ช่วงที่ยังไปทำงานและบริษัทยังไม่มีนโยบายให้ทำงานอยู่ที่บ้าน ก็เป็นห่วงว่าตัวเองจะเป็นพาหะไปติดคนในบ้านรึเปล่า เพราะเราเดินทางด้วยรถสาธารณะหลายต่อ ตอนนั้นก็คิดเพียงแค่ว่า ยังมีงานทำอยู่ก็ดีแล้วหนักหนาอะไรก็อดทนไปในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังจะชะงักด้วยเหตุการณ์ COVID-19 นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานในบริษัทที่เราสนใจ เป็นครั้งแรกที่เรามองเห็นมุมมองที่บริษัทมีต่อพนักงานในองค์กร ซึ่งก็เห็นล่ะว่าหมดช่วง COVID-19 เมื่อไรควรหางานทำที่ใหม่น่าจะดีกว่า… แต่โอกาสที่ว่าก็มาถึงเร็วกว่าที่คิด
วันสุดท้ายในบริษัทเป็นอีกหนึ่งวันธรรมดาของเรา ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติเหมือนกับวันก่อนๆ ออกจากบ้าน รถไม่ติด อารมณ์ดี นั่งทำงาน กินข้าว จนประมาณช่วงบ่ายเราก็ถูกหัวหน้าเรียกพบพร้อมกับพี่ในแผนกอีกคน “แก… เขาจะให้เราสองคนออกรึเปล่านะ” อยู่ดีๆ พี่ก็ถามขึ้นมาระหว่างรอเข้าพบ “ไม่หรอกมั้ง อย่าเพิ่งคิดมากเลย” เราตอบโดยไม่รู้เลยว่าในเวลาต่อมาตัวเองคือคนที่ไม่ได้ไปต่อ จนเวลานั้นมาถึง พอเข้าไปในห้องดูจากสีหน้าที่ไม่ค่อยสู้ดีของหัวหน้าผนวกกับกระดาษหนึ่งแผ่นที่วางรออยู่ก็รู้สึกว่าเริ่มจะเข้าเค้าล่ะ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ขณะที่พูดคุยกันเราได้แต่พยักหน้าแทนการตอบรับ โดยระหว่างที่หัวหน้าพูดชี้แจงเหตุผลด้วยใบหน้าที่รู้สึกผิด เราก็นั่งอ่านเอกสารตรงหน้าไปด้วย สาเหตุจากวิกฤติ COVID-19… เงินชดเชย… จนถึงตำแหน่งที่ต้องเซ็นชื่อ… แล้วเราก็เพียงแค่เอ่ยปากขอปากกา เพราะถึงอย่างไร นี่ก็อยู่ในขั้นสุดท้ายแล้ว เราทำได้เพียงยอมรับผลของมันและไปต่อ
หลังเสร็จจากการคุยดังกล่าวเราปรับอารมณ์ให้เป็นปกติเพื่อทำงานต่อ ในใจคิดเพียงว่าเราต้องเป็นมืออาชีพ ไม่ต้องรู้สึกอะไร ทำงานไปให้เสร็จ ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายเลยเมื่อต้องเจอกับปราการด่านน้ำตารวมทั้งสีหน้าเศร้าหมองที่ได้รับจากเพื่อนร่วมงาน ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากแผนกรอบข้างได้รับข่าวร้ายนี้โดยทั่วกัน บรรยากาศในบริษัทก็ยิ่งมืดมนเข้าไปอีก เมื่อมาถึงจุดนี้ต่อให้เราพยายามนิ่งเฉยวางท่าทางให้ปกติยังไงเราก็อดที่จะร้องไห้ไปด้วยกันกับเขาไม่ได้อยู่ดี แต่กลายเป็นว่าคนที่จะต้องออกอย่างเรากลับต้องมาคอยปลอบใจคนที่อยู่ต่อซะอย่างนั้น จากนั้นทุกคนก็ทำงานกันต่อไปพร้อมกับซับน้ำตาเป็นระยะๆ เราทยอยเก็บของหลังจากที่เสร็จจากงาน ซึ่งก็มีเพื่อนมาช่วยเก็บช่วยยกรวมถึงอาสาไปส่งถึงบ้านเป็นอย่างดี การร่ำลาในช่วงสุดท้ายเต็มไปด้วยคำอวยพรและกำลังใจมากมาย
บรรยากาศช่วงเย็นของวันนั้นคล้ายกับเวลาจบการศึกษาที่เราต้องแยกจากเพื่อนไป จะต่างก็เพียงว่ามันค่อนข้างฉุกละหุกกะทันหันไม่มีเวลาได้เตรียมตัวเตรียมใจกันมาก่อน คิดดูแล้วก็น่าใจหายที่ในวันรุ่งขึ้นเราก็จะไม่ได้พบหน้ากันเหมือนเดิมในที่ทำงานอีก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังจากนั้นทุกคนก็จะปรับตัวได้ในที่สุด
และแม้จะเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความเศร้า แต่ถึงอย่างนั้น
พวกเราก็ตั้งตารอวันที่จะได้พบปะสังสรรค์ร่วมกันอีกครั้งหลัง COVID-19
ขณะนี้ เราอยู่บ้านอย่างจริงจังด้วยเหตุที่บริษัทจ้างให้ออกตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน สิ่งที่ช่วยลดความฟุ้งซ่านคือการจัดบ้าน (ซึ่งทำให้เรารู้สึกประสาทแ-กในตอนท้าย อยากจะดีดนิ้วแบบธานอสให้ของหายวับไปในพริบตา) พบว่าของที่เก็บไว้เกินครึ่งเป็นของที่ไม่เห็นก็ไม่สำคัญอีกแล้ว เยอะจนลืมว่ามีอะไรที่ยังสำคัญอยู่ เราเลยเลือกของที่เราคิดว่าสำคัญให้อยู่ในจุดที่เรามองเห็นและหยิบมันมาใช้งานได้บ่อยๆ
หากพลิกวิกฤติการว่างงานนี้มาเป็นโอกาสในการมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ก็พบว่าไม่รู้สึกเศร้าเสียใจอย่างที่เคยคิดไว้ก่อนหน้าถ้าต้องออกจากงานที่ทำอยู่ โดยถ้าให้อยู่ต่อก็คงอยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ ได้ มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้กลับมาทบทวนว่าอะไรที่เรายังรักในการที่จะทำและหาหนทางให้กลายเป็นงานที่อยู่ผสานไปกับการใช้ชีวิต
ข้อแม้หนึ่งที่เรายังสามารถใช้ชีวิตหลังตกงานอย่างไม่ตื่นตระหนกได้ ส่วนสำคัญคือ การที่ยังมีความสามารถในการจับจ่าย (หรือเงินนั้นแหละ) และครอบครัวที่ถึงแม้จะเสียรายรับในบ้านไปหนึ่งคนก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เราคิดว่าเราโชคดี (ในสังคมที่หวังพึ่งได้แค่บุญเก่าและปาฏิหาริย์) เมื่อมองจากข่าวที่นำเสนออยู่ ไม่ว่าจะเรื่องคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ COVID-19 อย่างเรื่องที่เราพบเจอ เช่น การขึ้นรถเมล์ที่บังคับให้มีการใส่หน้ากากอนามัย แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากก็ไม่สามารถซื้อมาใส่ได้ หรือการที่ต้องขึ้นรถเบียดกันต่อให้มีมาตรการเว้นระยะห่างในที่สาธารณะ ซึ่งไม่สามารถทำได้เพราะรอบรถที่น้อยลง ทุกคนก็อยากกลับบ้านเหมือนกันหมด เราเข้าใจและเศร้าใจทุกครั้งที่คิดว่าคุณภาพชีวิตประชากรพัฒนาได้แค่นี้นับตั้งแต่เราลืมตาดูโลกมามันยังคงเป็นมาตรฐานเดิมที่ไม่เปลี่ยน (อย่างที่เห็นได้จากสภาพของรถเมล์ที่เก่าจนจะเป็นโบราณวัตถุขับเคลื่อนได้ตามท้องถนน)
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของไฟป่าทางภาคเหนือที่หน่วยงานรัฐยังจัดการได้ไม่ดีพอ เกิดเป็นกลุ่มของประชาชนที่เข้ามาช่วยจัดการ เป็นช่วงที่เกิดช่องทางการรับบริจาคเต็มไปหมดทั้งโรงพยาบาล อาสาสมัคร ดารา ฯลฯ ตามแต่ศรัทธาเหมือนดังเช่นทุกครั้งที่เกิดวิกฤติต่างๆ ในบ้านเมืองและประชาชนต้องออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
จริงอยู่ที่ยังมีคนไทยใจบุญที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ยากลำบากนั้นมีอยู่มาก เราไม่ได้มองว่าการบริจาคเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เห็นด้วย ด้วยซ้ำว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ในเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้ที่การเยียวยาจะเข้าถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนได้ยิ่งเร็วที่สุดยิ่งเป็นการดี
แต่มันก็เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดที่ควรแก้ไข ในวันที่ต้องกักตัวขาดรายได้
การสนับสนุนจากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสำคัญมากที่สุด
ที่จะช่วยให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก สามารถใช้ชีวิตรวมทั้งทำหน้าที่สนับสนุนในการช่วยลดความเสี่ยงของการกระจายเชื้อโดยการอยู่บ้านได้ เราได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากประเทศที่มีการจัดการที่มีประสิทธภาพอย่างประเทศไต้หวัน ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
ก็อดเปรียบเทียบกับบ้านเราไม่ได้ตามประสาคนขี้อิจฉา (อยากให้ผู้บริหารบ้านเรามีนิสัยนี้อยู่บ้างเหมือนกัน) นอกจากนี้เรื่องสุขภาพกายและจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เราออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยเพราะเรารู้ว่าตัวเองมีกำลังในการเข้าถึงทรัพยากรด้านสาธารณสุขแบบจำกัด(แค่โรงพยาบาลในประกันสังคม) เรายังรู้สึกเสียดายเงินถ้าต้องเอาไปจ่ายค่าตรวจเชื้อ COVID-19 ที่ทำได้ก็เพียงซื้อประกันสุขภาพไว้ และระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคลและคนในครอบครัว นี้ก็เป็นอีกเรื่องแหละที่มีคำว่า “ถ้า… ดีกว่านี้ ชีวิตเราก็จะ…”
คำถามที่ติดอยู่กับเราในวันนี้ที่ว่า กลุ่มคนที่มีหน้าที่ดูแลสนับสนุนการใช้ชีวิตประชาชนในยามยากลำบากนี้ทำอะไรกันอยู่? แล้วได้ทำหน้าที่ที่สมควรอย่างสุดความสามารถแล้วหรือยัง?
เราเชื่อว่า หากท่านมีความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจในมุมมองของบุคคล(ส่วนใหญ่)ในสังคมบ้าง จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยดึงศักยภาพและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีขึ้นได้
อันที่จริงมันเป็นเรื่องที่สำคัญมาตลอด เพียงแต่เหตุการณ์ในช่วงเวลานี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและเน้นย้ำให้มันชัดเจนขึ้น เราจึงได้แต่หวังว่าแม้ในวันที่ไม่ต้องกักตัวแล้ว การตระหนักรู้จากเหตุการณ์นี้จะยังคงอยู่ และเป็นแนวทางไปสู่การจัดการอย่างเป็นรูปธรรม(สักทีเถอะ)
สุดท้ายนี้เราหวังว่า (หากยังมี) การกักตัวในครั้งหน้า ทุกคนคงบริจาคเงินกันน้อยลง และภาครัฐให้ความสําคัญกับประชาชนมากขึ้น