพื่อประเทศชาติ แต่พอมาสมัยนี้มันเป็นการทำงานเพื่อความฝันตัวเอง ขณะที่ของไทย คนที่ทำงานมินิมาร์ทส่วนใหญ่เขาทำเพื่อเลี้ยงชีพ มันไม่เหมือนกันเลย
ในหนังสือเหมือนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำให้ประเทศชาติพัฒนาเติบโตกันขนาดนี้ คิดว่าได้คำตอบมั้ยว่าทำไมประเทศเขาพัฒนาขนาดนี้
ถ้ามองในแง่ประเทศชาติ มันก็ต้องมองจุดที่เล็กที่สุด ว่าเป็นยังไง จุดที่เล็กที่สุดที่ผมเจอ อย่างที่ผมบอกขนาดแค่แตงโมลูกนึง ยังหัวฟัดหัวเหวี่ยงขนาดนั้น ในขณะที่ถ้าคนไทยซื้อแตงโมมาเน่า เราก็ซื้อลูกใหม่จบ แต่แม่งยอมไม่ได้ และมันมีกฎหมายที่รองรับ ว่าถ้าโกงต้องโดนหนักนะ ในขณะที่สมมุติเราเรียกร้องในไทย แตงโมเสียไปเรียกร้องแม่ค้า เผลอๆ โดนแม่ค้าด่ากลับด้วยซ้ำ มันเรียกร้องไม่ได้ ผมก็เลยมองว่ามันเริ่มจากจุดเล็กๆ นี่แหละ เริ่มจากคนคนนึง เริ่มจากครอบครัว เริ่มจากโรงเรียน หรือว่ามหา’ลัย ที่เข้มข้นสุด ๆ มันค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโครงสร้างที่แข็งแรง
พอเราได้ไปเห็น และไปอยู่จริงๆ รู้สึกอิจฉาประเทศเขาไหม
คือมันอิจฉาเพราะว่าคนเกาหลี ประเทศเขาจะทำอะไรก็มีสิ่งรองรับหมดทุกอย่าง ขณะที่ทุกอย่างในไทยอยู่ในออนไลน์หมด เรียกร้องความยุติธรรม จะซื้อหนังสือ หรือจะช้อปปิ้ง จะอะไรก็แล้วแต่อยู่ในเฟซบุ๊กหมด ขณะที่เกาหลีจะไปหาหนังสือก็มีห้องสมุดใหญ่ จะไปศึกษาเพลงก็มีห้องสมุดเพลง หรือว่าจะทำอะไรก็มีทุกอย่างรองรับ มันครบอ่ะ ความเป็นอยู่ชีวิตมันก็ดี โดยที่เราเดินๆ อยู่ก็รู้สึกว่าบ้านเมืองปลอดภัย มองเห็น CCTV แทบทุกที่ แต่ของเรา ทำไมเราต้องมาเดินบนฟุธปาทที่เหยียบแล้วมีน้ำกระเด็นออกมา ต้องระวังอะไรที่คาดเดาไม่ได้ เดินๆ อยู่ก็อาจจะมีต้นไม้มาล้มทับ สายไฟจะพันตัวไหม ในขณะที่เกาหลีเราไม่ต้องคิดอะไรเลย
เราจึงย้อนกลับไปดูว่า ทำไมบ้านเมืองเขาดี มันมีอะไร เราก็เจอการใช้ชีวิต การทำงาน เจอโครงสร้างของสังคม การทำงานหนักของรัฐบาล เจอความเท่าเทียมของคน แล้วมันก็มาสู่จุดหมายที่ว่า ทำไมชีวิตดีจัง ยิ่งอินเทอร์เน็ตฟรีที่ตลาดแถวห้องพัก ยังเร็วกว่าเน็ตบ้านผมที่ไทย จะไม่ให้อิจฉาได้ยังไง เราเสียเดือนละ 600-700 บาท เพื่อแค่เน็ตที่เร็วระดับนี้ ในขณะที่คนเกาหลีไปตลาดได้เน็ตฟรี เขายังบ่นว่าช้าได้
ดูไปสอดคล้องกับกระแสออนไลน์อันนึง ที่เขาพูดคุยกันว่า #ถ้าการเมืองดี… หลายๆ อย่างก็จะดีตามมา สิ่งที่เห็นที่เกาหลีใต้ มันพิสูจน์ไหม ว่าข้อความนี้จริง
ผมเชื่อว่าเมืองที่ดีมันจะมาจากเมืองที่รับฟังเสียงประชาชน แล้วเกาหลีใต้ก็โชว์ให้ผมเห็นในทุกด้านว่าเมืองที่ฟังเสียงประชาชนเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะชอบ ไม่ชอบการเมือง แต่ผมมองว่าเราไม่สนใจไม่ได้ เพราะมันเป็นเสียงที่นำไปสู่การแก้ปัญหา เป็นเรื่องใกล้ตัวไปสู่การพัฒนา ใครออกมาเรียกร้องอะไรต้องฟังเขา ต้องฟังทุกคนอย่างเท่าเทียมภายใต้กติกาที่เป็นธรรม
ทุกวันนี้อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ติดคุกอยู่ ก็ยังมีเวทีประท้วงที่สนับสนุน ยังมีคนที่บอกว่าเรารออยู่นะ ในขณะที่อื่นก็บอกไม่รอแล้ว ประเทศกูดีแล้ว มันก็มีเสรีภาพในการพูด หรือในการแสดงออกอะไรสักอย่าง เราพูดได้ มีคนฟังเรา แต่อย่างบ้านเราเวลาใครสักคนเรียกร้องความยุติธรรม มันไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราทำได้ บางทีเรื่องไปถึงหรือเปล่ายังไม่ต้องพูดถึง เพราะคนที่เรียกร้องโดนคดีไปแล้ว
ตอนที่ไปอยู่เกาหลีถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่ประชาชนเกาหลี แต่ได้รู้สึกถึงความคุ้มกับรัฐบาลที่ทำงานหนักไหม
ตอนที่ผมไปหน้าหนาวครั้งแรก เกิดแผ่นดินไหว ยังได้ข้อความแจ้งเตือนเลยว่าให้ระวังแผ่นดินไหว ผมเป็นใครอ่ะ ผมพึ่งไปเหยียบแผ่นดินได้ 3 ชั่วโมงเอง ก็มีข้อความเตือนมา หรือแม้กระทั่งวันไหนที่หนาวมากๆ ร้อนมากๆ ข้อความก็ส่งมาว่าระวังนะวันนี้หนาวมาก หรือว่ามีฝุ่น ก็มีข้อความส่งเข้ามือถือผม ผมก็รู้สึกว่า นี่กูเป็นใครวะ กูแทบจะเป็นต่างด้าวด้วยซ้ำ มาบอกทำไม นี่ขนาดผมเป็นคนนอกวงเขายังแคร์ผมเลย แล้วถ้าคนในประเทศเขาจะขนาดไหน ก็ลองคิดดู น่าอิจฉาและน่าน้อยใจด้วยแหละ ขนาดคนเกาหลีเขายังฟังเราเลย เขายังเป็นห่วงเราเลย ในประเทศตัวเอง มีห่วงอะไรเราบ้าง
จากที่ไปมา พอกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ไทย มีอะไรที่ทำให้วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไปบ้าง
หงุดหงิดทุกอย่าง เห็นอะไรก็หงุดหงิด ครั้งที่ย้ายของจากแดกูกลับมาไทยก็คือไม่อยู่เกาหลีแล้ว ก็บอกตัวเองว่าใจเย็นๆ นิ่งๆ นะ มันยังต้องมีเรื่องที่ปวดกบาลแน่นอน พอสแกนพาสปอร์ตปุ๊ป เครื่องสแกนพาสปอร์ตพัง ยังไม่ทันผ่าน ต.ม. เลย เครื่องพังตรงหน้า พอออกไปเจอแท็กซี่โกง เก็บตังค์นู่นนี่ ก็รู้สึกว่าทำไมเราต้องทนอยู่กับอะไรแบบนี้ด้วย
ผมไม่ได้มองว่าผมเป็นคนไทยแล้ว ผมเป็นมนุษย์คนนึงที่อยู่บนโลก อันนี้ประเทศอื่นก็ยังไม่ได้รับผมเป็นพลเมืองหรอก แต่ผมมองว่าผมเป็นพลเมืองโลกที่ถึงแม้อายุจะ 30 กว่าปีแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเลือกสิ่งที่ดีให้ตัวเองได้ ถ้าที่บ้านเกิด ที่เราโตมา ไม่สนับสนุน เราก็ไปเลย ไปหาบ้านตัวเองในความหมายนั้นคือไปหาที่ของเรา ที่มาสนับสนุนเรา เราอยู่แล้วสบายใจ ไม่ใช่อยู่ในที่ที่ต้องคิดว่าวันนี้ฝนตกแล้วน้ำจะท่วม เราจะไปออฟฟิศทันไหม รถไฟฟ้าจะเสียอีกหรือเปล่า หรือว่าวันนี้มีฝุ่นไหม ทางรัฐบาลจะแจ้งอะไรเราหรือเปล่า หรือฉีดน้ำอะไรไม่รู้ เราต้องซัฟเฟอร์อยู่ตลอดเวลา ประเทศมันโดนกดไปหมดด้วยโครงสร้าง ที่รอดก็คือคนที่มีตังค์ และคนที่มีตังค์เขาก็ไม่สนใจเราอยู่แล้ว เขาก็อยู่ได้สบายใจแล้ว คนที่เป็นคนตัวเล็กอะไรมันก็โดนกดจนเครียด ไม่มีทางออก
อย่างตอนที่ทำโฮสเทล ผมเจอแขกที่หลากหลายมากๆ ถามว่าเขามาทำอะไร เขาบอกมาลองแม็คโดนัลด์ เมนูพิเศษบ้านเรา ความฝันคือมาลองเมนูพิเศษให้ครบทั่วโลก ผมก็แบบอะไรของมึงวะ หรือคนนึงที่สักทั้งตัว ชอบกินอะไรก็สักเป็นชื่อเมนูนั้น มาไทยสักคำว่า ผัดเผ็ดไก่ เป็นภาษาไทย แล้วลายที่สักก็ให้แม่ค้าเป็นคนเขียนด้วยลายมือ ผมมองว่าชีวิตพวกเค้า มันมากเลย ไม่มีแพทเทิร์น ขณะที่คนไทยมีความกลัวกดอยู่ ออกไปไม่ได้ กลัวมีชีวิตไม่ดี ขณะที่ต่างประเทศที่มีรัฐบาลสนับสนุน เขาไม่กลัวที่จะออกไปเลย เรียนจบไปก็พักก่อน พอกลับไปรัฐบาลก็ช่วย ในขณะที่ไทย ถ้าพักเทอมนึง แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย มันไม่มีใครสนับสนุน
พูดถึงเรื่องความสนุก แต่ในมุมนึงประเทศเกาหลีก็เป็นประเทศที่จริงจังกับทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน เราสัมผัสถึงบรรยากาศความเครียดเราไหม
ตอนไปเกาหลี ผมไม่เคยคิดเลยนะว่าสนุก ไม่มีความคิดว่าไปเกาหลีแล้วสนุก แต่ผมรู้สึกว่าไปเกาหลีแล้วมันไปเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้แปลว่าต้องสนุกตลอดเวลา แต่คนไทยต้องสนุก ต้องตลก เพราะถ้าไม่สนุก ไม่ตลกก็จะประสาทแดกตาย เจอรถติดทุกวันถ้าไม่ตลกนี่เครียดตายนะ มันมีเรื่องให้ต้องหัวร้อนทุกวัน แต่คือในขณะที่เกาหลี โอเคเขาทำงานหนักจริง มีความเครียดเรื่องอื่นจริง แต่อย่างน้อยในที่สุดแล้ว คุณภาพชีวิตมีครบ
ชอบมีคนพูดถึงประเทศบางประเทศอย่างเกาหลีใต้ว่า ว่าไปเที่ยวมันก็สนุกแหละ แต่พอไปใช้ชีวิตอยู่จริงๆ แล้ว อย่าเลย ไม่ดี แต่ที่ผ่านมาได้ไปทั้งเที่ยว และทั้งใช้ชีวิตมาแล้ว
อันนี้ต้องบอกก่อนว่าที่ผมพูดทั้งหมดเนี่ยเป็นมุมมองของผมแค่คนเดียว ผมไม่สามารถบอกได้ว่าเกาหลีเป็นแบบนี้นะ ผมไม่สามารถบอกได้ว่ามันดีมาก ทุกคนต้องไป คนอาจจะไม่ชอบก็ได้ พอผมไปทริปแรกกลับมา ผมเห็นความแตกต่างที่ว่าเขาอยู่กันแบบนั้นหรอ หรือความธรรมดาของเขามันเป็นความสุดยอดของเรา ผมก็เลยรู้สึกว่าแล้วทำไมเราต้องอยู่กับความไม่ธรรมดาตรงนี้ด้วย ในขณะที่เราก็มีความสามารถ มีโอกาสที่เราพอหาได้บ้าง ทำไมเราไม่ไปอยู่ในที่ที่เขามีให้เราพร้อม
ในขณะที่บางคนเขาก็คิดว่า ทำไมไปเกาหลีแล้วต้องไปฝึกภาษา ต้องไปเสียเวลาฝึกพูด หรือทำไมต้องไปที่นู่น ที่ประเทศเราก็มีการงาน มีอาหารดีๆ อยู่แล้ว อยู่บ้านเราดีที่สุด แต่คนอย่างผมหรือคนอื่นๆ ที่คล้ายๆ ผม ก็จะรู้สึกว่ามันไม่พอ อาจจะเป็นคนโลภ แต่สำหรับผมคือมันไม่ได้ดีที่สุดอ่ะ การที่คุณพูดว่าบ้านเราดีที่สุดมันโกหก ถ้าบอกของเราอาหารดีสุด จริงๆ เกาหลีก็มีอาหารที่อร่อยเหมือนกัน แต่เกาหลีใต้เองก็ยังมีเรื่องค่านิยมอนุรักษ์นิยมบางอย่างที่ไม่เปิดกว้าง หรือยังมีความเชื่อแปลกๆ บ้าง ซึ่งผมมองว่าทุกที่มันมีเรื่องดีและเรื่องแย่ อย่างในไทยมันก็มีทั้งเรื่องแย่และเรื่องดี แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะเอาตัวไปไว้ตรงไหน
สมมุติถ้าผมอยู่เกาหลีผมก็คงไม่เอาตัวไปทำงานหนัก เพราะผมทำงานหนักไม่ได้ หรือว่าถ้าอยู่ไทยผมก็คงไม่ไปขับรถไปทำงานทุกวัน ผมอยู่ไม่ได้ คือเราก็เลือกส่วนที่ดีที่สุดของแต่ละที่อยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่าคนจะรับแบบไหนได้มากกว่ากัน บางคนอาจจะขับรถทุกวันได้ แต่ผมทำไม่ได้ มันก็แล้วแต่คนเลือก พูดเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีเนี่ยยาก แต่ผมมองว่า เราอยากเอาตัวเราไปฟิตกับที่ไหนตรงไหนมากกว่า พอเราไปฟิตที่ไหนตรงไหนแล้วเราสบายใจ มันก็เป็นบ้านเรา
รู้สึกว่านิยามคำว่าบ้านดูจะเปลี่ยนไป จากตอนแรกที่เราไม่ได้ออกไปไหนเลยใช่ไหม
ใช่ คือผมรู้สึกว่าตอนแรกบ้านก็คือบ้านของผมจริงๆ ที่อยู่กับพ่อแม่ มีผ้าห่ม เตียงเน่าๆ มีหนังสือ มีเกมให้เล่น แต่พอผมออกไปข้างนอกปุ๊บเนี่ย ผมเลยมองว่าโลกนี้เป็นบ้านของผมไปแล้ว เพียงแต่ว่าจากที่เรามองว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ผมจะหาซื้อบ้านไหนในกรุงเทพฯ ตอนนี้กลายเป็นว่าผมมองว่าประเทศไหนสามารถให้ผมไปฟิตได้ ซึ่งตอนนี้ผมก็ไม่ได้มองแค่เกาหลีใต้ อย่างล่าสุดผมลองไปอเมริกา ลองไปสิงคโปร์ ก่อนที่ไวรัสจะมาผมจะลองไปยุโรป ไปลองดูว่าที่ไหนมันฟิตกับเรา เราชอบที่ไหนเราก็ไปฟิตที่นั่น
หรืออาจจะมีบ้านหลายที่ก็ได้ อยู่ไทย 3 เดือนกินอาหารก่อน ก็ไปเกาหลีช่วงใบไม้ร่วง พอหนาวมากก็โอเคไปที่อื่นที่มันอุ่นหน่อย เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านหลังเดียวอีกต่อไปแล้ว ในขณะที่โลกมันเร็ว โลกมันจะเปิดโอกาสให้เรามากขึ้น เราก็ไปเจออะไรที่แตกต่างได้มากขึ้น
มันก็เป็นแนวคิดนึงของบ้านที่มันน่าสนใจ แต่ในอีกมุมนึงมันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบ้านแบบนี้ได้
เข้าใจ สิ่งที่ผมทำด้วยตัวตนของผมมันมาจากความบ้าบิ่น ความเจ็บปวด มันมาจากปมด้อย มาจากอะไรที่แบบหลายๆ อย่างรวมกัน ผมมองว่าอะไรที่เราโหยหา คือสิ่งที่เราโดนกดมาตลอด ผมโหยหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ เพราะผมรู้สึกว่าโดนประเทศนี้กดมาก่อน แต่ในขณะคนอื่นที่เขาไม่ได้รู้สึกโดนกดอะไรขนาดนั้น เขาก็ไม่จำเป็นต้องโหยหาแบบผม ผมโหยหาคุณภาพชีวิตที่ดี แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคน
สุดท้ายแล้วจากประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้ไปอยู่ และไปเที่ยว นิยาม ‘เกาหลีใต้ที่เห็นและไปอยู่’ ยังไงบ้าง
มันยากมากสำหรับคำถามนี้ เพราะว่าเวลาผมมองจะมองยิบย่อย ไม่ได้มองในแง่ของภาพรวม ถ้าพูดอาจจะไม่ได้พูดแค่เกาหลีใต้อาจจะพูดคลุมว่า สิ่งๆ หนึ่ง หรือประเทศประเทศหนึ่งที่เรามองแล้วเห็นแต่ชื่อ เห็นเป็นข่าว แล้วเรารู้สึกไม่มีความสนใจอะไรเลยเกี่ยวกับมัน สิ่งนี้มันอาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ ก็ได้
ผมเคยมองเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ Underrated มาก ไปแล้วก็เสี่ยงติด ต.ม.ด้วย จะไปทำไม ผมก็มองว่าถ้าคุณมองอยู่แค่นั้น คุณก็จะเจออยู่แค่นั้น คุณก็จะได้รับประสบการณ์เดิมๆ ที่ไม่แตกต่างไปจากปกติ ถ้าเกิดวันนึงมีที่ที่เขาบอกว่าอันตราย คุณก็ลองไปดู พอไปถึงปุ๊บ เจอว่าไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด ก็มีนู้นมีนี่เข้ามาใหม่ๆ มีเรื่องราวใหม่ๆ เข้ามาในตัวเรามากขึ้น มันก็เหมือนกับเราอยากไป explore อยากไปค้นหาพื้นที่นี้ เราก็รู้สึกว่าเราอยากไปเพื่อที่จะเจอสิ่งใหม่
ผมมองว่ามันยากมากๆ ที่จะนิยามว่าเกาหลีใต้ที่ผมไปเห็นมันเป็นยังไง แต่ผมมองว่ามันเป็นประตูของผมที่ผมเปิดไปแล้วมันไม่ได้เจอแค่เกาหลีใต้ เจออย่างอื่นเต็มไปหมด รอผมอยู่ เหมือนเป็นประตูบานแรกก็ได้ที่เปิดไปแล้วเกาหลีใต้บอกผมว่า ไม่ได้มีแค่ประเทศกู มีประเทศอื่นที่เป็นไปได้ที่ให้ไปลองได้อีก จะลองไหมก็แล้วแต่ หรือจะเลือกกลับไปประเทศตัวเองก็แล้วแต่