ก่อนหน้านี้เราพูดถึงแมวส้มกันไปแล้ว คราวนี้ถึงคิวของเจ้าหมาส้ม (หรือหมาแดง) หนึ่งในสุนัขสายพันธุ์ยอดฮิต และเป็นหนึ่งในเจ้าหมาที่ขึ้นชื่อเรื่องความน่ารัก ขี้เล่น และเป็นมิตร ซึ่งก็มีเจ้าจุ๊มเหม่งที่แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพครัวเรือนอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นตัวแทนของความรักความอบอุ่นของครอบครัวสมัยใหม่
นอกจากความดังของเจ้าจุ๊มเหม่ง หรือสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever) แล้ว เมื่อราวกลางเดือนกรกฏาคมในปี 2023 เหล่าชมรมคนรักหมาส้มก็อาจจะได้อ่านข่าวน่าตื่นเต้น ว่าพวกมันจำนวนหลักร้อยตัวไปรวมตัวกันในพื้นที่คฤหาสน์โบราณหลังหนึ่ง (ที่เหลือแต่โครงสร้าง) โดยการรวมตัวของฝูงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ระดับนานาชาตินี้ ถือเป็นการรวมตัวเพื่อเป็นเกียรติและเฉลิมฉลองให้กับบ้านเกิดบรรพชนของพวกมัน ซึ่งก็คือพื้นที่คฤหาสน์ที่ชื่อว่า Guisachan House ในสกอตแลนด์ สถานที่ที่เป็นจุดกำเนิดของหมาสีส้มทั่วโลก และเป็นสถานที่ที่พวกมันถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นเมื่อ 155 ปีก่อน
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองย้อนหลังให้บรรพชนของเหล่าจุ๊มเหม่งและเหล่าหมาส้ม หนึ่งในสุนัขสายพันธุ์ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบที่สุดของครัวเรือน The MATTER ชวนย้อนกลับไปช่วงปี 1860 ในดินแดนแห่งเทือกเขาของสกอตแลนด์ในช่วงกลางสมัยวิคตอเรียน เพื่อพาไปดูเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่มาของเจ้าหมาส้ม การเพาะพันธุ์สุนัขขนสีเหลืองที่ผิดแผกไปจากความนิยม การพัฒนาสายพันธุ์สุนัขอันเป็นส่วนหนึ่งจากงานอดิเรกของผู้ดีมีอันจะกินในโลกตะวันตก และวิวัฒนาการจากสุนัขขนสีเหลืองที่ไม่มีใครต้องการ สู่ต้นแบบของเจ้าหมาสุดที่รักของครอบครัวสมัยใหม่ใน 100 ปีให้หลัง
ต้นตระกูลสุนัขขนสีเหลืองที่ไม่มีคนเอา
ตำนานและประวัติศาสตร์ของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์คล้ายกับเรื่องอื่นๆ คือเป็นการสันนิษฐานและอ้างอิงหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับการเชื่อถืออย่างแพร่หลาย โดยชี้กลับไปยังคฤหาสน์ Giusachan ซึ่งถูกซื้อโดยดัดลีย์ คูทส์ มาร์จอรีแบงกส์ (Dudley Coutts Marjoribanks) ลูกหลานนายธนาคารและประกอบธุรกิจอื่นๆ จนมั่งคั่ง และต่อมาได้รับฐานันดรเป็นบารอนทวีดเมาธ์ (1st Baron Tweedmouth)
หากลองนึกภาพชีวิตในยุควิคตอเรียน อันที่จริงดัดลีย์นับเป็นชนชั้นผู้มีอันจะกิน เพราะประสบความสำเร็จและร่ำรวย โดยทั่วไปผู้มีอันจะกินในยุโรปมักใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนด้วยธุรกิจการค้า รวมถึงการมีตำแหน่งในสภาล่าง (House of Common) และยามว่างก็จะใช้เวลาในพื้นที่ห่างไกลเพื่อล่าสัตว์หรือพักผ่อน ซึ่งท้ายที่สุดในปี 1845 ครอบครัวของดัดลีย์ก็ได้เข้าครอบครองคฤหาสน์ Giusachan ขนาด 15 ห้องนอนอันรายล้อมไปด้วยป่าที่อุดมไปด้วยฝูงกวาง
การเลี้ยงและการพัฒนาสายพันธุ์สุนัข นับเป็นกิจกรรมทั่วไปของเหล่าผู้มีอันจะกิน แน่นอนว่าบ้านไร่กลางขุนเขาจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเลี้ยงสุนัขไว้ดูแล ที่สำคัญคือการเลี้ยงในช่วงยุควิคตอเรียนนี้ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้สุนัขที่เหมาะสมกับความต้องการในขณะนั้น ซึ่งหมายถึงการเพาะสุนัขที่มีคุณสมบัติในการล่า เพื่อใช้ล่าสัตว์และใช้ในเกมกีฬา เช่น การล่าไก่ฟ้า การล่านกกระทา ไปจนถึงสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างกวาง
แม้ว่าเราจะยึดตามประวัติศาสตร์ว่า คฤหาสน์ Giusachan เป็นสถานที่กำเนิดขึ้นของหมาส้ม แต่ที่มาจริงๆ ของเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ตัวแรกยังมีอีกหลายตำนาน โดยตำนานแรกเชื่อว่า ดัดลีย์ไปได้สุนัขขนสีเหลืองมาจากคณะละครสัตว์ร่อนเร่ของชาวรัสเซียที่ตระเวนแสดงอยู่ แต่ก็มีอีกเรื่องเล่าหนึ่งที่ถูกชำแหละภายหลัง คือมาจากบันทึกส่วนตัวของครอบครัวท่านลอร์ดในปี 1865 ว่าไปได้สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์สีเหลืองชื่อนูส์ (Nous) มาจากช่างทำรองเท้าคนหนึ่งในเมืองไบรตัน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เจ้านูส์เป็นสุนัขขนสีเหลือง ซึ่งผิดแผกไปจากพี่น้องที่ล้วนมีขนสีดำสนิท ในยุคนั้นมีความนิยมหนึ่งในการเลี้ยงสุนัขเพื่อล่าสัตว์ โดยเหล่าผู้มีอันจะกินมักนิยมเลี้ยงสุนัขที่มีขนสีดำ เพราะเชื่อว่าเป็นนักล่าที่เก่งกาจกว่าสุนัขสีอื่นๆ ในการเพาะพันธุ์สุนัขจึงมีความเป็นไปได้ว่า สุนัขที่มีขนสีอื่นมักจะไม่ได้รับการดูแล อาจจะถูกทิ้ง หรือไม่มีโอกาสรอดชีวิต เห็นได้จากการที่ดัดลีย์ไปได้ลูกสุนัขขนสีเหลืองมา ก็อาจเป็นไปได้ว่าช่างทำรองเท้ารับเจ้าลูกหมาที่ถูกทิ้งขว้างมาจากบ้านของผู้ดีหรือฟาร์มสักแห่งหนึ่ง
แม้เจ้านูส์จะเป็นสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีสีผิดแผกจากตัวอื่นๆ แต่ก็ได้เข้ามาอยู่และเติบโตในคฤหาสน์ในสกอตแลนด์ ท่ามกลางตัวอื่นๆ ของสายพันธุ์นี้ที่ส่วนใหญ่ในขณะนั้นมักจะมีสีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลอมแดง และถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการล่า โดยมีเป้าหมายทั้งบนบกและในน้ำ ต่อมาผู้ซึ่งสนใจการพัฒนาสายพันธุ์สุนัขอย่างดัดลีย์ จึงได้พัฒนาพวกมันให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของสกอตแลนด์ รวมถึงการเป็นนักล่าที่เก่งกาจทั้งบนบกและในน้ำ
จุดนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ทั้งหลาย เพราะดัดลีย์ได้นำเจ้านูส์ไปผสมพันธุ์กับเจ้าเบลล์ สุนัขน้ำตาลอมแดงสายพันธุ์ Tweed Water Spaniel ที่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว ต่อมาในปี 1868 พวกมันจึงได้ให้กำเนิดลูกสุนัขคอกแรกที่ถือว่าเป็นต้นฉบับของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์จำนวน 3 ตัว ชื่อคาวสลิป (Cowslip), ครอคัส (Crocus) และพริมโรส (Primrose) โดยลูกสุนัขได้สีเหลืองทอง มาจากสีที่ผสมกันระหว่างพ่อที่มีขนสีเหลืองกับแม่ที่มีขนสีน้ำตาลอมแดง และนี่คือที่มาของเจ้าหมาส้มคอกแรก ซึ่งเป็นบรรพชนของเหล่าจุ๊มเหม่งนั่นเอง
หมาส้มในอเมริกา และการรับรองมาตรฐานสายพันธุ์
ประวัติศาสตร์หลังจากที่โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มีคอกแรกแล้ว ดัดลีย์ยังมีการเก็บลูกสุนัขสีเหลืองไว้ เพื่อสืบทอดสายพันธุ์ขนสีเหลืองของพวกมันต่อไป ระยะแรกเขาได้มอบลูกหลานของพวกมันให้กับคนในครอบครัว หรือวงศ์วานว่านเครือเป็นหลัก คล้ายๆ จะให้เป็นของขวัญในฐานะสุนัขคู่ใจ และเป็นนักล่าประจำบ้านของลูกๆ ดังนั้น การสืบเชื้อสายของตระกูลส่วนหนึ่ง จึงมีการสืบเชื้อสายและพัฒนาสายพันธุ์ของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ต่อไปด้วย
ตัวอย่างเช่น เอ็ดเวิร์ด ลูกของดัดลีย์ได้รับเจ้าครอคัส (Crocus) โกลเด้น รีทรีฟเวอร์รุ่นแรก ซึ่งต่อมาถูกนำไปผสมกับสุนัขขนสีแดงเข้มพันธุ์ไอริส เซ็ตเตอร์ (Red Setter) ที่อาจอธิบายได้ถึงสีเหลืองอมส้มของมัน หรือการกลายเป็นหมาส้มในปัจจุบัน โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่สืบเชื้อสายจากครอคัสกลายเป็นสายตระกูลที่เมืองดอร์เซ็ต (Dorset) นั่นนับเป็นอีกหนึ่งสายที่มีชื่อเสียงในรุ่นหลานจากปู่ดัดลีย์และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ในยุคต่อๆ มา
ภายหลังเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์กลายเป็นสุนัขยอดฮิต โดยมีการบันทึกข้อมูลของพวกมันที่สืบเชื้อสายในทวีปต่างๆ จากลูกหลานตระกูลมาร์ชแบงค์ เช่น อาร์ชี่ ลูกชายคนเล็กของดัดลีย์ จากการย้ายถิ่นฐานมาทำกิจการฟาร์มวัวที่เท็กซัส โดยได้พาลูกหลานของเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ชื่อโซล (Sol) มาด้วย หลังจากนั้นอาร์ชี่ก็เดินทางไปแคนาดา เพื่อรับตำแหน่งเลขานุการให้กับน้องเขยผู้เป็นข้าหลวงของเมืองอาเบอร์ดีน
สำหรับการรับรู้ในฐานะสายพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ มีบันทึกว่าพวกมันเริ่มปรากฏตัวในงานประกวดสัตว์เลี้ยงราวปี 1906 โดยลอร์ด ฮาร์คอร์ต (Lord Harcourt) มิตรสหายของตระกูลมาร์ชแบงค์ หลังจากนั้นสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขก็ค่อยๆ รับรองสายพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการ เช่น ในปี 1911 ได้รับการยอมรับโดย The Kennel Club สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ซึ่งนิยามสีเป็นเหลืองหรือทอง (Retriever-Yellow or Golden) ก่อนจะได้รับชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันว่า Retriever-Golden ในปี 1920 ต่อมาเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ก็ค่อยๆ ได้รับการยอมรับจากสมาคมในภูมิภาคอื่นๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขในแคนาดาในปี 1925 และสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขอเมริกันในปี 1932
โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นหนึ่งใน 10 สายพันธุ์สุนัขที่เป็นที่รักในปัจจุบัน โดยติดอันดับที่ 3 ในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ สำหรับลักษณะนิสัยโดยทั่วไปของมัน เรามักรับรู้ถึงจุ๊มเหม่งในฐานะสุนัขคู่ครัวเรือน เพราะพวกมันขึ้นชื่อเรื่องความเป็นมิตรโดยเฉพาะกับเด็กๆ มีนิสัยใจดี ไม่ดุร้าย ร่าเริง ขี้เล่น และอื่นๆ ตรงนี้เองก็มีงานวิจัยเรื่องสายพันธุ์และนิสัยที่ไม่ตรงกันนัก เพราะบางงานศึกษาพบความเชื่อมโยงของสายพันธุ์เข้ากับนิสัยว่า โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มีลักษณะสายพันธุ์ที่เป็นมิตร ชิวาว่ามีลักษณะสายพันธุ์ที่ตื่นเต้นง่าย แต่สุดท้ายงานวิจัยก็พบว่า ยีนส์ด้านพฤติกรรมนั้นมีผลเพียงเล็กน้อย
ฉะนั้น พฤติกรรมของสุนัขอาจจะมีการเรียนรู้บางอย่างที่มันเรียนรู้เป็น เช่น พฤติกรรมในการปกป้องดูแลทั้งพื้นที่บ้านและเจ้าของ ไปจนถึงพฤติกรรมอื่นๆ ดังนั้น การส่งเสริมพฤติกรรมส่วนใหญ่เลยเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู ซึ่งไม่แปลกที่เราอาจพบโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่ดุร้ายและงับเด็ก เพราะการดูแลสุนัขโดยเฉพาะในครัวเรือน การค่อยๆ ปลูกฝังและดูแลเด็กๆ ไปพร้อมกับการดูแลสุนัขที่เริ่มเลี้ยงใหม่แบบไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ
สำหรับข่าวร้ายของพวกโกลเด้น รีทรีฟเวอร์เอง คือนับตั้งแต่ที่พวกมันได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นักวิจัยก็พบว่า พวกมันเคยมีอายุที่ยาวนานกว่าปัจจุบัน โดยในช่วงปี 1972 มีรายงานระบุว่า โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มักมีอายุโดยเฉลี่ยยาวนานถึง 16-17 ปี แต่ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของพวกมันกลับลดเหลือเพียง 9-10 ปีเท่านั้น และการลดลงของอายุขัยโดยเฉลี่ยนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า ทำไมในช่วงทศวรรษหลัง พวกมันจึงจากเราไปเร็วกว่าบรรพบุรุษของมันมากนัก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโกลเด้น รีทรีฟเวอร์มักจากไป หรือพบปัญหาสุขภาพด้วยโรคประจำสายพันธุ์ หลักๆ คือมะเร็ง ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวกับข้อต่อและกระดูก จากประสบการณ์ส่วนตัว โรคสำคัญที่พบและมักลุกลามอย่างรวดเร็วก็คือ มะเร็ง
การตรวจสุขภาพของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาร่องรอยและตัดปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดก้อนเนื้อที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ หรือปัจจัยอื่นๆ เช่น การดูแลน้ำหนัก จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยยืดอายุเจ้าหมาส้มตัวแสบของเราให้อยู่กับเราได้นานขึ้น
อ้างอิงจาก