เมื่อพูดถึงชื่อวีรสตรีชาวจีนที่คนจีนและทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี คงต้องมีชื่อ ‘ฮวา มู่หลาน‘ เข้ามาในความคิดของเราอย่างแน่นอน ชื่อ ฮวา มู่หลาน อยู่ในห้วงความทรงจำของใครหลายคนมาตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าเป็นที่ประเทศจีน ก็จะรู้จักผ่านเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่ และหนังสือบทเรียน หากเป็นชาวต่างประเทศ หรืออย่างพวกเราคนไทย ก็รู้จัก ฮวา มู่หลาน ผ่านภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ยังคงตราตรึงใจมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งล่าสุดกำลังจะเป็นภาพยนตร์ ที่มี หลิวอี้เฟย ดาราสาวชั้นแนวหน้าของจีน มารับบท มู่หลาน ยิ่งทำให้กระแสของมู่หลาน ถูกพูดถึงในวงกว้างไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศจีน
ฮวา มู่หลาน มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีนหรือไม่?
ชื่อของมู่หลาน ปรากฏครั้งแรกในบทกลอนแบบร้อยกรอง ชื่อว่า ‘ลำนำมู่หลาน’ ซึ่งถูกเขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย ซึ่งเป็นยุคประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหนือใต้ เป็นยุคที่จีนมีความวุ่นวายและทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันมากที่สุดยุคหนึ่ง
บทกลอนลำนำมู่หลาน มีเนื้อหาพรรณนา ชีวิตของ มู่หลาน หญิงสาวที่ต้องปลอมตัวไปเป็นทหารเพื่อรบแทนบิดา จากนั้นทำความดีความชอบในสงครามเพื่อบ้านเมืองอย่างสูง จนได้รับพระราชทานตำแหน่งและเงินทองจากฮ่องเต้ แต่หญิงผู้นี้ไม่รับรางวัลใดๆ ขอเพียงกลับไปอยู่ที่บ้านใช้ชีวิตกับครอบครัวดังเดิม
ต้นฉบับลำนำมู่หลานที่เขียนสมัยเป่ยเว่ยเข้าใจว่าอันตรธานหายไปตามกาลเวลา และมีการเรียบเรียงขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่ มู่หลาน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น ก็มีการนำมาดัดแปลงเป็นบทขับร้อง บทงิ้ว ในสมัยต่างๆ รวมถึงราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน
น่าสังเกตว่าในบทกลอนลำนำมู่หลาน ทั้ง 31 วรรคที่คล้องจองกัน ไม่ได้เอ่ย ถึง “แซ่ฮวา”ของมู่หลาน ซึ่งจากการค้นข้อมูลประวัติศาสตร์จีน พบว่า มู่หลาน ถูกบันทึกในพงศาวดารของจีนหลายยุคหลายราชวงศ์ โดยปรากฏแซ่ต่างกัน อาทิ แซ่จู แซ่เว่ย แซ่เหริน และแซ่ฮวา แต่ปัจจุบันแซ่ฮวาได้รับการยอมรับมากที่สุด เนื่องจากสอดคล้องกับ ชื่อ มู่หลาน ที่แปลว่า กล้วยไม้ป่า (ฮวา แปลว่า ดอกไม้) และสื่อถึงตัวตนความเป็นผู้หญิงของมู่หลาน ช่วยเพิ่มอรรถรสและสุนทรีย์ในการรับชมได้ดีกว่าแซ่อื่น
แต่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์จีนต่างสรุปตรงกันว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่ระบุได้ว่า มู่หลาน เป็นบุคคลจริง จึงยกให้ มู่หลาน เป็น ‘ตำนาน’ มากกว่าประวัติศาสตร์บุคคลที่เกิดขึ้นจริง
คติความเชื่อขงจื๊อ (หรือที่จีนกลางออกเสียง ขงจื่อ) ผ่านภาพยนตร์มู่หลาน
แม้ว่าแอนิเมชั่น มู่หลาน ปีค.ศ. 1998 จะโด่งดังจนติดอันดับหนังขายดี แต่หารู้ไม่ว่าการ์ตูนเรื่องนี้กลับแป้กในจีน และเกิดเป็นชนวนดราม่าเล็กๆ ขึ้น สืบเนื่องจากแอนิเมชั่น มู่หลาน ของค่ายดิสนีย์ สร้างตัวตนของมู่หลาน โดยใส่คตินิยมเฟมินิสม์ หรือสิทธิสตรี มากจนคนจีนหลายคนมองว่า “มู่หลานและผู้หญิงจีนไม่ได้เป็นเช่นนั้น” เช่น มีการตีความในหนังว่า มู่หลานไม่พอในจารีตประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม จนถึงการมีใจคอเด็ดเดี่ยว อยากทำอะไรก็ทำ ทำให้ขัดกับมุมมองของคนจีนที่มองว่า ผู้หญิงจีนไม่มีทางทำเช่นนี้ รวมถึงการโผเข้ากอดฮ่องเต้ หากมองตามประวัติศาสตร์จีนแล้วก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะทำความดีความชอบมากเพียงใดก็ตาม
หากไปตามอ่านในลำนำมู่หลาน เราจะพบว่า ผู้เขียนบรรยายถึงสิ่งที่สตรีจีนพึงกระทำตั้งแต่วรรคแรก “唧唧复唧唧,木兰当户织 เมื่อมู่หลานกำลังทอผ้า”
พอมู่หลานรบกลับมาที่บ้าน ลำนำมู่หลานยังบอกบทบาทของ พี่สาวและน้องชาย ได้อย่างชัดเจนว่า “พี่สาวจัดแจงแต่งหน้าแต่งตัว ส่วนน้องชายออกไปฆ่าสัตว์มาเป็นอาหารจัดเลี้ยง”
บทสุดท้ายของลำนำ ยังบรรยายถึง กระต่ายป่าเพศผู้และเพศเมีย ที่มีท่าทางแตกต่างกัน แต่ถ้าหากวิ่งอยู่บนพื้น มิอาจแยกได้เลยว่าเป็นเพศใด ซึ่งวรรคนี้มีนัยยะสื่อถึง การแยกแยะถึงบริบทหน้าที่อย่างชัดเจนของ ผู้ชายและผู้หญิงในจีน ตามหลักคติความเชื่อขงจื๊อ
เมื่อพูดถึง หลักคติความเชื่อขงจื๊อ หนังมู่หลานในเวอร์ชั่นทั้งแอนิเมชั่นและคนแสดง ก็มีการสอดแทรกหลักคิดของขงจื๊ออยู่แทบทุกอณูของหนัง ยกตัวอย่างเช่น ปรัชญาทางสังคม : ความสัมพันธ์ 5 ประการ ได้แก่
- ผู้ปกครอง กับ ผู้อยู่ใต้ปกครอง:มุ่งเน้นความสัมพันธ์แบบผู้ปกครองต้องเป็นผู้ปกครองที่ดี ให้เกียรติผู้ใต้ปกครอง ส่วนผู้ใต้ปกครองก็ให้เกียรติผู้ปกครอง และจงรักภักดี เช่น ฮ่องเต้ กับ ขุนนาง, แม่ทัพ กับ ทหาร
- บิดามารดา กับ บุตรธิดา:บิดามารดาต้องมีความเมตตาต่อบุตรธิดา ส่วนบุตรธิดาต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา เห็นได้จาก มู่หลาน มีความกตัญญู ออกรบแทนบิดา
- สามี กับ ภรรยา:สามีต้องมีคุณธรรม ส่วนภรรยาผู้เป็นผู้หญิงต้องเชื่อฟังสามี เราได้เห็นข้อนี้ในหลายฉากของหนังมู่หลานทุกเวอร์ชั่น
- พี่ กับ น้อง :พี่ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับความเป็นพี่ ส่วนน้อง ต้องเคารพพี่ ในเวอร์ชั่นแอนิเมชั่น แม้มู่หลานจะไม่ได้มีน้องที่เป็นคนจริงๆ แต่เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง มู่หลาน กับ หมาน้อย ซึ่งเปรียบเสมือนน้องของมู่หลาน
- เพื่อนกับเพื่อน: ผู้ที่เป็นเพื่อนกันต้องไว้วางใจกันได้ สอดคล้องกับคติ ความซื่อสัตย์ ในคำสอนของขงจื๊อ เราได้เห็นถึงความเป็นเพื่อนแท้ ทั้งในสนามรบและนอกสนามรบ อย่างเวอร์ชั่นคนแสดง เมื่อปีค.ศ. 2009 เราได้เห็นความซื่อสัตย์ของเพื่อนสมัยเด็กของมู่หลานที่ร่วมรบด้วยกันตั้งแต่ต้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เวอร์ชั่นแอนิเมชั่นที่ดิสนีย์สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1998 โด่งดังไปทั่วโลกแต่กลับไปไม่สวยที่จีน รายได้ต่ำกว่าเป้า และคนจีนยังเข้าขั้น ยี้ พร้อมบอกว่า นี่ไม่ใช่มู่หลานจีน แต่เป็นมู่หลานอเมริกัน เพราะท่าทางและบริบทของมู่หลานที่ถูกถ่ายทอด แตกต่างจากบริบทจริงๆ ในสังคมจีน ทำให้คนจีนจับตามอง มู่หลาน เวอร์ชั่น หลิวอี้เฟย ที่จะออกฉายในปีค.ศ. 2020 ผ่านค่ายเดิมอย่าง ‘ดิสนีย์’ ว่าจะทำออกมาได้ดีกว่าแอนิเมชั่นหรือไม่
ผลปรากฏว่า ทีเซอร์แรกที่ปล่อยออกมา
คนจีนจำนวนมากบนโลกออนไลน์และ
โซเชียลมีเดียจีนอย่าง Weibo ค่อนข้างพอใจ
ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเชิงบวกและรอดูเมื่อเข้าฉาย ซึ่งผู้เขียนได้ดูทีเซอร์แล้วเช่นกัน และมีความเห็นว่า ดิสนีย์ตีความมู่หลานออกมาในบริบทของสังคมจีนได้ดีขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับการตัดสินใจของครอบครัวในเรื่องของการคลุมถุงชน (โดยให้มู่หลานเก็บความรู้สึกไว้ภายใน)โดยถูกสอนว่าเป็นการทำเพื่อวงศ์ตระกูลในฐานะลูกผู้หญิงที่สืบสกุลไม่ได้ แต่สามารถแต่งออกไปยังสกุลที่มีฐานะดี—ครอบครัวมองว่าคู่ควรได้ หรือการสอนความเป็นกุลสตรีจีน ที่เน้นย้ำเรื่อง ความสงบเสงี่ยม อ่อนช้อย สำรวม ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชั่นแอนิเมชั่นอย่างสิ้นเชิง
จากตำนานวีรสตรี ฮวา มู่หลาน ปลอมเป็นผู้ชาย รบแทนพ่อ สู่เรื่องราวโศกนาฏกรรมในชีวิตของหญิงสาวที่ถูกบังคับ ‘ให้เป็นผู้ชาย’ เพราะเกิดมาเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว แต่พ่อแม่ต้องการลูกชาย ตามคติความเชื่อของคนจีนที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังทำให้เห็นความเชื่อที่ว่า “ลูกชายดีกว่าลูกสาว” ยังคงฝังรากลึกในสังคมจีน
แต่จากตำนานมู่หลาน คงเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่า ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถปลอมเป็นผู้ชายนานนับสิบปีได้อย่างไรโดยที่ไม่มีใครจับได้ ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยถึงประเด็นนี้ ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้ศึกษาประวัติศาสตร์และตำนานจีน จะพบว่า ไม่ใช่แค่ ฮวา มู่หลาน ที่ถูกอ้างถึงในฐานะสตรีที่ปลอมเป็นบุรุษโดยไม่มีใครล่วงรู้
อย่างในบทความของ Nie Shenyou นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์จีน ตีพิมพ์บทความ ‘The Tragedy of a Modern Hua Mulan’ ในวารสาร Chinese Education & Society เมื่อปีค.ศ. 1993 เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในเขตชนบทของมณฑลหูหนาน ประเทศจีน เมื่อครอบครัวหนึ่งมีความยากลำบากในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพราะทั้งครอบครัว มีเพียง นายหลิว กับภรรยา จึงไม่สามารถรักษาที่ทำกินที่ได้รับตกทอดจากบรรพบุรุษได้ เนื่องจากโดนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านละแวกนั้น มาบังคับเอาที่ไป โดยให้เหตุผลว่า “นายหลิวกับภรรยาแต่งงานกันมานานมากแล้ว แต่ไม่มีลูกชายสักที ดังนั้นคงจะไม่มีลูกชายเป็นแน่ จะเอาที่ดินจำนวนมากไปทำไมกัน แบ่งให้คนอื่นบ้างก็ดีแล้ว”
ในสังคมจีน โดยเฉพาะสังคมชนบทที่ส่วนใหญ่จะอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ และมีความใกล้ชิดกันมากกว่าสังคมเมือง การไม่มีลูกชาย ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาการขาดผู้สืบทอดสกุลหรือช่วยในการทำมาหากินของครอบครัว แต่ยังเป็นปัญหาทางจิตใจ คือ เป็นเรื่องน่าอับอาย
ซึ่งความเชื่อเรื่องลูกชายมีความสำคัญมากกว่าลูกสาว
ถูกฝังรากลึกในความเชื่อของคนจีนมาตั้งแต่สมัยอดีต
โดยมีพื้นฐานจากคติความเชื่อขงจื๊อ
ความจริงแล้ว หลังจากแต่งงานได้สามปี ภรรยาของนายหลิว ได้คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย แต่มีอายุได้ไม่ถึง 2 ขวบก็เสียชีวิต ซึ่งชินแสประจำหมู่บ้านได้ทำนายทายทักว่า ฮวงจุ้ยที่ตั้งบ้านของเขาเป็นฮวงจุ้ยที่ไม่ดี ต้องย้ายบ้าน หลังจากย้ายบ้านตามคำแนะนำของชินแสคนดังกล่าว ภรรยาก็ตั้งท้องและคลอดลูกชายมาอีกครั้ง แต่คราวนี้อายุไม่ถึงหนึ่งขวบก็เสียชีวิตเช่นกัน ชินแสมาทักอีกว่า ที่ตั้งฮวงจุ้ยของบ้านใหม่คราวนี้แย่หนักกว่าเดิม เพราะไม่ใช่แค่เด็กเกิดใหม่จะเสียชีวิต ผู้ใหญ่ในบ้านจะอายุไม่ยืนด้วย
ครอบครัวนายหลิวจึงย้ายบ้านเป็นคำรบที่ 3 คราวนี้ภรรยาของเขาตั้งท้องและให้กำเนิด ‘ลูกสาว’ ซึ่งการคลอดเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงต้องไปหาหมอต่างถิ่นต่างหมู่บ้าน โดยหมอแนะนำว่า ภรรยาแซ่หลิวผู้นี้ ไม่สามารถตั้งท้องได้อีก มิเช่นนั้นจะต้องเสียชีวิต ทำให้ฝันที่จะมีลูกชายต่อจากลูกสาวคนนี้ ต้องมลายไปโดยปริยาย
นายหลิวไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เขาได้ตกลงกับภรรยาว่า เขาจะหลอกทุกคนในหมู่บ้านว่า ลูกสาวคนนี้คือ ลูกชาย และจะเลี้ยงให้เป็นผู้ชายตั้งแต่แรกเกิดจนเติบใหญ่ ความลับนี้จะต้องไม่มีใครล่วงรู้ และก็เป็นเช่นนั้น นายหลิวเลี้ยงลูกชายกำมะลอ โดยตั้งชื่อว่า หู่เซิง (แปลว่า เกิดปีเสือ) เป็นชื่อแบบผู้ชาย ไม่ยอมส่งไปโรงเรียน เพราะผู้คนจะได้ไม่รู้เพศที่แท้จริง โดยเขาส่งลูกให้ไปทำงานหนักเยี่ยงผู้ชายอกสามศอกตั้งแต่วัยสิบกว่าปี รวมถึงถูกกดขี่จากผู้เป็นพ่อ เพราะในใจเองก็ไม่ได้อยากให้เธอเกิดมา เป็นความอัดอั้นตั้นใจจนกลายเป็นปัญหาทางจิตใจ—ซึมเศร้าของลูกสาว ที่รู้อยู่เต็มอกว่าตนเองเกิดมาด้วยเพศสภาพแบบใด
เมื่ออายุได้ 25 ปี หลิว หู่เซิง หญิงสาวในร่างผู้ชาย พยายามทำทุกวิถีทางรวมถึงฆ่าตัวตายเพื่อให้หลุดพ้นจากวิบากที่เจอตั้งแต่เกิด แต่มีผู้ช่วยเหลือเธอไว้ได้ เรื่องทั้งหมดจึงถูกเปิดเผยว่า เธอเป็นผู้หญิง ผลสุดท้ายพ่อแม่ของเธอก็ยอมให้เธอมีชีวิตแบบปกติตามเพศที่ถือกำเนิดมา ในปีค.ศ.1990 รวมระยะเวลา 25 ปี แห่งการปลอมแปลงเป็นผู้ชายตั้งแต่กำเนิดโดยใจมิได้ยินยอม
หลังจากที่ หลิว หู่เซิง ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงได้ตามปกติ ก็ได้พบรักกับชายหนุ่มต่างถิ่น ที่ซาบซึ้งในเรื่องราวของเธอ ทว่าโลกของเธอสวยงามได้เพียงชั่วพริบตาเดียว แม่ของสามีได้มาบังคับให้สามีกลับไป เพราะ หู่เซิง ไม่ใช่หญิงสาวที่แม่สามีเลือก นี่ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมจีน ไม่ว่ากาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปนานแค่ไหน จากยุคของมู่หลาน สู่ยุคปัจจุบัน แต่การเลือกคู่ครองยังคงมีคนในครอบครัวมาเกี่ยวข้อง (อย่างการประกาศหาคู่ให้ลูกสาวลูกชาย ของพ่อแม่ ตามสวนสาธารณะในจีน)
ต้องยอมรับว่า มู่หลาน เป็นทั้ง ตำนานวีรสตรี ที่ปลุกความรักชาติ—ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของคนจีน ในทุกยุคทุกสมัย และอีกแง่มุมหนึ่ง ก็เป็นต้นแบบของ ‘พลังสตรี’ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบทบาทของผู้หญิงในยุคปัจจุบันที่ควรจะเป็น ดังที่เราได้เห็นในการตีความของแอนิเมชั่นค่ายดิสนีย์ที่บอกผ่านความเป็นเฟมินิสต์ผ่านตัวละคร มู่หลาน ที่ตอนนี้เป็นยุคผู้หญิงจีนเริ่มมีการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม และได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น การได้เห็นค่านิยมที่ ผู้ชายจะได้รับการยอมรับมากกว่า ถึงขั้นหากลูกเกิดมาเป็นหญิงก็ไม่สนใจใยดี ถูกจับแต่งเป็นชาย รวมถึงการสะท้อนบริบททางสังคมจีนผ่านเรื่องราว มู่หลาน ก็อาจทำให้เราได้เข้าใจสังคมจีนยิ่งขึ้นได้เหมือนกัน