งานที่ทำอยู่ทุกวัน ทำไมวันนี้มันไม่ได้อยากทำเหมือนเดิมแล้ว เหนื่อยหน่ายคล้ายๆ จะหมดไฟ ที่เขาเรียกว่า Burn-Out ใช่ไหม แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจในอาการตัวเองเท่าไหร่ ว่าเราห่อเหี่ยวจนหมดไฟจริงๆ หรือแค่กำลังเบื่อกับงานที่ทำ แบบว่าหมด passion กันแน่ มาสำรวจตัวเอง ที่ต้องงัดตัวจากที่นอนตอนเช้าก่อนไปทำงานกัน ว่าเราแค่เบื่อหรือกำลังหมดไฟจริงๆ
ช่วงที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า Burn-Out กันค่อนข้างบ่อย ด้วยสภาพสังคม ด้วยเจเนอเรชั่นที่เติบโตมา ด้วยการทำงานที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ทำให้หลายคนเกิดอาการหมดไฟ จนใครๆ ก็ต่างพูดถึงและหันมาใส่ใจอาการหมดไฟและสุขภาพจิตใจในที่ทำงานกันมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแหละนะ
แต่มันมีอีกอาการอย่าง Boredom หรือความเบื่อเฉยๆ นี่แหละ ที่เข้ามาโจมตีเราได้คล้ายคลึงกับ Burn-Out เลยล่ะ ทั้งสองมีความคาบเกี่ยวทางอาการอยู่นิดหน่อย คือ เกิดความเบื่อหน่ายในงานที่ทำอยู่ จนไม่ได้ตื่นเต้นหรืออยากจะมาทำงานนี้อีกแล้ว แต่ทั้งสองก็มีสาเหตุและทางแก้ที่แตกต่างกันอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจะมาเหมารวมแล้วแก้เหมือนๆ กันไม่ได้
มาดูความแตกต่างของทั้งสองอาการนี้กันอย่างรวบรัด ฉบับเข้าใจง่ายกันดีกว่า
Burn-Out หรืออาการหมดไฟในการทำงานที่กัดกินอารมณ์จนเหนื่อยล้า เริ่มจากการไม่มีความสุขนั่นแหละ ที่ทำร้ายสุขภาพใจได้มากที่สุด และค่อยๆ แสดงอาการที่ร่างกาย ไม่มีเรี่ยวแรงทำงานเหมือนเคย ทั้งที่เพิ่งเริ่มวันด้วยซ้ำ กลับห่อเหี่ยวจนไม่เป็นอันทำอะไร
แต่ Boredom เอง ก็ไม่ใช่แค่ความเบื่อเฉยๆ แม้อาการของมัน คือ ไม่มีความตื่นเต้นในงานที่ทำ ทำไปงั้นๆ แหละ ทำให้เสร็จไปวันๆ หมดวันเมื่อไหร่ก็จบกัน ไม่ได้รู้สึกว่ามีการเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น แค่ทำหน้าที่ของเราให้จบแค่นั้นก็พอ เป็นแบบนี้วนซ้ำไปมาจนเรารู้สึกว่า งานมันช่างน่าเบื่อจริงๆ เลย ทั้งที่มันก็เคยเป็นงานที่เราชอบ คล้ายๆ ว่าจะเป็น ความอิ่มตัวในการทำงานด้วย
แม้ทั้งสองอย่างนี้จะมีอาการที่ทับซ้อนกันอยู่บ้าง แต่สาเหตุของมันนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อาการหมดไฟ เกิดจากงานที่มีมากเกินไป งานล้นมือ มีเรื่องต้องรับผิดชอบมากมาย หรืองานที่สะสมความเครียดไว้กับตัวมากเกินไป จนเราเกิดความเครียดที่ไม่สามารถจัดการงานที่กองพะเนินอยู่ได้ทั้งหมด ไม่สามารถทำงานได้ดีดั่งใจ กลายเป็นว่า เราไม่อาจจัดการสิ่งต่างๆ รอบตัวได้เลย และแน่นอน มันส่งผลกระทบถึงสุขภาพใจ เกิดอาการวิตกกังวล จนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ หากเราอยู่ในอาการหมดไฟนี้นานๆ
ส่วนความเบื่อนั้นเป็นเหมือนฝั่งตรงข้ามของหมดไฟ ความเบื่อในงานนั้น เกิดจากงานที่น้อย หรือไม่ท้าทาย เราเชื่อว่าเรามีความสามารถมากกว่านี้ แต่กลับไม่ได้ทำในสิ่งที่มันสมน้ำสมเนื้อกันเลย ไม่เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถอะไร ชนิดที่ว่า ทำงานไป เปิดโหมด autopilot ไป ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
แม้อาการจะคล้ายกัน แต่ที่มาของอาการต่างกัน การแก้ไขจึงต่างกันไปด้วย เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจตัวเองอย่างถูกต้อง เพื่อเจอทางออกที่ตรงกับปัญหา
หากหมดไฟต้องทำไง?
เบื้องต้น หากรู้สึกว่างานแม้จะหนัก แต่ถ้ารับมือไหว เราต้องจัดการความเครียดที่มี พยายามหากิจกรรมที่เราชอบทำในเวลาพักผ่อน ให้เราได้ตามใจตัวเองเสียบ้างในเวลาของเราเอง เพื่อลดความเครียดที่สะสมมาจากเวลางาน และรีเฟรชตัวเองก่อนไปทำงานอีกครั้ง แต่ถ้าหากรู้สึกรับมือกับงานที่มากขนาดนี้ไม่ไหว การปรึกษาหัวหน้าก็เป็นอีกทางออกที่ชัดเจนที่สุด
หากเบื่อหน่ายในงาน ต้องทำไง?
ลองหาเป้าหมายใหม่ในงานเดิมให้กับตัวเอง เพื่อให้เรารู้สึกท้าทาย ตื่นเต้น กับงานอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องพูดคุยกับหัวหน้าว่าเรามีความสามารถและความมั่นใจ ที่อยากจะได้โอกาสรับมือกับงานที่มากขึ้น ยากขึ้น ท้าทายมากขึ้น
วางแผนล่วงหน้าให้กับตัวเองว่าต่อไป เราจะก้าวขึ้นไปได้แค่ไหนในอาชีพนี้ เพื่อให้เราพอเห็นทางข้างหน้าว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน โดยเริ่มจากการก้าวในตอนนี้ อย่างน้อยหากระหว่างทางมันน่าเบื่อนัก เรายังมีปลายทางรอเราอยู่ และนี่ก็เป็นอีกความท้าทายว่าเราจะฝ่าด่านความเบื่อหน่ายนี้ไปได้อย่างไร
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะหมดไฟหรือเบื่อหน่าย เราควรดูแลสุขภาพใจของเราควบคู่ไปด้วย อย่าให้ความเครียดในเวลางาน ตามมาหลอกหลอนเราถึงช่วงเวลาส่วนตัว การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก็เป็นอีกทางออกที่ดีและตรงประเด็นที่สุดสำหรับการดูแลสุขภาพใจของเรา
ทั้งสองอาการ ล้วนส่งผลกับคุณภาพของงานทั้งนั้น เริ่มจากรักและดูแลตัวเองให้ถูกจุดก่อน แล้วจึงมอบความรักให้กับงานที่ทำ จนมันกลับมาเป็นงานที่เรารักอีกครั้งหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก