ยิ้มร่า หัวเราะสุดเสียงกับคนอื่น ดูเหมือนจะไม่มีอะไรอยู่ในใจ แต่พออยู่คนเดียวแล้วกลับรู้สึกว่างเปล่า ใจจมดิ่งไปกับความเศร้า ร้องไห้ทุกคืน ทำไมกันนะ
เราใช้ชีวิตปกติ ตื่นเช้ามาออกกำลังกาย ทำอาหาร ขับรถออกไปทำงาน ยิ้มหัวเราะกับเพื่อนทุกคนที่เจอ รับผิดชอบงานได้ดีไม่มีตก ความสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนและแฟนก็ไม่เคยจืดจาง ไม่เคยมีสัญญาณของอาการซึมเศร้าอย่างการนอนไม่หลับ หมดแรงใช้ชีวิต หรืออื่นใดเลย แต่เวลาที่อยู่คนเดียวกลับรู้สึกทุกข์ใจ ว่างเปล่า เหมือนโลกทั้งถล่มลงมาทับ
เบื้องหน้าสดใส แต่ทำไมถึงร้องไห้ทุกคืน
เมื่อไม่นานมานี้ มีคำว่า High Functioning Depression เกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงคนที่ดูชีวิตจะประสบความสำเร็จและดูเหมือนมีความสุขดี แต่กลับมีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีอาการบ่งบอก ซึ่ง High Functioning Depression ไม่นับว่าเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ตาม Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM) แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปสำหรับการใช้คำนี้
รีเบคก้า เบรนเดล (Rebecca Brendel) ประธานสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า ประเด็นสำคัญคือการที่คนเราสามารถเผชิญกับการเจ็บป่วยทางจิตใจ แต่ยังใช้ชีวิตได้ปกติ โดยไม่ปรากฏสัญญาณอะไรออกมาให้ใครรู้ได้เลย แต่คำนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีแก่ผู้ฟัง เพราะการพูดว่าใครคนหนึ่งรับผิดชอบหน้าที่ในชีวิตตัวเองได้ดีทั้งที่กำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า อาจเป็นการสร้างตราบาปให้กับผู้ป่วยทางจิตได้
จาเมกา วู้ดดี้ คูเปอร์ (Jameca Woody Cooper) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ได้เสริมว่า ปกติคนทั่วไปมักจะติดภาพจำว่าคนที่มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจมักจะต้องเศร้าหมอง ไม่เป็นอันทำอะไร และมีความคิดอยากจบชีวิตตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการทางใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และกับบางคน อาการแทบจะไม่แสดงออกมาให้เห็นเลย
ยิ่งกดดันตัวเอง ยิ่งอาจมีความเสี่ยง
ไม่ว่าใครก็อาจทุกข์ทรมานอยู่กับภาวะซึมเศร้าได้ หญิงสาวพนักงานบริษัทที่ลุคดูสวยมั่นใจ พนักงานร้านอาหารที่ยิ้มแย้มกับเราเสมอ หรือแม้แต่นักร้องนักแสดงคนดังที่เราเห็นว่าพวกเขาสดใสร่าเริงตลอดเวลา เราไม่มีทางรู้ได้เลยจากลักษณะภายนอกของพวกเขา ว่าภายในใจ พวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง
จาเมกา วู้ดดี้ คูเปอร์ ยังบอกอีกว่าส่วนใหญ่แล้วเธอมักจะพบภาวะ High Functioning Depression ในคนที่เป็นเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์ คนที่พยายามทำให้คนอื่นมีความสุขอยู่เสมอ หรือคนที่อยากถูกมองว่าตัวเองเป็นคนแข็งแกร่งและพึ่งพาได้ และคนที่มีลักษณะนิสัยแบบ Type-A
ลักษณะนิสัยแบบ Type-A นั้นเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง ชอบการแข่งขัน เร่งรีบอยู่ตลอดเวลา และรักการทำงานมากกว่าสิ่งใด โดยปกติแล้วเราจะเห็นคนที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้ก้าวไปสู่ความสำเร็จก่อนใครในเรื่องหน้าที่การงาน แต่เบื้องหลังคือ Type-A มักจะมีระดับความเครียดสูงกว่าใคร โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาต้องรับเรื่องต่างๆ มาไว้ในหัวมากจนเกินจะรับไหว พวกเขาไม่ได้เอาความเครียดไปลงที่ใครเลย มีแต่จะกดดันตัวเอง และรู้สึกแย่กับตัวเองที่ไม่สามารถทำสำเร็จให้ได้ดั่งใจ
หมั่นเช็คใจตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ
ถ้า High Functioning Depression ไม่นับว่าเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ แล้วจะเป็นอะไรได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกมาบอกว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับ Persistent Depressive Disorder (PDD) หรือที่เรียกกันว่าโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ซึ่งแตกต่างกับ Major Depressive Disorder (MDD) หรือโรคซึมเศร้าตรงที่จะมีอาการและความรุนแรงน้อยกว่า แต่อาการนี้ก็อยู่กับเรามาเป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้ว
ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากให้เช็คใจตัวเองและคนรอบข้างว่าตอนนี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า อาการของโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้นมีหลากหลาย และจะมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน โดยอาจเรียงจากความรุนแรงน้อยไปมากได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
- ความอยากอาหารที่เปลี่ยนไป (อยากอาหารมากขึ้น หรือเบื่ออาหาร)
- ไม่ค่อยมีสมาธิ หรือตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้
- หงุดหงิดง่ายและอารมณ์รุนแรง
- อ่อนเพลีย ไม่อยากทำอะไร
- รู้สึกสิ้นหวัง
- รู้สึกว่างเปล่า เศร้า ดิ่ง
- รู้สึกผิดหรือกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต
- ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง
- ประสิทธิภาพในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ลดลง
- ต่อว่าตัวเอง รู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย
- มีปัญหาการนอนหลับ
สำหรับโรคซึมเศร้า อาการเหล่านี้สามารถเบาลงและลื่นไหลไปกับสถานการณ์ที่พบเจอได้ ก็เลยทำให้ภาวะ High Functioning Depression นั้นยากจะที่รู้ได้ว่าใครกำลังเผชิญหน้ากับมันอยู่จากการสังเกต ถ้าพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเริ่มมีอาการเหล่านี้ อาจต้องดูแลจิตใจกันเป็นพิเศษ และพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อรักษาให้ทุกอย่างดีขึ้น
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครกำลังเจอกับอะไรอยู่บ้าง แค่การให้กำลังใจกัน เข้าใจกัน และเช็คจิตใจกันอยู่เสมอ ก็อาจช่วยป้องกันเรื่องราวแย่ๆ ไม่ให้เกิดได้
อ้างอิงจาก