เมื่อได้ทำงานที่ชอบ ทุกอย่างราบรื่นดี จนงานที่มีกลายเป็นคอมฟอร์ทโซน ฟังดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหม อาจเป็นชีวิตที่ใครๆ ใฝ่หา แต่หากความเรียบง่ายนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในทุกวันล่ะ เราจะยังชอบงานนี้อยู่หรือเปล่า เราจะอยู่กับความเรียบง่ายนี้ไปได้นานแค่ไหน
แม้เราจะชอบงานที่เราทำมากขนาดไหน รู้สึกว่านี่แหละเป็นคอมฟอร์ตโซนที่ให้เราได้พักพิงไปได้อีกนาน เราก็สามารถรู้สึกเบื่อหน่ายกับมันได้เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกอะไร คนเราทำอะไรแบบเดิมซ้ำๆ ก็รู้สึกเบื่อได้ทั้งนั้น หากใครที่รู้สึกว่าเรายังคงชอบงานเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือความรู้สึกเหมือนเราไม่ได้เดินไปไหนเลย อยากให้ลองมาทำความรู้จักกับสิ่งนี้
‘Job Plateau’ หรือ ‘Career Plateau’ คือความรู้สึกติดอยู่กับที่ กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไปไม่ถึง มักจะเกิดขึ้นในตอนที่เราทำงานนี้เดิมๆ ซ้ำๆ จนไปถึงจุดหนึ่งที่เราจะไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่านี้แล้ว ไม่รู้สึกว่าตัวเองจะเก่งหรือก้าวหน้าไปมากกว่านี้แล้ว หากเป็นเกมสักเกม สิ่งนี้คงเรียกว่าเวลตัน ไม่มีด่านท้าทายรอข้างหน้า ไม่มีเลเวลสูงกว่านี้ให้ไปถึง อาจเกิดจากทั้งความรู้สึกของเราและจากโครงสร้างในองค์กร ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เราเติบโตไปมากกว่านี้อีกด้วย
ที่น่าแปลกคือ สิ่งนี้มักเกิดกับงานที่เราทำมันได้ดี นั่นอาจเพราะเวลาเราทำงานไหนได้ดี เราจะรู้สึกว่านี่แหละสัญญาณของความราบรื่น เราก็จะทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ แต่พอเราทำมันนับครั้งไม่ถ้วน จนถึงขีดจำกัดของงานที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบ ไม่มีความตื่นเต้นในงานที่ทำ หมดวันเมื่อไหร่ก็จบกัน ไม่ได้รู้สึกว่ามีการเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น แค่ทำหน้าที่ของเราให้จบแค่นั้นก็พอ เป็นแบบนี้วนซ้ำไปมาจนเรารู้สึกว่า งานมันช่างน่าเบื่อ ทั้งที่มันก็เคยเป็นงานที่เราชอบ คล้ายว่าจะเป็น ความอิ่มตัวในการทำงานด้วย
ด้วยความที่มันคล้ายกับความรู้สึกเบื่อ เราเลยมักจะมองข้ามความรู้สึกของตัวเองไป แต่ถ้าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานๆ งานที่เราเคยรักอาจกลายเป็นช่วงเวลาน่าเบื่อที่ทำให้เราพลาดโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานได้ ลองมาสังเกตตัวเองกันดีกว่า ว่าเราอยู่ในจุดเวลตันนี้หรือยัง
- ไม่มีอะไรให้เรียนรู้ไปมากกว่านี้แล้ว
อะไรที่ควรทำก็ทำหมดแล้ว อะไรที่เคยคิดว่าท้าทายก็ผ่านมาหมดแล้ว หน้าที่ในตำแหน่งนี้ก็ไปลุยมาแล้ว จนทุกอย่างมันตันไปเสียหมด จนเรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่กำลังทำให้เราเป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่ทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ จนไม่มีอะไรให้เราเรียนรู้ไปมากกว่านี้แล้ว - ความสามารถและความก้าวหน้าไม่สอดคล้องกัน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าสิ่งนี้อาจเกิดจากโครงสร้างขององค์กรได้เช่นกัน และมันจะสังเกตได้ง่ายมาก หากเรารู้สึกว่าความรู้ความสามารถที่เรามีนั้น ควรได้ใช้ประโยชน์มากกว่านี้ แต่กลับไม่ได้ทำในสิ่งที่มันสมน้ำสมเนื้อกันเลย ไม่เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถอะไร ชนิดที่ว่า ทำงานไป เปิดโหมด autopilot ไป ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง - เราเริ่มไม่ทุ่มเทกับงานอีกต่อไป
ไม่ทุ่มเทที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำหน้าที่บกพร่อง ประสิทธิภาพในการทำงานไม่เท่าเดิม เรายังคงทำงานตามมาตรฐานตามที่เราเคยทำได้ แต่เมื่อมันอยู่ในจุดที่ไม่มีอะไรผลักดันให้เราเก่งไปมากกว่านี้ เราก็จะทำงานไปตามความเคยชินที่มีไปเรื่อยๆ เพราะรู้แล้วว่าลงแรงไปแค่ไหนก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปมากกว่านี้
ไปทำงานแบบใจลอย เปิด autopilot อยู่ตั้งนาน คิดว่าตัวเองไม่ชอบงานที่ทำเสียแล้ว จริงๆ แค่อยู่ในช่วง Job Plateau นั่นเอง หากรู้แบบนี้แล้ว เราจะรับมือกับสิ่งนี้ยังไงดีนะ?
- เราอยู่กับมันได้ไหม?
คำถามสำคัญที่เราต้องไตร่ตรองกับตัวเองให้ดี ต่อให้เรารู้สึกเบื่อขนาดไหน แต่ถ้าการก้าวไปข้างหน้า ที่อาจหมายถึงการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนตำแหน่ง ไปจนถึงเพิ่มหน้าที่ในมือของเราเอง หมายความว่าเราอาจจะต้องเหนื่อยมากขึ้น ทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อให้หลุดพ้นจากการติดขัดอยู่ที่เดิมนี้ เราพร้อมรับสิ่งนี้หรือเปล่า บางคน ก็ไม่ได้อยากเดินหน้าไปมากกว่านี้ พอใจกับตำแหน่ง รายได้ สภาพแวดล้อมในตอนนี้แล้ว ก็อาจจะต้องทำใจรับความเนิบนิ่งนี้ไปแทน
- มองหาที่ทางใหม่ที่ให้เราเติบโตได้มากกว่า
ตอนนี้เราเป็นเหมือนปลาที่โตคับบ่อนี้ จนไม่อาจโตไปมากกว่านี้แล้ว แต่ถ้าเจ้าปลาตัวนี้รู้สึกว่าฉันยังโตได้มากกว่านี้อีก และอยากจะโตขึ้นไปเรื่อยๆ ได้แหวกว่าย พลิกตัวให้มันตื่นเต้นท้าทาย ดีกว่านอนนิ่งในบ่อแบบนี้ งั้นกระโจนไปบ่ออื่นที่เหมาะกับเรามากกว่ากันเถอะ อาจเป็นตำแหน่งเดิมในพื้นที่อื่น พื้นที่ที่เราจะเติบโตได้มากกว่านี้ แต่ที่สำคัญ เราต้องมั่นใจในโครงสร้างองค์กรว่าจะเป็นบ่อที่มีพื้นที่กว้างพอสำหรับความต้องการของเรา - ให้งานอดิเรกช่วยชุบชูใจ
หากการทำงานไม่อาจมอบความตื่นเต้น ความท้าทายใหม่ๆ ให้เราได้ งั้นก็ลองมาท้าทายตัวเองด้วยงานอดิเรกสิ ในวันว่าง เราสามารถหากิจกรรมใหม่ๆ ให้ตัวเอง กิจกรรมที่เราสนใจ หรือกิจกรรมที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เพื่อเติมความตื่นเต้น แปลกใหม่ ได้ใช้ทักษะที่มีไปกับอย่างอื่นนอกเหนือจากงานที่เราทำมาแล้วนับร้อยนับพันครั้ง
จริงๆ แล้วสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นแล้วหายไป หรืออาจวนกลับมาซ้ำๆ ได้ อยู่ที่เราจะเข้าใจความต้องการตัวเองมากแค่ไหน หากเรารู้สึกว่างานที่อยู่ตรงหน้านี้ ยังคงเป็นงานที่เราชื่นชอบ เป็นคอมฟอร์ตโซนที่เราไม่อยากก้าวออกไปไหน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรด้วยซ้ำ แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามันต้องแลกมากับความเบื่อหน่ายที่อาจเกิดขึ้น จากการทำงานแบบเดิมซ้ำๆ มาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง (และอาจถึงหมื่นครั้งหากเราเลือกที่จะอยู่ต่อ)
แต่ถ้ารู้สึกว่า เราควรอยู่ในที่ที่ได้ทำอะไรมากกว่านี้ การมองหาที่ใหม่ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีและจบปัญหาทุกอย่างได้เช่นกัน อยู่ที่เราแล้วล่ะ ว่าเรามองเส้นทางอาชีพไว้ให้ตัวเองแบบไหน
อ้างอิงจาก