ภาวะหมดไฟ (burnout) เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ที่เรามักจะเผชิญบ่อยๆ เมื่อทำงานหนักจนเกิดเป็นความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า และไม่สามารถรังสรรค์งานดีๆ ออกมาได้ในที่สุด แต่วันหนึ่งเราอาจพบว่า ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับการทำงานประจำที่ยากและหนักเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับ ‘งานอดิเรก’ ที่เรารักด้วยเช่นกัน
แม้จะรู้ตัวหรือไม่ แต่เชื่อว่านักอ่านหลายคนน่าจะเคยมีช่วงเวลานี้กันทั้งนั้น เมื่อจู่ๆ วันหนึ่งเรารู้สึกไม่อยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หรือไม่มีเล่มไหนที่ดึงดูดความสนใจจากเราได้อีกต่อไป ภาวะที่เรียกว่า ‘Reading Slump’ หรือจุดตกต่ำของการอ่านหนังสือ จึงถือเป็นฝันร้ายที่นักอ่านทั่วโลกไม่อยากเผชิญ เพราะไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มนั้นๆ ไม่ดี น่าเบื่อ หรือไม่สนุก แต่เป็นเพราะตัวเราเองที่ ‘ไม่สามารถ’ อ่านมันได้เลยต่างหาก
ซึ่งภาวะหมดไฟในการอ่านหนังสือที่ว่าก็สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงอยากชวนทุกคนมาลองสังเกตตัวเองดูตามนี้
- เพิ่งอ่านหนังสือที่ดีมากๆ มาเล่มหนึ่ง จนรู้สึกว่าไม่สามารถหาหนังสือที่ดีเท่านี้ได้อีก
- ตรงข้ามกับข้อแรกก็คือ เพิ่งอ่านหนังสือเล่มที่แย่มากๆ มาเล่มหนึ่ง จนรู้สึกว่าไม่เชื่อใจหนังสือเล่มอื่น หรือไม่กล้าเปิดใจอ่านหนังสือของนักเขียนคนอื่น
- เหนื่อยเกินไปและมีภาระมากมายที่ต้องทำ จนไม่อยากหยิบหนังสือมาอ่าน เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ
- ซื้อหนังสือมาหลายเล่ม เพื่อจะบังคับให้ตัวเองอ่านหนังสือมากขึ้น แต่กลับรู้สึกกดดันจนไม่สามารถเริ่มอ่านได้สักเล่ม หรือไม่มีความสุขเพราะคิดว่าตัวเองยังอ่านหนังสือไม่มากพอ
- รู้สึกว่าต้องอ่านหนังสือทุกเล่มบนชั้น new releases เพราะกลัวตกข่าวหรือตกเทรนด์ (fear of missing out) มักจะพบได้ในบล็อกเกอร์ที่รีวิวหนังสือ หรือคนที่เริ่มนำงานอดิเรกมาเป็นอาชีพ
- ก็แค่อ่านไม่ได้ แค่นั้น แม้จะพยายามแล้วก็ตาม
จะเห็นว่าบางสาเหตุคล้ายกับองค์ประกอบที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้แก่ ความเหนื่อยล้าที่ท่วมท้นจนเกินไป ความรู้สึกไร้ประสิทธิภาพ และการขาดความสำเร็จ ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับการอ่านเท่านั้น แต่งานอดิเรกอื่นๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี หรือวาดรูป ก็สามารถเดินมาถึงจุดตกต่ำนี้ได้เหมือนกัน หรืออย่างภาวะ gaming slump ที่เหล่าเกมเมอร์จู่ๆ ก็ไม่มีแรงหรือความอดทนที่จะเล่นเกมต่อได้อีก แม้จะหาเกมใหม่ๆ เจ๋งๆ มาเล่นให้รู้สึกตื่นเต้นแล้วก็ตาม แต่กลับไม่สามารถเล่นได้นานหรือเล่นได้จนจบเกม
ซึ่งทั้งหมดนี้ เราเรียกรวมๆ ว่าเป็น ‘Hobby Burnout’ หรือภาวะหมดไฟในงานดิเรก เมื่อวันหนึ่งเรารู้สึกกดดันที่จะต้องทำงานอดิเรก หรือคิดว่าต้องทำออกมาให้เพอร์เฟ็กต์ จนหลงลืมว่านั่นเป็นสิ่งที่ควรจะสร้างความผ่อนคลายให้กับเรามากกว่า
รวมถึงช่วงสถานการณ์โรคระบาดก็ยิ่งทำให้งานอดิเรกบางอย่างกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น เนื่องจากบางคนชอบทำกิจกรรมข้างนอกบ้าน เช่น เดินดูพิพิธภัณฑ์ อาร์ตแกลอรี่ หรือเดินถ่ายรูปตามท้องถนน และเมื่องานอดิเรกนี้หายไป พวกเขาจึงรู้สึกว่างเปล่า เพราะไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี พอทำในสิ่งใหม่ๆ ก็รู้สึกไม่ใช่สำหรับตัวเอง
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ภาวะหมดไฟในงานอดิเรกจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย และขาดแรงบันดาลใจ จนวันหนึ่งเราไม่สามารถทำสิ่งที่เคยรักและชื่นชอบได้อีกต่อไป และนับว่าเป็นภาวะที่น่ากังวลพอสมควร เพราะงานอดิเรกถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่สร้างความสุข ความผ่อนคลาย และเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับมนุษย์ แต่เมื่อกิจกรรมนี้หายไปหรือไม่สามารถทำได้อีก จึงมีแนวโน้มที่เราอาจจะเจอกับภาวะซึมเศร้า หดหู่ หรือรู้สึกว่าชีวิตไร้คุณค่า ไร้ความหมายไปเลยก็ได้
อย่างไรก็ตาม ความสนใจที่มีต่องานอดิเรกไม่ได้หายไปแบบถาวรซะทีเดียว เพราะมีวิธีที่จะกู้กิจกรรมและความชอบเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อเติมความสุขที่หล่นหายไปให้กลับมาอีกครั้ง ได้แก่
กลับไปยังเรื่องโปรดเรื่องเดิม ไม่ว่าจะชอบดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือเล่นเกม เชื่อว่าทุกคนจะมีเดอะเบสต์ออฟเดอะเบสต์ในใจ ที่แม้จะผ่านมานานเท่าไหร่ สิ่งนั้นก็ยังคงสร้างความสุขและแรงบันดาลใจให้กับเราได้อยู่เสมอ ถ้าเกิดว่ารู้สึกเบื่อๆ ตันๆ ก็ลองกลับไปหาหนังสือเล่มนั้น ซีรีส์เรื่องนั้น หรือเกมนั้นดูอีกสักรอบ แม้จะไม่ใหม่ล่าสุดเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีอะไรให้ทำแก้เบื่อแก้เฉาได้นะ
เข้าร่วมชมรมหรือสังคมออนไลน์ การอยู่ท่ามกลางคนที่มีความสนใจร่วมหรืออินในเรื่องเดียวกัน สามารถสร้างแรงกระตุ้นและสร้างบรรยากาศที่ทำให้เราอยากทำงานอดิเรกนั้นมากขึ้น เช่น กลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊ก ที่มักจะมีคนเข้ามาแชร์หนังสือออกใหม่ เกมที่น่าเล่น หรือซีรีส์ที่ควรดูอยู่เรื่อยๆ
ลองให้พอดแคสต์แนะนำ บางครั้งการเลือกหนังสือด้วยตัวเอง เพียงแค่ดูหน้าปก อ่านบทบรรณาธิการ หรืออ่านเรื่องย่อที่ปกหลัง อาจไม่ได้ช่วยให้เราเกิดความสนใจมากพอที่จะหยิบมาอ่าน การที่มีคนมาเล่าคร่าวๆ หรือสาธยายความดีงามให้ฟัง จะช่วยให้เรารู้ว่าสิ่งนั้นควรค่าที่เราจะเสียแรงและเวลาไปให้หรือเปล่า แต่ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนตัวของทุกคนอยู่ดี ยังไงก็ลองหารีวิวหลายๆ อันมาประกอบดูก่อนนะ
เปลี่ยนบรรยากาศและจัดชั้นหนังสือใหม่ สำหรับนักอ่านที่กำลังมองชั้นหนังสือด้วยสายตาว่างเปล่ามาสักพัก การรื้อหนังสือทั้งหมดออกมาจัดใหม่ อาจทำให้เราสังเกตเห็นหนังสือบางเล่มมากขึ้น อาจเป็นหนังสือที่ยังไม่เคยหยิบมาอ่าน หนังสือที่หน้าปกสวยดี หรือหนังสือที่เคยทำให้ยิ้มและหัวเราะได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เห็นภาพ เมื่อถ้าสถานการณ์ดีขึ้น อาจลองหยิบหนังสือเล่มนั้นไปนั่งอ่านในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ดูบ้าง ก็จะช่วยให้ประสบการณ์อ่านหนังสือนั้นแปลกใหม่ ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
ออกจากสไตล์เดิมๆ หากพบว่าสไตล์เดิมของเรามาถึงทางตันแล้ว (แม้ความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่) ลองออกจากกรอบเดิมๆ ดูบ้าง เพราะยังมีเพลง หนัง หรือเกมอีกมากมายที่เรายังไม่ได้ไปสำรวจ เผลอๆ เราอาจจะเจอสไตล์ใหม่ที่ใช่ และเป็นตัวเลือกเพิ่มเติมให้กับเราในอนาคตด้วย
หางานอดิเรกอื่นทำไปพลางๆ เราไม่จำเป็นต้องมีงานอดิเรกเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่องานอดิเรกนั้นหายไปหรือไม่สามารถทำได้ นั่นแปลว่าความสุข ความสนุก ความพึงพอใจในชีวิตก็หายไปด้วย ลองใช้วิธีแบ่งความสนุกเหล่านั้นไปยังหลายกิจกรรมดูสิ คล้ายกับการแบ่งฮอร์ครักซ์ในภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพื่อที่ว่าความสุขของเราจะได้ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ รู้สึกไม่มีคุณค่า เพราะว่างานอดิเรกหายไป? ลองสร้างงานอดิเรกให้หลากหลายคล้ายฮอร์ครักซ์เพื่อรักษา self-esteem ของตัวเอง)
ยังไงก็ลองนำวิธีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับงานอดิเรกของตัวเองดู เพราะสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียดจากข่าวสารบ้านเมืองและโรคระบาด งานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชุบชูจิตใจได้นั้นมีความสำคัญกับชีวิตของเราจริงๆ นะ
สุดท้าย อย่ากดดันเพื่อทำสิ่งนั้นมากเกินไป บางทีเราอาจต้องการหยุดพักจริงๆ เพื่อรีบูสต์ตัวเองใหม่ หากพบว่างานอดิเรกนั้นกินเวลาและพลังงานของเราไปเยอะ และภาวะนี้ก็เกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีความถาวรเสมอไป ซึ่งถ้าหากนั่นคือสิ่งที่เรารักที่จะทำ สักวันหนึ่งแรงบันดาลใจที่เคยหายไปจะกลับมาอีกครั้งเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก