หลายๆ คนคงไม่คิดจะรวมเอาสวนสัตว์ไว้ในลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดของกรุงลอนดอน แต่เชื่อว่าถ้าใครชอบสวนสัตว์ แล้วมาเที่ยวสวนสัตว์ลอนดอนก็ไม่น่าจะผิดหวัง สวนสัตว์แห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้า ริเริ่มโดยเซอร์ โธมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ผู้ที่เดินทางไปยังบริติช มลายา ตั้งสถานีขนส่งสินค้าที่สิงคโปร์ พร้อมทั้งเก็บสะสมพืชพรรณและสัตว์ต่างๆ มากมายหลายชนิดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ทุกคนคงรู้จักดอกบัวผุดหรือดอกกระโถนฤๅษี ชื่อภาษาอังกฤษคือ Rafflesia ตั้งตามสแตมฟอร์ด แรฟเฟิล์ส์นี่แหละค่ะ แต่เขาไม่ใช่คนพบคนแรกนะคะ) โดยแรฟเฟิลส์เสียชีวิตหลังจากตั้งสวนสัตว์และสมาคมสัตววิทยาลอนดอน (Zoological Society of London หรือ ZSL) ได้ไม่นาน
สัตว์ต่างๆ ในสวนสัตว์แห่งนี้มาจากหลายที่ด้วยกัน เชื่อไหมคะว่าส่วนหนึ่งมาจากหอคอยลอนดอน (Tower of London) ซึ่งเดิมเคยใช้เลี้ยงสัตว์ที่ได้มาในฐานะของขวัญจากพระราชอาคันตุกะตั้งแต่ยุคกลาง โดยภายหลังถูกท้วงติงจากกลุ่มสิทธิสัตว์ว่าสถานที่ไม่เหมาะจะเป็นสวนสัตว์ สัตว์ทั้ง 150 ตัวก็เลยได้ย้ายไปยังสวนสัตว์ลอนดอน แต่หลักๆ แล้ว สวนสัตว์ลอนดอนก็จะได้รับสัตว์จากบริษัทจำหน่ายสัตว์สำคัญของกรุงลอนดอนในสมัยนั้นสองแห่ง นั่นคือบริษัทของชาร์ลส์ จามราช (Charles Jamrach) และเอ็ดวิน ครอสส์ (Edwin Cross) ซึ่งทั้งสองบริษัทอยู่ในลอนดอน
ในศตวรรษที่สิบเก้าลอนดอนไม่ได้มีแต่คนแต่งชุดสีเข้มๆ ทึมๆ เดินไปเดินมานะคะ แต่มีสัตว์มากมายที่ไม่ใช่แค่ม้าหรือหมาแมว มีเสือ สิงโต ลิงอุรังอุตัง นกแก้ว แมวน้ำ และสัตว์แปลกประหลาดอื่นๆ อีกนานาชนิด สิ่งที่ทุกคนได้เห็นจากตรงนี้คือความเชื่อมโยงระหว่างความรู้และอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ สัตว์พวกนี้ขนมาได้ทีละมากๆ ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจของจักรวรรดิ ซึ่งสัตว์เหล่านี้นอกจากจะทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ที่เงินถึงเพลิดเพลินใจแล้ว ยังเป็นเครื่องมือต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่จักรวรรดิอังกฤษ ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำความเข้าใจดินแดนและนำไปสู่การควบคุมพื้นที่นั้นๆ
การขนสัตว์และพืชมาจากดินแดนอาณานิคมเพื่อเป็นของสะสมก็ยืนยันชัดเจนอยู่แล้วว่าเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษเห็นว่าธรรมชาตินั้นเป็นเหมือนของตาย ของถูก ที่สามารถหยิบฉวยมาเป็นของตัวเอง (เขาไม่ได้ซื้อค่ะ เขาไปล่ามาแทบทั้งนั้น) และยังเห็นว่าการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาตินั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการทหารของจักรวรรดิ การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกธรรมชาติจึงหนีไม่พ้นการเมือง ถึงแม้ว่านักสัตววิทยา นักชีววิทยา นักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนในสมัยนั้นไม่ได้แสดงท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนก็ตาม
หากกล่าวถึงความรู้ สวนสัตว์ลอนดอนที่รีเจนทส์พาร์คแห่งนี้เป็นสวนสัตว์แห่งแรกที่เน้นให้ความรู้แก่ประชาชน เดิมที สวนของผู้ลากมากดีอังกฤษนั้นมีสัตว์ประหลาด และต้นไม้ประหลาดๆ ในสายตาคนอังกฤษเต็มไปหมด เช่น จิงโจ้ ไฮยีนา ว่านหางจระเข้ สับปะรด เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่เป็นสวนส่วนตัว ไม่ได้เปิดให้ใครเข้าชม ซึ่งส่วนที่พอจะเปิดให้เข้าชมก็มักจะไม่ได้ให้ความรู้ทางสัตววิทยาหรือพฤกษศาสตร์มากนัก การจัดแสดงอาจจัดภายในคฤหาสน์ หรือเร่จัดแสดงตามเมืองต่างๆ ก็มี แต่สวนสัตว์ลอนดอนนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน และเน้นให้ความรู้ด้านชีววิทยาแก่ผู้เข้าชมเป็นแห่งแรกในอังกฤษ แต่อันนี้ขอยืนยันว่าไม่เนิร์ดนะคะ
ถ้าใครชอบสวนสัตว์มากๆ ที่นี่ก็ไม่ควรพลาด สัตว์เยอะ หลากหลายสายพันธุ์ มีให้คุณดูตั้งแต่ดอกไม้ทะเลไปจนถึงสิงโต แถมยังจัดแสดงได้น่าสนใจมาก บางโซนชวนให้เราเข้าใกล้สัตว์มากๆ เช่นโซนเพนกวินจากอัฟริกาใต้ แถมมีงานนิทรรศการใหม่ๆ ตลอดด้วย
ดิฉันเคยไปครั้งเดียว และค่อนข้างประทับใจ เพราะไม่ค่อยเห็นสวนสัตว์ที่ไหนจัดนิทรรศการสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นจริงเป็นจัง ดิฉันเลยเดินเข้าไปดู เห็นเขาจัดนิทรรศการพิเศษอยู่พอดี นิทรรศการแมงมุมค่ะ ก็ลองเดินเข้าไปชม โอ้โห คุณพระคุณเจ้า โซนแมงมุมหลายโซนให้เราดูแมงมุมในตู้ก็จริง แต่มีอยู่โซนนึง ให้เราเดินเข้าไป ดูแมงมุมชักใยอยู่บนหัวเรานี่แหละ ไม่ได้มีอะไรกั้นด้วย ตอนนั้นคิดในใจว่า โอ๊ย ใครกลัวแมงมุมคงช็อคตายแน่
เราก็เดินเข้าไปถ่ายรูป มีแมงมุมเก๋ๆ ชื่อดังอย่าง Golden silk orb-weaver ที่ชักใยเหนียวชนิดที่บางท้องที่ใช้ทำแหจับปลา ดิฉันเข้าไปก็เดินย่องๆ ถ่ายรูป เผอิญว่ามีใยแมงมุมใยหนึ่งอยู่ห่างจากหน้าดิฉันไม่เท่าไร ตัวแมงมุมตรงกลางก็ขยับนิดหน่อยแต่ไม่ได้ขยับมาก ดิฉันเลยถามเจ้าหน้าที่ประจำบริเวณนั้น ได้ความว่า แมงมุมไม่น่าจะรู้ด้วยซ้ำว่าเราอยู่ใกล้มัน ราวกับว่าประสาทสัมผัสของมันไม่ได้รับรู้ว่าเราอยู่ตรงนั้น เออ แปลกดีแฮะ แต่แมงมุมมันก็ดูจะไม่สนใจเราจริงๆนั่นแหละ บางคนนี่เดินมาถึงทางเข้าโซนนี้แล้วก็ผงะถอยไปก่อน แมงมุมมันใกล้เกิน เขาก็คงกลัวแมงมุมกระโดดใส่หน้าเขามั้ง
สวนสัตว์เป็นที่ที่เราสามารถดูสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ได้อย่างปลอดภัย เพราะมีขอบเขตกั้น อย่างน้อยโซนแมงมุมก็มีพนักงานคอยคุม แต่ดิฉันก็อดคิดถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่ได้ แฟน แฮร์รี่พอตเตอร์ หลายคนอาจจะอยากมาเยี่ยมชมเรือนสัตว์เลื้อยคลานที่นี่ เพราะที่นี่คือสวนสัตว์ในเล่มแรกที่พวกเดอร์สลีย์พาแฮร์รี่มา ก่อนแฮร์รี่จะได้ยินงูเหลือมพม่าคุยด้วยจากในตู้ จนในที่สุดแฮร์รี่ได้ใช้พลังเวทย์ที่มีในตัวเองทำให้กระจกหายไปแล้วงูเลื้อยออกมา ถ้าสัตว์ในสวนสัตว์ออกมาจากกรง มนุษย์หลายคนคงวิ่งกันหน้าตั้ง สูญเสียอำนาจจากการเป็นผู้มองสัตว์และหาองค์ความรู้จากสัตว์ บางคนคงนึกไปถึงภาพสิงโต เสือดาว ช้างอออกอาละวาดในกรุงลอนดอน เห็นข้าวของพังกระจาย หรือเห็นแม้กระทั่งจุดจบของมนุษยชาติ (ใช้ภาษาแบบหนังเอเลี่ยนบุกโลกหลายๆเรื่อง)
นวนิยายอีกเรื่องที่อยากจะชวนคุยในวันนี้ มีฉากหนึ่งอยู่ในสวนสัตว์ลอนดอน นั่นคือแดรกคูลา (Dracula) ของแบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ฉากอยู่ในลักษณะเดียวกันเลย แต่เป็นหมาป่าค่ะ ไม่ใช่งู เรื่องเริ่มที่นักข่าวจากหนังสือพิมพ์พอลมอลกาแซ็ท (Pall Mall Gazette) เข้ามาขอสัมภาษณ์คนดูแลหมาป่าที่สวนสัตว์ลอนดอนหลังจากเกิดเหตุหมาป่าตัวหนึ่งแหกกรงออกอาละวาดบริเวณใกล้เคียง คนดูแลก็ให้สัมภาษณ์ว่าหมาป่าตัวที่หายไปชื่อเบอร์ซิคเคอร์ (Bersicker) ส่งมาจากสแกนดิเนเวียโดยจามราช เบอร์ซิคเคอร์เป็นหมาเรียบร้อย คนอื่นที่เขาหาว่ามันดุนั้นเชื่อถือไม่ได้
เหตุการณ์ผิดปกติอย่างเดียวที่เขาเจอก็คือก่อนจะเกิดเหตุ จู่ๆ เบอร์ซิคเคอร์ก็คลั่งขึ้นมา ทำท่าเหมือนจะแหกกรง ในตอนนั้นมีผู้ชายตัวสูงๆ จมูกงุ้ม มายืนจ้องอยู่ (จะใครล่ะคะ) ซักพักก็เงียบไป จากนั้นคนดูแลก็เข้าไปลูบหัวเบอร์ซิคเคอร์ตามปกติ ชายแปลกหน้าคนนั้นก็มาลูบด้วย คุยกันเล็กน้อยก่อนจากไป คืนนั้นหมาก็หอนกันใหญ่ แต่ไม่ว่าจะเกิดเหตุวุ่นวายอะไรขึ้นก็ตาม เจ้าหน้าที่คนนี้ก็ยืนยันว่าเบอร์ซิคเคอร์เป็นหมาป่าเรียบร้อย ในตอนจบของการสัมภาษณ์ เจ้าเบอร์ซิคเคอร์ก็เดินเข้ามาหาเจ้าหน้าที่คนนั้น ในสายตาของนักข่าว ก็รู้สึกว่ามันเป็นหมาที่ดูไม่มีพิษภัยเอาเสียจริงๆ
ภายหลัง ผู้อ่านก็จะได้รู้จากในบันทึกของลูซี เวสเตนรา (Lucy Westenra) ตัวเอกหญิงคนหนึ่งของเรื่อง ว่าหลังจากลูซีโดนแดรกคูลากัดในร่างค้างคาว เธอนอนป่วยอยู่ และมีหมอประหลาดจากเนเธอร์แลนด์ชื่อ เอเบรอแฮม วาน เฮลซิง (Abraham Van Helsing) คอยรักษาเธอนั้น หมาป่าตัวนั้นเข้ามาบุกบ้านของลูซี ซึ่งคืนนั้นลูซีพบว่า บ้านของเธอกำลังถูกสัตว์บุกรุก ค้างคาวตัวหนึ่งกำลังตีปีกพยายามจะเข้าบ้านเธอ แต่เข้าไม่ได้ มีเสียงหมาหอนดังอยู่รอบๆ บ้าน
แม่เธอเข้ามาดูเหตุการณ์ที่ห้องนอนของเธอและมานอนเป็นเพื่อน แต่แล้วหน้าต่างก็แตกกระจาย บานพับเปิดออก หมาป่าตัวนั้นก็โผล่หัวเข้ามาตามรอยแตก แม่ของเธอตกใจจนสิ้นสติ โยนดอกกระเทียมที่คล้องคอลูซีออก (แวน เฮลซิงให้ไว้เพื่อให้ลูซีพ้นจากอำนาจของแดรกคูลา) แล้วสลบไป ส่วนหมาป่าก็ถอยห่างออกไปแล้วปล่อยให้ฝุ่นผงสกปรกลอยเข้ามาในบ้าน เธอพยายามหาคนช่วย แต่คนใช้บ้านเธอถูกวางยาจนสลบไปหมด เธอเลยพยายามบันทึกทุกอย่างเอาไว้ ก่อนจะพ่ายแพ้พลังของแดรกคูลาที่เข้ามาเล่นงาน
ถึงแม้จะฝังศพ หรือทำพิธีอะไรก็แล้วแต่ ลูซีได้กลายเป็นแวมไพร์คอยจับเด็กที่มาวิ่งเล่นแถวสุสานของเธอมาดูดเลือด วาน เฮลซิง และผู้ชายที่รักลูซีสามคนอันได้แก่ อาร์เธอร์ โกดอล์มมิง (Arthur Godalming) จอห์น ซีเวิร์ด (John Seward) และ ควินซี พี มอร์ริส (Quicey P. Morris) พากันไปปราบเธอที่สุสาน และในที่สุดก็ใช้ลิ่มตอกหัวใจเธอและตัดคอเธอได้สำเร็จ
ถ้าหมาป่าหลุดออกมาจากสวนสัตว์ในโลกแห่งความเป็นจริง คุณคงวิ่งหนีแน่ และคงโทรแจ้งตำรวจ แจ้งศูนย์กู้ภัยต่างๆ ให้มาจับมันกลับ แต่ถ้าเป็นสุนัขธรรมดาๆ ร้องหงิงๆ เดินอยู่ในหมู่บ้าน คุณอาจจะเฉยๆ อาจจะหลีกทางให้ อาจจะไม่สนใจ หรือถ้าชอบก็อาจจะไปเล่นด้วย ให้มันเลียมือเลียหน้า หาอะไรให้มันกินต่างๆ บางคนเขาก็เอาสุนัขไปเดินเล่นนอกบ้าน การเห็นสุนัขนอกบ้านสักตัวจะเป็นไรไป แต่เชื่อไหมคะ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับยุควิกตอเรียน เพราะเป็นยุคที่กำลังถกเถียงเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของสุนัข โดยเฉพาะในเมือง สุนัขควรออกมาอยู่นอกบ้านหรือไม่ การใช้สายจูงและตะกร้อเป็นการทรมานสุนัขหรือไม่
ถึงตรงนี้หลายๆ คนคงจะยกมือขึ้นมาบอกว่า เดี๋ยวก่อนๆ เธอไม่ได้ตามข่าวหรือไง เดี๋ยวนี้ใครจะไปเล่นกับสุนัขข้างทางซี้ซั้วอย่างงั้นกันล่ะ เธอไม่ได้ตามข่าวเรื่องพิษสุนัขบ้า (ที่ไม่ได้ระบาดแค่เฉพาะในสุนัข) หรือไง ออเจ้าไปอยู่อาณาจักรศรีอโยธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มาหรือจ๊ะ ฮึ
เชื่อไหมคะ ว่าสาเหตุที่คนยุควิกตอเรียนกังวลเรื่องหมาออกมาเดินเพ่นพ่านนอกบ้านก็เพราะสาเหตุเดียวกัน สมัยนั้นยังไม่ได้มีความรู้เรื่องพิษสุนัขบ้าที่ชัดเจนนัก ไม่มีใครดูออกว่าสุนัขที่ติดเชื้อเรบีส์จะหน้าตาเป็นยังไง ส่วนใหญ่ ลักษณะของสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสำหรับคนวิกตอเรียนนั้นคือสุนัขพันทาง หน้าตาน่าเกลียดหรือสกปรก ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ได้มีเชื้อเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น สุนัขเร่ร่อนจรจัดใดๆ ก็กลายเป็นสุนัขที่มีเชื้อบ้า ถึงแม้จะมีโรคพิษสุนัขบ้าระบาดอยู่บ้างในกรุงลอนดอนสมัยวิกตอเรียน แต่ความกลัวโรคพิษสุนัขบ้านั้นเกิดจากข่าวลือและความหวาดวิตกของผู้คนมากกว่าโรคพิษสุนัขบ้าจริงๆ
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ มีการสันนิษฐานว่า ความกลัวโรคพิษสุนัขบ้านั้นมีมานานก่อนคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า และความกลัวโรคพิษสุนัขบ้านั้นนำไปสู่จินตนาการเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่งในโลกตะวันตก นั่นคือผีดูดเลือด(ซึ่งในหลายท้องที่ ผีดูดเลือดและมนุษย์หมาป่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกัน เชื่อมโยงกันทางใดทางหนึ่ง)
นักวิจารณ์วรรณคดีหลายคน (เช่น เคอริเดียนา ดับเบิลยู เชซ (Keridiana W. Chez) และมิ่ง ปัญหา อ้าวนั่นมันดิฉันเอง) มองเห็นว่าวรรณกรรมเรื่องแดรกคูลาของแบรม สโตเกอร์ เกี่ยวข้องกับความกลัวโรคพิษสุนัขบ้าในสมัยวิกตอเรียนแน่นอน จะมีโรคอะไรที่เน้นย้ำเรื่องการกัดจากสัตว์สู่คนได้ดีไปกว่าเรบีส์ หรือพิษสุนัขบ้า ซึ่งวรรณกรรมเรื่องแดรกคูลาก็มีแต่การกัดกิน ดูดเลือด แพร่เชื้อกันทั้งเรื่อง
ครั้งนี้ดิฉันขอหากินกับแดรกคูลาอีกครั้ง และจะขอชวนให้ทุกคนย้อนมานึกถึงความคิดของคุณที่มีต่อสุนัข ไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่คุณเลี้ยงที่บ้าน สุนัขในโฆษณา ทั้งหลายทั้งแหล่ การมองดูวรรณกรรมยุควิกตอเรียนเพื่อชวนคุยเรื่องสุนัขก็สำคัญและเกี่ยวข้องกับเราอยู่ เพราะถึงแม้ว่ายุคนี้จะถูกมองว่าล้าสมัยในเรื่องเพศวิถี แต่ความคิดหลายๆ อย่างจากยุคนั้นยังคงอยู่ โดยเฉพาะวิทยาการเกี่ยวกับสัตว์และการจัดการสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์ การสร้างองค์ความรู้ของชีววิทยาในแขนงต่างๆ การศึกษาสัตว์รอบโลก (โดยอาศัยการเป็นมหาอำนาจ) การผลิตอาหารสัตว์ขาย (อาหารสุนัขเม็ดๆ มันเริ่มยุคนี้แหละค่ะ) รวมไปถึงขบวนการสิทธิสัตว์ก็เริ่มขึ้นและเคลื่อนไหวอย่างมากในศตวรรษนี้
แนวคิดเรื่องสุนัขในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนพึ่งจะเกิดขึ้นและเริ่มขยายตัวในยุคนี้ การเลี้ยงสุนัขในสมัยก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการใช้งาน เช่นเฝ้าบ้าน ล่าเนื้อ ลากรถ ต้อนแกะ เป็นต้น แน่นอนว่าก็มีสุนัขที่เลี้ยงไว้ดูเล่นบ้าง แต่การเลี้ยงไว้ดูเล่นไม่ได้เชื่อมโยงกับแนวคิดที่ว่าสุนัขคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ แต่อาจมองว่าเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งที่ชนชั้นสูงนิยมเลี้ยงไว้ชื่นชมหรือเป็นของเล่น (เช่นเดียวกับนกแก้ว หรือลิงมาร์โมเซ็ท) ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่สิบแปดเริ่มมีกระแสเขียนกลอนไว้อาลัยให้แก่สัตว์เลี้ยงผู้ซื่อสัตย์ที่ตายไป เช่นกลอนถึงสุนัขล่าเนื้อชื่อโบทซัน (Boatswain) ของลอร์ดไบรอน (Lord Byron) กวีโรแมนติกชนชั้นสูง ผู้มีชื่อเสียง
นอกจากนี้ยังกระแสการเรียกร้องสิทธิสัตว์ ที่นำไปสู่การยกเลิกการใช้สุนัขลากรถ ซึ่งทั้งสองกระแสนี้เองนำไปสู่การเพิ่มบทบาทให้แก่สุนัข นั่นคือบทบาทสัตว์เลี้ยงเพื่อนรัก ผู้อยู่ใกล้ชิดเจ้านาย และเป็นตัวแทนของความจงรักภักดี เกิดการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยง และสุนัขที่ทำหน้าที่ใช้งานอื่นๆ โดยใช้พื้นที่เป็นเครื่องแบ่ง สุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงจะได้รับสิทธิ์อยู่ใกล้ชิดเจ้านาย ส่วนสุนัขที่อยู่ด้านนอกนั้นไม่ถือเป็นสัตว์เลี้ยง
หลายคนอาจรู้สึกแปลกๆ ว่าจะตื่นเต้นทำไม สุนัขฉันก็เดินเข้าบ้านออกบ้านปกติ แต่นี่ถือเป็นเรื่องใหม่มาก การมีสัตว์ในบ้านสมัยวิกตอเรียนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่จะมีสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งก็คือสุนัข ได้ใกล้ชิดเจ้านายและถูกนำเสนอว่าจงรักภักดี เป็นตัวแทนของความรักและครอบครัว
ความนิยมสุนัขที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้า ได้นำไปสู่กิจกรรมกระตุ้นการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับสุนัข เช่นการผลิตอาหารสุนัข การเพาะพันธุ์สุนัขในพื้นที่เมือง การประกวดสุนัข การจัดตั้ง Kennel Club สมาคมที่ออกเกณฑ์การประกวดสุนัข และเริ่มกำหนดลักษณะเด่นของสายพันธุ์ต่างๆ (แม้ชนชั้นสูงของอังกฤษจะเพาะพันธุ์สุนัขมาตั้งแต่ยุคกลางในที่ดินของตนเอง แต่การกำหนดลักษณะสำคัญที่สัมพันธ์กับสายพันธุ์ของสุนัขเพิ่งจะเริ่มขึ้น เช่น พันธุ์บูลด๊อก (Bull Dog) เดิมคือสุนัขใดๆ ก็ตามที่ใช้กัดวัวในกีฬาล่อวัว (Bull-baiting) ได้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องหน้าตาเหมือนกัน)
นอกจากนี้ ความนิยมของสุนัขพันธุ์เล็กที่สามารถวางบนตักได้ก็ขยายตัวจากชนชั้นสูงสู่ชนชั้นกลาง สุนัขกลายเป็นขวัญใจประจำบ้านสำหรับชนชั้นกลาง ป็นตัวแทนของความรักและความผูกพัน รวมไปถึงการปกป้องดูแลคนในครอบครัว ทัศนคติที่ว่าสุนัขเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ได้เริ่มขึ้นในยุคนี้นี่เอง อาจกล่าวได้ว่า สุนัขในสายตาของคนสมัยนั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงทัศคติครอบครัวแบบวิกตอเรียน (ต้องมีพ่อแม่ลูกครบ พ่อทำงาน แม่ดูแลบ้าน ลูกเชื่อฟังพ่อแม่ มอบความรักให้แก่กัน สุนัขช่วยเหลือทุกคน) กล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ชาววิกตอเรียนได้ทำให้สัตว์อย่างสุนัขช่วยพยุงคุณค่าของสังคมมนุษย์ ที่อาจหาไม่ได้ในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่กระนั้นความรักสุนัขนั้นไม่ได้แน่นอนมั่นคงตลอดทั้งยุค ความกลัวโรคพิษสุนัขบ้าได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักสุนัข ในสายตาของดิฉันและเคอริเดียนา เชซ นวนิยายเรื่องแดรกคูลาของแบรม สโตเกอร์ กำลังเปิดเผยความกลัวที่แฝงอยู่กับความรักให้เราได้เห็น เชซได้ยกประเด็น ‘ความเชื่อง’ และผู้หญิงขึ้นมา ส่วนดิฉันจะเน้นย้ำความคิดเกี่ยวกับพื้นที่ชานเมือง อันเป็นที่ตั้งของสวนสัตว์ลอนดอนและหลุมศพชองลูซี ซึ่งทั้งเชซและดิฉันก็มีความเห็นตรงกันว่า แดรกคูลาเป็นนวนิยายที่ว่าด้วยการอาละวาดของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกสุนัข และนวนิยายเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าสัตว์นั้นไม่อาจถูกมนุษย์ควบคุมได้ ไม่ว่าการควบคุมนั้นจะอยู่ในรูปแบบของความรุนแรง หรือความรักก็ตาม
ดิฉันจะต้องชี้แจงก่อนว่า นวนิยายเรื่องแดรกคูลาเป็นนวนิยายที่เต็มไปด้วยสุนัข และแดรกคูลาเองก็เป็นเหมือนนายของสุนัขเหล่านี้ แดรกคูลามีบริวารเป็นหมาป่า แปลงร่างเป็นสุนัขได้ (ตอนที่เรือแดรกคูลามาถึงวิทบี (Whitby) ไม่มีใครเห็นมนุษย์ในเรือเลย นอกจากสุนัขสีดำกระโจนลงมาจากเรือ) เวลาที่แดรกคูลาจะปรากฏกาย ไม่ว่าจะเป็นสุนัขในฟาร์มหรือในป่าก็หอนกันใหญ่ เบอร์ซิคเคอร์ก็แหกกรงออกมาอาละวาด
สิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับแดรกคูลาคือ แดรกคูลาทำลายเส้นแบ่งระหว่างบ้าน อันเป็นพื้นที่แห่งความรักความอบอุ่น วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของมนุษย์ ออกจากป่า ที่เป็นพื้นที่ไร้อารยธรรม และเป็นดินแดนของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ ในโลกตะวันตก หมาป่ามักถูกรังเกียจ เพราะเป็นผู้ทำลายเส้นแบ่งนี้ มันมาจากป่าและมากินแกะในพื้นที่เลี้ยงแกะของมนุษย์ หมาป่าจึงกลายเป็นตัวร้ายในนิทานตะวันตกหลายเรื่อง (ถ้าจะเทียบกับเมืองไทย สัตว์ที่ทำลายเส้นแบ่งของสัตว์กับคนในลักษณะนี้คือตัวเงินตัวทอง)
แดรกคูลาเชื่อมโยงหมาป่าและสุนัขบ้านเข้าด้วยกัน ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจอันเป็นหนึ่งเดียวของเขา และนี่คือความกลัวแบบเดียวกับความกลัวโรคพิษสุนัขบ้าในยุคนั้น (และอาจจะยุคนี้ด้วย) สรุปว่า
สัตว์ที่เรารัก ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยง มองเห็นมันเป็นตัวแทนความรักความสัมพันธ์อันดีของมนุษย์นั้นแท้จริงแล้ว ยังคงโหดร้าย ป่าเถื่อน และไม่อาจควบคุมได้
เบอร์ซิคเคอร์ไม่ได้เป็นแค่หมาป่าที่เรียบร้อยอย่างเดียว สุนัขไม่ได้เป็นเพื่อนรักของมนุษย์อย่างเดียว หากสุนัขป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขก็อาจกลายเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และอาจคืนร่างกลายเป็น ‘สัตว์’ ที่อยู่นอกพื้นที่ของบ้านหรือเมือง (ทั้งๆ ที่สุนัขก็เป็นสัตว์อยู่แล้ว) ไม่ต่างจากเบอร์ซิคเคอร์ที่ ‘ติดเชื้อ’ จากแดรกคูลาและออกอาละวาด
นอกจากนี้ เหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ในนวนิยายเรื่องแดรกคูลายังอยู่ในพื้นที่ชานเมืองอันกำกวมระหว่างพื้นที่ของเมืองและป่า ของคนและสิ่งที่ไม่ใช่คน พื้นที่ชานเมืองเป็นพื้นที่ใหม่ของชนชั้นกลาง ผู้ต้องการออกห่างจากความสกปรกของเมือง แต่ก็ไม่ต้องการอยู่อาศัยห่างไกลในต่างจังหวัด ถึงแม้ชานเมืองจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นพื้นที่เมืองในที่สุด
หลักสำคัญของการเป็นชานเมืองในสมัยนั้น (และสมัยนี้) คือการอยู่ห่างจากเมืองในเชิงสุนทรียะ กล่าวคือไม่สกปรก มีธรรมชาติสวยงาม (นึกถึงภาพโฆษณาบ้านจัดสรรที่มีทะเลสาบปลอมๆ และเด็กวิ่งเล่นที่สนามหญ้าหน้าบ้านสิคะ) อยู่ห่างไกลชนชั้นแรงงานอันสกปรกและขาดศีลธรรม ชานเมืองกลายเป็นพื้นที่ในจินตนาการอันแสนสงบสุขสำหรับชนชั้นกลาง แต่ความจริงแล้วก็มีสิ่งที่เขาไม่พึงปรารถนาอยู่เสมอ เขายังต้องการคนรับใช้ ซึ่งก็คือชนชั้นแรงงานที่เขารังเกียจ เขายังต้องการธรรมชาติที่ไม่ได้สวยงาม และควบคุมได้ตลอดเวลา
ทั้งรีเจนทส์พาร์ค (Regent’s Park) ซึ่งเป็นที่ตั้งสวนสัตว์ลอนดอน และไฮเกท (Highgate) ที่ตั้งหลุมศพของลูซี ก็ถือเป็นชานเมืองในสมัยนั้น แดรกคูลาได้มาเปิดเผยความจริงข้อนี้ในรูปของโรคพิษสุนัขบ้า
อาการของทั้งมินา (Mina) และลูซีหลังจากถูกแดรกคูลากัดในพื้นที่เหล่านั้น ก็ไม่ได้ต่างจากอาการของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าใจกันในสมัยนั้น รวมถึงตัวแดรกคูลาเองก็มีลักษณะบ่งบอกว่าคล้ายผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ว่าจะคอแข็ง กลัวน้ำ (สมัยนั้นนักวิชาการบางท่านเข้าใจว่า แค่มองเห็นน้ำก็กลัวแล้ว) หรือหายใจลำบาก นอกจากนี้ยังมีคนบางกลุ่มเชื่อว่า ผู้ติดเชื้อจะกัดผู้อื่นราวกับเป็นสุนัขอันดุร้ายอีกด้วย
วรรณกรรมเรื่องแดรกคูลาชี้ให้เห็นว่าสุนัขที่เชื่องและจงรักภักดีตลอดไปไม่มีอยู่จริง ประเด็นนี้เคอริเดียนา เชซ มองว่า ผู้หญิงและสุนัขในเรื่องเชื่อมโยงกัน เพราะต่างเป็นเหมือนตัวแทนของสิ่งที่จะมอบความรักให้อยู่เสมอ และเป็นสิ่งที่เชื่อฟังมนุษย์ผู้ชาย แดรกคูลาจึงเป็นเหมือนเชื้อร้ายหรือพลังอำนาจที่ปลุกให้สัตว์และผู้หญิงขัดขืน ท้าทายอำนาจในนามของความรัก ความคิดนี้สอดคล้องกับความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้ชายกับสุนัขในสมัยนั้น กลุ่มที่ต่อต้านความนิยมสุนัขในฐานะเพื่อนรักของมนุษย์นั้นมักจะนำเสนอภาพคนเลี้ยงสุนัขและคนนำสุนัขไปประกวดเป็นผู้หญิง และพวกเธอจะถูกนำเสนอให้ขี้ใจอ่อน หวั่นไหวง่าย ไร้หลักการ และรักสุนัขมากจนเกินพอดี
ถ้าผู้ชายจะรักสุนัขนั้น เขาต้องยอมรับว่าสุนัขไม่ใช่พวกเดียวกับมนุษย์ ไม่ว่าจะน่าเอ็นดูอย่างไรก็แล้วแต่ ผู้ชายต้องรู้จักตัดสุนัขออกไปในฐานะสัตว์ต่างสายพันธุ์ แน่นอนว่าแนวคิดนี้สอดคล้องกับโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมาก เพราะโรคพิษสุนัขบ้าทำให้เห็นว่าความคิดเรื่องสุนัขที่จงรักภักดีและเชื่อฟังนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา สุนัขไม่ใช่เครื่องรองรับอารมณ์ของมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องช่วยนำเสนอคุณค่าความดีงามของมนุษย์ และเช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็เป็นผู้หญิง ผู้หญิงไม่ใช่เครื่องสนับสนุนผู้ชายเสมอไป และไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือข้อเสนอเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าจากจอร์จ เฟลมมิง (George Fleming) ผู้เชี่ยวชาญและบุกเบิกด้านโรคพิษสุนัขบ้าก่อนที่หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) จะค้นพบวัคซีนนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า
สุนัขที่ติดเชื้อเรบีส์ใหม่ๆ นั้นจะดูอ่อนโยน น่าเอ็นดู ซี่งเป็นสภาวะที่ทำให้โรคนี้น่ากลัวที่สุด
วรรณกรรมเรื่อแดรกคูลาได้ทำให้ตัวละครหญิงสองตัวที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ผู้ชายทั้งเรื่องรักและทะนุถนอมอย่างมากนั้น กลายเป็นผีดูดเลือด และเมื่อเป็นผีดูดเลือด เสน่ห์ของเธอกลับไม่ได้ลดลง
ในกรณีของลูซี ก่อนเธอจะหมั้นกับอาร์เธอร์ โกดอล์มมิง เธอเป็นที่หมายปองของชายอีกสองคน (รวมอาร์เธอร์ด้วย) นั่นคือนายแพทย์จอห์น ซีเวิร์ด และควินซี พี มอร์ริส เมื่อถึงคราวปราบลูซี ผู้ชายทั้งสามไม่อาจหักใจปราบได้เพราะลูซีนั้นนอกจากจะเคยเป็นที่หมายปองของพวกตนแล้ว ยังส่งเสียงหวานกังวานยั่วยวนให้พวกเขาเข้าหา วรรณกรรมเรื่องแดรกคูลาจึงชี้ให้เห็นว่าความรักที่เป็นเพียงการเอาตัวเองครอบทับสิ่งที่เรารัก เมื่อมีปัญหาก็ทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นอื่น หรือความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งที่เรารัก
คำถามคือแล้วผู้ชายพวกนั้นปราบลูซี และปลุกมินาให้ตื่นจากพลังสะกดจิตของแดรกคูลาได้อย่างไร แล้วพวกเขาทำอย่างไรกับความรัก แล้วคำถามนี้เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร คำตอบที่เชซเสนอและยกมาจากตัวบทคือการุณยฆาต (euthanasia) เธอเรียกความรักที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิงที่กำลังจะขัดขืน (ช่วงเวลาที่วรรณกรรมเรื่องนี้ตีพิมพ์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มผู้หญิงใหม่และกลุ่มเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้สตรี) และมีต่อสุนัขที่อาจจะติดเชื้อเรบีส์ในวันใดวันหนึ่งว่า รักหวาดหวั่น (paranoid love) รักหวาดหวั่นนำไปสู่การทำลายสิ่งที่รักในที่สุด
ในเรื่อง การตัดสินใจทำลายสิ่งที่รักเพื่อถนอมรักษาตัวเองนั้นเกิดขึ้นได้เพราะแวน เฮลซิง เขาเป็นคนขีดเส้นแบ่งระหว่างบ้านกับป่า ระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ เพื่อไม่ให้ผู้ชายเหล่านั้นสูญเสียตัวตน แวน เฮลซิงทำหน้าที่เป็นเสียงของทางการ ควบคุมผู้หญิงและสัตว์ที่จะทำลายตัวตนของมนุษย์ผู้ชาย ความรักไม่ได้สูญหายไปเพราะความเกลียดกลัว แต่เป็นไปเพราะอำนาจของทางการ เป็นไปเพราะสังคมที่พยายามกำจัดสิ่งที่จะทำลายเส้นแบ่งและตัวตน การฆ่าจึงเป็นการฆ่าที่ยังมีรัก เป็นการุณยฆาต ที่บงการโดยทางการและสังคม สิ่งที่เรารักนั้นเมื่อเป็นอื่นก็ต้องกำจัด สำหรับผู้เขียน รักหวาดหวั่นมีปัญหาเพราะสุดท้ายนำไปสู่การทำลาย
ดิฉันอยากจะบอกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้ นอกจากปัญหาระหว่างหน่วยงานราชการแล้ว คือปัญหาของการเพิกเฉยต่อสวัสดิภาพของสุนัขและการเหมารวมว่าสุนัขนั้นเชื่องและเป็นเพื่อนรักของมนุษย์เสมอ มนุษย์หลายๆ คนผู้เสพความสุขจากสุนัขย่อมไม่มีวันได้เห็นการจัดการปัญหาเรื่องสุนัขเป็นพิษสุนัขบ้าเลยถ้าโรคไม่ระบาดขึ้นมา เรามองเห็นสุนัขเดินไปเดินมาในเมือง ในหมู่บ้านเป็นเรื่องปกติ
เราไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพของมันเท่าที่ควร หลายๆคนมักจะชอบเข้าไปลูบหัวลูบหาง หาอาหารใดๆ ก็ตามให้มันกินโดยไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพกายของมัน คิดถึงแต่สุขภาพจิตของตนเอง นี่คือปัญหาของความรักสิ่งที่ใช้ภาษาตอบคุณไม่ได้
หลายๆ คนมองไม่เห็นว่ารักของตัวเองเป็นรักอันตราย เป็นความรักที่คิดแต่จะฉายภาพของตัวเองลงไปบนสิ่งที่รัก คิดว่ามันเป็นภาพสะท้อนตัวเรา คิดว่ามันจะสนับสนุนเรา ให้กำลังใจเรา แต่สุนัขก็คือสุนัข ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความจงรักภักดี ไม่ใช่ตัวแทนของความรัก ไม่ว่ามันจะรักเราหรือไม่ (เวลาเราคิดแบบนี้ สุดท้ายเมื่อเราหมดรักมัน ไม่เห็นมันเป็นกระจกของเรา เราก็ทิ้งมัน สุนัขจรจัดส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการมองว่าสุนัขจะต้องเป็นเพื่อนเราและให้ความรักเราอย่างเดียวนี่แหละค่ะ)
โรคพิษสุนัขบ้านั้นต้องอาศัยการฉีดวัคซีนอยู่เสมอ หากคุณไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของมัน คิดเพียงแต่ว่ามันเป็นสัตว์น่ารัก น่าเล่นด้วย ดิฉันไม่คิดว่านั่นจะเป็นความรักด้วยซ้ำ คนที่เลี้ยงและคลุกคลีกับสุนัขทุกคนย่อมเข้าใจดี ว่าสุนัขไม่ได้เชื่อฟังเราเสมอไป ไม่ได้เป็นเพื่อนรัก เอาใจเราเสมอไป ถึงแม้ภาพลักษณ์นี้จะยังถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ อยู่เสมอก็ตาม นอกจากนี้ พวกเขาย่อมทราบดีว่าควรดูแลสุนัขของตัวเองอย่างไรบ้าง
ดิฉันจึงขอสรุปว่า ปัญหาจากการระบาดโรคพิษสุนัขบ้าตอนนี้นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมองไม่เห็นความเป็นไปได้ของโรคพิษสุนัขบ้า (ทั้งๆ ที่ต้องฉีดวัคซีนอยู่แล้วทุกปี) และการมองไม่เห็นความเป็นไปได้นี้ ย่อมหมายถึงการไม่ได้มองสุนัขในฐานะส่วนหนึ่งของเมือง หรือสังคม เป็นเพียงส่วนที่ไม่ได้นับรวม แม้ว่าจะมีหน่วยงานลงไปศึกษาวิจัยเรื่องประชากรสุนัขเร่ร่อนจรจัดเท่าไรก็ตาม
แนวคิดเรื่องเซ็ทซีโร่นั้น สำหรับดิฉันแล้ว มาจากความตื่นตระหนกตกใจและการไม่ศึกษาผลงานวิจัย หรือการไม่มีทุนศึกษาวิจัยที่มากพอ เพราะอย่างที่ดิฉันบอก สุนัขเป็นส่วนที่ไม่ได้นับรวมเป็นส่วน รู้ว่ามีแต่ไม่ได้แคร์อะไรมากนัก เหมือนเป็นฉากหลัง ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการฆ่าสุนัขที่ไม่ติดเชื้อ หนทางที่ดีที่สุดที่ดิฉันเข้าใจคือการขังสุนัขต้องสงสัยและสังเกตอาการ เพราะการฆ่าไม่ควรเกิดขึ้นหากไม่จำเป็น
ณ สวนสัตว์ลอนดอน โธมัส บิลเดอร์ (Thomas Bilder) ตัวละครคนเฝ้าหมาป่าในเรื่องแดรกคูลายืนยันกับนักข่าวจากพอลมอลกาแซ็ทว่า เบอร์ซิคเคอร์น่ารักและเรียบร้อย ต่อมาผู้อ่านได้รู้ภายหลังว่า หมาป่าตัวนี้ถูกแดรกคูลาสะกดให้บุกบ้านลูซี สำหรับดิฉันแล้ว ทั้งสองกรณีไม่ได้มีกรณีไหนจริงเท็จไปกว่ากัน แต่ต่างเสริมกันในฐานะกรณีใหม่ๆ ของสิ่งที่เราเคยรู้ ในขณะที่สายตาเราชมสัตว์ในกรงและอ่านป้ายข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่สวนสัตว์ลอนดอน เราอาจไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าสิ่งที่เราเห็นและจากข้อความในป้ายนั้น เราอาจหลงรักสัตว์ตัวนั้นทันทีที่ได้เห็น อุ๊ย หมาป่าตัวนั้นหล่อเหมือนสุนัขที่เคยเลี้ยงเลย อุ๊ย สิงโตตัวนั้นมุดกล่องอย่างกับแมว แต่นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความรู้และความรัก ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องรู้ และมีบททดสอบอีกมากสำหรับความรัก
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Charman, Isobel. The Zoo: The Wild and Wonderful Tale of the Founding of London Zoo. Penguin, 2017.
- Chez, Keridiana W. Victorian Dogs, Victorian Men: Affect and Animals in Nineteenth-Century Literature and Culture. Ohio State University Press, 2017.
- Howell, Philip. At Home and Astray: The Domestic Dog in Victorian Britain. University of Virginia Press, 2015.
- Ritvo, Harriet. The Animal Estate: The English and Other Creatures in the Victorian Age. Harvard University Press, 1987.
- มิ่ง ปัญหา. “แดรคูลา: โอษฐภาวะและความเป็นสัตว์ในพื้นที่เมือง”. ใน จาตุรี ติงศภัทิย์ สุรเดช โชติอุดมพันธ์ และอลิสา สันตสมบัติ. ดิน น้ำ ลม ไฟ: ธาตุ จักรวาลและพิษภัยจากมุมมองมนุษยศาสตร์ สยามปริทัศน์. 2558.
Illustration by Waragorn Keeranan