อาจเพราะความที่สาวๆ หลายคนรู้สึกห่วงใยว่าผมจะเป็นภูมิแพ้กรุงเทพจากฝุ่นพิษ PM 2.5 พวกเธอจึงกำชับให้ผมสวมหน้ากากเพื่อป้องกัน ฉะนั้น ขณะกำลังเขียนบทความนี้ ผมเลยสวมหน้ากากอินทรีทองแบบมิตร ชัยบัญชา ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่าช่วยได้บ้างรึเปล่า (ฮ่า ฮ่า)
ส่วนสิ่งที่ผมจะบอกเล่าสู่คุณผู้อ่านอีกหลายบรรทัดต่อไป หาใช่เรื่องราวความอันตรายของฝุ่นพิษอะไรหรอกครับ แต่ใคร่เปิดเผยชีวิตชีวาของชายผู้หลงรักฝุ่นและรู้สึกฟินเสียเหลือเกินกับการสูดดมฝุ่นเนืองๆ
ฌูลส์ มิเชอเลต์ (Jules Michelet) คือนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ผมปรารถนาผายมือแนะนำให้ทุกท่านได้ทำความรู้จัก เขาเกิดในกรุงปารีสเมื่อปีคริสต์ศักราช 1798 ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (ซึ่งตรงกับปีคริสต์ศักราช 1789) พ่อของเขาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างพิมพ์ มิเชอเลต์จึงมีโอกาสคลุกคลีกับหนังสือและสัมผัสกลิ่นหมึกพิมพ์มาตั้งแต่เด็กๆ
ในปีคริสต์ศักราช 1808 พ่อของมิเชอเลต์ถูกจับกุมไปขังคุกโดยมูลเหตุทางการเมือง นั่นยิ่งทำให้เขาทบทวีความเกลียดชังต่อจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 หรือนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) และสถาบันทางศาสนา
แรงพากเพียรอุตสาหะชักนำมิเชอเลต์ให้สำเร็จการศึกษาจาก Lycée Charlemagne พร้อมเลือกเข้าเรียนต่อทางด้านประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ควรกล่าวอีกว่า ห้วงเวลานั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของการศึกษาและการเขียนงานประวัติศาสตร์ รวมถึงมีการปรากฏนักประวัติศาสตร์อาชีพ ซึ่งทำหน้าที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ มิเชอเลต์ก็เช่นกัน เขาดำรงตำแหน่งอาจารย์ที่ Collège Sainte-Barbe และได้เขียนตำราเรียนอย่างโดดเด่นจนเป็นที่เลื่องลือ กลายเป็นคู่มือสำหรับอาจารย์และนักศึกษารุ่นหลังๆ สืบมา
การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์บูร์บองในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) อันตรงกับปีคริสต์ศักราช 1830 ถือหัวเลี้ยวสำคัญของมิเชอเลต์ ความที่เขาชัดเจนต่ออุดมการณ์เคียงข้างฝ่ายสาธารณรัฐนิยม จึงทำให้เริ่มค้นคว้าเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ประกอบกับบรรยากาศช่วงเวลานั้นอบอวลกลิ่นอายเสรีภาพทางวิชาการมากขึ้น นักประวัติศาสตร์แสดงบทบาทกันเต็มที่ บางคนมุ่งเน้นการเขียนหนังสือ ขณะบางคนก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง
มิเชอเลต์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (Archives Nationales) พอดิบพอดี เขาอาศัยข้อมูลเอกสารต่างๆ ที่นั่นเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสชิ้นสำคัญคือ Histoire de France ออกมาจำนวนมากถึง 19 เล่ม ตีพิมพ์ช่วงปีคริสต์ศักราช 1833-1867 ในระหว่างเวลาเดียวกัน ก็ยังเขียนประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสอย่าง Histoire de la Révolution Française อีกหลายเล่ม
มิเชอเลต์เป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ให้ความสำคัญต่อการค้นคว้าเอกสารชั้นต้น (primary sources) เก่าๆ ในหอจดหมายเหตุ หากนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกับเขามุ่งเน้นวิธีศึกษาแบบการวิเคราะห์ หรือการเล่าเรื่องแล้ว มิเชอเลต์กลับมองว่าการศึกษาประวัติศาสตร์คือการฟื้นคืนชีพ (resurrection) การค้นคว้าเอกสารในหอจดหมายเหตุประหนึ่งการเดินเล่นในสุสาน โดยปรารถนาจะปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพ ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่เขียนโดยเขาจึงเปี่ยมล้นจิตวิญญาณข้ามกาลเวลามาจากวันวานแห่งอดีต มิหนำซ้ำ ตอนนั้นผู้นำการปฏิวัติได้ตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ทางการเมืองของเอกสารชั้นต้นเก่าๆ จึงพยายามจัดการระบบดูแลรักษาเอกสารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นักประวัติศาสตร์เลยใช้เอกสารชั้นต้นในงานของตนกันแพร่หลาย
ความลุ่มหลงต่อการศึกษาเอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุของมิเชอเลต์ เรียกได้ว่าเป็นอารมณ์โรแมนติกถึงขั้น ‘ฟิน’ เขามองเอกสารชั้นต้นไม่ใช่เพียงแค่กระดาษเท่านั้น หากเป็นชีวิตชีวาของบุคคล ของถิ่นฐาน และของชนชาติ การเข้าถึงหลักฐานยังประหนึ่งการเข้าถึงจิตวิญญาณ เข้าถึงจิตสำนึก
ก็เพราะวิธีศึกษาประวัติศาสตร์อย่างออกอรรถรสอารมณ์นี่แหละ ฌูลส์ มิเชอเลต์จึงมิผิดแผกไปจากผู้เขียนวรรณกรรมชิ้นเอกอุเยี่ยง เหยื่ออธรรม (Les Miserables)
จึงสมญานามมิเชอเลต์ — วิกเตอร์ ฮูโก้แห่งประวัติศาสตร์
จะปฏิเสธได้อย่างไรว่า เอกสารชั้นต้นเก่าๆ ในหอจดหมายเหตุปราศจากฝุ่นเคลือบเกาะแนบแน่นอยู่ไม่น้อย นักประวัติศาสตร์ผู้หลงรักการค้นคว้าทั้งหลายล้วนต้องเอาปอด เอาจมูกไปเสี่ยงแลกข้อมูลมาทั้งนั้นแหละ มีมากรายทีเดียวที่เผชิญปัญหาโรคทางระบบหายใจจากการคลุกคลีกับหลักฐานเป็นเวลายาวนาน
ผมเองมีประสบการณ์ตรงเหมือนกันในฐานะคนชอบไปใช้เอกสารชั้นต้นเก่าๆ ในหอจดหมายเหตุบ่อยๆ แต่ก็ยอมรับว่าสมาทานความโรแมนติกไม่ผิดแผกมิเชอเลต์ นั่นคือเป็นพวกตกหลุมรักฝุ่นบนเอกสารเก่าๆ และยินดีเสี่ยง เพื่อให้ได้ข้อมูลมาบรรณาการสายตาคุณผู้อ่าน
“I breathed in their dust.” มิเชอเลต์กล่าวไว้เช่นนี้
อันที่จริง ไม่เพียงแค่นักประวัติศาสตร์หรอก ที่มีอาการ ‘ฟิน’ กับฝุ่นหนังสือ คนทำงานวรรณกรรม หรือคนทำงานกับหนังสือหลายต่อหลายคนก็นิยมสูดดมฝุ่นจนเกิดแรงดาลใจขยับปากกาขีดเขียนถ้อยคำพรั่งพรูออกมา
ช่วงนี้เห็นใครในโลกออนไลน์ลงภาพตนเองเปรียบเทียบกันระหว่างปีคริสต์ศักราช 2009 กับคริสต์ศักราช 2019 ทำให้ผมหวนระลึกขึ้นบ้างว่า ในปีคริสต์ศักราช 2009 ผมเคยอ่านบทกวีชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับฝุ่นและหนังสือ แล้ว ‘ฟิน’ ในอารมณ์คนหนุ่ม
บทกวีชื่อ ‘ฝุ่นบนชั้นหนังสือ’ โดยอังคาร จันทาทิพย์ ซึ่งขึ้นต้นว่า
‘ชีวิตคือความอ้างว้างที่แสนอุ่น’
ในม่านฝุ่นบนปกและสันชั้นหนังสือ
วันเวลาแสนนานเหล่านั้นคือ
ความหลงลืมที่กระพือเข้าปกคลุม
และเนื้อกลอนที่เขมือบหัวใจผมไปเสียเลย (กินใจ) ก็คือ
“ตระหนักต่อหลายข้อสรุปบุบสลาย
วันเวลาที่สูญหายยังคงอยู่
ยังทบซ้อนบนชั้นหนังสือหากรื้อดู
แต่ม่านฝุ่นอาจพรูลงพร่างพื้น!
เก่าเก็บเช่นความเชื่อเราเริ่มเก่าแก่
ตระหนกตระหนักเพียงแต่มิอาจตื่น
คลุมเครือกว่าแจ่มชัดสิ่งหยัดยืน
เช่นธุลีลอบกลืนห่มคืนวัน”
เมื่อการมี ‘ฝุ่น’ คือสัญลักษณ์บางอย่างที่ชวนให้ถวิลหา บางครั้งเราก็อาจอดมิได้จะปลื้มเปรมในการสูดดมอดีตมิใช่หรือ และทุกวันนี้ ผมก็ยังคงสัมผัสอยู่กับฝุ่นบนชั้นหนังสือเป็นนิจศีล
ไหนๆ จะขออนุญาตจบบทความอีกไม่ช้า งั้นขอเล่าเรื่องประวัติศาสตร์มลภาวะของกรุงเทพในอดีตทิ้งท้ายสักหน่อย กล่าวคือปัญหาที่ชาวพระนครยุคก่อนรู้สึกไม่อยากสูดดม ไม่สบายจมูกนั้น ถ้ามิใช่เรื่องกลิ่นเหม็น ก็เป็นเรื่องฝุ่นเรื่องควัน กรณีหนึ่งซึ่งพบบ่อยๆ ในเอกสารเก่าๆ ได้แก่ มลภาวะที่เป็นเขม่าควันจากการเผาศพแล้วลอยโชยมาระคายจมูกชาวกรุง ต้องไม่ลืมว่ายุคนั้นการเผาศพยังเผากันกลางแจ้งอยู่ กระทรวงนครบาลพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการต้องขอใบอนุญาตเสียก่อนจะเผาศพ
ส่วนเรื่องฝุ่นละออง ดูเหมือนสมัยก่อนอาจไม่ค่อยสร้างปัญหามากเท่าไหร่ แต่การใช้ ‘ฝุ่น’ ไปเป็นสัญลักษณ์วิพากษ์วิจารณ์สังคมผ่านหน้าหนังสือพิมพ์นี่สิมีแยะเชียว
เอาเป็นว่า ขอให้พวกเราทุกคนผ่านพ้นมลภาวะฝุ่นพิษไปได้อย่างราบรื่นก็แล้วกันนะครับ ผมเองขอตัวไปสวมหน้ากากอินทรีทองสูดดมเอกสารชั้นต้นเก่าๆ เพื่อหาเรื่องราวสนุกๆ มาเล่าอีกในคราวหลัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2543
- วนิดา ทัทเทิล. ประวัติศาสตร์นิพนธ์โลกตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555
- วิศรุต พึ่งสุนทร. ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตกก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556
- อังคาร จันทาทิพย์. ‘ฝุ่นบนชั้นหนังสือ’ ใน คนรักของความเศร้า. กรุงเทพฯ : ไชน์ พับลิชชิ่ง เฮ้าส์, 2550
- Steedman, Carolyn. ‘Something She Called a Fever: Michelet, Derrida, and Dust’ in The American Historical Review, Vol. 106, No. 4 (Oct., 2001), pp. 1159-1180