ห่างออกไปจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ราว 200 กิโลเมตร ผ่านถนนลาดยางราบเรียบในอำเภอจอมทอง และสองข้างถนนเข้าหุบเขาที่ต้นสนโบกสะบัดกิ่งตามลมคล้ายมือที่เชื้อเชิญต้อนรับสู่ ‘อมก๋อย’ อำเภอที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และธรรมชาติที่สมบูรณ์
ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในอำเภออมก๋อยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมทำเกษตรกรรมหมุนเวียน และยังโยนเศษอาหารให้หมูและไก่ใต้ถุนบ้าน แต่วันดีคืนดี เมื่อถึงคราวฉลองพวกเขาก็นำพวกมันมาใส่ลงหม้อ พร้อมสับพริกขี้หนูสวน ขิงข่า และบีบมะนาวตาม
ในปัจจุบัน ชาวอมก๋อยไม่ได้เผชิญปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าเหมือนที่ ‘พิมรี่พาย’ และ กอ.รมน. พยายามช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังมีทั้งโครงการเหมืองถ่านหิน, สายส่งไฟฟ้าแรงสูง และผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลที่ล้วนต้องการใช้ผืนป่า สายน้ำ และที่ดินในอำเภออมก๋อยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
แน่นอนในแง่หนึ่งโครงการมาพร้อมถนนหนทางและการสัญจรของเม็ดเงินทุนนิยม แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็ต้องแลกมาด้วยความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้คนที่ตอบได้ดีที่สุดว่าต้องการโครงการเหล่านี้หรือไม่ อาจไม่ใช่ภาครัฐหรือนักวิชาการคนใด แต่เป็นชาวอมก๋อยเอง
เหมืองถ่านหินอมก๋อย
ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2530 ชาวบ้านในหมู่บ้านอะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการติดต่อจากนายหน้าตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อขอซื้อที่ดินจำนวนหลายไร่ ซึ่งชาวบ้านบางส่วนก็ยอมขาย เนื่องจากถูกข่มขู่ว่าจะมีการยึดคืนที่ดินในอนาคต และพวกเขาอาจไม่ได้อะไรชดเชยหากไม่ตกลงขายในวันนั้น
ต่อมาในปี 2543 บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ได้ยื่นขอใบอนุญาตทำเหมืองถ่านหินกับจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บนเนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา โดยมีระยะเวลายื่นขอสัมปทานเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งในระยะ 1 กิโลเมตรจากบริเวณที่ยื่นขอทำเหมืองถ่านหินมีหมู่บ้านกะเบอะดินและบ้านขุนตั้งอยู่
รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งถูกปล่อยออกมาในเดือนตุลาคม ปี 2554 ระบุว่า ภายในพื้นที่ดังกล่าวมีถ่านหินประมาณ 720,000 ตัน และถ่านหินทั้งหมดจะถูกส่งไปใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในจังหวัดลำปาง พร้อมเขียนระบุว่า “พื้นที่ดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรมที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ และความสมบูรณ์ของพื้นที่หากนําไปใช้ในทาง การเกษตรต้องผ่านการบํารุงรักษาและฟื้นฟู อย่างหนัก”
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังมีการยืนยันว่า พื้นที่ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวเห็นชอบและยินยอมให้มีการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ชุมชน
แต่เรื่องราวกลับพลิกผันจากที่เขียนไว้ในรายงานฉบับนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ชุมชนในอำเภออมก๋อยได้รวมตัวกันและเสนอชื่อเพื่อให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินในอำเภออมก๋อย โดยให้เหตุผลว่ากังวลถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งตาน้ำที่อาจสูญหายไปจากการก่อสร้าง หรือการตัดถนนให้รถขนถ่านหินเข้ามา ซึ่งจะสร้างฝุ่นและมลพิษทางอากาศจำนวนมากให้เกิดในชุมชน
รวมถึงอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ชาวอมก๋อยยกขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทำเหมืองถ่านหินคือ มีการปลอมลายมือชื่อ ชาวบ้านบางส่วน และคนที่เขียนหนังสือไม่เป็น บางคนมีชื่ออยู่ในใบยินยอมให้มีการเหมืองถ่านหิน
ความไม่โปร่งใสในการทำ EIA และเจตนาของบริษัทเหมืองแร่ ได้ทำให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลกระทบเหมืองแร่อมก๋อย ในปี 2562 มีชาวอมก๋อยจำนวนมากเดินทางเข้าไปร่วมฟังเวทีดังกล่าว จนล้นเกิน และต้องเลื่อนการจัดเวทีออกไป
เรื่อยมาจนล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 ชาวอมก๋อยได้รวมตัวและเดินมาบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออมก๋อย เพื่อยืนยันถึงจุดยืนว่าไม่ต้องการให้มีเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นในบ้านของพวกตน โดยพวกเขาได้จัดทำแผนที่ข้อมูลที่ชื่อว่า “ที๊ง คู เท้ะ ฌี หรือแผนที่ต้นน้ำดีที่อมก๋อย” ซึ่งเผยให้เห็นถึงความผูกพันธ์ของชาวอมก๋อยต่อแหล่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งเป็นชีวิตให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมของพวกเขา
และที่สำคัญ ในการเดินขบวนครั้งดังกล่าวยังมีการส่งสัญญาณไปถึงภาครัฐอีกด้วยว่า ชาวอมก๋อยคัดค้านโครงการใหญ่อีก 2 คือ โครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล ที่มาพร้อมกับแผนการสร้างเสาส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง
โครงการผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล
เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับโครงการ “ผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล” มูลค่า 70,000 ล้านบาทของภาครัฐ โดยคาดว่าโครงการนี้จะเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ราว 1,700-2,000 ลูกบาศก์เมตร และจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ราว 1.6 ล้านไร่, ด้านน้ำประปาส่วนภูมิภาค 50 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี รวมถึงช่วยในการผลิตไฟฟ้าในเขื่อนภูมิพลเฉลี่ยปีละ 417 ล้านหน่วย/ปี และเพิ่มประโยชน์ด้านการประมงและการท่องเที่ยวอื่นๆ
โดยจากเอกสารของกรมชลประทานระบุว่าเขื่อนน้ำยวมมีลักษณะเป็นคอนกรีตสูง 69.50 เมตร สันเขื่อนมีความกว้าง 8 เมตร ยาว 180 เมตร ใช้พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ ระยะยาวประมาณ 22 กิโลเมตร และคาดว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าทั้งหมด 1,426 ไร่ พื้นที่ปลูกผัก 39 ไร่ พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 4 ไร่
และครอบคลุมพื้นที่ 36 หมู่บ้าน จากจังหวัดแม่ฮ่องสอนถึงเชียงใหม่ โดยอมก๋อยจะถูกใช้เป็นพื้นที่วางวัสดุ อาทิ กองดินที่จะเกิดระหว่างการก่อสร้างอุโมงค์ผ่านน้ำ โดยจะใช้พื้นที่ในอมก๋อยราว 225 ไร่ และจะตัดผ่านพื้นที่ป่าและผืนดินทำกินของชาวบ้าน
วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทย และว็อยซ์ ออนไลน์ตรงกันว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้สร้างผลกระทบให้ชาวบ้านในพื้นที่มากนัก และภาครัฐไทยจะไม่ใช่ผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าวด้วยตัวเอง หากจะเป็นบริษัทจีนที่มีชื่อว่า “บริษัทต้าถัง” เป็นผู้เข้ามาลงทุนให้ เพียงแต่มีข้อแลกเปลี่ยนคือ ทางการไทยต้องอนุญาตให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำสาละวิน โดยจีนจะรับหน้าที่ผู้เจรจากับรัฐบาลพม่า หากทางการไทยยินยอม
อย่างไรก็ตาม มาถึงในขณะนี้ โครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จึงยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้าง
สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ฝาแฝดผันน้ำยวม
อีกหนึ่งโครงการที่ชาวบ้านบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นโครงการตั้งต้นก่อนที่จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ในโครงการผันน้ำยวม หรือเรียกได้ว่าเป็นโครงการฝาแฝดของผันน้ำยวมคือ ‘โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง’
โดยสำนักข่าวชายขอบรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน ปี 2563 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้ส่งหนังสือมาถึงผู้ใหญ่บ้านในหลายพื้นที่ในอมก๋อย เพื่อขอสำรวจพื้นที่สำหรับการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สำหรับส่งไฟฟ้าจากสถานีย่อยลำพูน 3 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีการกำหนดเขตที่จะเดินระบบโครงการไฟฟ้าว่า แต่ละด้านจะมีความกว้างจากแนวศูนย์กลางเสาสายส่งไฟฟ้าไม่เกิน 40 เมตร
ต่อมาในเดือนตุลาคม บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้มีหนังสือถึงผู้ใหญ่ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และเชิญให้ไปร่วมฟังข้อมูลการทำ EIA ในโครงการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน 3-สบเมย โดยเชิญให้เข้าร่วมประชุมในวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2563 ณ ศาลาวัดบ้านแม่อ่างขาง ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยในเอกสารดังกล่าวระบุว่า ขอเชิญชาวบ้านหมู่ที่ 12 บ้านกะเบอะดิน 20 คน บ้านผาแดง(คุ้มบ้าน) 10 คน หน่วยงานที่รับผิดชอบ 10 คน
ทั้งนี้ สำนักข่าวชายขอบได้นำเสนอคำสัมภาษณ์ พิบูลย์ ธุวมณฑล ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย ซึ่งให้ความเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะ “ผ่าพื้นที่ป่าอย่างเต็มๆ” และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน รวมถึงป่าต้นน้ำซึ่งหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชาวบ้าน
ขณะที่ทางด้าน น.ส.พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนบ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดถึงเชิญชาวบ้านกะเบอะดินแค่ 20 คน ทั้งที่ในหมู่บ้านมีชาวบ้านกว่า 400 คน แล้วชาวบ้านจะยอมรับความคิดเห็นของตัวแทนที่ถูกเชิญไปได้ทั้งหมดไหม
เธอกล่าวกับสำนักข่าวชายขอบว่า “ชาวบ้านกังวลใจทั้งเรื่องที่ดินทำกิน วิถีชีวิตที่จะได้รับผลกระทบ เราเป็นห่วงผลกระทบเรื่องสุขภาพด้วย เราอยู่กันมาเป็นร้อยๆปีแต่ช่วงนี้เจอโครงการใหญ่ๆ 3 โครงการ พวกเรามีคำถามในใจว่า พวกเราจะไม่มีแม้กระทั่งสิทธิในที่ดินที่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เราช่วยกันดูแลป่า รักษาป่า ทำแนวกันไฟทุกปี แต่สุดท้ายแทบไม่สิทธิในการยืนยันในผืนป่าเหล่านี้เลยหรือ”
“ป่าเป็นของเราทุกคน” – เสียงสะท้อนจากชาวอมก๋อย
The MATTER ได้ติดต่อหาชาวบ้านในอำเภออมก๋อย เพื่อถามถึงความคืบหน้าและความคิดเห็นต่อโครงการจากทั้งหมดที่มีแผนก่อสร้างในอมก๋อย ขวัญหทัย โล่ห์ติวิกุล ตัวแทนจากเครือข่ายยุติเหมืองอมก๋อยให้ความเห็นว่า “ทุกโครงการล้วนมีข้อดีและข้อเสีย” แต่สำหรับเธออยากให้ภาครัฐมองในเรื่องความยั่งยืนมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เธอเล่าให้ฟังว่า ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในอมก๋อยคือ ปัญหาการสื่อสาร เพราะนอกจากชาวอมก๋อยส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารระหว่างกัน แต่ใช้ภาษาถิ่นอื่นๆ เช่น ภาษากะเหรี่ยงแล้ว หลายครั้งวิทยากรที่ถูกเชิญมาพูดก็ใช้ศัพท์เทคนิค หรือศัพท์วิชาการมากเกินจนยากที่จะเข้าใจและคิดภาพตามทัน
เธอยกตัวอย่างโครงการอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งวิทยากรอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า “มันคล้ายกับรถไฟฟ้าใต้ดิน” ซึ่งเธอมองว่าเป็นไปได้ยากที่ชาวบ้านจะเข้าใจการเปรียบเปรยแบบนี้ เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นรถไฟฟ้าใต้ดิน และบางคนไม่เคยเข้าไปในกรุงเทพฯ เสียด้วยซ้ำ
แต่เธอเน้นย้ำว่า ภาครัฐต้องไม่นำกรอบความเจริญจากส่วนกลางมาทำความเข้าใจและคลอบความเป็นอมก๋อย เพราะวิถีการพัฒนาไม่จำเป็นต้องเป็นทิศทางเดียวกันในทุกพื้นที่
ทางด้าน สมศักดิ์ แก้วศรีนวล จากมูลนิธิรักษ์ไทยมองว่า ไม่ว่าอย่างไร โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวมก็จะสร้างผลกระทบแง่ลบให้ชาวบ้านมากกว่าผลบวกอยู่ดี เพราะตามแผนการก่อสร้างต้องมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และยังต้องมีการขุดเจาะดินขึ้นมา เพื่อนำมากองตามทาง ก่อนให้รถบรรทุกขนย้ายไปอีกทอด ซึ่งมันจะส่งสร้างทั้งฝุ่น มลพิษทางอากาศ รวมถึงทำลายต้นน้ำที่ชาวอมก๋อยใช้ในชีวิตประจำวัน
เขามองว่าภาครัฐไม่เคยสนใจฟังเสียงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเลย โดยเขากล่าวถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้งว่าเหมือน “พิธีกรรม” เพราะผู้มีอำนาจไม่เคยสนใจนำเสียงสะท้อนจากชาวบ้านไปประกอบการพิจารณาเลย เพียงแต่จัดให้เกิดขึ้นตามกฎหมายและก็จบไป แต่ไม่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับความเป็นไปของชุมชนอย่างแท้จริง
เขาตั้งข้อสังเกตถึงโครงการผันน้ำยวมว่าเหตุใดภาครัฐถึง “แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ?” การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ควรคิดให้รอบคอบแต่แรกว่าต้องการน้ำกี่ลูกบาศ์เมตร มีกี่ครัวเรือนที่ต้องใช้ ดังนั้น โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจริงไหม หรือมีใครบางคนกำลังได้ผลประโยชน์จากเงินก้อนโตในโครงการนี้
“ยืนกรานว่าไม่เอาทุกโครงการ และถ้าหากจะทำ EIA ต้องทำกับชาวบ้านทุกคนในอมก๋อย ไม่ใช่เฉพาะบ้านที่เป็นทางผ่าน ทุกคนต้องรับรู้ทั้งหมด เพราะมันเป็นเรื่องของชาวอมก๋อยทุกคน” สมศักดิ์พักหายใจครู่หนึ่ง ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า
“ต้องไม่ลืมว่าป่าไม้ที่จะตัด มันก็เป็นต้นน้ำของเรา ชาวอมก๋อยทุกคน สิ่งแวดล้อมเวลากระทบ มันกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่จุดไหนจุดหนึ่ง”
อ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยได้ที่:
http://eiadoc.onep.go.th/eialibrary/1mine/54/54_9029.pdf
.
อ้างอิง:
Photograph By Sutthipath Kanittakul
Illustrator By Woragorn Keerana